‘เกมเมอร์สูงวัย’ ความสนุกในโลกเสมือนจริงของเหล่านักเล่นเกมวัยเก๋า

คุณเล่นเกมครั้งสุดท้ายตอนอายุเท่าไหร่

ครั้งหนึ่งเกมถูกหมายหัวว่าเป็นความหายนะแห่งช่วงวัย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกวันนี้วงการเกมกลับสร้างอาชีพและความสำเร็จรูปแบบใหม่ชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักแคสเกม สตรีมเมอร์ และนักแข่ง e-sports ที่ใช้ทักษะพิเศษและการฝึกฝนอย่างไม่ยอมแพ้ คือผู้ระเบิดขอบเขตอาณาจักรเกมและเผยให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เริ่มต้นจากการเล่นเกม

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของเกมยังเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับคนรุ่นใหม่ ความซับซ้อนของเทคโนโลยีเหมือนถูกออกแบบให้ไกลห่างจากผู้สูงวัยด้วยเงื่อนไขทางกายภาพและความไม่คุ้นเคย แต่ช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมากลับมี ‘เกมเมอร์สูงวัย’ ผุดขึ้นทั่วโลก ทั้งเกมเมอร์ที่ถนัดเกมแอ๊กชันต่อสู้ เกมสงคราม เกมวางแผน หรือกระทั่งเกมแนวสยองขวัญก็เป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเล่นเดี่ยวหรือเล่นเป็นทีม เหตุผลที่ทำให้ผู้สูงวัยเหล่านี้สนุกกับการ ‘เล่น’ เพราะเกมพาความสุขมาให้พวกเขาและเติมความกระปรี้กระเปร่าให้ชีวิตสูงวัยได้ มากกว่านั้น บางคนยังฝึกปรือการเล่นเกมอย่างจริงจัง จนมีแฟนคลับรุ่นลูกหลานตามเชียร์กันเป็นขบวน

Grandma & Grandpa  นักเล่นในตำนานวงการเกมออนไลน์

สูงวัยระดับ A ลิสต์แห่งวงการสตรีมเมอร์ที่มีแฟนคลับติดตามผ่านช่องยูทูปเฉียด 1 ล้านคน คือ เชอร์ลีย์ เคอร์รี (Shirley Curryคุณยายชาวอเมริกันวัย 85 ปี ถูกอวยยศเป็น ‘Skyrim Grandma’ เธอเป็นที่รู้จักในปี 2559 หลังจากเริ่มอัพโหลดการเล่นเกม The Elder Scrolls V : Skyrim ลงช่องยูทูบ

ความคลั่งไคล้เกมนี้ของคุณยาย Skyrim มากถึงขนาดเข้าตาทีมผู้สร้างและทาบทามเธอให้เป็นตัวละครหนึ่งในเกม ทั้งคาแรกเตอร์ หน้าตา และเสียงพูดที่ถูกทำให้สมจริงนั้นสร้างความคึกคักให้คอเกมและแฟนคลับจำนวนมากของคุณยาย

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นสำหรับเกมเมอร์คนดัง เพราะเมื่อปีที่แล้วคุณยายถูกวิจารณ์การเล่นเกมจนเครียดหนัก ส่งผลถึงสุขภาพจิต ทำให้ต้องหยุดเล่นไปชั่วคราว แต่หลังทำความเข้าใจทั้งโลกออนไลน์และความต้องการตัวเองแล้ว คุณยายก็กลับมาอีกครั้งด้วยเหตุผลว่า เธอเล่นเกมเพียงเพื่อผ่อนคลาย ไม่ได้ต้องการแข่งขันกับใคร เพราะถ้าชีวิตไม่มีเกม ป่านนี้คงได้แต่นั่งทำงานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ อยู่กับบ้าน และซึมเศร้าลงทุกวัน ตอนนี้เธอกลับมามีความสุขกับการเล่นเกมอีกครั้ง และเป็นแกนนำเพื่อนสูงวัยให้ลองเล่นเกมไปพร้อมๆ กับเธอ

ทางฝั่งยุโรปมีทีม Silver Snipers แก๊งนักกีฬา e-sports ชาวสวีเดนรวมพลสมาชิกวัยเก๋าอายุตั้งแต่ 62 – 81 ปี ร่วมกันสร้างตำนานบทใหม่ให้กับวงการเกม Counter-Strike: Global Offensive เกมที่ได้รับความนิยมมายาวนาน สมาชิกในทีมต่างฝึกฝนอย่างจริงจังเพื่อเดินสายแข่งขันระดับโลก ภารกิจของพวกเขาคือสร้างเทคนิคใหม่ๆ ในการเล่นเกมและแสดงให้เห็นว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข เพราะถ้าอยากทำสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าวัยไหนก็สามารถทำและสนุกกับสิ่งนั้นๆ ได้

ฟากเอเชียก็ไม่น้อยหน้า เมื่อ Guinness World Records บันทึกว่า ฮามาโกะ โมริ (Hamako Moriนักเล่นเกมชาวญี่ปุ่นวัย 91 ปี คือเกมเมอร์ที่อายุมากสุดในโลก (the oldest videogames YouTuber) คุณยายโมริเริ่มเล่นเกมตั้งแต่ปี 2524 ตอนอายุ 51 ปี นับถึงตอนนี้คุณยายเล่นเกมมาได้ 40 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นเกมเมอร์ที่อยู่มาทุกยุค ตั้งแต่เกมตลับแฟมิลีสุดคลาสสิกอย่าง Super Mario จนถึงยุคนินเทนโด้ คุณยายบอกว่าการเล่นเกมช่วยฝึกความจำและกระตุ้นสมองให้ทำงาน

เห็นคุณยายโมริลุคคาวาอี้ขนาดนี้ แต่เกมที่โปรดปรานกลับเป็นเกมบู๊ล้างผลาญ Call of Duty ที่คุณยายต้องลุยกลางสนามรบและค้นพบเหตุระทึกระหว่างทาง ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา คุณยายเปิดช่องยูทูบโดยใช้ชื่อว่า Gamer Grandma ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 5 แสนคน ยอดวิวแต่ละคลิปแตะหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน

แม้คนวัยไล่เลี่ยกันจะไม่ค่อยชอบเล่นเกมแอ๊กชันด้วยเหตุผลว่ายากและซับซ้อน แต่คุณยายโมริกลับสนุกกับความซับซ้อนนั้น อย่างเกม GTA 5 หรือ Grand Theft Auto V ที่คุณยายเล่าว่าพอเริ่มเล่นแล้วหยุดไม่ได้ เพราะกราฟิกและเนื้อเรื่องตื่นเต้น ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังดูหนังดีๆ สักเรื่อง ช่วงแรกๆ ที่เล่นคุณยายมักจะแพ้และงุนงงอยู่บ้าง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะการพ่ายแพ้นี่เองที่ทำให้เรียนรู้และเปิดทางสู่ชัยชนะ ทุกครั้งที่ได้จับจอยคุณยายจะลืมเรื่องแย่ๆ และจดจ่ออยู่กับความสุขในโลกแห่งเกม

ฟิตเบอร์นี้ไม่มีใครเกินต้องยกให้คุณปู่ซู่ซ่า หยางปิงหลิน (Yang Binglinคุณปู่หยางเป็นเกมเมอร์ชาวจีนจากมณฑลเสฉวนวัย 86 ปีที่มีวินัยสูงมาก ทุกๆ เช้าคุณปู่จะยืดเส้นยืดสายและตีปิงปอง พอตกบ่ายก็จะเล่นเกมวันละ 3 ชั่วโมงทุกวัน จนตอนนี้เล่นเคลียร์ไปแล้ว 300 เกม ภายในเวลา 20 ปี

เพราะเป็นอดีตวิศวกรบวกกับชื่นชอบเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ และเทคโนโลยี เกมเลยตอบโจทย์ชีวิตหลังเกษียณของคุณปู่หยางสุดๆ โดยคุณปู่เริ่มจากลองเล่นเกมตัวต่อพัซเซิลกับหลานชาย ก่อนขยับมาสู่เกมฝ่าด่านในเครื่องเพลย์สเตชัน จนถึงตอนนี้คุณปู่หยางหลงใหลเกมสยองขวัญอย่าง Resident Evil เป็นที่สุด

คุณปู่ออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นแค่คนที่ชอบเล่นเกมเอามากๆ เพราะทำให้มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และเป้าหมายการเล่นไม่ได้จบลงที่ชัยชนะเท่านั้น แต่อยู่ที่ความสนุกในการบันทึกกลยุทธการเล่นเกม กระทั่งหลานชายเริ่มแชร์คลิปของคุณปู่ในยูทูบเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนี้คุณปู่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคนแล้ว เกมในมุมมองของคุณปู่คือความสุข ไม่ใช่สิ่งผิด ตราบใดที่สามารถบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

สิ่งที่น่ารักคือครอบครัวจะคอยสนับสนุนการเล่นเกมของคุณปู่อยู่เสมอ ลูกหลานภูมิใจในตัวคุณปู่หยางมาก เกมจึงกลายเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวนี้ และพวกลูกหลานยังหวังว่าเมื่อเข้าสู่วัยชรา ตัวเองจะมีหัวใจเบิกบานร่างกายแข็งแรงแบบนี้บ้าง

‘เกม’ มือปราบภาวะซึมเศร้าในช่วงที่ต้องห่างกัน

ความเหงาในช่วงกักตัวกลายเป็นบ่อเกิดอย่างหนึ่งของภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตของทุกเพศทุกวัย เกมจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าทดลองเพื่อช่วยลดปัญหานี้ เพราะนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้ว หลายเกมถูกออกแบบให้ต้องเคลื่อนไหวร่างกายและกระตุ้นความน่าตื่นใจได้อย่างยอดเยี่ยม

มีผลสำรวจว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงวัยในอังกฤษหันมาเล่นเกมในช่วงกักตัว โดยเฉพาะ Animal Crossing เกมจำลองโลกเสมือนจริงให้เป็นสังคมแห่งความสุข ท่ามกลางโลกจริงที่แสนวุ่นวาย แต่สำหรับมือใหม่ว่าเกมอย่าง Super Mario หรือเกมแนวพัซเซิลก็น่าสนใจและไม่ซับซ้อน เพียงแต่ในช่วงแรกอาจต้องพึ่งลูกหลานคอยแนะนำ

ถ้าอยากยืดเส้นยืดสาย เกมแนวออกกำลังกายคือสิ่งที่ไม่ควรพลาด เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะค่อยๆ เสื่อมลง การออกกำลังกายจะช่วยประคับประคองทั้งอวัยวะภายในและภายนอกให้แข็งแรง การขยับตัวบ่อยๆ จะลดการหกล้ม นักกายภาพบำบัดจึงส่งเสริมให้ผู้สูงวัยออกกำลังในพื้นที่จำกัดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและป้องกันอาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกหลานควรจัดพื้นที่ให้ผู้สูงวัยได้ออกกำลังกายในบ้าน เกมออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมคือ Just Dance และเกม Your Shape Fitness Evolved เพราะเล่นได้ทั้งครอบครัว แต่อาจต้องเลือกระดับความยากง่ายเพื่อลดแรงกระเทือนและการทิ้งน้ำหนักระหว่างทำกิจกรรม

นักกายภาพย้ำว่า ผู้สูงวัยควรระมัดระวังกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักเยอะ เพราะอาจทำให้กระดูกและข้อต่อเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว การเต้นแอโรบิกเบาๆ เป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ร่างกายมีแรงมากขึ้น ซึ่งในเกมอย่าง Ring Fit Adventure ก็มีโหมดให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเช่นกัน ทั้งยังสามารถระบุอายุของผู้เล่นได้ เพื่อปรับระดับความยากให้เหมาะกับวัย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนเลือกเล่นเกมที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว

จากการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างและเล่นวิดีโอเกมออกกำลังกายนาน 35 นาที เป็นเวลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์มีอาการซึมเศร้าลดลง นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีนและเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยทำให้อารมณ์ดีและบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ จิตแพทย์ยังแนะนำว่าการเล่นเกมยังช่วยเรื่องการบริหารจัดการความคิด เพิ่มทักษะในการแก้ปัญหา และทำให้มีสมาธิจดจ่อได้ดีขึ้น หากอยากลดความเครียด เกมปริศนาไม่ซับซ้อนสีสันสดใสอย่าง Candy Crush Saga ก็ตอบโจทย์การเล่นเกมสำหรับผู้สูงวัยได้เป็นอย่างดี

สำหรับสูงวัยสายสปอร์ต เกม Wii Sports Resort ก็น่าจะโดนใจได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะตีกอล์ฟ ยิงธนู หรือขี่เจ็ตสกีก็เล่นได้เสมือนจริง เล่นแล้วสนุกสนานผ่อนคลาย แถมดีต่อสุขภาพ

แต่หากใครอยากแนะนำให้ผู้สูงวัยลองเล่นเกมแนวลับสมองเพื่อเสริมทักษะการโฟกัสและจัดระเบียบความคิด เกมอย่าง Brain Age: Concentration Training ในตระกูลนินเทนโด้ หรือเกมที่คุ้นชื่อกันมานานอย่าง Tetris, Bubble Shooter หรือ Scramble Words ก็อาจจะเหมาะ เพราะเป็นเกมที่ถูกออกแบบมาให้เล่นได้ง่าย คนละแบบกับเกมยุคนี้ที่เน้นความซับซ้อนและวางระบบไว้อย่างแยบคาย แต่ก็มีข้อดีคือกลไกของเกมช่วยกระตุ้นสมรรถภาพและประสิทธิภาพของผู้เล่นได้มาก ดังนั้น ถ้าเลือกเกมไหนก็ต้องจับคู่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เล่นต้องการ

e-sports กับผู้สูงวัย อาณาจักรใหม่ในโลกใบเดิม

ถ้าได้ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการเกม สิ่งที่สังเกตเห็นชัดขึ้นคือนักลงทุน e-sports ทั่วโลกต่างพุ่งเป้ามาที่กลุ่มเกมเมอร์สูงวัย

ในเอเชีย ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าสังคมสูงวัยเบอร์หนึ่งอย่างญี่ปุ่นได้เปิดศูนย์ e-sports สำหรับผู้สูงอายุแห่งแรกในเมืองโกเบเมื่อกลางปีที่แล้ว ชื่อว่า ISR e – Sports เน้นรองรับผู้ใช้งานที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สถานที่ถูกจัดให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตร มีเก้าอี้ขนาดใหญ่พิเศษที่สามารถปรับให้เข้ากับสรีระ มีเกมและอุปกรณ์การเล่นครบครัน ตั้งแต่เกมง่ายๆ จนถึงระดับเกมที่ใช้แข่งขัน e-sports ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จะคอยแนะนำและติดตามพัฒนาการการเล่น เพื่อช่วยแก้ปัญหาผู้สูงวัยในแต่ละคน โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000 เยน (ประมาณ 288 บาท) ต่อ 2 ชั่วโมง

ผู้ก่อตั้งศูนย์ ISR e – Sports ตั้งใจสร้างที่นี่เพื่อให้เป็นชุมชนและช่วยลดความโดดเดี่ยวของผู้สูงวัยในสังคม โดยระหว่างเล่นยังมีช่วงพักเบรกจากหน้าจอ ให้เจ้าหน้าที่ล้อมวงคุยกับผู้เล่นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเล่นเกมกัน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐของเมืองโกเบยังร่วมมือกับองค์กรโทรคมนาคมขนาดใหญ่นำ e-sports ไปเผยแพร่ในบ้านพักคนชราในช่วงที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจาก Suwa University of Science ในเมืองนางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้และพบว่า การเล่น e-sports จะกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของเลือดในสมองส่วนหน้า ส่งผลดีต่อการป้องกันภาวะสมองเสื่อม ยิ่งกว่านั้น การเล่นเกมยังช่วยฟื้นฟูความจำในสมองส่วนที่ไม่ค่อยใช้งานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ฟากสมาคมการค้าอุตสาหกรรมวิดีโอเกม (Entertainment Software Association) ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า 22 – 25 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันสูงวัยที่มีอายุระหว่าง 55 – 65 ปี เล่นเกมติดต่อกันมา 25 ปีแล้ว ส่วนสมาคมผู้เกษียณจากงานของอเมริกา (American Association of Retired Persons) ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของผู้เกษียณที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปต่างชื่นชอบการเล่นเกม แถม 43 เปอร์เซ็นต์ของเกมเมอร์อายุ 60 ปี มีกิจวัตรประจำวันคือการเล่นเกม โดยเกมเมอร์สูงวัยกลุ่มนี้มักเลือกเล่นเกมแนววางแผนเพื่อพัฒนาสมองและความจำ รวมถึงเกมที่เล่นเพื่อสานสัมพันธ์กับลูกหลาน

แม้ความดีงามของเกมจะมีหลายข้อ แต่เราควรจำกัดเวลาเล่นไม่เกิน 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ผู้สูงวัย สุขกายสุขใจ เดย์แคร์ภายใต้การดูแลของสถาบันประสาทวิทยาฝากถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “การเริ่มเล่นเกมในผู้สูงวัยนั้นควรมีลูกหลานช่วยสังเกตความสามารถในการรับรู้ เพราะบางคนมีปัญหาเรื่องความจำ การเข้าสังคม หรือการสื่อสาร ถ้าให้เล่นเกมที่ยากเกินไปหรือไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดความเครียด

“ถ้าสังเกตว่าผู้สูงวัยเริ่มดูนิ่งๆ กว่าปกติ หรือปลีกตัวออกไปโดยไม่มีสาเหตุ บางคนออกอาการเบื่อหน่าย ไม่ตื่นเต้นเมื่อได้เล่นเกม หากพบพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ควรบังคับให้เล่นต่อ เพราะถ้าเครียดมากๆ อาจทำให้มีพฤติกรรมรุนแรง อารมณ์ไม่คงที่

“ที่สำคัญ ควรพักการเล่นเป็นระยะเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงสีฟ้าของจอคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ปวดกระบอกตาและปวดหัวได้ ผู้สูงวัยบางคนเล่นแล้วสนุก บางคนอยากสู้เพื่อให้ชนะ ในขณะที่บางคนอาจเครียดเกินไป คนในครอบครัวจึงต้องช่วยประเมินและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเกมต้องไม่กลายเป็นภาระของผู้สูงวัย”

จากที่เคยถูกมองในแง่ลบ มาถึงทุกวันนี้ เกมได้กลายเป็นความสุขของคนทั่วโลกจำนวนไม่น้อย และในจำนวนนั้นส่วนหนึ่งก็คือคนสูงวัยที่ใช้เกมเป็นเครื่องมือในการสร้างสีสันให้กับชีวิต

ในยุคที่เส้นแบ่งหลายอย่างพร่าเลือน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องวัย การเปิดใจ เรียนรู้ และรับสิ่งใหม่ๆ อย่างการเล่นเกมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญสำคัญที่นำมาซึ่งความหมายใหม่ๆ ในโลกใบเดิม

ขอบคุณภาพจาก Shirley Curry, Gamer Grandma

ข้อมูลอ้างอิง

www.asahi.com
www.ageinplace.org
www.nbcnews.com
kotaku.com
www.theguardian.com
silversnipers.com
www.gamingdose.com
www.quora.com
www.youtube.com
interestingengineering.com

Credits

Author

  • สุธิดา บุบผากลิ่น

    Authorนักเขียน ยืนหนึ่งเรื่องเขียนงานช้า เพราะมัวกินราเมงและเดินป่า หลงรักการฝึกหายใจ สูดกลิ่นชา โยคะ และบำบัด ฟังเหมือนชีวิตแสนเก๋ แต่เปล่าค่ะ ฉันเป็นออฟฟิศซินโดรม

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ