“ข้าวบ้านก๋ง” ร้านอาหารตามสั่งขวัญใจเด็ก มช. แห่งเมืองเชียงใหม่ ที่ปรุงด้วยหัวใจของอาก๋ง วัย 72 ปี

“ความสุขของคนวัย 72 แบบก๋งก็คือการได้ทำอาหารอร่อยๆ และได้รับรอยยิ้มตอบแทนจากลูกค้ารุ่นลูกรุ่นหลาน ดีใจที่ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้มากินข้าวที่บ้าน ได้กลับบ้านอีกครั้ง”

มนุษย์ต่างวัยพาไปทำความรู้จักร้านอาหารตามสั่ง ที่ตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่นักศึกษา มช. หลายรุ่นต่างยกให้เป็นร้านอาหารขวัญใจเด็ก มช. ที่บางคนเคยแวะมาฝากท้องเป็นประจำตั้งแต่เป็นเฟรชชี่จนเรียนจบปริญญา และพ่อครัวขวัญใจนักศึกษาคนนี้ก็คือ คุณปู่ท่าทางใจดี ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่มีชื่อว่า ประเสริฐ พฤกษาชาติ อายุ 72 ปี ที่เด็กเรียกกันติดปากว่า “ก๋ง” พ่อครัวที่ไม่ใช่แค่ปรุงอาหารให้อร่อยแต่ยังปรุงอาหารด้วยความใส่ใจ

ก๋งเกิดมาเพื่อทำอาหาร แม้ทำมาแล้วกว่า 30 ปี ก็ยังอยากตื่นขึ้นมาทำทุกวัน

นอกจากความอร่อยที่เป็นเสน่ห์ดึงดูให้บรรดานักศึกษาแวะมาฝากท้องที่ร้านก๋งเป็นประจำแล้ว ราคาที่ย่อมเยา แต่คุณภาพคับจานก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร้านก๋งอยู่คู่กับเด็ก มช. มานานหลายปี

ก๋งเป็นพ่อครัวที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความสะอาดของวัตถุดิบ แม้กระทั่งกระหล่ำปลีก็ยังแกะมาล้างทีละใบ คัดเป็นใบๆ ถ้าใบไหนช้ำก๋งก็จะคัดทิ้งเพื่อให้ได้ผักใบสวยมาปรุงอาหาร

“ก๋งเกิดในครอบครัวที่ทำอาชีพค้าขาย นอกจากช่วยที่บ้านขายของแล้วก็ยังต้องช่วยทำกับข้าว ซึ่งเราจะถูกสอนให้ทำตั้งแต่เด็ก ดูเขาทำบ้าง เขาให้ทำเองบ้าง มันก็เหมือนซึมซับอยู่ในตัว แล้วใจเราก็รักที่จะทำ ตอนเข้าครัวจับตะหลิว จับกระทะ ตอนนั้นรู้แค่เพียงว่า มันมีความสุข ถึงแม้จะเหนื่อยก็ยังมีความสุข

“แรกเริ่มเลยเมื่อปี พ.ศ. 2531 ก๋งกับคุณย่าภรรยาของก๋ง เราสองทำขนมขายอยู่ จ. เชียงใหม่ ทำส่งทุกห้างฯ ในเชียงใหม่ แล้วก็ส่งตามร้านอาหาร ต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 3 ตี 4 มาทำขนม ลูกๆ ก็ต้องมาช่วยกันทำ ตอนนั้นสนุกมาก และก็ขายดีมากๆ

“พอเกิดต้มยำกุ้ง ช่วงประมาณปี พ.ศ . 2543 ก็เหมือนเป็นช่วงขาลง ยอดการขายขนมก็ค่อยๆ ลด ก๋งกับคุณย่าก็ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ จากคำชวนแม่ของก๋งให้ไปเปิดร้านอาหารตามสั่ง ก๋งกับคุณย่าก็ไปเปิดร้านอยู่ตรง ม.ราม 2 ซึ่งคนกินเยอะ แต่ละวันไม่มีโอกาสได้สบตากับใคร นอกจากกระทะ ( หัวเราะ )

“เราก็ทำมาเรื่อยๆ ขายได้ 10 กว่าปี จนเริ่มเบื่อ พอดีลูกชวนให้ไปเลี้ยงหลานอยู่ที่หาดใหญ่ ตอนแรกเราก็สนุกนะเพราะหลานน่ารัก แต่มันเหมือนกิจวัตรประจำวันมันจำเจ คนเคยทำงานมาทั้งชีวิตก็เริ่มเบื่อ พอเบื่อสิ่งที่นึกถึงก็คือความถนัดมากที่สุดของตัวเอง นั่นก็คือการทำอาหาร สุดท้ายก๋งก็กลับมาเข้าครัวอยู่ดี ( หัวเราะ )

“ก๋งทำอาหารขายที่ ม.ราม 2 รวม 10 กว่าปี หยุดไปไม่นานพอเหงาและเริ่มเบื่อกลับมาเปิดร้านที่ใต้อีก 5 ปี จนปัจจุบันย้ายมาเปิดที่เชียงใหม่อีก 5 ปี ถ้ารวมทำขนมขายอีกก็เท่ากับว่าเราอยู่ในวงการนี้มากว่า 30 ปีแล้ว”

ถ้าจะบอกว่าร้านข้าวบ้านก๋งเริ่มจากความห่วงของลูกที่มีต่อคุณพ่อวัย 70 ปี ก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจากเห็นว่า เมื่อพ่อตัดสินใจหยุดงานเพื่อไปช่วยเลี้ยงหลานๆ ที่หาดใหญ่ ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในคอนโดฯ กิจวัตรประจำวันก็วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา

ถึงแม้ว่าหลานจะช่วยเติมชีวิตชีวาให้กับก๋งแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่เคยทำงานมาทั้งชีวิตวันหนึ่งต้องหยุดอยู่เฉยๆ ก็ต้องเกิดความรู้สึกเบื่อเป็นธรรมดา และที่สำคัญคือร่างกายที่เคยได้ขยับไปมาจากการทำงาน เหมือนได้ออกกำลังกายก็เริ่มไม่แข็งแรง เพราะไม่ค่อยได้ออกแรงทำงานมากนัก

ปฏิพล พฤกษาชาติ หรือ ไปป์ อายุ 43 ปี ลูกชายคนกลางของก๋งซึ่งตอนนั้นเบื่อการทำงานประจำอยู่แล้วเลยชักชวนพ่อให้กลับมาเชียงใหม่เพื่อมาเริ่มธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว

“ตอนนั้นตัวเราเองก็คือยุ่งกับการทำงานหาเงิน เวลาให้ลูกกับครอบครัวก็น้อยลงไปด้วย จนเกิดคำถามเล็กๆ ในใจเหมือนกันว่า เราดิ้นรนเพื่อหาแต่เงิน แต่กับครอบครัวเราไม่ได้ใช้เวลาสร้างความสุขด้วยกันเลย ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราจะเสียใจแค่ไหน ก็พยายามมองหาวิธีที่จะทำให้งานและความสัมพันธ์ในครอบครัวเดินคู่กันไปได้

“แต่เหมือนมันเป็นเรื่องของจังหวะชีวิต มีอยู่วันหนึ่งเจ้านายผมมาดูงานและไม่มีอะไรกิน ก๋งก็เลยอาสาทำกับข้าวให้ แน่นอนว่าถูกอกถูกใจเจ้านายผมมากๆ ในขณะที่ก๋งเองก็ดูมีความสุขเมื่อได้กลับมาทำอาหาร เลยมาคุยกันว่าเรากลับไปเชียงใหม่ เพื่อเปิดร้านอาหารเล็กๆ ที่บ้านเราจะดีกว่าไหม เลยตัดสินใจเสี่ยงกันดูสักตั้ง เราเองก็จะได้มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น พ่อเองก็ไม่ต้องเหงา”

“การทำอาหารที่นี่มีหัวใจสำคัญ 3 ข้อคือ อร่อย สะอาด ประหยัด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นเป็นเสมือนกับลูกๆ หลานๆ ของเรา เราต้องให้เขาได้กินของดี ราคาไม่แพง และสะอาดปลอดภัย

“เมนูขายดียอดฮิตที่มักจะสั่งกันประจำก็คือ “หมูบ้านก๋ง” ที่มีจำกัดหมดแค่ไหนแค่นั้น เป็นอาหารสูตรของก๋งเองมีที่นี่ที่เดียว รสชาติจะคล้ายหมูหวานแต่มีรสเค็มๆ มันๆ ติดปลายลิ้น ก๋งต้องตื่นมาเคี่ยวตั้งแต่ตี 5 เพื่อให้น้ำหมักซึมเข้าไปในเนื้อ เวลากัดเข้าไปเนื่อจะนุ่มและชุ่มด้วยซอส กินกับข้าวสวยร้อนๆ ก็ยิ่งอร่อยมากขึ้น เมนูนี้ก๋งจะทำแค่วันละ 1 หม้อเล็กๆ เท่านั้น พอเปิดร้านปุ๊บไม่ถึงเที่ยงก็หมดเกลี้ยงสำหรับเมนูนี้

“นอกจากนั้นยังมีกระหล่ำปลีผัดน้ำปลา แม้ชื่อเมนูจะฟังดูง่ายๆ บ้านๆ แต่ก๋งการันตีว่ามากินบ้านก๋งไม่เหมือนที่ไหนแน่นอน โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกกระหล่ำที่ต้องใช้กระหล่ำปลีหัวแหลมเท่านั้น เพราะจะสวยกว่าเวลานำไปผัด ที่สำคัญคือก๋งก็จะต้องนั่งเลือกผักทีละใบ แค่เตรียมผักกระหล่ำก๋งก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพราะเราอยากให้ลูกค้าได้กินผักสวยๆ ถ้าผักไม่สด ผักช้ำ คนทำก็ไม่อยากทำ เราทำอาหารมาตั้ง 30 ปี ทำส่งๆ ก็เสียชื่อก๋งหมด ( หัวเราะ )

“เพราะพ่อรักในการทำอาหาร เขาจะเคารพอาหารทุกจานที่เขาทำ แม้เราจะขายราคาถูกมากแค่ 40 บาท แต่ทุกอย่างเป๊ะจนลูกก็ตามไม่ทันเหมือนกัน ผักห้ามเหี่ยว ห้ามดำ ต้องสด เครื่องปรุงใช้เสร็จต้องเช็ดขวด ช้อนต้องวางเข้าคู่กัน ในครัวห้ามรกต้องสะอาด เราก็ต้องละเอียดตามเขาไปด้วยไม่งั้นไม่ถูกใจก๋ง ( หัวเราะ )”

“ไปป์” ลูกชายที่ตอนนี้เพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยผัดในครัวบ้านก๋งช่วยยืนยันว่า พ่อเป็นพ่อครัวที่ปราณีตมากๆ โดยเฉพาะการเตรียมวัตถุดิบและการจัดระเบียบในครัว

“ปีนี้ร้านข้าวบ้านก๋ง เปิดมาปีที่ 4 แล้ว แต่กว่าจะประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะไม่มีใครรู้จัก ใช้เวลา 3-4 เดือนถึงจะมีลูกค้า แรกๆ ก็มีท้อกันบ้าง พอมีลูกค้ามากิน แล้วบอกต่อกันไปปากต่อปากก็กลายเป็นคนมากันเยอะขึ้นจนก๋งอยู่หน้าเตาทั้งวัน ซึ่งก็ทำให้ก๋งมีกำลังใจนะ ดีกว่านั่งเหงา

“หลานๆ เวลามากินจะบอกกับก๋งกับคุณย่าตลอดเลยว่า อาหารที่นี่อร่อย เหมือนที่ครอบครัวเขาทำให้กิน ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะมาจากหลายจังหวัด ต้องไกลบ้านเพื่อมาเรียน การได้มากินข้าวบ้านก๋งก็ทำให้พวกเขารู้สึกหายคิดถึงบ้าน

“อย่างในรูปก็คือลูกค้าที่มากินตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่งจนตอนนี้เรียนจบไปแล้ว ลูกค้าประจำรุ่นแรกๆ ของก๋ง ยังแวะเวียนมาทานข้าวบ้านก๋งตลอดเลย ก๋งก็ดีใจนะที่เราอายุ 72 ปีแล้วแต่ก็ยังสร้างความสุขให้กับเด็กๆ ผ่านความรักในการทำอาหารของเราได้”

ทุกวันนี้ก๋ง ตื่นตั้งแต่ ตี 5 ทุกวันเพื่อมาเริ่มเตรียมวัตถุดิบ จากนั้นก็อยู่แต่ในครัว ทำอาหาร ออกมาเสิร์ฟบ้าง ถ้าลูกค้าไม่แน่นก็มาช่วยเช็ดทำความสะอาดโต๊ะ แทบจะทำทุกอย่างในร้านช่วยกันกับลูกชาย ลูกสะใภ้ คุณย่าแล้วก็หลานๆ

“การมีอาชีพในวัยหลังเกษียณ คุณค่าไม่ได้อยู่ที่เงินทองอย่างเดียว เราทำเราก็ไม่ได้เอาเงินไปใช้อะไรหรอก นอกจากซื้อขนมให้หลานๆ กิน เพราะรายได้อื่นๆ เราก็ยกให้ลูกเขาจัดการ แต่สิ่งที่มีคุณค่าคือในวัยนี้เรายังมีแรงทำอาหารได้ และคนก็ตอบรับดี นั่นคือความสุขแล้ว ที่สำคัญยังไม่ต้องนอนเฉายังมีแรงได้ออกกำลังกายจากการทำงาน แค่นี้ก๋งก็มีความสุขแล้ว

“พ่อดูเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขมากจริงๆ แม้จะเป็นผู้สูงอายุที่วัยเข้าเลข 7 แล้วก็ตามแต่รอยยิ้มของก๋งนี่แหละที่ทำให้คนติดใจในความใจดี พอๆ กับติดใจในรสชาติอาหาร รู้สึกว่าการตัดสินใจเปิดร้านครั้งนี้คิดไม่ผิดเพราะเราก็มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้นและพ่อก็ยังแข็งแรงมีความสุขมากกว่าตอนที่เกษียณและไม่ได้ทำอะไรเสียอีก”

ข้าวบ้านก๋ง ตั้งอยู่ใน ซอยแจ่มฟ้า ถนนสุเทพ หลัง มช. เมื่อเข้าซอย ไปให้ตรงจนสุดทาง ก็จะพบกับร้านได้ไม่ยาก ร้านเปิดทุกวัน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: ข้าวบ้านก๋ง หรือ โทร.0991581920 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ