บริหารเงินหลังเกษียณอย่างไร ? ให้มีใช้ไปตลอดชีวิต Happy Money, Happy Young Old

คุณเคยคิดไหมว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไร ? แล้วจะวางแผนการเงินอย่างไรให้พอใช้ไปตลอดชีวิต ? เพราะการวางแผนการเงินที่ดีจะทำให้ชีวิตเกษียณเป็นชีวิตที่เราออกแบบได้

มนุษย์ต่างวัยร่วมกับ โครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชวนล้อมวงคุยกับ คุณพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย คุณภมร เมตไตรยกุล พนักงานบริษัทเอกชน และ พ.ต.ท.หญิง ณัฐชาภรณ์ โพธิ์ทอง ข้าราชการตำรวจ ล้อมวงคุยเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ทั้งก่อนและหลังการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณ พร้อมแชร์ทริกการบริหารการเงินฯ ที่ไม่ว่าคนเกษียณหรือเตรียมเกษียณก็ควรฟัง

ดำเนินรายการโดย ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย 

“หลักสูตรของโครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ เริ่มจากการชวนคุยเรื่องมายเซ็ตก่อน ปรับมายเซ็ตว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องที่เราสามารถจัดการได้  ชี้ให้เห็นภาพว่าชีวิตก่อนเกษียณเหมือนเราเดินขึ้นภูเขา แต่พอหลังเกษียณเราต้องเดินลงเขา ก็ต้องเตรียมพร้อมไว้เหมือนกัน

“ต่อมาเราจะชวนมาทบทวนตัวเองว่าสมรรถนะทางการเงินของเขาเป็นอย่างไร ชวนให้เขาจดบันทึกรายรับรายจ่ายแบ่งเป็น 3 หมวด คือ ทรัพย์สิน หนี้สิน และการลงทุน ผ่านแอป Happy Money สำรวจดูว่าเขามีสวัสดิการอะไรบ้าง มีปัญหาทางการเงินหรือเปล่า หลังเกษียณจะใช้เดือนละเท่าไร  แล้วจะมีชีวิตอยู่ไปอีกกี่ปี จากนั้นค่อยมาคำนวณตัวเลขที่จะต้องเก็บเงิน ซึ่งจะกลายเป็นเป้าหมายของเขาด้วย

“ชวนมองเรื่องการลงทุนเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้มากขึ้น เน้นย้ำเรื่องการดูแลเงินลงทุนด้วยหลักเงิน 3 ถัง คือ

ถังที่ 1 – ถังเงินสำรอง Cash Buckets คือ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ถอนง่าย ใช้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่สภาพคล่องสูง เช่น กองทุนตลาดเงิน เงินฝาก

ถังที่ 2 – ถังเติมเงิน Conservative Buckets คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดสม่ำเสมอ เป็นเงินที่สร้างรายได้กลับมาให้เราได้บ้างแล้วเอารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากตรงนี้กลับไปใส่ในเงินถังแรกได้ เช่น หุ้นกู้ ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ถังที่ 3 – ถังรักษาคุณภาพชีวิต Aggressive Buckets การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนวันนี้ พรุ่งนี้ แต่เป็นเงินออมในระยะยาว เช่น หุ้นพื้นฐานดี หรือกองทุนรวมหุ้นที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะ 10 ปีขึ้นไป

การบริหารการเงินหลังเกษียณเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อม เริ่มต้นได้ ไม่ต้องรอใกล้เกษียณ ยิ่งรู้เร็ว เริ่มเร็ว ก็ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็พร้อมที่จะรับมือ และสามารถจัดการให้ผ่านไปได้ สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ทั้งในปัจจุบันและในวันที่วัยเกษียณมาถึง

“เราเคยเห็นข้าราชการที่เกษียณไปแล้ว บางคนยังมีหนี้สินที่จะต้องผ่อนชำระ บางคนเพิ่งจะเริ่มผ่อนบ้าน หรือบางคนได้รับเงินก้อนไปแล้ว แต่ใช้ไปได้สักพักเงินก็หมด พอเรามองแบบนี้ มีความกังวลว่าชีวิตหลังเกษียณมันลำบาก เริ่มถามตัวเองว่าอยากเกษียณแบบไหน ยิ่งพอเจอข่าวสังคมสูงวัย สภาพเศรษฐกิจผันผวน ไม่แน่นอน ข้าวของแพงขึ้น เราต้องเริ่มวางแผนได้แล้ว เพราะเราไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน

“ข้าราชการส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านบริหารการเงิน หรือไม่ได้สนใจในเรื่องนี้มากนักเพราะคิดว่าตัวเองมีรายได้จากเงินบำนาญอยู่แล้ว ไม่ต้องจัดการเงินหลังเกษียณมาก แค่ใช้ให้น้อยลงก็พอ คนรอบ ๆ ตัวเราส่วนใหญ่คิดแบบนี้กันหมด เราก็เคยเป็นแบบนั้น แต่ความคิดนี้เป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะเงินบำนาญอาจจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อเดือนจริง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเราจะลำบาก

“ก่อนหน้าจะมาเรียน โครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ เราไม่เคยคิดเรื่องเก็บเงินเลย มีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น คิดแค่ว่าจะใช้หนี้ให้หมดก่อนเกษียณ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เราก็นำเงินในอนาคตออกมาใช้ แต่พอมาเข้าร่วมโครงการ เราได้รู้ข้อบกพร่องของตัวเอง รู้ว่าสิ่งที่เราคิดไม่ถูกต้อง เรามองเห็นช่องทางการเก็บเงินมากขึ้น แล้วเริ่มปรับใหม่ ตรวจสอบสถานะทางการเงินของตัวเอง จดบันทึกรายรับรายจ่าย ทำต่อเนื่องจนเริ่มเห็นความเป็นไปได้ แล้วนำข้อบกพร่องของตัวเองมาวางแผน ป้องกันการก่อหนี้เพิ่ม

“เราแบ่งเงินเป็น 3 ถัง แบบที่หลักสูตรสอน สำรวจดูว่าเรามีเงินอะไรบ้าง เช่น เงินกบข. เงินบำนาญ เงินสหกรณ์ เราก็มาคำนวณว่าเราจะใช้เงินเท่าไร แล้วจะเอาเงินก้อนไหนไปวางในถังแรก ส่วนเงินสหกรณ์ เราจะเก็บไว้เป็นเงินถังที่ 2 ถ้าเราเกษียณเราจะไม่ถอนออกมา เพราะมันมีเงินปันผล พอได้ปันผลมาเราก็จะเอาไปโปะถังที่ 1 ต่อ ส่วนถังที่ 3 ก็เป็นแผนการลงทุนที่เราวางไว้ ซึ่งใช้ระยะเวลายาว ถ้าเราทำได้ เราอาจจะใช้เงินถังที่ 1 ได้นานกว่าที่คิด ทำให้เรายืดระยะเวลาได้ จากที่คิดว่าเงินที่เรามีจะใช้ได้ไปจนถึง 90 ก็อาจจะกลายเป็น 95 ปี

“พอมายเซ็ตเราเปลี่ยน พฤติกรรมของเราก็จะเปลี่ยนตามโดยอัตโนมัติ พอเงินเดือนออก เราวางแผนออมก่อนเลย แล้วเงินเหลือเท่าไร ก็ค่อยมาวางแผนค่าใช้จ่าย จดบันทึกรายรับรายจ่าย ทำให้เราเห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนสูงเกินไป เราก็ตัดออก

“การเรียนรู้เรื่องบริหารการเงินมีประโยชน์มาก สามารถนำไปใช้ได้ผลจริง อยากให้ทุกคนลองให้โอกาสตัวเอง เปิดใจเข้ามาเรียนรู้ เราอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ต่อให้เกษียณไปแล้วก็เรียนรู้ได้ ไม่มีคำว่าช้าเกินไป ยิ่งเรียนรู้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ยิ่งมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้เร็ว และไม่ต้องเหนื่อยมาเร่งทำตอนใกล้เกษียณ”

“เหตุผลแรก ๆ ที่ผมสนใจเรื่องวางแผนการเงินเพื่อเตรียมตัวเกษียณคืออายุที่เริ่มมากขึ้น เรา 40 ใกล้ 50 แล้ว แต่ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังมีอยู่ ถ้าต้องคิดเรื่องเกษียณ ตอนนี้ก็ควรเริ่มได้แล้ว”

“ที่บริษัทผมมีชมรมการออมและการลงทุน ผมเลยมีโอกาสได้ไปลองเรียนรู้และเข้าเวิร์กช็อปกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการวางแผนการเงินหลังเกษียณมากขึ้น ผมเองพอมีความรู้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะวางแผนอย่างไร จนปล่อยเวลามาเรื่อย ๆ ถึงอายุเกือบ 50 พนักงานเอกชนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้มากนัก ยิ่งคนอายุน้อย ๆ ยิ่งไม่ได้สนใจ

“ก่อนเข้ามาเรียนผมวางแผนว่าจะอยู่ถึงอายุ 70 ปี แต่พอมาเรียนแล้วคิดว่าไม่น่าจะพอ ต้องวางแผนไว้อย่างน้อยที่ 85 ปี ผมมองว่าหลังจากเกษียณแล้วเราต้องมีชีวิตอีกหลายปี การวางแผนหลังเกษียณจึงสำคัญ ถ้าวันหนึ่งตื่นมาเราไม่มีเงินใช้เลยจะทำอย่างไร เพราะเรายังมีค่าใช้จ่ายอยู่ทุกวัน เราต้องดูว่าเราจะใช้จ่ายอะไร ใช้เงินส่วนไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานเอกชนที่หลังจากเกษียณแล้วรายได้ต่อเดือนหายไปเป็น 10 เท่า

“เรื่องไลฟ์สไตล์ก็ต้องปรับเพราะชีวิตเราไม่เหมือนเดิมเเล้ว ต้องดูว่าหลังเกษียณเราอยากมีไลฟ์สไตล์แบบไหน จากนั้นก็มาดูว่าเรามีหนี้สินเท่าไร ทรัพย์สินเท่าไร มีรายได้เท่าไร จะได้รู้ว่าต้องจัดการส่วนไหนก่อน ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าดอกเบี้ยจากหนี้หรือดอกเบี้ยจากการลงทุนอันไหนคุ้มกว่ากัน พอเราเห็นภาพชัดขึ้น เราก็มาคิดต่อว่าค่าใช้จ่ายเราหลังจากนี้จะเป็นแบบใด ค่าใช้จ่ายเผื่อฉุกเฉินประมาณเท่าไร สวัสดิการที่มีเราจะเอาไปทำอะไร อย่างผมก็ใช้เงินที่จะได้จากประกันสังคมมาจัดสรรเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายค่าประกันสุขภาพในช่วงที่เกษียณแล้ว ปิดจุดเสี่ยงไปได้ 1 จุด

“อีกเรื่องที่ต้องคิดคือต้องมีรายได้ 3 ทาง พอเรียนแล้วก็ทำให้มองเห็นว่า เรามีรายได้จากไหนบ้าง คือ หนึ่ง รายได้จากการลงทุน ที่ต้องปรับสัดส่วนให้เหมาะสม สอง รายได้จากการเช่า หรือพาสซีฟ อินคัม ซึ่งต้องการันตีว่าจะได้ทุกเดือน สาม อาชีพพิเศษหลังเกษียณต้องเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข สร้างประโยชน์ให้สังคม และสามารถสร้างรายได้ให้เราด้วย

“ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่รู้ เราจะสะเปะสะปะ แต่พอรู้แล้ว เรามั่นใจ พอจบหลักสูตรเราเห็นเลยว่า 10 ล้าน 20 ล้านมันมีทาง มันเป็นไปได้ ก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะเดินตามทางที่เขาสอนหรือเปล่า ถ้าเราทำได้ โอกาสไปถึงเป้าหมายก็มีสูง

“หลังจากเรียนแล้ว ผมมั่นใจมากขึ้นในการวางแผนการเงินเตรียมพร้อมเกษียณ และอยากไปขยายผลต่อในองค์กรด้วย”

ชวนเตรียมพร้อมรับมือเกษียณ สมัครเข้าร่วมโครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” คลิก https://setga.page.link/rdGf

ผู้สนใจสามารถรับชมไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3vfNswE

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ