หลายคนใช้ชีวิตเพื่อทุ่มเทให้กับบางสิ่ง ด้วยการใช้เวลานับพัน นับหมื่นชั่วโมงอยู่กับสิ่งนั้น จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญของตัวเอง เป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำแค่เพราะความชอบ แต่เป็นคุณค่า เป็นความสุข และเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นตัวตนของตัวเอง
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราทำบางสิ่งบางอย่างจนกระทั่งมันกลายเป็นชีวิต แต่วันหนึ่งเรากลับไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้อีก โลกของเราจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน ชีวิตของเราคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คงไม่ง่ายที่จะทำให้ความสุขที่เคยมีอยู่ในชีวิตกลับมาอีกครั้ง
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ อิศร์ อุปอินทร์ ทายาทของศิลปินชั้นครูแห่งวงการศิลปะ อย่าง อาจารย์สมโภชน์ อุปอินทร์ ผู้บุกเบิกงานคิวบิสม์ (Cubism) แก่วงการศิลปะไทย และ อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ที่มีผลงานโดดเด่น ด้านการวาดภาพพอร์ตเทรต ตัดสินใจทำ ‘บ้านอุปอินทร์’ อาร์ตแกลเลอรีที่เนรมิตจากพื้นที่บ้านพักส่วนตัวของครอบครัวขึ้น เพื่อให้แม่ที่ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันและมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ยังสามารถทำสิ่งที่รักและเป็นความสุขเดียวของชีวิตอย่างการวาดรูปได้
นอกจากนี้ เขายังตั้งใจให้ที่นี่เป็นเหมือนตัวแทนชีวิตและความฝันของพ่อที่เคยอยากมีพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับทำงานศิลปะ และอยากมีทายาทที่จะสืบทอดวงศ์ตระกูลต่อไป ทั้งความฝันของพ่อและความสุขของแม่จึงได้ถูกรวมไว้ ณ ที่แห่งนี้
จุดเปลี่ยน
“ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทาง National Gallery Singapore จะเปิดแกลเลอรีให้เป็นศูนย์กลางด้านศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเลยติดต่อเข้ามาว่าอยากได้รูปของคุณพ่อไปจัดแสดงนิทรรศการที่โน่น เขาทำรีเสิร์ชมาอย่างดีจนรู้แม้กระทั่งว่าผลงานของคุณพ่อใช้ฝีแปรงอย่างไร และมีผลงานปีไหนโดดเด่นบ้าง จนเรารู้สึกว่าเขารู้จักพ่อเรามากกว่าเราเสียอีก
“เวลาทำงานแฟชั่น เราชอบใช้แรงบันดาลใจจากศิลปินเมืองนอก ไม่ว่าจะเป็น ปาโบล ปิกัสโซ, อ็องรี มาร์ติส, มาร์ก ชากาล, ปอล โก แกง เราก็เลยมานั่งคิดว่า พ่อเราก็เก่งนะ แต่ทำไมเราไม่เคยคิดถึงเรื่องการเอาคนไทยมาเป็นต้นแบบในการทำงานเลย แต่สิงคโปร์กลับมองเราแบบนั้น มุมมองของเราก็เลยเริ่มเปลี่ยนไป
“ตอนนั้นทางสิงคโปร์ก็เทียวไปเทียวมาอยู่ประมาณ 1 ปี พยายามที่จะซื้อรูปภาพของคุณพ่อไป ซึ่งรูปนั้นเป็นรูปที่ดังที่สุดของคุณพ่อ งานของคุณพ่อจะไม่เหมือนงานของศิลปินไทยคนอื่น ๆ ชิ้นงานจะมีลักษณะเป็นนามธรรม มีความลึก เพราะคุณพ่อเป็นศิลปินไทยคนแรก ๆ ที่นำศิลปะตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับศิลปะตะวันออก เราก็เลยคิดว่าถ้าเราให้เขาไป งานดี ๆ ของคุณพ่อมันก็จะหายไปจากเมืองไทย ทางสิงคโปร์ติดต่อเราไปมาอยู่หลายรอบ แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจไม่ขาย
“หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี คุณพ่อไม่สบายและอาการเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว ถ้าเราเก็บงานของคุณพ่อไว้เฉย ๆ มันก็จะไม่ได้โชว์ เราก็เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานของคุณพ่อได้ไปโชว์ แต่ไม่หลุดออกจากประเทศไปเป็นของคนอื่น สุดท้ายเราก็ตัดสินใจอีเมลไปบอกเขาว่าเราไม่ขายแต่จะให้ยืมไปจัดแสดงแทน ทางสิงคโปร์ก็เลยรีบบินมาทำสัญญาแล้วนำรูปของคุณพ่อไปจัดแสดง
“ระหว่างที่จัดแสดงงานของคุณพ่ออยู่ที่สิงคโปร์ คุณพ่อก็เสีย แต่หลังจากที่งานของคุณพ่อได้ไปจัดแสดงที่สิงคโปร์ ชื่อเสียงของคุณพ่อก็กลับมาอีกครั้ง เราก็เลยรู้สึกว่าจังหวะนี้เป็นโอกาสดีที่เราควรจะทำอะไรสักอย่าง เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ชื่อเสียงของคุณพ่อก็จะหายไป
“ตอนนั้นหลายคนที่อยากสะสมผลงานศิลปะเข้ามาหาเราเยอะมาก เราก็เลยเอารูปของคุณพ่อออกมาเช็กสภาพ เอาไปซ่อม ประกอบกับตอนนั้นคุณแม่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติพอดี เราก็เลยจัดแสดงงานครั้งใหญ่ให้คุณแม่ โดยเอางานคุณพ่อจัดแสดงพ่วงไปด้วย เพื่อให้คนไม่ลืมคุณพ่อ และคุ้นเคยกับชื่อคุณพ่อมากขึ้น”
ก่อร่างสร้างฝัน
“เราเป็นสไตล์ลิสต์ เป็นเหมือนผู้จัดการกองถ่าย ชีวิตที่ผ่านมาของเราต้องเดินทางอยู่ตลอด เดี่ยวไปต่างจังหวัด เดี๋ยวไปต่างประเทศ มันเหนื่อย มันเบื่อ เราทำงานอยู่ในวงการแฟชั่นมากว่า 30 ปี ทุกอย่างมันเต็มแล้ว พอเราอายุเยอะขึ้นงานแฟชั่นมันไม่สนุกเหมือนเดิม เลยคิดว่าอยากทำอะไรที่มันมีคุณค่า และทำเพื่อครอบครัวบ้าง
“ช่วงโควิด-19 งานเราน้อยลงมาก นิตยสารที่เราทำก็ค่อย ๆ ปิดตัวลงทีละเล่ม เราเคยทำเสื้อผ้า ทำแฟชั่นโชว์ แต่ช่วงนั้นทุกอย่างมันหายไปเลย มันเหมือนนั่งอยู่เฉย ๆ แล้วความคิดมันก็แว็บขึ้นมาว่า สิ่งนี้แหละที่เรายังขาดอยู่ในชีวิต
“บ้านหลังนี้มันมีจิตวิญญาณและตัวตนของคุณพ่ออยู่ ถ้าจะทำอะไรสักอย่าง เราคิดว่าก็ต้องทำที่นี่ เราอยู่บ้านหลังนี้มาตั้งแต่อายุ 11 ปี เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานศิลปะมาตั้งแต่จำความได้ ตอนนั้นเราเห็นคุณแม่เขียนรูปก็อยากเขียนบ้าง ก็เลยหยิบแปรงมาเพนต์ มาลงสีแบ็กกราวด์ให้คุณแม่ ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ถ้าเราอยากไปเที่ยว ก่อนไปเราก็ต้องไปช่วยคุณพ่อทุบดิน นวดดินก่อน เราก็เลยรู้สึกว่าตัวเองคลุกคลีกับเรื่องศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว
“ตอนแรกที่เริ่มทำบ้านอุปอินทร์ มันก็ค่อนข้างยาก เหมือนความรู้เราเป็นศูนย์ เราอยู่ในวงการแฟชั่นมาตลอด พอมาจับเรื่องนี้ทุกอย่างมันใหม่สำหรับเรา แต่เราก็รู้สึกดีตรงที่เรามีที่ปรึกษา คุณแม่ก็เป็นศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็สนับสนุนให้เราเปิดบ้านนี้ เราได้คุยกับหลาย ๆ คน มีคนให้ไอเดีย ให้พลังงานดี ๆ กับเรา ทำให้เรารู้สึกว่าการทำบ้านอุปอินทร์มันเป็นไปได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด มีคนให้ความช่วยเหลือจนเราสามารถมั่นใจได้ว่าเราไม่ได้มาผิดทาง”
ทายาทอุปอินทร์
“เราเป็นเกย์ เราไม่มีลูก บ้านอุปอินทร์ก็เหมือนลูกที่เราจะทำให้เขาเติบโต ถ้าเราทำสิ่งนี้ ต่อให้เราตาย เฮาส์ออฟอุปอินทร์ ครอบครัวอุปอินทร์ นามสกุลอุปอินทร์ก็จะอยู่ต่อไป คุณพ่อเป็นลูกคนเดียว เขาก็อยากมีทายาทมาสืบทอดนามสกุลเขา พอเราทำบ้านอุปอินทร์ สิ่งนี้ก็เลยเหมือนกับว่าเราได้มีทายาทให้เขาแล้ว
“คุณพ่อเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป พีระศรี เขาเคยอยากจะทำห้องที่บ้านให้เหมือนกับห้องของอาจารย์ศิลป ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนที่มีความเป็นศิลปินสูงมาก เรื่องการจัดการต่าง ๆ เขาจะไม่ถนัด ก็เลยไม่ได้ทำให้สำเร็จ พอเราเปิดบ้านนี้ ก็มีห้องไว้จัดแสดงงานให้เขา มันก็เลยเหมือนว่าเรามาสานต่อแอละทำพื้นที่ตรงนั้นให้เขาได้แล้ว”
ศิลปะจะเยียวยาทุกสิ่ง
“คุณแม่เป็นจิตรกรหญิงคนแรกที่จบศิลปากร เพราะฉะนั้นความมั่นใจของเขาจะสูงมาก เขาจะเขียนเฉพาะภาพพอร์ตเทรต ภาพหมา แมว ดอกไม้ เขาก็ไม่เขียน คุณแม่เป็นคนที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตเยอะมาก เขาไม่ฟังเพลง ไม่ดูละคร สิ่งที่ทำให้คุณแม่มีความสุขได้มีน้อยมาก ไม่เหมือนพวกเราที่สามารถไปเดินเล่น ไปห้าง แล้วมีความสุขได้
“ก่อนหน้านี้คุณแม่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ก็เลยเลิกเขียนรูปไปเลยเพราะมือสั่น ทำงานไม่ได้ แต่ความสุขของคุณแม่คือการเขียนรูป สิ่งเดียวในชีวิตที่คุณแม่สนใจก็คือศิลปะ เราก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้คุณแม่รู้สึกว่าเขาได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข
“พอไปคุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์ เขาก็เลยเสนอไอเดียว่าเขาจะไปถอดเสื้อผ้านั่งเป็นแบบให้คุณแม่วาดรูปให้ คุณแม่เขาเคยอยากวาดภาพนู้ดอยู่แล้ว แต่ไม่ได้วาดสักที พอเพื่อนไปนั่งเป็นแบบให้ คุณแม่ก็วาดได้จริง ๆ หลังจากนั้นคุณแม่ก็วาดรูปไปเรื่อย ๆ จนอาการดีขึ้นและเลิกกินยาไปแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าศิลปะมันช่วยได้จริง ๆ”
ทำตอนนี้ให้ดีที่สุด
“ทุกวันนี้เราก็ดูแลทุกอย่างให้คุณแม่ ทั้งเรื่องงานและเรื่องชีวิตประจำวัน เป็นผู้จัดการให้ รับคิวให้ ดูแลเรื่องการแต่งตัว ออกกำลังกาย พาไปหาหมอ ตอนนี้คุณแม่มีความเสี่ยงเรื่องภาวะสมองเสื่อม เราก็เลยพยายามให้เขาเขียนรูปอยู่เรื่อย ๆ การเขียนรูปทำให้เขายังได้ฝึกสมองอยู่ตลอด ถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็จะเสียเขาไป
“คนที่เคยประสบความสำเร็จมาก ๆ มีคนห้อมล้อมอยู่ตลอด วันหนึ่งที่ร่างกายร่วงโรยลง มันอาจทำให้เขารู้สึกแย่ แต่ถ้าเราพยายามทำให้เขาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับที่เขาเคยอยู่ มันอาจทำให้เขารู้สึกดีขึ้น
“พอมือคุณแม่หายสั่น ก็มีคนเข้ามาหาคุณแม่เรื่อย ๆ เพราะอยากให้คุณแม่ช่วยวาดรูปเหมือนให้ ลงคิวกันไว้เต็มไปหมด เวลามีคนแวะมาหา คุณแม่จะมีความสุขมาก
“เราต้องยอมรับว่าวันหนึ่งความสามารถที่คุณแม่เคยมีจะต้องเสื่อมถอยลง เราหนีวงจรนี้ไม่ได้ แต่วันนี้เรายังมีความสุขกับมันอยู่ เราก็พยายามที่จะทำให้มันไปต่อให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าวันหนึ่งธรรมชาติบอกว่าต้องหยุดแล้ว เราก็ต้องหยุด แต่ชื่อเสียงของคุณพ่อคุณแม่ก็จะยังคงอยู่ในฐานะของเฮาส์ออฟอุปอินทร์ต่อไป”