“Grey Nation จากเจนฯ B – เจนฯ Z ไทยชรา เป็นเรื่องของคุณทุกเจนฯ

ในวันที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วทำไมคนทุกเจนฯ จึงต้องรู้และเข้าใจในวันที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย ผ่านการบรรยายบนเวที Main Stage ในหัวข้อ “Grey Nation” จากเจนฯ B – เจนฯ Z ไทยชรา เป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ ในงานมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 “Out of the Box Aging” ผ่านมุมมองของ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ดูแลงานนโยบายสาธารณะให้กับวงการสื่อสารมวลชน

สังคมสูงวัยในไทย – ความหนักหนาสาหัสของคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญ

ปี 2513 คนไทยเคยมีอายุเฉลี่ยเพียง 59 ปี แต่ปัจจุบันนี้ คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 79 ปี ทำให้ตอนนี้บ้านเรามีจำนวนผู้สูงวัยราว 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของคนทั้งประเทศ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอันหนักหนาจากวิกฤตผู้สูงวัยนี้กลับไม่ใช่ผู้สูงวัยโดยตรง แต่กลับเป็นคนวัยหนุ่มสาวต่างหาก เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่ต้องแบกรับทั้งค่าใช้จ่ายมหาศาลและต้นทุนทางเวลาที่ต้องเสียไปกับการดูแลคนในครอบครัว ซ้ำร้ายยังต้องจ่ายภาษีจำนวนมากเพื่อเป็นสวัสดิการของประเทศในการโอบอุ้มประชากรสูงวัยที่ไม่ได้สร้างรายได้ หรือช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว

และเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก เนื่องจากกังวลถึงความสามารถในการเลี้ยงดูเด็กของตน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อัตราเด็กเกิดใหม่จึงน้อยลงไปอีก ทำให้ภายในไม่กี่สิบปี เราจะมีแรงงานที่มีคุณภาพลดลง

ในขณะที่คนรุ่นใหม่วันนี้ต้องเป็นผู้สูงวัยในอนาคตซึ่งจะทำให้มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ของประชากร การที่โครงสร้างของประชากรในบ้านเราเปลี่ยนไปเช่นนี้ หมายถึงการเจอกับวิกฤตสังคมสูงวัยที่หนักหน่วงขึ้นไปอีก

ภายใต้ภาระและความกดดันอันหนักหน่วงนี้ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรทำตั้งแต่วันนี้คือการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการเงิน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพราะหากหวังรอพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ทันการ

จงแก่ให้ช้า เจ็บให้สั้น แล้วค่อยตาย

ในอดีต คนวัย 60 ปี อาจถูกนิยามว่า “แก่” และควรหยุดทำงานได้แล้ว แต่ตอนนี้ความแก่ชราไม่ได้นิยามกันด้วยอายุอีกต่อไป แต่หมายถึงความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ต่างหาก

เพราะคนวัยเกษียณในบ้านเราตอนนี้กลับยังเป็นคนที่มีสุขภาพดี ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างแอคทีฟได้ไม่แพ้คนหนุ่มสาว ในขณะที่คนหนุ่มสาวอายุน้อย หากประสบอุบัติเหตุจนพึ่งพาตัวเองไม่ได้ก็ไม่ต่างอะไรจากการกลายเป็นคนแก่

ฉะนั้น ไม่ว่าเรากำลังอยู่ในวัยไหน ควรพยายามยืดช่วงเวลาที่ยังแข็งแรงพึ่งพาตัวเองได้ ออกไปให้นานที่สุด เพื่อแก่ให้ช้า  เจ็บป่วยให้สั้น แล้วจึงค่อยเสียชีวิต เพื่อลดความทุกข์ทรมานทางกายและใจ ลดการพึ่งพาผู้อื่น รวมถึงค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเจ็บป่วยด้วย

เพราะบ้านเราเป็นสังคมแก่ก่อนรวย คำแนะนำในการเตรียมตัวที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการเงินและสุขภาพ

เพราะการมีสุขภาพที่ดีจะทำให้เรามีช่วงเวลาในการหารายได้ได้นานขึ้น และหากทำไปพร้อมกับการออมเสียตั้งแต่ตอนนี้ จะทำให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้ในวันที่กลายเป็นผู้สูงวัย

รัฐควรทำอย่างไร เมื่อวิกฤตสูงวัยไม่ใช่แค่เรื่องของประชาชน

ตอนนี้ในประเทศเรามีคนที่ทำงานอยู่ 37 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 15 ล้านคน เป็นพนักงานรัฐที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบสวัสดิการที่ดีที่สุดเพียงแค่ 2 ล้านคน และเป็นแรงงานนอกระบบที่ไร้ซึ่งสวัสดิการใด ๆ เลยถึง 20 ล้านคน หมายความว่าคนไทยส่วนมากไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐควรหันมาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เพิ่มทักษะแห่งอนาคต : การลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการแจกเงิน

การแจกเงินเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น รัฐควรลงทุนกับการสร้างความรู้ สร้างอาชีพให้กับคนมากกว่า เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นทักษะแห่งอนาคตเพื่อให้สามารถมีทางเลือกในการหารายได้ได้มากขึ้น หรือมีอาชีพสำรองในวัยแก่ชราโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินจากลูกหลาน

ปรับภูมิทัศน์รอบบ้าน 

ตอนนี้หากมองไปรอบตัวเราจะเห็นบ้านหรือพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยขั้นบันได ทางลาดชัน หรือพื้นทางเดินที่ไม่เหมาะสม เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือลื่นหกล้มง่าย นั่นเพราะที่ผ่านมาการออกแบบไม่ได้คำนึงถึงผู้สูงอายุหรือคนพิการเลย สุดท้ายจึงทำให้คนแก่ไม่อยากออกจากบ้านเพราะไม่ปลอดภัยและกลายเป็นคนเหี่ยวเฉาอยู่ติดบ้านติดเตียงในที่สุด 

เราเห็นในต่างประเทศมีหลักสูตรสอนวิธีการขึ้นบันไดเลื่อน สอนวิธีการล้มให้กับผู้สูงวัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้รับการส่งต่อความรู้กันอย่างแพร่หลายนักในบ้านเรา เมื่อรอจนกว่าจะเกิดเหตุร้ายแล้วค่อยแก้ไขก็สายเกินไปเสียแล้ว เพราะการลงทุนปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มที่จับราวบันได เปลี่ยนกระเบื้องให้ไม่ลื่นล้มง่าย ล้วนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นไหน ๆ

ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย

ผู้สูงวัยในเมืองมีความโดดเดี่ยวมากกว่าผู้สูงวัยที่อยู่ในชุมชนมากเพราะนอกจากจะไม่นิยมการอยู่รวมกลุ่มกันแล้ว ยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างอบต. หรืออสม. เหมือนในต่างจังหวัด

การที่รัฐสนับสนุนให้มีศูนย์ดูแลผู้สูงวัยจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมเพื่อดูแลทั้งผู้ที่อยู่ในระยะพักฟื้นหรือระยะท้าย นอกจากจะลดภาระคนป่วยล้นรพ. แล้ว ยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรม มีสังคม ไม่รู้สึกว้าเหว่ แต่ด้วยบริบทและไลฟ์สไตล์ของคนแก่แต่ละพื้นที่ต่างกัน รัฐเองควรให้การสนับสนุน กระจายอำนาจให้กับการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีอิสระในการออกแบบชุมชนตัวเองได้อย่างเต็มที่

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ