กิ๋นข้าวหลังบ้าน มื้ออาหารที่เชื่อมร้อยคนต่างวัยเข้าด้วยกัน


นอกจากเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ‘กานต์บายไททอ’ กิ๊ก-กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล ยังเป็นเจ้าของโฮมสเตย์ homelynestphrae โฮมสเตย์ที่ก่อสร้างขึ้นด้วยความอบอุ่นของครอบครัว ในเมืองแพร่ จังหวัดเล็กๆ ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว

ก่อนหน้านี้กิ๊กจากบ้าน ไปเรียนและทำงานเป็นดีไซเนอร์อยู่ที่กรุงเทพฯ ความรักในการออกแบบเสื้อผ้าของเธอนั้นมาจากการได้เห็นยายทำงานฝีมือตลอดเวลาสมัยยังเด็ก เพื่อต่อยอดธุรกิจผ้าของครอบครัว และเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง กิ๊กจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาบ้านเกิดมาเริ่มต้นชีวิตใหม่

ล่าสุดกิ๊กทำโปรเจกต์ ‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ ที่ฟังชื่อครั้งแรก หลายคนอาจขมวดคิ้วว่าทำไมต้องไปกินข้าวกันหลังบ้าน

เราชวนคุณอ่านเรื่องราวของคุณยายวัย 94 และหลานสาววัยกลางเลขสาม ที่เชื่อมร้อยความรักความผูกพันผ่านการทำอาหารพื้นเมืองกินกันในบ้าน จนปัจจุบันการทำอาหารของคุณยายกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วเมืองแพร่

วันนี้คนรุ่นใหม่และใครหลายๆ คนก็อยากจะมากิ๋นข้าวหลังบ้านที่บ้านของคุณยายสักครั้งในชีวิต

โลกของยาย

ในวัย 94 ปี คุณยายมอญแก้ว อินทราวุธ ยังแข็งแรงเดินเหินได้เป็นปกติ ไม่มีการล้มหมอนนอนเสื่อเมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน

กิ๊ก-กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล หลานสาวเล่าว่าเคล็ดลับของยายไม่มีอะไรมากไปกว่าการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ทว่าไม่หักโหม พักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญทำในสิ่งที่ตัวเองรักและพึงพอใจ

“ทุกวันนี้ยายเดินขึ้นลงบันได ดายหญ้า ปลูกและกินผักที่ปลูกเองทุกวัน ในสวนของยายมีทั้งผักคาวตอง ขิง ข่า ตะไคร้ มะรุม สะระแหน่ อะไรออกผลก็เก็บกินอันนั้น เท่ากับยายได้กินสมุนไพรทุกวัน ไม่นับน้ำเต้าหู้ที่คั้นกินเองเป็นประจำอีก การทำสวนถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว เพิ่มเติมจากที่เมื่อก่อนมีรำไทเก๊กและโยคะด้วย และคุณยายนอนตั้งแต่สามทุ่มถึงตีห้าทุกวัน

“ที่สำคัญที่สุด คือยายได้ทำในสิ่งที่ชอบ นอกจากการทำงานฝีมือจำพวกการเย็บปักถักร้อยต่างๆ ยายรักการทำอาหารเหนือแบบโบราณที่ยายเคยทำสมัยสาวๆ ทั้งน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกเป้อเล้อ ที่เป็นน้ำพริกของเมืองแพร่ น้ำพริกน้ำปู๋
ไปจนถึงพวกผักนึ่ง แกงแค แกงอ่อม ยำไก่ ลาบหมู แต่ละเมนูเน้นผักและเครื่องเทศของทางเหนือ เป็นสูตรพื้นเมืองที่คุณยายสืบทอดมาจากคุณทวดอีกที่นอกจากจะรสชาติอร่อยถูกปากแล้ว ยังเป็นสูตรเฉพาะที่น่าจะมีแต่คนในครอบครัวเท่านั้นที่ได้กิน”

กิ๊กบอกว่าแม้จะได้ลองลิ้มชิมรสอาหารของยายมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้อายุได้ 34 ปีแล้ว แต่เธอก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยสักครั้ง

คุณยายมอญแก้ว เกิดที่เมืองแพร่ในต้นรัชกาลที่ 7 จนถึงวันนี้ชีวิตของยายยืนยาวมาถึง 4 แผ่นดินแล้ว

เนื่องจากคุณยายแต่งงานออกเรือนตั้งแต่อายุ 15 ปี ตามวิถีของคนสมัยนั้นที่ส่วนใหญ่จะออกเรือนตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยคุณตารับราชการเป็นทหาร ขณะเดียวกันก็เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แพร่ ด้วยเหตุนี้ในวัยสาว ชีวิตคุณยายจึงมี 2 บทบาท ทั้งบทบาทของสาวสังคม และบทบาทแม่บ้านผู้ชำนาญงานฝีมือในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสริมสวย เย็บปักถักร้อย ไปจนถึงการทำอาหาร

กิ๊กจำได้ว่าสมัยเด็กๆ เธอมักเห็นยายนั่งทำงานหัตถกรรมอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานใบตองที่นำมาเป็นของใช้ต่างๆ หรือการนำเศษผ้ามาทำเป็นผ้าปูโต๊ะ ที่รองแก้ว ครั้งหนึ่งเด็กหญิงอย่างเธอยังเคยได้เสื้อกั๊กที่ทำมาจากเศษผ้านำมาเย็บต่อกันจากฝีมือของคุณยาย สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้กิ๊กเติบโตมาเป็นคนที่หลงรักงานฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออกแบบที่เกี่ยวกับเสื้อผ้า

ยายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กหญิงรู้ว่าตัวเองชอบอะไร และเมื่อเติบโตขึ้นเธอก็เลือกใช้ชีวิตอย่างที่เธอรัก

โลกของหลาน

“การที่เราได้เห็นยายทำงานฝีมือของเขาทุกๆ วัน เป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยากเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า ยิ่งประกอบกับการที่คุณแม่ก็เป็นนักออกแบบและทำธุรกิจเกี่ยวกับผ้า และมีคุณพ่อเป็นนักตกแต่งภายในอยู่แล้วก็ยิ่งทำให้เรารู้ว่าเราอยากเป็นอะไรมาตั้งแต่เด็ก คือด้วยสิ่งแวดล้อมทั้งหมดมันหล่อหลอมเรา แต่ถ้าจะถามว่าแรงบันดาลใจจริงๆ มาจากไหนก็คงต้องบอกว่าเป็นยาย

“การได้เห็นยายทำงานฝีมือทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นทำอาหาร จัดดอกไม้ เย็บปักถักร้อย ทำงานผ้า ทำให้เราค่อยๆ ซึมซับ อยากทำอย่างยายบ้าง เมื่อเราอยากรู้ยายก็ไม่ปิดกั้น ให้เราลองทำทั้งหมด เราได้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และเมื่อรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราจะได้เลือกเส้นทางของตัวเอง”

เมื่อโตขึ้น กิ๊กเลือกเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบพัสตราภรณ์ หลังเรียนจบ เธอทำงานเป็นดีนักออกแบบให้แบรนด์เสื้อผ้าในกรุงเทพฯ อยู่ 2 ปี ก่อนตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาต่อยอดธุรกิจผ้าของครอบครัว และสร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองชื่อ ‘กานต์บายไททอ’

หลังจากนั้นกิ๊กเปิดร้านกาแฟเล็กๆ และทำโฮมสเตยที่เมืองแพร่ชื่อ Homelynestphrae ซึ่งออกแบบโดยคุณพ่อเกือบทั้งหมด

“เรือนหลังนี้สร้างใจสร้างเอาไว้ต้อนรับเพื่อนๆ เพราะเรามักมีเพื่อนเดินทางมาลงพื้นที่ทำงาน หรือพักผ่อนยาวๆ ที่นี่ บางทีมากันเป็นกลุ่มหลายคน เลยคิดว่าควรมีห้องดีๆ ให้เขาได้มาพัก และเนื่องจากบ้านหลังเก่ามันเล็กไป ก็เลยสร้างใหม่เท่านั้น ไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจการค้าอะไรเลย

“ปรากฏว่าพอเพื่อนๆ มาพัก ก็ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ทำให้ที่พักหลังนี้จึงถูกบอกต่อกันปากต่อปากแพร่กระจายออกไปและเริ่มมีคนข้างนอกถามกันเข้ามาว่าเปิดให้พักหรือเปล่า เราเลยลองคุยกับแม่และอ่านข้อกฎหมายดู พบว่าสามารถเปิดเป็นโฮมสเตย์ได้ จึงตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเป็นโฮมสเตย์

“แต่กว่าจะเปิดโฮมสเตย์อย่างเป็นทางการได้ไม่ง่ายนัก เพราะเรือนหลังนี้สร้างในรั้วเดียวกับบ้านของยาย และท่านมีความกังวลว่าจะไว้ใจได้แค่ไหน กับการให้ใครก็ไม่รู้เข้ามาพักในบริเวณบ้าน เราเข้าใจนะว่ายายอาจจะไม่คุ้นชินกับอะไรแบบนี้ เราเองก็อธิบายอยู่นานกว่าท่านจะยอม”

เหตุผลที่คุณยายยอมให้เปิดโฮมสเตย์ได้ไม่มีอะไรมากไปกว่า การไม่อยากให้หลานสาวออกไปทำงานข้างนอก อย่างน้อยที่สุดการเปิดโฮมสเตย์ก็ทำให้เธอยังทำงานอยู่ที่บ้านและคุณยายเองก็ยังได้เห็นหน้าหลานรักอยู่ทุกวัน

ในที่สุด Homelynest phrae ก็ได้เปิดให้บริการจริงๆ เสียที และโปรเจกต์ ‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ ก็ถือกำเนิดขึ้นมาไม่นานหลังจากนั้น

กิ๋นข้าวหลังบ้าน

เมื่อโฮมสเตย์ Homelynestphrae เปิดให้บริการ ทุกๆ เดือน กิ๊กจึงมักชวนเพื่อนๆ มาปิกนิกและกินอาหารร่วมกันที่ด้านหลังเรือน โดยมีข้อตกลงสนุกๆ ว่าให้แต่ละคนนำอาหารแบ่งกันกินตรงกลางคนละ 2 – 3 เมนู ขณะที่เมนูอาหารของเจ้าบ้านนั้นเป็นฝีมือของยายและหลานสาวที่ช่วยกันสอน ช่วยกันทำ ช่วยกันปรุง ช่วยกันชิม

“พอมีกิจกรรมกิ๋นข้าวหลังบ้านกับเพื่อนๆ ขึ้นมา เราก็ขอเรียนทำอาหารกับคุณยาย ยายสอนตั้งแต่วิธีการเลือกซื้อของว่าควรซื้อแบบไหน แต่ละขั้นตอนการทำเป็นอย่างไร และถ้าวัตถุดิบแบบนี้ไม่มีสามารถใช้วัตถุดิบแบบไหนแทนกันได้ นอกจากสอนเราแล้วบางอย่างคุณยายก็ทำเองด้วย

“เมื่อมีลูกหลานมารวมตัวกันกินอาหารที่บ้าน ยายก็รู้สึกสนุกที่มีคนมากินอาหารของท่าน แล้วก็สนุกที่ได้สอนเรา เราเองก็รู้สึกมีความสุขเช่นกัน ความรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปสู่วัยเด็กที่ได้เข้าครัวกับยายอีกครั้ง เมื่อทำกับข้าวเสร็จ เราก็จัดโต๊ะเตรียมทุกอย่างให้สวยงาม พอเพื่อนมากินทุกคนก็พากันถ่ายรูปและแชร์ลงโซเชียลมีเดีย”

ด้วยความที่แพร่เป็นเมืองเล็กๆ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยกัน พอมีการพูดคุยบอกเล่ากันไปแบบปากต่อปาก ประกอบกับมีเรื่องราวลงในโซเชียลมีเดีย ทำให้มีคนมาสอบถามและสนใจอยากฝากท้องกับกิ๊กและยายมากมาย

“พอเริ่มเป็นที่รับรู้ก็มีผู้คนในแพร่มาถามว่า ถ้าจะไปกินแบบนี้บ้างจะได้ไหม อยากกินต้องทำยังไงบ้าง เปิดไหมจะมากิน หลังจากนั้นมีรุ่นน้องที่สนิทกันเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเขียนเล่าเรื่องกิ๋นข้าวหลังบ้าน และการทำอาหารของยายลงในเว็บไซต์ KRUA . co by sangdad ก็ยิ่งมีคนติดต่อเข้ามามากขึ้น ซึ่งทางเราก็ยังไม่รับปาก บอกไปว่าขอคุยกับคุณยายก่อนเนื่องจากท่านอายุมากแล้ว กลัวว่าท่านจะเหนื่อยและทำไม่ไหว”

ยายตอบตกลงอย่างเต็มใจ เมื่อกิ๊กเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง โดยมีเงื่อนไขการกิ๋นข้าวหลังบ้านเพียง 4 ข้อคือ

หนึ่ง อาหารที่ทำจะต้องตามใจยาย ผู้เป็นคนทำเท่านั้น

สอง จำกัดจำนวนไม่เกิน 8 คนต่อ 1 มื้อ

สาม จะทำแค่มื้อเย็นวันเสาร์แรก และเสาร์สุดท้ายในแต่ละเดือนเท่านั้น

สี่ รับเฉพาะลูกค้าที่จองล่วงหน้าเท่านั้น

หลังตอบรับข้อเสนอ หลานสาวอย่างกิ๊กก็ทำการประกาศให้ทุกคนได้ทราบทางหน้าเพจโฮมสเตย์ และการกิ๋นข้าวหลังบ้านก็ไม่ใช่เรื่องที่อยู่แค่หลังบ้านอีกต่อไป

ความสุขของยาย

“ตั้งแต่ประกาศอย่างเป็นทางการออกไปก็มีลูกค้าแวะมากินข้าวตลอด โดยเราจะประกาศทางเพจล่วงหน้าเอาไว้เลยว่าจะเปิดวันไหนบ้าง แต่เราจะไม่ระบุว่ามีเมนูอะไรบ้างให้ลูกค้าได้รู้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับอารมณ์ของยายเลยว่าวันนั้นยายอยากจะทำอะไร

“นอกจากอารมณ์ของยายแล้วก็ต้องดูวัตถุดิบด้วยว่า ในสวนของยายมีพืชผักสมุนไพรอะไรบ้างที่ออกดอกออกผลในเวลานั้น คือเราจะรู้เมนูจริงๆ ก็ในวันนั้นเลย ทันเวลาแจ้งให้ลูกค้าทราบเพียงไม่กี่ชั่วโมงล่วงหน้า แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีลูกค้าคนไหนบ่นอะไร ส่วนใหญ่ชอบกันอยู่แล้ว ขอเติม ขอเพิ่มตลอด เพราะอาหารสูตรแบบโบราณแบบนี้หากินที่ไหนไม่ค่อยได้

“ที่สำคัญวัตถุดิบของเรา เป็นผักปลอดสารเก็บเอาจากในสวน รวมถึงบรรยากาศที่เหมือนนั่งกินในสวนหลังบ้านจริงๆ อุปกรณ์ทุกอย่างบนโต๊ะ จาน ชาม ที่รองแก้ว ผ้าปูโต๊ะ เราอุดหนุนงานฝีมือของชาวบ้านที่นี่ กลายเป็นเราและลูกค้าก็ได้ช่วยชาวบ้าน

“ยายจะคอยถามตลอดว่าอาหารหมดไหม ลูกค้าชอบไหม เขาว่ายังไงบ้าง ซึ่งทุกครั้งที่ยายรู้ว่าลูกค้าขอเติมอาหารเพิ่ม กินข้าวจนเกลี้ยง หรือชมว่าอาหารอร่อย ยายจะรู้สึกดีใจมาก ลูกค้าที่มากินส่วนมากประทับใจ บางคนกลับมากินซ้ำหลายครั้ง

ไม่ใช่แค่คนกินอิ่มท้อง แต่คนทำอย่างคุณยายมอญแก้วก็อิ่มใจจากเสียงตอบรับของลูกค้าที่ตอบกลับมา และสิ่งที่สำคัญที่สุด ‘โปรเจกต์กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ ทำให้คุณยายมีความสุขจากการได้ใกล้ชิดกับหลานสุดที่รักมากขึ้น

“เรากับยายได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้สื่อสารกันตลอด การได้ใกล้ชิดกันทำให้เรามีเวลาที่จะดูแลใส่ใจ และก็ได้ใช้เวลาอยู่กับยาย ถึงแม้อายุเราจะห่างกันมาก เรียกว่าอยู่กันคนละวัยเลยก็ตาม เราก็หวังว่ากิ๋นข้าวหลังบ้านจะช่วยทำให้คนที่มากินได้ซึมซับบรรยากาศของความเป็นครอบครัว แล้วก็อยากกลับไปใช้ชีวิตกับคนสูงวัยที่บ้านมากขึ้น นึกถึงยายหรือคนแก่ที่บ้านที่เคยทำอาหารให้คุณกิน แล้วกลับไปดูแลท่าน”

วันนี้คุณกิ๋นข้าวหลังบ้านกับท่านแล้วหรือยัง

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ