จัดการเงินหลังเกษียณ ให้อยู่ได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

น่าเสียดาย … คือตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด  ที่สุดแห่งความสลด … คือใช้เงินหมด … แล้วยังไม่ตาย

คำที่อาจารย์ทางการเงินหลายท่านมักยกมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้การมีเงิน การเตรียมความพร้อมหลังเกษียณเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่ากันคือ จะทำอย่างไรให้เงินที่เตรียมมาไม่หมดก่อนวันสุดท้ายจะมาถึง ?

มนุษย์ต่างวัย ร่วมกับ โครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ โดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนทนากับ คุณต้อย “วิชาญ อยู่รักษา” วัย 65 ปี อดีตพนักงานธนาคาร ที่วางแผนเกษียณของตัวเอง ตั้งแต่เริ่มทำงาน ในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันในเวลานั้นน้อยคนจะสนใจ และ ดร.พัชมณ มาสกุล อายุ 55 ปี ที่เริ่มวางแผนเก็บเงินเกษียณตั้งแต่อายุ 30 และตัดสินใจเกษียณตัวเองในวัย 55 ทั้ง 2 ท่านจะมาเล่าว่า การเก็บเงินก่อนเกษียณก็สำคัญแต่การบริหารจัดการเงินหลังเกษียณให้อยู่ได้ เพียงพอจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตก็สำคัญไม่แพ้กัน 

“การวางแผนการเงินไม่ใช่แค่เรื่องของการมีเงินใช้ แต่มันคือเรื่องของคุณค่าในชีวิตและการทำเพื่อคนที่เรารัก ยิ่งเราดูแลตัวเองได้นานที่สุด เราก็จะทิ้งภาระให้ลูกหลาน ได้น้อยที่สุดเช่นกัน”

“พี่เตรียมตัวเกษียณล่วงหน้ามา 30 ปี เพื่อให้พร้อมที่สุดในวันที่เกษียณ”

ดร.พัชมณ มาสกุล อายุ 55 ปี หรือ คุณเล็ก ตัดสินใจเกษียณตัวเองในวัย 55 จากธุรกิจและงานประจำในสายอาชีพด้านสุขภาพ  เล่าย้อนไปว่า จุดเริ่มต้นที่คิดถึงการเกษียณ เริ่มต้นมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ในตอนที่อายุ 25 ปี ซึ่งถือว่าเริ่มต้นเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ในนั้นคำว่าวางแผนเกษียณคือสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย และไกลตัวมาก เราเติบโตมากับค่านิยมที่รุ่นพ่อ รุ่นแม่คิดว่ายามแก่เฒ่าลูกหลานต้องดูแล แผนเกษียณเลยยิ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ของพี่เล็กไม่เคยคิด 

“จุดเปลี่ยนในชีวิตสำคัญของพี่เล็กคือการได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ตอนนั้นทำให้เราได้เปิดโลกเลยว่า วัยรุ่นในต่างประเทศมีความสนใจเรื่องเงิน การออม และการเตรียมพร้อมหลังเกษียณ ตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ในขณะที่ผู้สูงอายุก็มีสวัสดิการและการเตรียมความพร้อมมาอย่างดีทำให้แม้จะไม่ได้อยู่กับลูกหลาน ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

“การมาอยู่ต่างประเทศทำให้พี่รู้สึกว่า เราไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน ในวันที่เรายังมีแรงเราจะบริหารการเงินให้เรามีเงินใช้แบบไม่กระทบใคร ทำให้ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ที่เกษียณ พี่เล็กใช้ระยะเวลาในการสะสมเงินเพื่อเกษียณมาเป็นระยะเวลา 30 ปี 

“พี่จะแบ่งเงินจากรายได้ เพื่อลงทุนในกองทุน หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และเงินเก็บ ให้ดอกผลเหล่านี้กลับมาดูแลเราได้ในวันที่หยุดทำงาน”

“การเตรียมตัวเกษียณของพี่คือ ต้องมีเงินใช้จนถึง 100 ปี จากไปแล้วเงินยังใช้ไม่หมด ดีกว่าหมดตั้งแต่ยังไม่จากไป” 

นอกจากวางแผนออมเงินก่อนเกษียณ สิ่งที่คุณเล็กให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือการบริหารเงินหลังเกษียณให้เพียงพอใช้ไปจนกว่าวันสุดท้ายจะมาถึง ดังนั้นหัวใจสำคัญที่พี่เล็กยึดใช้เป็นแนวทางมีด้วยกัน 3 ข้อ

ข้อที่ 1 ไม่สร้างหนี้เพิ่ม

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ พี่จะไม่นำเงินอนาคตมาใช้ ไม่สร้างหนี้ เพราะด้วยวัยที่รายได้ลดน้อยลง หรือไม่มีเลย การเป็นหนี้ยิ่งเพิ่มความทุกข์ และทำให้แผนการเงินที่วางมาไม่เสถียร รวมถึงจะไม่นำเงินไปลงทุนอะไรที่เป็นความเสี่ยงสูง เลือกลงทุนที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ในความเสี่ยงต่ำ ให้ยังมีเงินปันผลจากการลงทุนเข้ามาอยู่ สองอย่างนี้คือกฎเหล็ก”

ข้อที่ 2 จำกัดค่าใช้จ่ายให้ได้เดือนละ 30,000 – 40,000 บาท

พี่เล็กบังคับตัวเองว่าจะใช้เงินแค่เดือนละ 30,000 โดยคิดจากเงินเฟ้อ 3% โดยแบ่งการใช้เงินเป็น 3 ก้อน 

  • ก้อนที่ 1 คือเงินออม หักออมจากเงิน 10 % จากเงิน 30,000 เหมือนตอนสมัยทำงาน  
  • ก้อนที่ 2 คือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยจะแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำอย่างเช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเติมน้ำมัน ค่าซื้ออาหาร รวมไปถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะเดือนละ 25000 
  • ก้อนที่ 3 สำรองเพื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน 

จัดสมดุลค่าใช้จ่ายทั้ง 3 ก้อน ให้ไม่เกินเงินที่ตั้งไว้ระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่ต้องใช้รถหรูเพราะค่าใช้จ่ายสูง  ไม่อยากได้ของแบรนด์เนมเพราะไม่ใช่ไลฟ์สไตล์และชีวิตที่เราต้องการ บวกกับสังคมในการออกงานเราคงน้อยกว่าตอนทำงาน

ข้อที่ 3 วางแผนการเงินแบบคิดถึงความเสี่ยง

“นอกจากออมแล้วพี่เล็กจะคิดถึงความเสี่ยง สำหรับพี่เล็กจะมี 3 เสี่ยงที่พี่วางแผนเลยคือ เสี่ยงที่ 1 คือเงินเฟ้อ อาจจะ3 -4 % ต่อปี พี่รู้เรื่องนี้มาตั้งแต่อายุ 30 เลยทำให้พี่เตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับเงินเฟ้อพอสมควร ดังนั้นพี่จะไม่ได้มีแค่เงินสด พี่กระจายความเสี่ยงไปที่ที่ดิน ทอง หุ้น โดยเฉพาะในส่วนของหุ้น กองทุน และเงินออม จะสามารถเป็นกระแสเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงอายุ 80 ปี

“เสี่ยงที่ 2 เราอาจต้องติดเตียง คือก่อนจะไปถึงขั้นนั้นเราก็ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดก่อน แต่ไม่ลืมที่จะคิดถึงวันที่ร่วงโรย ดังนั้น พี่วางแผนเลยว่าพี่จะไม่เอาเงินทั้งหมดไปจมอยู่กับการรักษาตัวเอง พี่เลือกจะใช้ประกันสังคม เราอยู่ในสายการแพทย์มาเรารู้ว่าสิทธิ์พื้นฐานของประชาชนยังสามารถใช้ได้ และประกันบางประเภทไม่สามารถดูแลเราไปยันตาย สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาใช้สวัสดิการของรัฐ

“มีหลายคนมากที่เกษียณแล้วไม่วางแผน โดยเฉพาะคนใกล้ตัวบางคนเงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน หรือเรามองเห็นว่าถ้าเขายังทำแบบนี้ไม่นานเงินก็หมด ดังนั้นทุกคนมีชีวิตเกษียณที่อยากใช้ เราไม่ต้องมี ร้อยล้าน เหมือนคนอื่น เรามีในรูปแบบที่เราคิดว่าเราพอ แต่สำคัญตรงสติและการวางแผนมากกว่าว่าพอมีเงินแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้หมดก่อนตาย นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด”

“ผมเริ่มคิดเรื่องการวางแผนเกษียณ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานและมีรายได้ ในช่วงแรกเริ่มอาจจะยังเก็บเงินไม่ได้เยอะ แต่สามารถวางแผนวันข้างหน้าได้ว่าเราจะต้องเก็บเงินเท่าไหร่ ถึงจะได้ใช้ชีวิตแบบที่เราอยากใช้”

คุณต้อย วิชาญ อยู่รักษา วัย 65 ปี อดีตพนักงานธนาคาร ที่วางแผนเกษียณของตัวเอง ตั้งแต่เริ่มทำงาน ในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันในเวลานั้น ยังไม่คิดและไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณ แต่สำหรับคุณต้อย การมองเห็นภาพหลังเกษียณของตนเองเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าคุณต้อยเคยเห็นคนที่ลำบากจากการไม่วางแผนการเงิน ซึ่งเป็นคมคนใกล้ ๆ ตัวมาแล้ว จึงไม่อยากเป็นแบบนั้นทำให้เขา ให้ความสำคัญมากกับเรื่องการวางแผนด้านการเงินหลังเกษียณ

คุณต้อยเคยทำงานในฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร จึงพอจะมีความรู้เรื่องที่ดินและการลงทุนสินทรัพย์ต่าง ๆ จึงเริ่มเก็บเงินจากความรู้ที่มีและถนัดที่สุด คุณต้อยแบ่งสินทรัพย์ ในการลงทุนเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สินทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้น เช่น กองทุนรวม หุ้น 2.สินทรัพย์ ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น ทองคำ 3.สินทรัพย์ ที่ สร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว เช่น ที่ดิน แต่ไม่ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ใด ไม่ใช่จะได้ผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นการศึกษาหาความรู้ให้ถูกต้องและเลือกลงทุนในสิ่งที่เหมาะกับเราจึงสำคัญมาก

เมื่อวันเกษียณมาถึง รายได้ที่เคยได้เป็นประจำอย่างเงินเดือนหายไป มีรายได้แค่จากเงินประกันสังคมเพียงไม่กี่พันบาท และสวัสดิการจากรัฐเพียงไม่กี่ร้อย ทรัพย์สินที่เก็บออมไว้ของคุณต้อยจึงเริ่มถูกนำออกมาใช้เพื่อ แปลงเป็นเงินสด ในช่วงเวลานี้เอง คือ การเริ่มขายกองทุนที่ทำกำไรแล้ว การขายทองคำ และหากต้องการเงินสดก้อนใหญ่ ก็จะทยอยขายที่ดินที่เคยซื้อไว้ และที่สำคัญคือการ บริหารความเสี่ยงในแต่ละ สินทรัพย์ ให้พอดีกัน หากไม่มีความรู้มากพอในการบริหารก็อาจจะทำให้ลงทุนพลาด และอาจไม่ได้กำไรกลับคืนมาเลยก็ได้

ทุกวันนี้นอกจากการทยอยขายสินทรัพย์ที่เก็บสะสมมาแล้ว คุณต้อยยังหารายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังเกษียณด้วยการเปิดร้านขายเครื่องดื่มที่หน้าบ้าน ให้พอมีรายได้เสริมเพื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลงได้ และที่สำคัญทำให้ชีวิตไม่ว่างมากเกินไปนัก เสมือนได้ออกกำลังกาย ฝึกสมองให้ทำงานอยู่สม่ำเสมอ เพราะว่านอกจากการเก็บเงินหลังเกษียณแล้ว ยังต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพด้วย

“หลาย ๆ คนคิดว่าหลังเกษียณไม่ต้องใช้เงินแล้ว หรือใช้เงินน้อยลง ตรงกันข้ามเลย หลังเกษียณแล้วเราอาจจะมีค่าใช้จ่ายด้านสังคมลดลงจริง แต่ค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ กลับเพิ่มมากขึ้น เช่น ด้านสุขภาพ เราอาจจะต้องเสียเงินซื้อวิตามินเพื่อบำรุงร่างกาย ซื้อรองเท้าดีดีซักคู่ เพื่อใส่ออกกำลังกาย จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อทานอาหารดี ๆ นอกจากการวางแผนเก็บเงินแล้ว การหารายได้เสริมหลังเกษียณก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเราได้ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและเรื่องสุขภาพร่างกาย”

สิ่งหนึ่งที่คุณต้อยให้ความสำคัญ ในการเกษียณคือการไม่เป็นภาระกับลูกหลาน เมื่อเราเกษียณ ลูก ๆ จะอยู่ในวัยทำงาน ที่ต้องสร้างตัว เก็บเงินเพื่ออนาคตของเขาเหมือนกับเราตอนเริ่มทำงาน ดังนั้นสิ่งที่คุณต้อยตั้งใจคือ จะไม่ขอเงินลูก เพื่อให้เขาได้วางแผนชีวิตของเขาง่ายขึ้น ไม่ต้องมากังวลเรื่องการดูแลพ่อแม่ในยามแก่ เพราะพ่อแม่วางแผนการเก็บเงินมาอย่างดีแล้ว

“ดังนั้นเรื่องของการวางแผน และศึกษาหาความรู้อย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการเก็บเงิน เพราะบางครั้งถ้าจะลงทุนอะไรแล้ว เราไม่เข้าใจสินทรัพย์นั้น ๆ มากพอ อาจจะทำให้การลงทุนของเราไม่ประสบความสำเร็จก็ได้”

เตรียมความพร้อมรับมือเกษียณ เพื่อบริหารเงินออมก้อนสุดท้ายให้เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูแลตนเองไปตลอดชีวิต

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชิญชวนร่วมแคมเปญ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” เผยแพร่ความรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเกษียณ ประกอบ ด้วย SET e-Learning ใหม่ล่าสุด 2 หลักสูตร (รวม 2 ชั่วโมง) ได้แก่ หลักสูตร “วัย 50+: เตรียมชีวิตมั่งคั่ง รับวันเกษียณ” และหลักสูตร “วัย 60+: บริหารเงินหลังเกษียณสไตล์วัยเก๋า” พร้อมต่อยอดสู่การฝึกวางแผนการเงินจริงผ่าน เวิร์กช็อปหลักสูตรบริหารเงินหลังเกษียณ (6 ชั่วโมง) และ Group Mentor แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน

ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://setga.page.link/Loz3

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ