มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการอยู่บนความขัดแย้งอย่างไรไม่ให้แตกหักและใช้ความแตกต่างนำพาสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุ
มนุษย์ต่างวัย : ทำไมความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันทำให้คนแบ่งแยกออกเป็นสองขั้ว ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมเห็นความเป็นจริงของสังคมที่เต็มไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ในอดีตความต่างจะเป็นเรื่องเพศสภาพ ชนชาติ ศาสนา ความเชื่อ แต่ในวันนี้มันเกิดความแตกต่างระหว่างวัย นั่นหมายความว่าเราอยู่บนโลกที่แตกต่างกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การอยู่ในโลกซึ่งมีความเร็วที่แตกต่างกัน โลกของคนรุ่นใหม่จะมีความเร็วกว่าคนรุ่นเก่ามาก ในขณะเดียวกันโลกของคนรุ่นเก่ากลับไม่ได้รวดเร็วไปตาม สาเหตุจากการเติบโตมาคนละช่วงเวลา สมัยนี้อะไรๆ ก็เร็วไปหมด อยากดู อยากอ่านหนังสือก็แค่เพียงกดโทรศัพท์ก็สามารถดูได้เลย แต่สมัยผมอยากอ่านหนังสือสักเล่ม ต้องไปห้องสมุด ค่อยๆ หาจนกว่าจะเจอเล่มที่สนใจ เพราะฉะนั้นความต่างในเรื่องของความเร็วผมคิดว่ามันมีความหมายเยอะแยะไปหมด
มนุษย์ต่างวัย : กลายเป็นว่าเรื่องของ ‘วัย’ เป็นต้นเหตุของการแบ่งขั้วทางการเมืองไทย
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามองในมุมกว้างจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ในประเทศเซอร์เบียมีขบวนการไล่มิโลเชวิช (Slobodan Milosevic อดีตประธานาธิบดีเซอร์เบีย) ก็เป็นกระบวนการของคนหนุ่มสาว จากนั้นที่ประเทศจอร์เจีย ประเทศยูเครน ก็จะมีขบวนการของคนหนุ่มสาวทั้งนั้นที่ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมือง
สิ่งที่เราเห็นก็คือปรากฏการณ์ทั่วโลกของคนหนุ่มสาวที่เขามีความรู้สึกว่า โลกใบเก่าไม่ยอมจากไปเสียที ส่วนโลกใบใหม่ก็ไม่มีกำลังที่จะเติบโตขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำคือเป็นสะพานเชื่อมให้โลกใบใหม่มีพื้นที่ และอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิม พอเมื่อช่องทางเดิมซึ่งเคยมีอยู่ถูกปิดกั้นก็ต้องเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ออกมา สิ่งที่เราเห็นมันไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศไทย แต่มันคือเรื่องของทั่วโลก
มนุษย์ต่างวัย : เห็นด้วยไหมที่คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : เห็นด้วยกับการแสดงออกทางความคิดเห็นของนักศึกษา เพราะการแสดงออกทางความคิดเห็นเหล่านี้มันเป็นสิทธิของเขา ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจมันอยู่บนความแตกต่างของวัย เวลาคนรุ่นใหม่แสดงความคิดเห็นจะมีวิธีการตัวเอง บางทีอาจจะรู้สึกว่า โห คำพูดมันรุนแรงขนาดนี้เลยเหรอ อาจจะรู้สึกหยาบคาย
เวลาคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงความคิดเห็นอาจจะจำเป็นเหมือนกันที่ต้องคำนึงว่า เวลาเราพูดเราพูดอยู่กับใคร ต้องการพูดอะไรให้ใครได้ยิน เพราะคนที่ไม่ชินกับวิธีการพูดแบบนี้เขาก็จะอ่านสิ่งที่สื่อสารออกมาผิดเพี้ยนไปด้วยเพราะมีวัยของเขาครอบอยู่ เขาอาจจะไม่ได้ยินสิ่งที่เราอยากจะพูด เขาได้ยินแต่วิธีการที่สื่อสารออกมา กลายเป็นว่าสิ่งที่เราอยากจะพูดก็อาจจะถูกท่วมไปด้วยวิธีการ มันก็จะน่าเสียดายไปหน่อยไหม
มนุษย์ต่างวัย : อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มองการเมืองแตกต่างกัน
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมไม่กล้าพูดแทนคนอื่นนะแต่จะพูดแทนตัวผมเอง พอคนอายุมากขึ้นมันมักจะมีความกลัวที่สูงขึ้น แต่กับคนรุ่นใหม่มันเป็นยุคสมัยที่มีความกล้า กล้าทำหลายๆ อย่าง ตัวผมเองย้อนกลับไปดูงานที่ตัวเองเขียนเมื่อ 30 ปีก่อน ผมก็จะรู้สึกว่า ตายโหง ทำไมกล้าเขียนขนาดนี้ วันนี้ถ้าถามให้กลับไปเขียนแบบนั้นได้อีกไหม ก็คงไม่กล้าแล้ว
สำหรับคนรุ่นเก่าจะอยู่กับอะไรเดิมๆ ไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ เพราะเขาคิดว่ามันปลอดภัยกว่าที่จะทำอะไรเหมือนเดิม นี่พูดโดยไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์อะไรเลยนะ คนรุ่นเก่ามักมีของที่จะเสียเยอะ ถ้าก้าวไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นชินก็จะกลัวว่าของที่ทำไว้จะตกแตก แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ แตกก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็ทำขึ้นมาใหม่ ยังมีเวลาอีกเยอะ ความต่างเลยค่อนข้างสูงมาก รวมทั้งความคิดเรื่องอื่นๆ ที่ประกอบกันเข้ามา
มนุษย์ต่างวัย : ถ้าเราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า สงครามระหว่างวัย
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมไม่ค่อยแน่ใจ เป็นความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจถ้าต้องเรียกว่า สงครามระหว่างวัย เพราะว่าพอเรียกว่าเป็นสงครามมันหมายถึงการต่อสู้ คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายตรงข้ามก็ต้องถูกนิยามให้เป็นศัตรู แต่ว่าในปรากฏการณ์ที่เรากำลังเห็น มันไม่ใช่สงครามมันคือความขัดแย้งที่เป็นธรรมชาติ ก็เราต่างกัน มันคือความต่างคุณอยู่บนโลกนี้มา 20 ปี ผมอยู่มา 60ปี มันคือความต่าง ซึ่งความต่างเปิดโอกาสให้มีความขัดแย้ง
คำถามที่ผมสนใจคือเราจะขัดแย้งกันอย่างไรให้ดี สมมุติเราจะเถียงกันอย่างไรให้ดี การเถียงแบบไม่ดีคือเถียงสู้ไม่ได้ เสียงดัง เอาอะไรมาทำร้ายคุณ แต่การเถียงแบบดีคือการเถียงแบบมีเหตุผล ค่อยๆ รับฟังกัน
มนุษย์ต่างวัย : ถ้าในครอบครัวมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน เราจะมีวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างไร
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ถ้าเราเป็นลูกก็ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่คิดแบบนี้ เขาก็โตมากับอีกเรื่องหนึ่ง เราอยู่ในยุคที่ความต่างมันสูง สิ่งที่เราต้องขีดเส้นใต้ ให้ความสำคัญอาจไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นเรื่องของความทนกันได้ เพราะเรามีเสรีภาพมากขึ้นทำให้เราแสดงตัวตนมากขึ้น ซึ่งตัวตนที่เห็นบางทีอาจจะทำให้คนอายุมากตกใจ เพราเขาไม่เคยเห็นมาก่อน
ดังนั้นสิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ประเด็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการทนกันได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้อยู่ด้วยกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมการเมืองแบบไหนก็ตาม โดยเฉพาะในสังคมการเมืองที่มีความต่างสูง
มนุษย์ต่างวัย : ภายใต้ความขัดแย้งแบบนี้ อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : การรู้จักเคารพความรู้สึกของกันและกัน เพราะสังคมไทยอยู่ในโลกของความต่าง มันสอนให้รู้ว่าความรู้สึกที่เรามีต่อของที่ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน มันมีคนที่เขารักของบางอย่างอยู่ และเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเคารพความรู้สึกของเขาที่มันไม่ได้เหมือนกับเรา ฉะนั้นการรู้จักเคารพในสิ่งเหล่านี้ ผมมองว่ามันเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ผมคิดว่าความหยาบคายประเภทหนึ่งคือการไปดูถูกความรู้สึกของคนอื่น เราเองก็ไม่อยากให้ใครมาดูหมิ่นความรู้สึกของเรา ซึ่งการเมืองในสังคมกำลังไปสู่สภาพแบบนี้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะเคารพความรู้สึกของมนุษย์ด้วยกันจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้