ชีวิตซีซัน 2 “Happy Business อาชีพ การงาน ความสุขในวัยเกษียณ” ห้องเรียนค้นหาแพสชันที่ซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน

“ในสังคมญี่ปุ่นจะมีพื้นที่หรือกลุ่มให้ผู้สูงวัยออกมาเจอ มารวมตัวทำกิจกรรมกันได้ แต่ในเมืองไทยตอนนี้ คนสูงวัยเจอกันแต่ในครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ที่เรียน ทำงานมาด้วยกัน แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกันมาเจอกัน

“ในอนาคต ผู้สูงวัยในบ้านเราน่าจะสนุกกับชีวิตมากขึ้น เพราะคิดว่าจะมีบริการ โปรแกรม หรือคอร์สเรียนต่าง ๆ ให้สนุกไปกับชีวิตมากขึ้น เช่น คนที่ชอบดนตรี อาจมีทริปไปชมออร์เคสตราในต่างประเทศ ซึ่งทิศทางจะเปลี่ยนไปตามความสนใจของคน”

“สำหรับคนที่ยังหนุ่มสาวตอนนี้ ขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สั่งสม Know-how ของตัวเองไว้ เมื่อวันที่เราอายุมากขึ้นจะได้มีความรู้และส่งต่อให้คนอื่นได้ และ 3 สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรต้องมีคือ เปิดใจเป็นนักเรียนรู้ พร้อมพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และสนุกไปกับการเป็น Lifelong Learner

“ฉะนั้น ผู้สูงอายุในวันนี้ อยากให้เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ และไม่ทำให้ตัวเองล้าสมัย มีเรื่องใหม่เข้ามาก็ขอให้เปิดใจเรียนรู้ อาจลุกขึ้นมารวมกลุ่ม ไปทำกิจกรรมอะไรสนุก ๆ ด้วยกันก็ได้ เช่น ไปเที่ยวด้วยกัน หรือเต้นซุมบ้า เพราะมันอาจกลายเป็นมิชชันใหม่ให้ชีวิตก็ได้

เจนวิทย์ วิโสจสงคราม (เจน) อายุ 47 ปี มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุและกิจการเพื่อสังคมดูแลผู้สูงอายุ Buddy HomeCare

“ผมเอนทรานซ์เข้าคณะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาเพราะเป็นเด็กชอบเล่นเกม จากนั้นก็ทำงานเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมในบริษัทต่างชาติมานาน 13 ปี ตอนเด็ก ๆ ผมรู้จักแค่อาชีพหมอกับวิศวะฯ เท่านั้น ผมไม่เคยรู้เลยว่าโลกนี้มันมีได้หลายอาชีพ

“อยู่มาวันหนึ่งผมได้มีโอกาสทำงานด้านการจัดเก็บข้อมูลให้กับมูลนิธิแห่งหนึ่ง มันทำให้ผมเห็นปัญหาทางโครงสร้างหลายอย่างในสังคม มันทำให้เรารู้สึกอิน เลยทำให้รู้จักกับอาชีพ NGO ตั้งแต่นั้นมา จากการทำงานนี้ทำให้เราเห็นปัญหาของคนชรา เราเลยคิดว่าอยากเป็นคนแก่ที่ดูแลตัวเองได้ เลยเริ่มเตรียมตัวเกษียณตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“แม้ผมจะเคยคิดเรื่องเตรียมเกษียณมาบ้าง แต่ก็มีความเครียดเพราะไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที การมาเวิร์กช็อปวันนี้มันทำให้เราได้ย้อนคิดถึงตัวเองว่าเราอยากมีชีวิตแบบไหน และทำไมถึงเป็นชีวิตที่เราใฝ่ฝัน สำหรับผมมันพาผมกลับไปสู่ชีวิตที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง

“เพราะที่ผ่านมา เรามุ่งแต่ไปที่เป้าหมายอย่างเดียว แต่กลับไม่เคยเอนจอยกับระหว่างทางเลย พอได้มาฟังเรื่องป้าติ๋ม (หอมนวลเบเกอรี) ที่ล้มลุกคลุกคลานทั้งเรื่องธุรกิจและสุขภาพ มันหนักกว่าผมหลายเท่า แต่กลับลุกขึ้นมาได้แล้วยังค้นพบตังเองว่า ความสุขที่แสวงหามาทั้งชีวิตมันกลายเป็นเรื่องง่าย ๆ สิ่งนี้ยิ่งกลับมาเตือนใจผมว่า นี่เราหลงลืมตัวเองไปหรือเปล่า

“ผมเคยมองชีวิตซีซัน 2 ของตัวเองมาก่อนแล้ว แต่เวิร์กช็อปครั้งนี้มันยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเตรียมมามันใช่ มันถูกทางแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเคยคิดเรื่องพวกนี้มาก่อนหรือไม่ ผมยืนยันว่าการเข้าร่วมกระบวนการแบบนี้มันสำคัญมาก สำคัญเสียยิ่งกว่าการอบรมวิชาการที่ให้ความรู้เฉพาะด้านที่ตอนนี้เข้าถึงและหาได้ง่าย การอบรมแบบนั้นมันให้ความรู้ก็จริง แต่ไม่ได้ให้ความรู้สึกอะไรกลับมา แต่การมาเวิร์กช็อปครั้งนี้ สิ่งที่ให้ผมกลับมาคือความรู้สึกบางอย่างในตัวเองที่ผมเคยหลงลืมไป”

“เชื่อไหมว่าตอนที่คุณประสาน (อิงคนันท์) อ.เกด (ผศ. ดร.กฤตินี) ป้าติ๋ม (หอมนวลเบเกอรี่) และช่างนิด (กีตาร์ทำมือ) พูดบนเวที ผมแอบน้ำตาซึมตลอด มันทำให้ผมกลับมาคิดถึงคุณค่าระหว่างทาง คิดถึงชีวิตแบบที่เราฝัน และทำให้เราถามตัวเองว่าเราพร้อมจะเกษียณหรือยัง ทำให้ใจเราฟูมาก”

จิราพร ทับทิมทอง (เล็ก) อายุ 54 ปี ธุรกิจส่วนตัว

“เราเคยอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่มาก่อน แล้วเริ่มหันมาทำธุรกิจเองเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ปีแรกก็ไปได้ดี แต่พอเจอโควิด-19 ทำให้เราคิดเยอะมากว่าต้องเตรียมตัวยังไงรวมถึงเรื่องเกษียณด้วย เราเห็นหลายคนมีวัยเกษียณที่ลำบาก เราคิดเยอะมากว่าถ้าเราไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น เราต้องทำยังไงบ้าง

“เราเคยคิดว่าอีกสักสามสี่ปี เราต้องมีเงินก้อนหล่อเลี้ยงตัวเองในบั้นปลายและทำให้เรามีความสุข แต่พอมาวันนี้เราค้นพบว่ามันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะความสุขแท้จริงไม่ได้วัดที่ตัวเงิน แต่มันคือได้รู้ว่าความสุขของตัวเองคืออะไรแล้วลงมือทำตอนนี้เลย ไม่ต้องรอให้มีเงินก้อนใหญ่หรอก

“วันนี้ทั้งวิทยากรช่วงเช้าทำให้เรารู้จักการคิดอย่างละเอียดมากขึ้น รู้สึกเอ๊ะ กับจุดเล็ก ๆ ในชีวิต รู้จักการสังเกตสิ่งเล็กรอบตัวที่ทำให้เรามีความสุขแล้วรู้จักกับความรู้สึกขอบคุณ

“ส่วนวิทยากรช่วงบ่ายอย่างป้าติ๋ม ที่ชีวิตเขาเจอเรื่องที่ใหญ่กว่าเราเสียอีกแต่เขาก็ผ่านมันมาได้จริง ๆ มันทำให้เราเชื่อว่าชีวิตซีซัน 2 ที่เราวางไว้มันมีความเป็นไปได้และเป็นแรงใจให้เราเลยว่าต่อไปนี้ ฉันจะไม่มานั่งเครียดและฉันจะไม่กลัวอะไรทั้งนั้นอีกแล้ว”

ชาดา วุฒิคุณจินดา (ดา) 63 ปี ผู้บริหารด้านการขายบริษัทเอกชน

“ป้าติ๋มเหมือนภาพสะท้อนของทฤษฎี ที่เป็นคนจริง ๆ ว่ายังมีคนที่เมื่อพบวิกฤตยังไงก็ยังยิ้มและลุกขึ้นมาได้เสมอ เราเชื่อว่าการมองย้อนกลับไปเห็นความสุขเล็ก ๆ ของตัวเองเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ และช่างนิด ทำกีตาร์ เราได้เห็นว่าแม้จะพูดน้อย แต่ทุกจังหวะการทำแต่ละอย่างของเขามันคือความสุข พอได้เห็นแพสชัน เห็นความสุขของพวกเขา มันทำให้เรามีพลังไปด้วย

“เรามักปล่อยชีวิตให้ไหลไปเรื่อย ๆ ตามหลายสิ่งอย่างที่ถาโถมเข้ามา เรื่องบางอย่างที่เคยอยู่ในตัวเรา แต่วันหนึ่งกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญและหลุดลอยไปแล้ว โดยลืมนึกไปว่ามันคือแพสชันที่อยู่ในตัวเรา นั่นเพราะเราอาจติดอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย อาจกลัวหรือไม่กล้าลงมือทำ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนลุกขึ้นมา หาสิ่งที่ปลุกเร้าความสุขของตัวเองให้ได้ เพราะถ้าได้ทำสิ่งที่รักแล้ว มันทำไปได้ตลอด

เกษม พลายแก้ว (เษม) อายุ 55 ปี ธุรกิจส่วนตัว

“ผมทำงานบริษัทมานาน จากนั้นก็ออกมาช่วยธุรกิจก่อสร้างของที่บ้าน แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำและติดอยู่ในใจผมเสมอแต่ทางบ้านคัดค้านมาตลอด

“ตอนผมอายุ 35 ปี กำลังสนุกกับงาน แต่พี่สาวป่วยด้วยโรคมะเร็ง พอเขาจากไปมันทำให้ผมมาคิดว่าชีวิตคนมันสั้นมากเลยนะ ตอนนั้นผมมานั่งจดรายการเลยว่าชีวิตที่เหลืออยู่ เราอยากทำอะไรบ้าง

“ผมเริ่มกลับมานึกถึงสิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวเรามาตลอดแต่ไม่เคยได้ลงมือทำเสียที นั่นคือการทำเกษตร พอผมได้ฟังเรื่องช่างนิดทำกีตาร์ มันเหมือนได้เห็นชีวิตตัวเอง เรื่องของเขามันทำให้ผมมั่นใจในเส้นทางใหม่ที่ผมจะเลือกเดินมากขึ้น

“ปกติผมจะไปอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาชีพ ไม่เคยมาเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้มาก่อนเลย แต่พอได้ฟังเรื่องของป้าติ๋มที่เริ่มทำสิ่งใหม่ตอนอายุ 60 ได้เห็นความสุขของช่างนิด ที่ไม่เคยหลงลืมแพสชันที่ซ่อนอยู่ในตัว มันทำให้ผมยิ่งมั่นใจว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มันเป็นเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว

“ผมคิดว่าทุกคนมีแพสชันอยู่ในตัวนะ ถ้าเราไม่หลงลืมเขาเสียก่อน ให้ลองนึกย้อนไปถึงวัยเด็ก มีอะไรบ้างที่ทำให้เราอยากทำ ผมอยากบอกหลายคนว่า อยากทำอะไรให้รีบลงมือทำเลย จะสำเร็จหรือเปล่านั่นไม่เป็นไรเลย แต่อย่างน้อยเราได้ลงมือทำแล้ว เพราะถ้าคุณไม่ทำ เอาแต่คิด มันก็ไม่มีวันสำเร็จ ผมเชื่อว่าจงทำเถอะ จะล้มเหลวไหมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และอายุก็ไม่สำคัญเลย มันไม่มีคำว่าสายเกินไป และอย่าทิ้งหรือฝังกลบแพสชันในตัวคุณไปเพียงเพราะคิดว่ามันยากเกินกำลัง

“ผมคิดว่าถ้าผมยังทำงานประจำ คงต้องใช้เวลาอยู่กับมันระยะหนึ่งเท่านั้น แต่พอได้ออกมาทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สร้างความสุขให้ตัวเองได้จริง ๆ วันนั้นผมคงไม่นึกถึงการเกษียณอีกแล้ว”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ