เด็กกับผู้ใหญ่ อย่างไรก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกัน
พ่อแม่กับลูก
ลูกศิษย์กับอาจารย์
หรือ แม้แต่ลูกน้องกับเจ้านาย
ความแตกต่างระหว่างวัยบางครั้งก็ทำให้เราไม่เข้าใจกัน จนเกิดคำพูดแดกดันกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘ทำไมเด็กสมัยนี้ปากดีเหลือเกิน ก้าวร้าว แตะนิดแตะหน่อยไม่ได้เลย’ หรือ ‘ผู้ใหญ่บ้าน้ำลาย เอาแต่สอน ไม่เคยฟังกัน’
เราจึงอยากชวนทุกท่านมาพบกับมะขวัญ – วิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ผู้สอน ‘วิชาความสุข’ หนึ่งในวิชาหมวด General Education จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะช่วยนักศึกษาทุกคนเสริมสร้างทักษะในการดูแลจิตใจ ดูแลตัวเอง และดูแลความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ซึ่งตัวมะขวัญเองก็เคยอาศัยทักษะ ‘ความสุข’ เหล่านี้ในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่
ฉะนั้น ในฐานะอาจารย์ที่ช่วยเด็กๆ เสริมสร้างทักษะ ‘ความสุข’ มาเป็นเวลา 5 ปี และลูกสาวคนหนึ่งที่สามารถกอบกู้ความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ได้ มะขวัญจะมีมุมมองอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในยุคนี้กัน ?
ครอบครัว = ศูนย์กลางจิตใจของเด็กๆ ?
หากดูจากปัญหาการกระทบกระทั่งของคนต่างวัยบนโลกออนไลน์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่มีกระแสอย่าง # บ้านไม่ใช่เซฟโซน หรือ # ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน ขึ้นมา หลายคนอาจคิดว่าครอบครัวดูจะมีความสำคัญน้อยลงสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่กระนั้น มะขวัญที่มีโอกาสพูดคุยกับเด็กๆ มาหลายรุ่นก็ยังลงความเห็นว่า ครอบครัวยังเป็น “ แก่นกลางหัวใจ ” ของเด็กๆ ไม่เสื่อมคลาย
“เราใช้คำว่าเป็นแก่นกลางหัวใจ เรารู้สึกว่าบ้านคือแหล่งพลังงาน เด็กที่บ้านดี ครอบครัวอบอุ่น สุขภาพจิตพื้นฐานเขาจะดีกว่าจริงๆ ต่อให้เขามีความสุขกับเพื่อน … ต่อให้วัยนั้นเพื่อนหรือแฟนมีความสำคัญกับเขาก็จริง แต่ยังไงเขาก็จะวิ่งมาที่บ้านถ้าเกิดอะไรขึ้น หรือทุกอย่างที่เขาทำก็จะคิดกลับไปที่บ้าน เด็กมหาวิทยาลัยมีความพิเศษคือกำลังเข้าใกล้โลกของการทำงาน สิ่งที่เขาคิดคือ จะหางานได้ไหม เราเจอเด็กเกิน 80% ที่เป้าหมายชีวิตพื้นฐานของเขาคือทำงานเลี้ยงพ่อแม่ได้ ยังไงเขาก็จะกลับมาถามตัวเองว่าอนาคตเขาจะไปทางไหน คนที่รักเขาเป็นใคร ผู้ใหญ่อยู่ตรงไหนของความสุข เราว่าผู้ใหญ่คือหลักใจ ถ้าศูนย์กลางในใจเขาดี พื้นฐานเขาจะดี”
ผู้ใหญ่ = แหล่งพักใจในวันที่เหนื่อย
หากผู้ใหญ่ในครอบครัวคือแก่นกลางจิตใจ แล้วผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในสังคมอย่างครูบาอาจารย์ที่ผ่านเข้ามา จะมีบทบาทอย่างไรในพื้นที่จิตใจของเด็กๆ ?
“ถ้าเราฟังแล้วอยู่เป็นเพื่อนเขาจริงๆ เราจะเป็นแหล่งน้ำกลางทะเลทรายให้เขาได้”
คืออีกคำตอบที่น่าสนใจจากมะขวัญ
ในวันที่ผู้ใหญ่ดูจะเป็น ‘คนแก่บ้าน้ำลาย’ และชอบ ‘โซตัสโซใจ’ ( คำศัพท์ที่วัยรุ่นนิยมใช้ในทำนองเสียดสีระบบ ‘โซตัส’ ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพผู้อาวุโสและระบบอำนาจนิยม ) เด็กๆ เหลือเกิน แท้จริงแล้ว ผู้ใหญ่ยังคงเป็นแหล่งพักใจให้เด็กๆ ได้จริงหรือไม่ ?
“ความเป็นผู้ใหญ่ก็มีคุณค่า ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่จะแย่ หรือเด็กจะแย่ สุดท้ายเด็กจะเจอปัญหาบางอย่างในช่วงวัยของเขาเหมือนเดิม ซึ่งเขาต้องการผู้ใหญ่สักคนเป็นหลักให้หน่อย รับฟังเขาหน่อย และเขาจะเป็นคนบอกเองว่าอันนี้ขอคำปรึกษาหน่อยได้ไหม เขาจะมาด้วยสิ่งนั้นเลย ครูคะอกหักมา โดนนอกใจ หนูสอบตก ติดเอฟ และเขาแค่ต้องการผู้ใหญ่สักคน”
คีย์เวิร์ดของคำตอบนี้คือการ “ฟัง”
“ผู้ใหญ่อาจเป็นแหล่งน้ำกลางทะเลทรายให้เด็กได้เลยถ้าเราฟัง เขาแค่ต้องการคนรับฟังหน่อยแล้วเขาก็จะเล่า อันนี้ขอคำปรึกษาหน่อยได้ไหม อันนั้นต้องทำยังไง หนูต้องผ่านเรื่องนี้ไปยังไงในฐานประสบการณ์ที่ครูผ่านมา แล้วตอนนั้นเราถึงจะให้คำปรึกษา”
มะขวัญได้รับรู้ถึงพลังของการฟังด้วยตัวเอง เมื่อเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้คนเราไม่ได้ต่างกันเพียงช่วงวัย แต่มาจากคนละยุค คนละสมัย และคืบคลานเข้ามาสร้างช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์และอาจารย์อย่างช้าๆ
“ตอนนั้นเหมือนกับว่า เด็กเขาก็จะมีภาษาหรือเทคโนโลยีบางสิ่งที่เขาใช้กันแล้วเราไม่เข้าใจ พอเราไม่เข้าใจทั้งหมดที่เขาพูดมา ทั้งดิสคอร์ด (Discord – แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับพูดคุยผ่านเสียง วิดีโอ และข้อความ เป็นที่นิยมในหมู่เกมเมอร์) หรือศัพท์ใหม่ๆ ทั้งหมด เรารู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ถ้ำ ฉันอายุ 32 เธอ 22 ห่างกัน 10 ปี แต่ตอนนี้ฉันเป็นมนุษย์ถ้ำอยู่ที่หน้าถ้ำแล้วเธอกำลังคุยอะไรกันก็ไม่รู้ มันเกิดความกลัวจริงๆ ว่าฉันจะเชื่อมกับเธอไม่ติด แล้วฉันจะเข้าหาพวกเธอยังไงเหรอ ? สิ่งที่พวกเธอคุยกันฉันไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง”
ซึ่งมะขวัญยังกล่าวเสริมอีกว่า
“เราว่าความกลัวน่าสนใจ เพราะผู้ใหญ่แต่ละคนจัดการกับสิ่งนี้ต่างกัน บางคนจะใช้อำนาจมากดเลยเพื่อไม่ให้เด็กรู้ว่าฉันกลัว ใช้อำนาจสั่งเลยเพื่อจะได้ยังต่อติด”
แล้วสิ่งที่มะขวัญเลือกทำในวันนั้นคืออะไร ?
มะขวัญเลือกที่จะ ‘ถอย’
“ตอนนั้น เราใช้วิธีถอย ถามตัวเองว่าเรากลัวจริงๆ ตอนนี้ว่าเราจะต่อกับเด็กในห้องไม่ติด เพราะการเรียนรู้ที่ดี ความสัมพันธ์มันต้องดี ฉันจะต่อกับเด็กให้ติดยังไง”
และคำตอบที่ได้ก็เป็นคำตอบที่เรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อ
“เราก็คิดง่ายๆ ว่า ก็ฟังไง ไม่เข้าใจก็ฟัง ไม่เข้าใจก็ต้องหาทางฟัง แล้วไม่เข้าใจอะไรก็บอกเด็กว่าไม่เข้าใจ แต่ครูก็อยากเรียนรู้เรื่องของหนูนะ แล้วเราก็เห็นว่ามันก็เหมือนเดิมไม่เห็นมีอะไรเลย”
‘การฟัง’ ดูเป็นคำตอบที่เรียบง่าย แต่กลับให้ผลอันน่าประทับใจที่สุด
“พอเขาสัมผัสได้ว่าผู้ใหญ่สนใจ เขาจะให้พื้นที่เรา เพราะเขารู้สึกได้ว่าผู้ใหญ่คนนี้ยินดีรับฟังจริงๆ นะ อยากรู้เรื่องเราจริงๆ นะ พื้นที่หัวใจมันก็เปิด เราก็ยังต่อกับเด็กเจ็ดแปดเก้ารุ่นติดเหมือนเดิม ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ”
“เด็กเขาแค่ต้องการมนุษย์หนึ่งคนที่มีประสบการณ์มากกว่า เป็นพื้นที่ดีๆ ให้เขาหน่อยและเขาจะเล่าให้ฟัง เขาแค่ต้องการพื้นที่ของมนุษย์อีกคนที่รับฟังและพร้อมเข้าใจเขา”
แล้วอะไรที่ทำให้เราหันหูเข้าหากันไม่ได้ ?
แม้การฟังดูจะเป็นคำตอบที่เรียบง่าย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนทางที่ง่ายที่สุดก็อาจมีอุปสรรค ซึ่งถ้าไปถามเด็กๆ ก็อาจได้คำตอบว่า
‘ก็เพราะผู้ใหญ่ชอบสอน’
‘ฟังแล้วต้องสอนทันที’
แต่จริงๆ แล้ว อุปสรรคในการฟังของผู้ใหญ่จะใช่นิสัย ‘ ชอบสอน ’ หรือไม่ มะขวัญให้ความเห็นในมุมมองที่ลึกกว่านั้นว่า
“อุปสรรคใหญ่ที่สุดคือ ความเชื่อว่าคุณค่าที่แท้จริง ที่สำคัญ ที่ควรให้ค่าคืออะไร ถ้าเรายังให้ค่าว่าฉันคือผู้ใหญ่เธอต้องเคารพ ถ้าในใจเรายังเป็นแบบนี้อยู่ มันก็ยากที่จะลดตัวลงมาทำความรู้จักอีกคน เราว่าเราต้องจัดการความเชื่อของเราก่อนว่าเราเชื่อแบบไหน”
ซึ่งวิธีก้าวผ่านอุปสรรคนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งที่พวกเราอาจจะคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ …
“เราว่าพลังก้อนสำคัญที่สุดในใจของผู้ใหญ่คือความรัก”
มะขวัญกล่าวอย่างมั่นใจ
“อย่างเด็กคนหนึ่งที่ฆ่าตัวตาย แม่เขาก็เป็นสายต้องสั่งสอน จะพาลูกไปเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ด่าลูกว่าทำไมอ่อนแอแบบนี้ สุดท้ายความรักพังเขาลงหมดเลย พอลูกเขาฆ่าตัวตายอีกรอบ เขาโทรมาหาเราแล้วบอกว่า ยอมหมดแล้วตอนนี้ บอกมาหน่อยว่าต้องทำยังไง ยอมหมดทุกอย่างให้ลูกยังอยู่ แล้วแม่คนนี้ก็ไปเข้ารับการบำบัดพร้อมลูก แล้วกลายเป็นแม่อีกแบบที่สวยงามมาก … กลายเป็นแม่ที่ถามลูกก่อนว่าต้องทำยังไง ลูกรู้สึกโอเคมั้ย ลูกไม่โอเคหรือเปล่า ลูกบอกแม่ได้เลยนะ เพื่อให้ลูกยังมีชีวิตอยู่แม่ยอมหมด”
“ถึงอุปสรรคจะเป็นเรื่องความเชื่อ แต่พลังก้อนใหญ่คือความรัก เรารักเขาจริงๆ และเราอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา”
ถ้างั้นถึงเด็กจะ ‘ปากแจ๋ว’ เราก็ต้องฟังสินะ ?
ใครที่เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กบ่อยๆ อาจจะคุ้นเคยกับคำนี้บ้าง
‘เด็กปากแจ๋ว’ คือคำที่ใช้เรียกเหล่าชาวเน็ตรุ่นเยาว์ที่มาพร้อมกับการปกป้องและเผยแพร่จุดยืนของพวกเขาอย่างเต็มที่ แม้บางครั้งการแสดงจุดยืนหรือเผยแพร่จุดยืนเหล่านั้นอาจก้ำกึ่งระหว่างความแน่วแน่กับความก้าวร้าว ไม่รู้จักกาลเทศะ จนก่อเกิดเป็นการถกเถียงที่ร้อนระอุระหว่างชาวเน็ตหลายช่วงอายุ หรือแม้กระทั่งการขึ้นโรงขึ้นศาลก็มี
ซึ่งในมุมนี้ มะขวัญก็ลงความเห็นแบบติดตลกว่า
“มันก็ปากแจ๋วจริง มันก็วิพากษ์วิจารณ์จริง มันก็ด่าเก่งจริง”
แต่กระนั้นก็กล่าวต่อว่า
“แต่ถ้าเรามองระดับสังคม ระดับโครงสร้างว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราจะมองเด็กแค่ในสิ่งที่เด็กทำก็ไม่ได้ มีครูบางคนบอกว่าเรามองเด็กในแง่ดีเกินไป … เราว่าเราก็ไม่ได้มองเด็กในแง่ดีหรือแง่ร้ายนะ พอเรามองไปถึงระดับโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ ประเทศชาติที่เกิดขึ้น เจอเรื่องเลวร้ายขนาดนั้น ใครจะไม่โมโหอ่ะ”
“เราว่าสิ่งนี้สำคัญ เราเป็นผู้ใหญ่ เรามีเครื่องมือในการดูแลชีวิตจิตใจประมาณหนึ่ง สมมติเรามีห้าเครื่องมือ แต่เด็กมีแค่หนึ่งเครื่องมือ แต่เราคาดหวังให้เด็กทำได้ทุกอย่าง ซึ่งมันไม่ยุติธรรมกับเด็กเลยเราว่า”
“เด็กปากแจ๋ว เพราะสิ่งที่เขาเจอมันโหดร้ายและเครื่องมือของเขาก็ยังน้อย เราจะโทษเด็กทั้งหมดก็ไม่ได้อีก”
“เราไม่ได้เข้าข้างเด็ก แต่เรามองว่า ผู้ใหญ่คือคนที่มีห้าเครื่องมือแล้ว เราจะเอาอะไรกับคนที่มีแค่หนึ่งเครื่องมือ”
“ช่วงโควิดเด็กต้องแบกรับทั้งหมดนั้นโดยที่มีแค่หนึ่งเครื่องมือ เขาน่าเห็นใจมากนะ”
เพราะผู้ใหญ่ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ฉะนั้นเครื่องมือในการรับมือปัญหาต่างๆ ย่อมมากกว่าเด็กเป็นธรรมดา แต่นั่นหมายความว่าไม่ว่าเด็กจะปากแจ๋วยังไง หรือความสัมพันธ์ที่มีอยู่จะระหองระแหงแค่ไหน ผู้ใหญ่ที่มีเครื่องมือมากกว่า ก็ควรเป็นฝ่ายที่เปิดใจและเข้าไปปรับความสัมพันธ์กับเด็กก่อนสินะ ?
“ต้องขอตอบว่าทั้งใช่และไม่ใช่”
นั่นคือคำตอบของมะขวัญ
ผู้ใหญ่หรือเด็ก ใครควรเริ่มเปิดใจปรับความสัมพันธ์ก่อน ?
“ยังไงความสัมพันธ์ก็ขึ้นอยู่กับคนสองคนที่ต้องเปิดใจเข้าหากัน ถ้าผู้ใหญ่รู้สึกว่าพร้อม แข็งแรงกว่า โอเคกว่า จัดการตัวเองได้มากกว่า คนที่แข็งแรงกว่าก็น่าจะเป็นคนเริ่มก่อน ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าเด็กรู้สึกว่าแข็งแรงกว่า ฉันพร้อม เด็กก็เป็นคนเริ่มก่อนได้”
“สิ่งที่เด็กต้องรู้ คือการเป็นผู้ใหญ่เจ็บปวดจริงๆ เต็มไปด้วยเรื่องที่ต้องแบกรับปัญหา ภาระ หน้าที่ มันเหนื่อยมากเลย”
แม้ในปัจจุบัน จะเริ่มมีกระแสว่า ‘ควรมีลูกเมื่อพร้อม’ หรือคนเป็นพ่อเป็นแม่ให้กำเนิดเรามา ก็ต้องเป็นคนทำสิ่งที่ถูก แต่กระนั้นมะขวัญก็ยังขอให้เราจำสิ่งหนึ่งเอาไว้ นั่นคือเครื่องมือทุกอย่างที่ผู้ใหญ่อาจมีไว้ดูแลจิตใจตัวเองก็ไม่ได้แลกมาฟรีๆ เหมือนกัน
“ผู้ใหญ่ผ่านโลกมาเยอะ เขาต้องผ่านการสูญเสีย ผ่านคนตาย ผ่านวิกฤติ ผ่านงานที่ต้องแบกรับ มันมีความเจ็บปวดอยู่ในใจเขา เลยไม่ได้แปลว่าเขาจะแข็งแรงกว่า เราที่เจ็บปวดด้วยเรื่องที่น้อยกว่า อาจจะแข็งแรงกว่าก็ได้”
“อย่างเรากับแม่ความสัมพันธ์ดีโคตร ดีมหาศาล แต่มันเกิดจากจุดที่เราเรียนรู้แล้วว่าเราต้องเปิดจากการดูแลตัวเอง แล้วคนที่แข็งแรงกว่าในเวลานั้นคือเรา จึงเป็นคนเปิดใจเข้าหาแม่ก่อน แล้วพอแม่แข็งแรงแม่ก็เปิดด้วย มันพัฒนาจากจุดที่กลัวมากๆ มาจนถึงจุดล่าสุดคือ ลูกชอบผู้ชายคนนี้ใช่ไหม ? เอาเงินไป ไปกินข้าวกับเขา ( หัวเราะ )”
ฉะนั้นเราจะบอกว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน ผ่านโลกมาก่อน ควรเริ่มปรับความสัมพันธ์กับเด็กก่อน” หรือ “เด็กควรให้ความเคารพและรับฟังผู้ใหญ่มากกว่า ควรเป็นคนเข้าไปปรับความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ก่อน” ก็ไม่ได้ เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนเป็น “คน” เหมือนกัน
พวกเราต่างเป็นคนคนหนึ่งที่เกิดมาบนโลกนี้และได้ใช้ชีวิตนี้เป็นครั้งแรก ไม่มีใครที่จะรู้ทุกสิ่งหรือทำอะไรถูกไปเสียหมด ยังมีบางสิ่งที่เราต้องเรียนรู้อีกมากมาย อาจจะในฐานะลูก พ่อแม่ หรือคนคนหนึ่ง การมีบาดแผลในชีวิตจึงเป็นเรื่องธรรมดา หากเราสามารถดูแลบาดแผลของตัวเองได้ และพร้อมที่จะเป็นฝ่ายปรับความเข้าใจในความสัมพันธ์นี้ ก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะเริ่มก่อน
ถ้าเปิดใจฝ่ายเดียวแล้วไม่สำเร็จ ให้กลับมา ‘รักตัวเอง’
อย่างไรก็ตามมะขวัญไม่ลืมที่จะทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าหากวันหนึ่งเราเปิดใจเข้าหาก่อน แล้วอีกฝ่ายจะเปิดใจด้วยในทันที
“ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ใช้เวลามาก เหนื่อยหน่าย ลงทุนแล้วก็ไม่รู้จะได้อะไรกลับมา”
สุดท้ายแล้ว หากเราพยายามเปิดใจเข้าหา แต่อีกฝ่ายก็ยังไม่เปิดใจกลับมา สิ่งสำคัญที่สุดในวันนั้น คือการกลับมา “ดูแลตัวเอง” “รักตัวเอง” และ “ใช้ชีวิตของตัวเองให้มีความสุข”
“ถ้าเรามาถึงจุดที่บอกตัวเองได้ว่า ฉันทำมากพอแล้ว ก็ช่างมัน เพราะความสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องที่เจ็บ … การที่เขาไม่เปิด เราพูดแล้วเราเจ็บจังเลย เหมือนวิ่งชนกำแพง สุดท้ายก็ต้องกลับมาดูแลตัวเอง รักตัวเอง ทำตัวเองให้ดี แล้วก็จัดการเรื่องความคาดหวังของเรา ให้รู้ว่าเออ มันอาจจะได้เท่านี้ เราคาดหวังมันไม่ได้ ดูแลความเจ็บนั้นให้เสร็จ แล้วก็ใช้ชีวิตให้มีความสุข”
ขอบคุณภาพจาก มะขวัญ – วิภาดา แหวนเพชร