ถุงก๊อปแก๊ปกองล้นเป็นภูเขา อาหารเน่าเสียแต่ยังเก็บไว้เต็มตู้ เสื้อผ้าตั้งแต่เด็กยันโตไม่กระเด็นออกจากบ้าน จะทิ้งก็ทิ้งไม่ได้ จะให้ก็ให้ไม่ลง ผู้สูงวัยบ้านไหนหรือใครมีอาการเหล่านี้ ต้องระวังให้ดี เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนอาการทางจิตที่เรียกว่า ‘โรคเก็บสะสมของ’ (Hoarding Disorder) ก่อนไปทำความเข้าใจโรคนี้กันแบบละเอียด มนุษย์ต่างวัยชวนเช็คลิสต์ 9 ข้อกันก่อน ว่าผู้สูงวัยในเรามีอาการแบบนี้บ้างหรือเปล่า
o มองไปทางไหนก็รู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทุกสิ่งจนทิ้งไม่ลง
o รู้นะว่าของหลายชิ้นไม่มีค่า แต่เอาน่าเผื่อไว้ใช้สักวัน
o หงุดหงิด ไม่สบายใจ ถ้าถูกบังคับให้ทิ้ง
o ของรกเกลื่อนเต็มบ้าน เบียดบังการใช้ชีวิต
o ของข้าใครอย่าแตะ ถ้าแตะจะโกรธมาก
o ไม่ชอบสุงสิงใคร ไม่อยากให้ใครมาบ้านเพราะบ้านรก
o แค่คิดว่าต้องจัดบ้านก็ปวดหัว จนต้องเลิกคิด (สรุปก็ไม่ได้จัด)
o ขี้ลืมบ่อยๆ เพราะวางของไม่เป็นระเบียบ
o ใช้อะไรเสร็จมักวางทิ้งไว้ ผ่านไปเป็นสัปดาห์ยังอยู่ที่เดิม
ถ้าสำรวจดูแล้วว่าใช่ อย่าเพิ่งตกใจลองมารู้จัก ‘โรคเก็บสะสมของ’ เพื่อรับมือกันดีกว่า โรคเก็บสะสมของนี้ถูกเพิ่มเข้ามาในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อ พ.ศ. 2556 เป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่อาจตัดสินใจว่าของไหนควรทิ้งสิ่งไหนควรเก็บ สรุปเลยเก็บไว้จนรกบ้านพาลให้การใช้ชีวิตไม่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผลพวงจากโรคนี้อาจก่อให้เกิดโทษทั้งตนเองและคนรอบข้าง เช่น เก็บของจนไม่เหลือทางเดินในบ้าน จนบางครั้งเดินสะดุดหกล้ม เสี่ยงสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัย เป็นภูมิแพ้ เป็นต้นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับลูกๆ หลาน หรือไม่ก็กลายเป็นคนเก็บตัว หรือเกิดอุบัติเหตุชนิดที่คาดไม่ถึง
ความยากของปัญหาคือ ในขณะที่ผู้สูงวัยไม่รู้ตัวและคิดว่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ลูกหลานตอบเป็นเสียงกันว่า “เกินจะทน !!” เพราะลูกๆ หลานๆ มักวาดฝันอยากให้บ้านเป็นสไตล์มินิมอล เรียบง่าย ไม่เยอะ ตรงกันข้ามกับผู้สูงวัยที่คิดว่าของของเขาคือของคนทั้งบ้าน ต้องเผื่อให้ลูกหลาน เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง เพราะมุมมองของเขามักจะคิดอะไรก็เผื่อให้ลูกๆ หลานๆ กลัวไม่มีกิน ไม่มีใช้ ห่วงลูกหลานกลัวจะขาดแคลนไม่พออยู่พอกิน ตรงกันข้ามกับคนยุคปัจจุบันที่มักเน้นสไตล์มินิมอล ชอบบ้านเรียบๆ มากกว่าบ้านรกๆ
เพื่อให้เข้าใจว่า “โรคการสะสมของ” ของผู้สูงวัยมีที่มาจากอะไร แล้วสะสมมากแค่ไหนถึงเรียกว่าป่วย มนุษย์ต่างวัยจึงชวน ศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษาและดูแลผู้สูงวัย และ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยเพื่อคลี่คลายความสงสัย และลดความไม่เข้าใจระหว่างกัน
‘โรคเก็บสะสมของ’ มรดกตกทอดของมนุษยชาติ
รู้หรือไม่ ? การสะสมของเป็นกองพะเนิน (แม้จะไม่ได้ใช้) แท้จริงมีแรงจูงใจเดียวกันกับการสะสมสมบัติ เช่น เงินทอง รถ นาฬิกา โฉนดที่ดิน นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเล่าว่าสิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในสัญชาติญาณบรรพบุรุษเราตั้งแต่สมัยเป็นมนุษย์ถ้ำ ต้องออกล่าสัตว์มาเลี้ยงชีพและเก็บสะสมเพื่อให้แน่ใจว่าถ้าไม่สามารถออกล่าได้จะยังคงมีอาหารเพียงพอ
ศ.ดร.อรัญญา เล่าว่า “อีกสาเหตุสำคัญที่คนเรามักสะสมเพราะมันช่วยเชื่อมต่อความทรงจำและผู้คนได้เป็นอย่างดี เช่น การที่เราไปเที่ยวต่างประเทศและเก็บของจิปาถะกลับมาทำให้นึกถึงความทรงจำครั้งนั้นได้ง่ายขึ้น การสะสมยังทำให้เรารู้สึกมั่นคงมีความสุข ไม่ต่างจากการกินของอร่อย การติดสารเสพย์ติด หรือเล่นเกม และเมื่อต้องทิ้งหรือเลิกทำในสิ่งที่ชอบก็เกิดอาการปั่นป่วน นี่คือพฤติกรรมที่เป็นร่วมกันของคนทุกเพศทุกวัย”
ไม่เฉพาะสูงวัย วัยไหนก็หวงของ
หลายคนคิดว่า “โรคเก็บสะสมของ” เป็นเฉพาะกับผู้สูงวัย แต่เชื่อไหมว่าโรคที่ว่าเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนมาเห็นชัดหลังอายุ 30 ปี เพราะเป็นช่วงที่ผ่านการทำงาน ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่ง ของสะสมก็เริ่มเยอะขึ้น และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตอนอายุเยอะถึงขั้นไม่ยอมทิ้งอะไรเลย
นักวิจัยพบว่าคนอายุ 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่เริ่มไม่สบายใจที่จะทิ้งของ พออายุ 60-70 ปี เปอร์เซ็นต์การทิ้งก็ลดลงไปอีก แต่ที่น่าสนใจคือร้อยละ 80 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไปแทบไม่เคยกลับไปดูของที่เก็บไว้เลยเพราะไม่มีแรงรื้อจะเก็บอีกแล้ว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมลูกหลานเห็นว่าของๆ คุณตาคุณยายยังอยู่ครบเซ็ตเหมือนเดิม และคนที่มีแนวโน้มที่จะเก็บสะสมของจนกลายเป็นโรค คือ คนที่ผ่านการหย่าร้าง คนโสด หรือแม้กระทั่งคนที่มีพ่อแม่หรือคนกใล้ตัวเป็นโรคเก็บสะสมของมาก่อน
บ้านรก คือ กรรมพันธุ์
อยากตัดตอนนิสัยบ้านรกต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง เพราะงานวิจัยที่อเมริกาบอกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของล้วนถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อม เช่น ถ้ามีแม่เป็นนักสะสมของหรือปล่อยให้บ้านรกสิ่งนี้จะถ่ายทอดไปสู่ลูก เพราะลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมรกจนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ลูกมีนิสัยนี้ติดตัวแม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มินิมอลก่อน
ย้อนกลับมาดูที่คนไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ร้อยละ 2-5 คือ ร้อยคนมี 5 คนที่จะเป็นโรคเก็บสะสมของ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ตามลำพังมักปล่อยปละละเลยทิ้งให้บ้านรกขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากกรรมพันธุ์แล้ว การบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้าถึงส่วนกลางยังอาจเป็นที่มาของพฤติกรรมสะสมของอีกด้วย แต่ส่วนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยไม่อาจฟันธง
รศ.ไตรรัตน์ ยกตัวอย่างของ 7 จำพวกที่ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของมักสุมซุกไว้เต็มบ้าน คือ อาหารเก่าหมดอายุแล้ว หนังสือและเอกสารเก่าที่ ถุงขยะเก่าทั้งพลาสติกก๊อปแก๊ปลังกระดาษ ของช้อปปิ้งออนไลน์ซื้อตุนไว้แต่ใช้ไม่หมด ของสะสม ของใช้แล้ว หรือแม่แต่สะสมสัตว์เลี้ยง เหล่านี้ถ้าเกิดชั่วคราวแล้วจัดเก็บเรียบร้อยคือเรื่องปรกติ แต่ถ้าสะสมมากถึง 4 ใน 7 อย่าง แล้วปล่อยยาวไม่หายสักทีให้ประเมินเบื้องต้นว่าเข้าข่ายโรคเก็บสะสมของ
เก็บไม่เลิก บ่อเกิดโรคจิต !?
ความต่างระหว่าง ‘นักสะสม’ ‘เก็บไว้ใช้ซ้ำหรือส่งรีไซเคิล’ กับ ‘โรคเก็บสะสมของ’ คือเป้าหมายการเก็บนั้นต่างกัน
เส้นแบ่งง่ายๆ เพื่อสังเกตอาการคือ นักสะสม (Collector) นั้นชัดเจนและรู้ตัวรู้เรื่องราวว่าสะสมทำไมเป็นงานอดิเรก มักทำความสะอาดของเรียบร้อย จัดของเป็นระเบียบหมวดหมู่ ตรวจตราว่าของยังอยู่ในสภาพดีมั้ย หยิบออกมาใช้ง่าย ส่วนคนที่ตั้งใจนำไปใช้ซ้ำหรือส่งไปรีไซเคิลนอกจากทำความสะอาดสิ่งของและมัดรวมไว้อย่างดีแล้วยังติดต่อซาเล้งมารับของเป็นประจำ จะไม่ปล่อยค้างอยู่ที่บ้านนาน
แต่ถ้าเก็บไว้จนกองเป็นภูเขาไม่มีที่อยู่กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แบบนี้ต้องรีบปรึกษานักพฤติกรรมหรือพบแพทย์ ยิ่งทิ้งไว้นานอาการยิ่งแย่ลงส่งผลต่อชีวิตและปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมของผู้ป่วยเอง
“พฤติกรรมเหล่านี้อาจมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือมีอาการทางจิตเภท แต่เจ้าตัวแทบจะไม่รู้ตัวเลยเพราะเขามีระบบคิดที่ต่างออกไป บวกกับความคุ้นเคย ไม่รู้สึกเป็นปัญหา เรามักเห็นภาพบ้านหรือห้องตึกแถวที่ข้างในเก็บของล้นออกมาจนเจ้าของต้องออกมาอยู่ข้างนอก คนใกล้ตัวจึงต้องหมั่นสังเกตและคอยช่วยทีละน้อย แต่ไม่ควรกล่าวโทษหรือเข้าไปเคลียร์เอง อาจพูดคุยและชวนไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรมหรือทานยา เพราะถ้าปล่อยไว้จะส่งผลต่อสุขภาพของตัวผู้ป่วยเองและคนรอบตัว” ศ.ดร.อรัญญา กล่าว
มีการสำรวจกลุ่มคนที่เป็นโรคเก็บสะสมของเทียบเคียงกับคนทั่วไป พบว่าผู้ป่วยไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งของได้ ยิ่งกว่านั้นขณะกำลังตัดสินใจว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง ระบบสมองของผู้ป่วยจะกระตุ้นความรู้สึกเจ็บปวด การตัดสินใจของพวกเขาจึงไม่ง่ายเหมือนกับคนทั่วไป
อย่ารีบตัดสิน แต่ต้องทำให้รู้ตัว
เมื่อการเก็บสะสมของถูกเรียกว่า ‘โรค’ จิตแพทย์และนักบำบัดจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือโดยเฉพาะเคสหนักๆ เช่น เริ่มแยกตัวไม่สุงสิงกับใครกลายเป็นโรคซึมเศร้า หวาดระแวง เกิดอุบัติเหตุจากของรกอยู่บ่อยครั้ง การปรึกษาทีมแพทย์เป็นการเริ่มต้นแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพราะนักจิตวิทยาจะช่วยพูดคุยและเสาะหาที่ไปที่มาจนสามารถเชื่อมโยงสาเหตุของอาการที่แท้จริงได้
ถ้าผู้ป่วยยังแยกแยะสิ่งของได้การรักษาจะง่าย แต่ถ้าแยกไม่ออกก็ต้องมียาที่ช่วยปรับสารเคมีในสมอง เพื่อช่วยลดความเครียดและความหมกมุ่นในการสะสมของ พร้อมกับการรักษาด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัด ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างเห็นผลพอสมควร เป็นวิธีที่ฝึกทักษะการตัดสินใจให้ผู้ป่วยสามารถเลือกเก็บหรือเลือกทิ้งสิ่งของได้อย่างมีเหตุผล และฝึกให้ยอมรับการทิ้งสิ่งของได้มากขึ้น
“โรคเก็บสะสมของหายได้ แต่ต้องทำให้รู้ตัว” ศ.ดร.อรัญญา ย้ำกับเราว่าถ้าคิดจะรักษาอาการนี้ สำคัญคือต้องทำให้เจ้าของรู้ตัวว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันผิดปรกติ เพราะตัวเองอาจไม่ทันสังเกต
“ต้องมีคนไปชี้นำถึงจะเห็น พอเห็นจะค่อยๆ ตระหนักรู้แล้วการปรับพฤติกรรมจะทำได้ง่ายขึ้น ตัดใจทิ้งง่ายขึ้น คนที่จะทำให้เค้ารู้ตัวคือคนในครอบครัวนี่แหละ และสังคมเองก็ควรช่วยกัน เช่น มีพื้นที่รับของที่ไม่ใช้แล้ว หาบ้านใหม่ให้ของพวกนี้อยู่ สังคมควรสนับสนุนให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนแบบนี้บ้าง บางคนผูกพันจริงๆ แต่ถ้ารู้ว่าคนที่รับช่วงต่อไปเขาจะดูแลมันอย่างดี คนบริจาคก็อยากให้ ถ้าสังคมมีกระบวนการแบบนี้เยอะๆ ก็จะรักษาอาการได้ง่ายขึ้น”
ไม่เสียก็ให้ได้ ‘พฤติกรรมทิ้งของดี’ ในต่างแดน
ศ.ดร.อรัญญา เล่าว่า “สมัยไปเรียนต่อต่างประเทศ วัฒนธรรมการทิ้งของถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะค่าใช้จ่ายในการซ่อมของและย้ายของแพงมาก เวลาย้ายบ้านทีเขาถึงทิ้งของหมดเลยแม้ว่าบางชิ้นยังใช้ได้อยู่ เราคนไทยตอนไปใหม่ๆ เก็บกันสนุกสนาน ไม่ทิ้งเลยเก็บอย่างเดียว พออยู่ไปสักปีเราก็พัฒนาเรื่องการทิ้ง”
ถ้านึกภาพไม่ออกว่าของที่คนอเมริกันทิ้งเป็นยังไง เราแนะนำให้ลองดูคลิปวิดิโอของคุณจ๋า ยูทูปเบอร์สาวเจ้าของช่อง Jayy Crane คุณจ๋าอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียทางใต้ของอเมริกา เรามักเห็นภาพคุณจ๋าขับรถออกไปเก็บของที่เพื่อนบ้านทิ้งไว้หน้าบ้านด้วยความสนุกสนาน ของแต่ละชิ้นใหญ่มักใหญ่โตและนำกลับมาใช้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ส่วน ‘พฤติกรรมทิ้งของดี’ ในเอเชียต้องยกให้ชาวญี่ปุ่น ขยะเป็นภาระใหญ่ของเขา แต่ด้วยความมีระเบียบวินัยสูงและพื้นที่ใช้สอยจำกัด เมื่อซื้อของใหม่มาของที่ใช้อยู่จึงต้องกำจัดออกจากบ้าน ถ้าจะทิ้งของใหญ่ต้องเรียกเจ้าหน้าที่มารับ แถมมีค่าธรรมเนียมในการทิ้งขยะอีกตะหาก ถ้าชิ้นขนาดกลางเช่น จักรยาน โต๊ะ เก้าอี้ เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300 เยน แต่ถ้าเป็นเตียงฟูกขนาดใหญ่ก็ 500-600 เยน ถ้าเป็นพวกเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ต้องเรียกเจ้าหน้าที่เก็บขยะพิเศษหรือเจ้าหน้าที่เก็บสินค้าไม่ใช้แล้วจากบริษัทผู้ผลิตมา ด้วยความซับซ้อนแถมต้องเสียเงิน คนญี่ปุ่นจึงเลือกวางของไว้หน้าบ้านรอคนที่อยากได้มาเอาไป หรือเอาไปขายที่ร้านมือสอง
ส่วนการทิ้งของคนไทยต้องปรับตั้งแต่ทัศนคติ ทิ้งของหรือบริจาคของไม่ต้องรอให้เสียหรือพังเละ ของดีก็ทิ้งได้ อย่างการบริจาคเสื้อผ้าของใช้ไปที่วัดสวนแก้ว พบว่าร้อยละ 70-80 มีแต่ของเสียแล้วเอาไปใช้ต่อไม่ได้ แต่ในช่วงนี้คนใส่ใจเรื่องขยะและการทิ้งของมากขึ้น เขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ เองก็เริ่มมีวันนัดทิ้งของใหญ่ไม่ว่าจะเป็น เขตทุ่งครุ เขตดุสิต เขตหนองจอง และอีกมากมาย ถือเป็นการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ
รศ.ไตรรัตน์ มองว่านอกจากญี่ปุ่นจะมีการบริหารจัดการและให้ความรู้เรื่องการทิ้งขยะเป็นเลิศแล้ว เขายังเน้นย้ำเรื่องการดูแลรักษาบ้านผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะรายการสอนจัดบ้านที่เป็นกระแสและโด่งดังไปทั่วโลก “รายการจัดบ้านเปลี่ยนชีวิตกับมาริเอะ คนโด นั้นมีประเด็นง่ายมาก คือชวนจัดบ้านให้เป็นระเบียบกันเถอะ
“ขั้นแรกเอาของทุกอย่างมากองไว้กลางห้อง พอกองเสร็จจะรู้ว่าของมันเยอะมาก จากนั้นค่อยๆ สัมผัสสิ่งของที่ละชิ้นว่ามันยังสปาร์คจอยรึเปล่า หรือพอจับแล้วยังผูกพัน เชื่อมต่อความทรงจำในอดีต หรือรู้ว่าจะเอาไว้ใช้ทำอะไรทันทีหรือไม่ ถ้ายังรู้สึกก็เอาไปแขวนเรียงไว้ตามตู้ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ”
รศ.ไตรรัตน์ ย้ำว่า ถ้าจัดให้ดีจริงๆ ห้องที่บ้านไม่ควรเกิน 4 ห้อง ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องอาหาร ห้องพักผ่อนทำงาน โดยแต่ละห้องมีของไม่เกิน 4 ชิ้น ถ้าทำได้ตามนี้รับรองว่าบ้านสะอาดสะอ้าน ทำความสะอาดง่ายสุดๆ เป็นสายมินิมอลตัวจริง
How To ทิ้ง หักดิบแบบชาวสวีเดน
“ถ้าเดือนหน้าตาย วันนี้จะทิ้งอะไรบ้าง” นี่คือวิธีหักดิบโรคเก็บสะสมของแบบฉบับมินิมัลลิสต์ของชาวสแกนดิเนเวีย ชาวสวีเดนเห็นว่าการคุยเรื่องความตายและการจัดของก่อนตาย ทำให้เรามองเห็นชีวิตในอีกแง่มุมจนตัดใจทิ้งของสะสมได้
รศ.ไตรรัตน์ แนะนำหนังสือเรื่อง ‘Death Cleaning สุดท้ายก็ต้องทิ้ง’ เขียนโดยมาร์การีตา แมกนัสสัน ศิลปินนักวาดภาพชาวสวีเดนที่มีของเก็บสะสมมากมายและย้ายบ้านมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก เธอถ่ายทอดแนวคิดการจัดระเบียบของก่อนตาย ละทิ้งให้เหลือน้อยที่สุดแล้วจะรู้ว่าอะไรสำคัญกับเรามากที่สุด เมื่อจากไปของแต่ละชิ้นจะได้ไปอยู่ในที่ๆ เหมาะสม ไม่เป็นภาระให้กับคนที่ยังอยู่
ในหนังสือเล่า 7 เทคนิคการจัดของก่อนตายของชาวสวีเดนไว้ว่า จงสละของที่ไม่จำเป็น อัพโหลดรูปภาพของรักลงออนไลน์ซะบ้าง ฝึกที่จะทิ้งโดยไม่รู้สึกผิด ซื้อของให้น้อยลง รู้จักอ่อนโยนและเกรงใจผู้อื่น หมั่นดูแลตัวเอง อนุญาติให้ตัวเองรู้สึกและสะท้อนความรู้สึกนั้นออกมาบ้าง
คำแนะนำเพิ่มเติมคือ ควรเริ่มจัดของในวัยไม่เกิน 65 ปี เพราะร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ ลองตรวจดูว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้งอะไร ให้เล็งไปที่ของชิ้นใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ใช้ ทำลายบันทึกเอกสารหรือภาพลับอะไรก็ตามที่ทำให้ตัวเองดูไม่ดี คุยกับลูกหลานในเรื่องความตายว่าจะจัดการอย่างไรและจะให้อะไรกับใครเมื่อถึงวันนั้นจริงๆ ยิ่งมีของเยอะยิ่งมีห่วงแยะ การจัดของก่อนตายทำให้เราเรียนรู้ที่จะค่อยๆ ละทิ้ง สุดท้ายคือการละทิ้งสังขารตัวเอง ต้องฝึกให้ผู้สูงวัยกล้าพูดเรื่องความตาย เราจะดูแลกันอย่างไร อันนี้คือสายฮาร์ดคอ แต่ตอนใช้จริงต้องพิจารณาดูว่าแต่ละคนเหมาะกับวิธีไหน
Memory Box กล่องเก็บความทรงจำ สิ่งที่ควรทำก่อนลืม
หากรู้แน่ชัดว่าเป็นโรคเก็บสะสมของ ขั้นตอนการดูแลรักษาลูกหลานควรมีบทบาทอย่างมาก รศ.ไตรรัตน์ แนะนำให้คนในครอบครัวชวนผู้ป่วยทำ Memory Box เพราะทุกคนต่างมีความทรงจำอันหอมหวาน แต่พออายุมากความทรงจำก็เยอะและกระจัดกระจาย จึงควรทำกล่องเก็บความทรงจำในวัย 60-68 ปี เพราะสมองคนเรามักจะเริ่มเสื่อมตอนอายุ 70 ปี
ขั้นตอนแรก ‘เลือกกล่อง’ : ต้องเลือกกล่องที่มีขนาดใหญ่พอบรรจุสิ่งของได้หลากหลาย แต่เล็กพอที่จะถือมันได้เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีวันได้เปิดดูมันอีกเลย
ขั้นตอนที่สอง ‘เก็บ’ : เลือกสิ่งของที่เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตหรือของที่ย้ำถึงเหตุการณ์สำคัญ เช่น ตั๋วเข้าชมการแสดงหรืองานแสดงที่ชื่นชอบ ข้อความจากบุคคลอันเป็นที่รัก ไดอารี่หรือบันทึกการเดินทาง ความทรงจำวัยเยาว์ รูปถ่ายของสำคัญที่ไม่อาจเก็บไว้ในกล่องได้ เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก ไฟล์ภาพบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น งานวันเกิด งานแต่งงาน หรือคลอดลูกคนแรก
ขั้นตอนที่สาม ‘ ทิ้ง ’ : ขั้นตอนนี้เข้าใจว่ายากสุดแต่จำเป็นต้องทำ ! ทิ้งสิ่งที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ของที่มองย้อนกลับมาแล้วนึกไม่ออกว่ามันสำคัญกับชีวิตเรายังไง ทิ้งอะไรก็ตามที่คุณมีมากกว่า 1 ชิ้น แต่จงเลือกเก็บสิ่งล้ำค่าไว้แค่ชิ้นเดียว สุดท้ายทิ้งอะไรก็ตามที่ทำให้นึกถึงคืนวันอันเลวร้าย จริงอยู่ความเจ็บปวดคือบทเรียนและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่คุณไม่จำเป็นต้องจดจำมันไปเสียทุกอย่าง
‘เปลี่ยนจากทิ้งของมาช่วยกันเก็บของ’ ขณะเลือกทิ้งหรือเลือกเก็บ ผู้สูงวัยจะได้จัดระเบียบความคิดความทรงจำที่ผ่านมาให้ชัดเจนขึ้น
ศ.ดร.อรัญญา แนะนำทิ้งท้ายว่าถ้าทิ้งไม่ได้จริงๆ อาจจัดมุมเก็บของเล็กๆ ไว้ให้ท่านอุ่นใจ หากคิดถึงก็หยิบออกมาดูได้ง่ายขึ้น ในต่างประเทศจะเอากล่องพวกนี้มาติดผนังตอนที่ท่านความจำเสื่อม ถึงขนาดที่อังกฤษจัดกิจกรรมประกวดทำ Memory Box กันจริงจัง ฟังแล้วคลับคล้ายคลับคลาซีรีส์เกาหลีเรื่อง Move to Heaven เพราะสุดท้ายความทรงจำที่มีค่ากับเราจริงๆ จะถูกรวบรวมไว้เหลือแค่ 1 กล่องเท่านั้นเอง
ไม่ว่าเราจะจัดระเบียบหรือทิ้งสิ่งของ กิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อให้เราได้ทบทวนชีวิต เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงวัยและคนในครอบครัว การนั่งฟังพ่อแม่หรือตายายเล่าถึงความสุขวันวานนั้นช่วยให้คนต่างวัยเข้าใจกันมากขึ้น และแน่นอน ความปลอดภัย ความสุขกายสบายใจของคนในครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด
ขอบคุณภาพจาก
ข้อมูลอ้างอิง
บุพการีที่เคารพ เพจมนุษย์ต่างวัย
www.dmh.go.th
Youtube: The Standard รายการ R U OK?