ญี่ปุ่นดินแดนแห่งปู่ย่าตายาย
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น “ผู้สูงอายุ” ถือเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือ ในฐานะผู้อาวุโส ทำให้มีประเพณีที่ให้เกียรติผู้สูงอายุมากมาย รวมไปถึงการมี “วันเคารพผู้สูงอายุ” ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำชาติ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวของผู้สูงอายุ แต่ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์ชีวิตของผู้สูงวัยในญี่ปุ่น กลับมีความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ และส่วนใหญ่มีแนวโน้มต้อง “ทำงานตลอดไป” เพื่อความอยู่รอด
ญี่ปุ่นคือประเทศที่มีประชากรแก่เร็วที่สุดในโลก โดยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)” ตั้งแต่ปี 1970 ก่อนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 1994 และกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ” ในปี 2007 ส่งผลให้ระบบบำนาญแห่งชาติของญี่ปุ่นต้องรับภาระหนักขึ้นทุกปี เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตามรายงาน ของกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารของญี่ปุ่น ในปี 2565 ระบุว่า ญี่ปุ่นมีประชากรอายุ 75 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึง 19 ล้านคน และอายุ 65 คนเพิ่มขึ้นถึง 36.2 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประชากรที่อายุมากกว่า 100 ปี อาศัยอยู่ในประเทศอีกกว่า 86,000 คน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
“สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ (The National Institute of Population and Social Security)” รายงานว่าภายในปี 2583 จำนวนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีเพิ่มขึ้นถึง 35 % เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งถ้าหากสังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ และอัตราเกิดของเด็กรุ่นใหม่ยังคงลดลง กลไกตลาดแรงงานแบบทุนนิยมก็จะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เพราะขาดคนหนุ่มสาวที่จะเข้ามาทำงานในระบบ ส่งผลให้การผลิต การซื้อขาย การบริการต่าง ๆ ไปจนถึงการเก็บภาษีจะมีประสิทธิภาพลดลง แต่รัฐบาลยังคงต้องจ่ายค่าสวัสดิการและยังต้องจ่ายบำนาญที่สูงขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านสาธารณสุขเพื่อประคับประคองชีวิตความเป็นอยู่ให้กับผู้สูงอายุทั่วประเทศ
ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นมีความพยายามแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในประเทศมาตลอด ทั้งออกนโยบายสนับสนุนให้ทุกครอบครัวมีลูก ขยายระยะเวลาเกษียณ รวมถึงส่งเสริมการจ้างงานในผู้สูงอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตด้านประชากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
ไม่มีวัยเกษียณอีกต่อไปแล้ว
ในช่วงทศวรรษก่อน หากพูดถึงการ “ทำงานหนัก” ย่อมหมายถึงคนวัยหนุ่มสาว แต่ ณ ปัจจุบันการทำงานหนักจนตายเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของคนอายุ 60 ขึ้นไปในญี่ปุ่นเช่นกัน
เมื่อรัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ด้วยการเริ่มขยับอายุเกษียณ จาก 65 ปีเป็น 70 ปี รวมไปถึงส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจ้างงานแบบชั่วคราว ฟรีแลนซ์ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้มากขึ้น ทำให้อัตราการจ้างงานผู้สูงอายุในญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศเกาหลีใต้ แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือผู้สูงอายุในญี่ปุ่นยังคงต้องทำงานหนัก เพราะรายได้ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
รายงานจาก “สมุดปกขาว” เกี่ยวกับผู้สูงอายุของญี่ปุ่นปีนี้ระบุว่า ผู้สูงอายุภายในประเทศมีความกระตือรือร้นในการทำงานที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วด้วยกัน โดยผู้สูงอายุในญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 40 ยังจำเป็นต้องทำงานหารายได้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีผู้สูงอายุร้อยละ 30 และ เยอรมนีมีผู้สูงอายุร้อยละ 28 ที่ยังจำเป็นต้องทำงาน จึงไม่น่าแปลกที่ญี่ปุ่น จะเต็มไปด้วยภาพ คนทำงานสูงวัย ทั้ง รปภ. คนขับรถ พนักงานทำความสะอาด ไปจนถึงพนักงานโรงงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งล้วนเป็นงานที่มีรายได้น้อย และมักไม่พอต่อค่าเช่าที่อยู่อาศัย หรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
การขยายการจ้างงานให้ยาวนานขึ้น นำมาสู่คำถามที่ตามมาว่า คนญี่ปุ่นกำลังถูกผลักดันให้ทำงานหนักแม้ในวันที่อายุมากขึ้นหรือไม่ และผู้สูงอายุจะต้องทำงานไปเรื่อย ๆ แม้ว่าทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตจะย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ ก็ตามหรือเปล่า
ไปอยู่บ้านพักคนชราไม่ได้ อยู่บ้านตัวเองก็ลำบาก
นอกจากเรื่องหารายได้แล้ว ผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ยังต้องพยายามต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อดูแลรักษาบ้าน หรือห้องเช่าของตัวเอง
ในปีนี้ “กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Internal Affairs and Communications) ” ระบุว่า มากกว่า 90% ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ต้องประสบปัญหาเรื่องหาเงินมาบำรุงรักษา เพราะการให้บริการเรื่องซ่อมแซมบ้านภายในประเทศ อย่างงานทาสี หรืองานประปาค่าบริการที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงานที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวในแทบทุกธุรกิจ นอกจากนี้ต้นทุนค่าวัสดุก็ยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การจะมีเงินมาซ่อมแซมบ้านยามแก่เฒ่าของคนญี่ปุ่นคือสิ่งที่ทำได้ยากขึ้นทุก ๆ ปี
ปัญหานี้ได้ลามไปถึงผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ และห้องเช่าทั่วไปเช่นกัน โดยเฉพาะอาคารที่อยู่อาศัยในเขตโตเกียวที่มีค่าบำรุงรักษาแพงขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ตามรายงานปี 2564 ของ “Tokyo Kantei” บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนั้นผู้สูงอายุที่เป็นเจ้าของห้องยังต้องประสบกับปัญหาอื่น ๆ นั่นคือเจ้าของห้องเช่าที่ไม่เป็นมิตร เพราะผู้ประกอบการธุรกิจห้องเช่าส่วนใหญ่ลังเลที่จะรับผู้เช่าที่เป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นคนโสด เนื่องด้วยพวกเขามีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตลำพังในห้อง และเป็นภาระของผู้ประกอบการที่ต้องจัดการศพเอง
ผู้ประกอบการธุรกิจห้องเช่าจำนวนมาก ไม่กระตือรือร้นที่จะจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุในที่พักของตน ด้วยเหตุผลเพราะไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในธุรกิจ ในขณะเดียวกันเหล่าบรรดาผู้ประกอบการก็เริ่มแก่ตัวลงเช่นกัน ทำให้การหาเงิน หาอุปกรณ์ มาลงทุนในผู้สูงอายุด้วยกันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ และผู้สูงอายุก็ไม่มีเงินพอที่จะพาตัวเองไปอยู่บ้านพักคนชราเช่นกัน ทำให้ต้องจำใจอาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่สะดวกสบายแต่ราคาถูกโดยไม่มีทางเลือก
อย่างไรก็ตามก็มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หลายแห่ง พยายามใช้โอกาสนี้ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ด้วยการออกแบบห้องเช่าที่ให้พวกเขาได้อยู่ร่วมกับลูกหลาน และห้องพักในลักษณะที่พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูบุตรหลานได้อย่างสะดวก เพื่อส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นอยู่กันแบบครอบครัวมากขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าวัยไหน ก็มีสิทธิ์อยู่ลำพัง
ประเทศญี่ปุ่นได้ต่อสู้กับความเหงามาอย่างยาวนาน จนถึงขนาดก่อตั้ง “กระทรวงความเหงา (Ministry of Loneliness)” ขึ้นในปี 2564 แต่ถึงแม้รัฐบาลจะออกนโยบายส่งเสริมให้คนแต่งงานมากขึ้น ช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร หรือพยายามสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศออกพบกันมากแค่ไหน คนญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างลำพังสูงขึ้น
เพราะค่านิยมยุคใหม่ที่ทำให้คนสมัยนี้ไม่ต้องการมีลูก ไม่อยากสร้างครอบครัว เนื่องจากแค่ดูแลปากท้องตัวยังเป็นเรื่องยาก และคนหนุ่มสาววัยทำงานในตอนนี้ก็จะแก่ตัวลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ไม่มีเด็กเกิดใหม่มาเป็นแรงงานทดแทน สังคมที่ดูแลกันแบบเครือญาติจะลดน้อยลง จนอาจถึงขั้นสลายหายไป จึงเป็นที่มาของ การเกิดปรากฏการณ์บ้านร้างจำนวนมากทั่วญี่ปุ่นที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะลักษณะบ้านที่ต้องอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แบบพ่อ แม่ ลูก นั้นไม่จำเป็นอีกต่อแล้ว จึงมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต ผู้สูงอายุกว่า 1 ใน 4 จะต้องอยู่ในที่พักอาศัยคนเดียว โดยไม่มีลูกหลานหรือญาติพี่น้องดูแล
ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่ความโดดเดี่ยวช่วงบั้นปลายอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เพราะพวกเขาอาจขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต เมื่อต้องอยู่โดยตัดขาดจากคนในสังคมเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงวัยต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้านหรือห้องพักของตัวเองโดยที่เพื่อนบ้านไม่ได้รับรู้ด้วยซ้ำ
ถ้ารัฐช่วยเหลือได้ไม่ทันการณ์ คนในชุมชนต้องลงมือก่อน
โครงการญี่ปุ่นที่อาจเป็นการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวได้อย่างเห็นผลคือ การให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในชุมชนของตนเอง ซึ่งมาจากรายงานของ “โย มูรายามะ (Yoh Murayama)” ทีมวิจัยเพื่อการมีส่วนร่วมทางสังคมและสุขภาพชุมชน สถาบันผู้สูงอายุโตเกียวเมโทรโพลิแทน (Tokyo Metropolitan Institute of Gerontology) ที่ระบุว่า “จากการศึกษามากกว่า 2 ปี ปัจจุบันทั่วทั้งญี่ปุ่นมีคลับชุมชนกว่า 100,000 แห่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเป็นอาสาสมัคร ร้องเพลง เต้นรำ กินเลี้ยง และอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการทำงานอย่างหนัก”
“ความเหงาในผู้สูงอายุเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาการเงิน สภาวะสุขภาพ ครอบครัว ไปจนถึงบุคลิกภาพที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ดังนั้นแนวทางจากภาครัฐ หรือจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งนั้นไม่เพียงพอ แต่การให้ทุกฝ่ายรับผิดชอบร่วมกัน อาจเป็นวิธีที่ดีกว่า” มูรายามะ กล่าว
ประเด็นหลักที่ มูรายามะมองเห็นคือ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาในภาพรวมโดยลืมให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระดับบุคคล ซึ่งรัฐจำเป็นต้องทราบว่าผู้สูงอายุกำลังประสบปัญหาอะไรในชีวิตประจำวันบ้าง ทำให้ที่ผ่านมาความพยายามของรัฐจึงล้มเหลวมาตลอด
ตัวอย่างของการขับเคลื่อนระดับชุมชนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ได้แก่ เมือง “เคโทโยะ” ในเขตชิตะ จังหวัดไอจิ ที่ตอนนี้เต็มไปด้วย พื้นที่กิจกรรมของผู้สูงอายุที่มีการจัดการออกกำลังกาย เล่นเกมสันทนาการ ไปจนถึงการเขียนบทกวีร่วมกัน ซึ่งช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุเบิกบานขึ้น ส่วนเมือง “เนริมะ” ทางตอนเหนือของโตเกียว ได้อบรมให้พนักงานไปรษณีย์ และพนักงานส่งของอื่น ๆ ให้รู้จักสังเกตว่าบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังมีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น ถ้ามีจดหมายค้างในกล่องไปรษณีย์หน้าบ้านมากเกินไป พนักงานที่ผ่านไปเห็นต้องเข้าไปเช็กว่าเจ้าของบ้านยังปกติดีอยู่หรือเปล่า และในบางพื้นที่ของเมือง บ้านผู้สูงอายุหลายหลัง ได้เริ่มใช้วิธีติดแม่เหล็กที่มีสัญลักษณ์บอกว่า “ฉันสบายดี” หรือ “ต้องการความช่วยเหลือ” ไว้ที่หน้าประตู เพื่อให้อาสาสมัครชุมชนและเพื่อนบ้านรับรู้ ซึ่งช่วยสร้างเครือข่ายดูแลผู้สูงอายุในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ องค์กรท้องถิ่นยังได้ผลักดันให้เกิด “คาเฟ่ชุมชน (Community Cafes) ” มาตั้งแต่ปี 2558 โดยปัจจุบันกำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสถานที่เหล่านี้จะจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ยินดีต้อนรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มากันเป็นครอบครัว ที่มีตั้งแต่ คาเฟ่ปฐมพยาบาล คาเฟ่ต่อต้านโรคสมองเสื่อม คาเฟ่สอนงานคราฟต์คาเฟ่แบ่งปันความเครียด และอีกมากมายตามสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่นั้น ๆ โดยได้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาสาสมัครในชุมชนมาเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด และจากผลสำรวจพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยสองเหตุหลักผลคือ “พวกเขาได้พบเพื่อนใหม่” และ “มีความรู้เรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น” หลังจากที่มาคาเฟ่ชุมชน
มูรายามะ ทีมวิจัยเพื่อการมีส่วนร่วมทางสังคมและสุขภาพชุมชน กล่าวว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการรวมพลังจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลท้องถิ่น กลุ่มอาสาสมัคร องค์กรไม่แสวงหาผลกําไร ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ไปจนถึงสมาคมเพื่อนบ้าน แต่ปัญหาจากผลสำรวจล่าสุดพบว่า มีผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกของโครงการในชุมชนลักษณะข้างต้น แค่ 9.5 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งยังมีผู้สูงอายุอีกมากที่ถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่การสื่อสารแบบปกติไม่สามารถเข้าถึงพวกเขา ทำให้ทุกฝ่ายต้องพยายามมากกว่านี้ และสิ่งสำคัญที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่มุ่งนโยบายไปที่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น เนื่องจากเพื่อนบ้านกับสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุต่างหากที่จะเป็นก้าวแรกในการเยียวยาพวกเขา ดังนั้นโครงการที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งในชุมชนจึงจำเป็นเช่นกัน
เวลานี้ปัญหาสูงอายุของญี่ปุ่นอาจเลวร้ายที่สุดในโลก แต่ก็เป็นปัญหาที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน ถ้าหากย้อนมามองสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย แน่นอนว่าอาจยังไม่หนักหน่วงเหมือนที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ แต่จากผลสำรวจในปี 2565 พบว่ามีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวเรียบร้อยแล้ว และกำลังมีแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 ในปี 2574 ซึ่งจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ” ในที่สุด โดยถ้าหากประเทศไทยยังมีอัตราการเกิดที่ต่ำ คนทำงานไม่มีเงินเก็บหลังเกษียณ และสร้างครอบครัวกันน้อยลง ไทยก็จะเผชิญสภาวะเดียวกับญี่ปุ่นในอนาคตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
จากปัญหาดังกล่าวทั้งหมดพอสรุปลงได้ว่า “การมีอายุยืนยาว แต่จะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป ? ” คือปัญหาระดับโลกอย่างแน่นอน และไม่ว่าจะประเทศไหน ก็ดูเหมือนว่าการช่วยเหลือในเรื่องบำนาญหรือขยายระยะเวลาเกษียณเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้นอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสุดท้าย เพราะนอกเหนือจากเรื่องหารายได้ ผู้สูงอายุก็ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
เพราะปัญหาของพวกเขาอาจไม่ใช่อายุที่เพิ่มมากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่คือความต้องการดูแลเอาใจใส่ สถานที่พักอาศัยที่เป็นมิตร การดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และการมีสังคมที่พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ถ้าผู้สูงอายุสามารถมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง พวกเขาก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนเจเนอเรชันอื่น ๆ ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ขอบคุณภาพจาก
- Teo Romera
ที่มา