บริหารเงินหลังเกษียณ ให้มีใช้ตลอดชีวิต

“เพราะชีวิตหลังเกษียณที่ไม่มีเงินใช้ น่ากลัวกว่าชีวิตหลังความตาย”

ผ่านไปแล้วกับกิจกรรมที่ “มนุษย์ต่างวัย” ร่วมกับ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” จัดกิจกรรมชวนคนวัย 45 ปี ขึ้นไปมาเตรียมพร้อมรับมือเกษียณอย่างมีแผน กับโครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” ซึ่งครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า   60 คน

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมทุกท่าน ได้ผ่านการฝึกวางแผนการเงินจริง จำลองการจัดพอร์ต ผ่าน Workshop บริหารเงินหลังเกษียณ พร้อมเรียนรู้อัตราการถอนเงิน การแบ่งสัดส่วนเงิน ผลตอบแทนการลงทุนในการบริหารเงินให้เพียงพอจนถึงวันสุดท้าย รวมไปถึงการจัดการมรดก และการสำรวจความพร้อม เมื่อถึงเส้นชัยปลายทางว่า เดินทางมาถึงวัยนี้ …เงินเกษียณที่คิดว่าพอ นั้นเพียงพอจริงหรือ ?

เริ่มต้นวางแผนการเงินครั้งแรกตอนอายุ 45 ปี

“สมัยก่อนเรากลัวเรื่องการลงทุนมาก เพราะโตมาในยุควิกฤติเศรษฐกิจ การกอดเงินสดไว้เป็นความเชื่อของคนยุคนั้นทำให้พี่ไม่ได้ลงทุนเลย เก็บแต่เงินอย่างเดียว และไม่ได้มีแผนเกษียณอะไรจริงจัง เพราะคิดว่าน่าจะอยู่ได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นในการมาสนใจวางแผนการเงิน และมองถึงการจัดการเงินเกษียณมาจากอาการป่วยของพ่อกับแม่ ซึ่งตอนนั้นแม้จะมีบำนาญ หรือสามารถใช้สิทธิ์การรักษาของรัฐได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้ลูก ๆ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอีกเป็นจำนวนมาก เราถึงตระหนักได้ว่าถ้าตัวเราไม่เตรียมพร้อมตัวเราให้ดี ในยุคที่เศรษฐกิจข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ลูกหลานที่ต้องดูแลเราเดือดร้อนแน่ พี่ก็เลยเริ่มต้นศึกษาเรื่องการจัดการเงินและการลงทุนมามาเกือบ 20 ปี สำหรับพี่ไม่ช้าแต่ถ้ารู้เร็วกว่านี้คงจะดีมาก ” หลักสูตร

Happy Money , Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ คือการได้กลับมาทบทวนแผนเกษียณ

“สำหรับกิจกรรมครั้งนี้พอเห็นประกาศรับสมัครเราก็รีบสมัครทันที เพราะเราคิดว่าการบริหารเงินให้พอถึงวันสุดท้ายของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ในหลักสูตรเป็นเหมือนการพาให้เราลงไปสำรวจแผนเกษียณของตัวเอง ปลุกจากฝันว่าที่คิดว่าพอ ความจริงพอหรือเราปลอบใจตัวเอง แล้วพี่ที่เริ่มต้นวางแผนเกษียณตอนอายุ 45 ปี จะให้เก็บเงินให้ได้ 10 ล้าน มันเหลือเวลานิดเดียว ใครฟังก็ตกใจ แต่หลักสูตรนี้ชี้ให้เห็นว่าเราจะไปสู้เส้นทางนั้นได้อย่างไร”

“เหมือนมีเช็กลิสต์การเงินที่ชัดเจนว่าเราควรเริ่มต้นคิดจากอะไรก่อน ทำอะไรก่อน เราขาดอะไรไปหรือไม่ ซึ่งทำให้คนที่เริ่มช้าแบบพี่ไม่ตกใจเกินไปที่จะบริหารเงินต่อให้เพียงพอจนวันสุดท้าย”

“สำหรับคนอายุ 50 ปี ขึ้นไปการวางแผน การตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการการเงินเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราย้อนเวลากลับไปเก็บใหม่ให้เร็วขึ้นไม่ได้ เราทำได้แค่จะทำอย่างไรให้เงินที่มีถูกจัดสรรนำไปใช้ได้ตลอดชีวิตของเรา และต่อยอดอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบ”

นพพร ย้วยความดี อายุ 59 ปี พนักงานบริษัทเอกชน

11 ปี จากนี้คือการวางแผนเผื่อให้ตัวเองเกษียณแบบสบายใจ

“ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเริ่มมาสนใจเรื่องการเงิน และการลงทุนอย่างจริงจัง เนื่องจากอายุเริ่มเพิ่มขึ้น มองเห็นผู้สูงอายุรอบ ๆ ตัว หรือตามข่าวว่าในวันที่ไม่มีเงินชีวิตยากแค่ไหน และยิ่งตัวเราไม่มีลูก ไม่ได้มีอาชีพที่มีบำนาญไปตลอด ถ้าไม่เริ่มคิดวันนี้มันก็จะยิ่งช้าไปเรื่อย ๆ 1-2 ปีมานี้เลยเป็นปีที่เราจริงจังกับการวางแผนชีวิตตัวเองมาก ๆ เริ่มจากการทำประกัน และการศึกษาเรื่องการเงินและการลงทุนจากยูทูบ รวมไปถึงคอร์สอบรมต่าง ๆ เยอะมาก ๆ เพื่อเป้าหมายคือ 11 ปีก่อนเกษียณเราจะเตรียมเอาเงินเก็บทั้งหมดมาต่อยอดให้เพียงพอและดูแลตัวเองได้จนวันสุดท้ายของชีวิตโดยที่เงินไม่หมดก่อน”

การจัดการเงินแบ่งออกเป็น 3 ตระกร้า คือภาพการจัดการเงินที่ชัดที่สุดในวัยนี้

“พอเราเป็นคนที่เริ่มหาความรู้เรื่องการเงินการลงทุน ก็มีโอกาสได้เข้าอบรมเยอะมาก จนมาเจอกิจกรรมของ Happy Money Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้  ซึ่งเปิดมุมมองทางการเงินของเราหลายอย่าง โดยเฉพาะการแบ่งสัดส่วนเงินว่าเราควรแบ่งเงินไปวางตรงไหนบ้างอย่างเช่น หลักของการแบ่งเงินออกเป็น 3 ถัง

  • ถังที่ 1 เป็นถังสำหรับการถอนเงินออกมาเพื่อใช้จ่ายในระยะสั้น เป็นเงินสำรองฉุกเฉินที่ควรมี
  • ถังที่ 2 เป็นถังที่ใช้สำหรับลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง มีระยะเวลาการลงทุนได้ 3 – 5 ปี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าถังใบแรก
  • ถังที่ 3 ถังเสี่ยงสูง เป็นถังที่มีระยะเวลาการลงทุน 5 ปีขึ้นไป ดังนั้น สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้และคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับสูงได้

“พอเราเห็นตัวอย่างการกระจายการลงทุน ทำให้เรามีสมดุลในการวางเงินที่สร้างผลกำไรให้เราต่อเนื่อง ไม่ถือเงินสดมากเกินจนนำไปต่อยอดไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้จะเริ่มตอนอายุ 50 ปี ก็ยังทำได้ และที่สำคัญ กิจกรรมครั้งนี้คือทำให้เราเห็นความหวัง และมองว่าเริ่มต้นวันนี้ยังเหลือเวลาอีก 10 ปี ดีกว่าเริ่มต้นช้าไปเรื่อย ๆ”

“สำหรับพี่จะช้าหรือไม่ช้ามันอยู่ที่ว่าวันนี้เราเริ่มต้นไหม หรือปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ”

ชัยพิวัฒิ รุ่งเรือง อายุ 49 ปี เจ้าของร้านกาแฟและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่อายุ 30 ปี เพราะเรารู้ว่าการไม่มีเงินมันน่ากลัว

“พี่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย และเราก็เห็นมาตั้งแต่เด็กว่าการไม่มีเงินมันน่ากลัวขนาดไหน คนในวัยพี่ก็จะเป็นยุคที่ผ่านความลำบากในการตั้งตัว กว่าจะสร้างฐานะได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้พอเราเริ่มมีรายได้สิ่งที่เราคิดมาตลอดคือการเก็บเงิน และวางแผนที่จะต่อยอด ตอนนั้นมีลูกก็เลยมองเรื่องการทำประกันสะสมทรัพย์ให้ลูกไว้เป็นอันดับแรก จนสร้างฐานะมาเรื่อย ๆ และบุกเบิกการทำร้านทอง ระหว่างที่ทำร้านทองก็มุ่งเป้าคือการสะสมมรดกให้ลูกให้ได้มากที่สุด ไม่ได้คิดถึงตัวเองในอนาคตเลย”

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้มาสนใจเรื่องการวางแผนเกษียณ คือการที่ได้เห็นผู้สูงอายุในข่าว และผู้สูงอายุรอบ ๆ ตัวว่าวันที่ไม่มีเงินตอนอายุเยอะจะลำบากแค่ไหน ทั้งปัญหาการแย่งชิงมรดก หรือถ้าเราไม่คิดถึงตัวเองเลย วันไหนป่วยขึ้นมาลูกหลานก็ต้องมาแบกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ก็เลยเปลี่ยนความคิดว่าถ้าเรารักลูกจริงเราต้องวางแผนให้จบตั้งแต่เรามีชีวิตอยู่ ว่าส่วนใดคือมรดก ส่วนใดคือเงินที่จะได้ใช้ให้เพียงพอจนวันสุดท้ายของเรา”

กิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้จักการต่อยอดเงินและบริหารภาษีได้ดียิ่งขึ้น

“ตอนที่เห็นประกาศรับสมัครจากทางเพจมนุษย์ต่างวัย ด้วยความที่เราเป็นคนไม่เป็นเลยในเรื่องเทคโนโลยี ไม่มีอีเมล สมัครก็ไม่เป็น แต่อยากเรียน เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองและครอบครัว ลูกก็เลยช่วยสมัครให้ ตอนสมัครมาก็มีหลายคนที่รู้ และตั้งคำถามกับเราเหมือนกันว่า มีเงินจะมาเรียนทำไม ไม่ต้องวางแผนหรอกรวยอยู่แล้ว สำหรับพี่คือ คนที่ไม่วางแผนนั่นแหละสักวันเงินที่หามามันจะหมดได้อย่างง่ายดาย”

“พี่ประทับใจบทเรียนในหลาย ๆ อย่างมากไม่ว่าจะเป็นการจัดพอร์ต การแบ่งเงินออกเป็น 3 ถัง การต่อยอดเงินเบี้ยคนชราให้มีมูลค่าเพิ่มทวีคูณ เช่น ถ้าเรานำเงิน 600 บาทไปใช้มันคงไม่พอแน่ ๆ แต่ถ้าเรานำไปซื้อประกัน เงิน 600 บาทต่อเดือนก็เพิ่มเป็นความคุ้มครองหลักล้านได้ ไม่ต้องนำเงินเก็บมาจ่ายค่าประกัน หรือแม้กระทั่งเรื่องภาษีที่เราไม่เคยสนใจเลย เพิ่งได้รู้ว่าการจัดการที่ดีจะช่วยเราเรื่องภาษีได้เยอะมาก ซึ่งบทเรียนต่าง ๆ ของ  Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ ทำให้เรามองเห็นเลยว่าปลายทางข้างหน้า เรายังขาดอะไร และเราต้องจัดการเงินเราอย่างไรให้เพียงพอในอนาคต”

เพ็ญพิศ ธิติรังสี อายุ 64 ปี เจ้าของธุรกิจ

ผมมาจากครอบครัวยากจน เงินคือสิ่งที่มีค่าและเราเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการตั้งแต่เด็ก

“สมัยก่อนบ้านผมจนมาก พี่ ๆ หลายคนเรียนไม่จบเพราะต้องเสียสละให้น้องเรียน และเราก็จะซึมซับจากพ่อแม่มาตลอดว่าต้องเก็บเงิน พอได้เงินจากอั่งเปาวันตรุษจีน ผมก็เก็บออมไว้ตลอดไม่เคยใช้ ทำให้พอเราทำงานเริ่มมีรายได้มั่นคง เราก็จะเป็นคนที่แบ่งสัดส่วนของเราชัดเจนว่า เราต้องแบ่งเงินอย่างไร เป็นเงินสำรองเท่าไร เป็นเงินออมเท่าไร เป็นเงินลงทุนเท่าไร และใช้จ่ายในครอบครัวเท่าไร พอได้โบนัสก็ไม่ใช้เลยนำไปต่อยอดการลงทุนตลอด เพราะเป้าหมายของผมคือ ผมจะต้องดูแลพี่ ๆ ที่เสียสละให้เราได้เรียน ดูแลครอบครัวอย่างดี และมีเงินเพียงพอดูแลตัวเองไม่ให้เป็นภาระของคนข้างหลัง ผมเลยเป็นคนที่อยู่กับการคิดเรื่องเงิน ศึกษาเรื่องการลงทุนอยู่เสมอ เป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปี”

เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด การมาเรียนอีกครั้งคือการทบทวนตัวเอง

“สำหรับผมพอเห็นประกาศรับสมัครของโครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ทำให้รู้ว่าเงินที่เก็บ ที่ลงทุนมาทั้งหมด เพียงพอที่จะใช้ไปตลอดชีวิตหรือยัง ผมเลยสมัครเข้ามาเพื่อเติมเต็มความรู้ และบทเรียนต่าง ๆ ก็ชัดเจนทำให้ได้กลับมาทบทวนพอร์ตของตัวเองว่าเราทำถูกหรือยัง วางเงินตรงไหนมากไปหรือไม่ รวมถึงมีการทดลองการจำลองพอร์ตร่วมกันทำให้เราเห็นว่าถ้าเราวางเงินไว้ถูกที่ ถูกจำนวน ผลตอบแทนก็จะทยอยนำมาใช้ได้จนวันสุดท้ายของชีวิต

“สิ่งสำคัญคือเทคนิคเหล่านี้ผมไม่อยากหยุดไว้แค่คนอายุ 50 ปี เท่านั้นที่จะได้เรียน เราก็พยายามปลูกฝังให้น้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ การมาเรียนก็เหมือนได้นำเทคนิคดี ๆ ที่ย่อยง่าย ทำตามแล้วเข้าใจง่ายไปถ่ายทอดให้น้อง ๆ ในองค์กรด้วย”

“สำหรับผมสิ่งสำคัญที่สุดคือ การไม่หยุดหาความรู้และทบทวนตัวเองเสมอ และมีวินัยอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการเงินหลังเกษียณถึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย”

ฉัตรชัย วิไลรัตนสุวรรณ อายุ 63 ปี ที่ปรึกษาคณะผู้บริหารบริษัทเอกชน

สำหรับใครที่พลาดกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถเข้าไปเรียน ออนไลน์ เพื่อเตรียมพร้อมชีวิตเกษียณได้ที่

หลักสูตร วัย 50+ เตรียมชีวิตมั่งคั่ง… รับวันเกษียณ  

หลักสูตร วัย 60+ บริหารเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า

หรือสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครในรอบถัดไปได้อีกครั้ง ผ่านทางช่องทาง https://www.set.or.th/…/educ…/happymoney/happy-young-old

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ