การสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) เพื่อชะลอโรคข้อเข่าเสื่อม

‘ข้อเข่าเสื่อม’ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่าผู้ที่สูงวัยมากกว่าจะต้องมีปัญหาปวดเข่ารุนแรงกว่าเสมอไป การดูแลถนอมข้อเข่าเพื่อชะลอการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยสูงอายุจึงมีความจำเป็น

เพื่อให้เราเข้าใจหลักการป้องกันและชะลอการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้อย่างถูกวิธี อ.พญ.รินลดา พงษ์รัตนกูล อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาให้ความรู้ว่าก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อม เราสามารถสร้างต้นทุนสุขภาพที่ดีได้อย่างไร และหากต้องฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาข้อเข่าควรดูแลร่างกายอย่างไรให้เหมาะสม

“พออายุมากขึ้น ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ในส่วนของข้อเข่า หลัก ๆ จะเป็นกระดูกอ่อนผิวข้อเกิดการสึกหรอไปตามกาลเวลา เพราะเราใช้งานมาค่อนข้างนาน กระดูกอ่อนผิวข้อที่สึกหรอไปมากขึ้น ร่วมกับเนื้อเยื่อไม่ยืดหยุ่นเหมือนตอนสมัยหนุ่มสาว ฝืดตึงมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของข้อเข่าน้อยลง เคลื่อนไหวลำบาก ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจะทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น

“ภาวะปวดเข่า เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สุงอายุ แต่ละคนจะมีอาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ปวดน้อย ปวดบางครั้ง จนถึงปวดมาก ซึ่งผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคในระดับน้อยหรือปานกลาง ยังสามารถชะลออาการข้อเข่าเสื่อมได้เบื้องต้น แต่หากเข้าสู่ระยะสุดท้าย การรักษาที่ได้ผลดีที่สุด คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เนื่องจากสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดและดำเนินชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

“เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มต้นออกกำลังกายได้เร็วและสม่ำเสมอ ก็จะช่วยเสริมต้นทุนสุขภาพให้กับเราได้ เพราะการออกกำลังกายจะเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยทำให้การทำงานของหัวเข่าดีขึ้น ทั้งยังช่วยชะลอภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ และเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัดก็จะช่วยในการฟื้นฟูและกลับสู่สภาวะเดิมได้เร็ว แต่ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายของผู้สูงอายุรวมถึงความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อม และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา จึงจะได้ประโยชน์และไม่เกิดผลเสียจากการออกกำลังกาย”

นอกจากนี้คุณหมอยังให้ความรู้อีกด้วยว่า การจะใส่ใจและดูแลสุขภาพไม่ควรมองข้าม หลัก 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ดี “หนึ่งเราต้องให้ผู้สูงอายุกินอาหารที่เพียงพอ มีโปรตีนที่เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ สองการออกกำลังกาย อาจจะขยับเท่าที่ไหว เน้นการลุกขึ้นมานั่ง ยืน เดิน หรือลองหากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ขยับร่างกายมากขึ้น สุดท้ายคือ เรื่องของอารมณ์ เพราะหลาย ๆ ครั้งเมื่อเจ็บป่วย ผู้สูงอายุจะมีอารมณ์ท้อแท้ สิ้นหวัง หดหู่ จึงอาจจะต้องการกำลังใจจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมากกว่าเดิม”

“การหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละนิดเพื่อให้สุขภาพของเราดีขึ้น จึงเป็นเรื่องที่เราควรหันมาใส่ใจและทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพราะการดูแลตนเองให้ถูกวิธีและการมีต้นทุนสุขภาพที่ดี จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคภัยต่าง ๆ รวมถึงช่วยชะลอความรุนแรงของโรคก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียในการรักษาระยะยาวได้อีกด้วย

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช เป็นสถาบันทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง เพื่อป้องกันการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ส่งผู้สูงอายุกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ