‘โรคซึมเศร้า’ โรคที่พบมากสุดในคน GenY แต่รู้หรือไม่ว่าผู้ป่วยด้วยโรคนี้เป็นอันดับสองรองลงมาคือคน GenX ช่วง วัยที่ต้องแบกรับภาระรอบด้าน ลูกก็ต้องดูแล พ่อแม่ก็เริ่มแก่เฒ่า หน้าที่การงานที่เติบโตก็มาพร้อมกับความเครียด จนบางครั้งความผิดหวัง การเปลี่ยนแปลงที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว ก็ลากพาชีวิตตกลงสู่ก้นเหวแห่งความโศกเศร้า หมดพลังเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อจนกลายเป็นเหยื่อของโรคซึมเศร้า
“มนุษย์ต่างวัย” ชวนมาทำความรู้จัก “โรคซึมเศร้า” ของคน Gen X ผ่านประสบการณ์ของอดีตโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศและช่วยไขข้อข้องใจและหาทางออกโดยจิตแพทย์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้คน Gen X หาวิธีการรับมือและเยียวยาตนเองในวันที่โดนโรคซึมเศร้าเข้าจู่โจม
อดีตครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าถึง 2 ครั้งในชีวิต
เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน ต่างคนต่างก็มีภาระหน้าที่ต้องแบกรับอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคน Gen X ที่บางคนอยู่ในฐานะแซนวิชเจนเนอเรชั่น ต้องรับหน้าที่ดูและทั้งลูก ขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ในฐานะลูกที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่กำลังแก่ชราการงานในหน้าที่เติบโตก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบและความคาดหวัง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแรงกดดันที่นำพาชีวิตไปเผชิญกับความเครียด เรื่องราวของ แมว–วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม อดีตครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ชื่อดังหลายรายการ ทั้งเจาะใจ สุริวิภา ฯลฯ ก็ไม่แตกต่างกันจนทำให้เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงที่ชีวิตวางการทำงานไว้เป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกและความสำเร็จก็คือเป้าหมายสูงสุด แต่ชีวิตก็ต้องมาถึงจุดพลิกผันเมื่อคุณพ่อของเธอเกิดอุบัติเหตุกะทันหันเส้นเลือดในสมองแตก “แมว” ต้องรับภาระหนักอึ้งทั้งดูแลพ่อ และรับผิดชอบงานในหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน
“เราโทษตัวเองที่ไม่อยู่บ้านในวันนั้น รู้สึกว่าทำงานมากเกินไปจนไม่ได้ให้เวลากับสิ่งอื่น ความรู้สึกผิดเกาะกุมจิตใจ ยิ่งเมื่อรู้ว่าพ่อเส้นเลือดในสมองแตกเนื่องจากมีความเครียดเรื่องหนี้สินที่ไม่เคยเปิดเผยกับครอบครัว ก็ยิ่งเครียดหนัก เพราะหนี้สินทั้งหมดต้องตกอยู่ในความรับผิดชอบของเรา ตอนนั้นวิตกกังวลมากทั้งเรื่องอาการของพ่อว่าจะเป็นอย่างไร ยังมีเรื่องหนี้สินและค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว สุดท้ายพ่อกลายเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
“สมองเราสะสมความเครียดจนเข้ามากัดกร่อนทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน จนขณะนั่งอยู่ มีความรู้สึกเหมือนเป็นบ้า ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ถึงขนาดไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เรียกว่าขาดสติก็ได้ ต้องหันไปหาเพื่อนร่วมงานบอกว่าช่วยทำให้หัวเราะที เพื่อนถามว่าเป็นอะไร เราบอกว่าไม่ไหวแล้ว เพื่อนจึงชวนให้เราคิดถึงเรื่องที่มีความสุข จึงมีสติกลับมาได้อีกครั้ง ตั้งแต่วันนั้นเริ่มรู้ตัวแล้วว่าไม่ใช่เพียงความเครียดธรรมดา จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลทันที หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า”
หลังเข้ารับการรักษา อาการของแมวดีขึ้น แต่ไม่นาน โรคซึมเศร้าก็ย้อนกลับมาหาแมวอีกครั้ง ทั้งหมดเกิดจากความเครียดที่เธอต้องรับผิดชอบภาระงานชิ้นใหญ่ที่มาพร้อมกับแรงกดดันมหาศาล กลายเป็นภาวะเครียดเรื้อรัง เธอกลุ้มใจจนคิดเรื่องความตายซ้ำๆ นำมาสู่อาการนอนไม่หลับ ทั้งหมดส่งผลต่อปัญหาร่างกายอย่างหนัก ขนาดที่หลังเลิกงานแมวต้องเข้าห้องน้ำเพื่ออาเจียน เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดอีกช่วงหนึ่งสำหรับคน Gen X อย่างเธอ
Gen X ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเป็นอันดับ 2 รองจาก Gen Y
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสำรวจในปี พ.ศ. 2560 ว่าคน GenX ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 26.25 จากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วประเทศไทย เป็นอันดับ 2 รองจากคน Gen Y
“โรคซึมเศร้า เกิดได้ในทุกช่วงวัย ซึ่งแต่ละช่วงอายุมีปัจจัยแตกต่างกันออกไป อย่างปัจจัยภายนอก ในวัยเด็กอาจมีการปรับตัวที่รวดเร็วเข้ากับสังคมง่าย แต่เมื่อเข้าสู่วัยเรียนและเริ่มต้นทำงานเริ่มมีภาระเพิ่มขึ้นความเครียดก็ค่อยๆ เกิดขึ้น จนถึงวัยผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งเรื่องงาน เรื่องครอบครัว ฯลฯ จึงมีความคาดหวังที่อยากทำให้ได้ทั้งหมด ประกอบกับบุคลิกภาพเดิมของบุคคลเป็นสิ่งกระตุ้น เช่น เป็นคนจริงจัง คาดหวังในตัวเองสูง” รศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงที่มาของโรคซึมเศร้าในคน Gen X
“สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่มาของโรคซึมเศร้าในคน Gen X ก็คือการพบ ‘ ความเปลี่ยนแปลง ’ ในชีวิตอย่างกะทันหัน เช่น ความสูญเสีย การต้องล้มเลิกสิ่งที่ทำมาทั้งชีวิต สิ่งที่ทำไม่ได้ผลลัพธ์ดั่งใจหวัง ภาวะเหล่านี้จึงไม่ต่างจากจุดสะดุดทำให้ล้มลงสู่ห้วงเหวลึกของความเศร้า
“เมื่อชีวิตถึงจุดเปลี่ยนหรือจุดสะดุด ต้องยอมรับว่าชีวิตย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่อยากมีชีวิตราบเรียบ มั่นคง
“กระบวนการแก้ไขปัญหา อาจไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำเพียงคนเดียว การรับมือจึงต้องเริ่มจากการคัดแยกปัญหา และยอมรับว่า ปัญหามีทั้งแบบที่แก้ได้และแก้ไม่ได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ เช่น คนอื่นพูดไม่ดีกับเรา เราอาจจะแก้ไขไม่ได้ แต่เราสามารถแก้ที่ใจของเราได้ โดยดูว่าจะแก้ไขอย่างไรเมื่อเราได้รับผลกระทบนั้น ต่อมาคือ การจัดการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างพอเหมาะพอดี สุดท้าย คือ ยอมรับว่าสิ่งใดคือปัญหา แล้ววางแผนแก้ปัญหาทีละเรื่องด้วยสติ”
รู้เท่าทันผู้พิพากษาในหัวใจ
“ในวันที่พ่อกลายเป็นอัมพฤกษ์ เราก็ต้องหาทางรักษาพ่อ หนี้ก็ต้องจัดการ ตอนนั้นความเครียดสะสมเป็นทวีคูณ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ตัวแก้ปัญหาไปแบบวันต่อวัน แต่โชคดีที่ตอนนั้นไม่คิดสั้น ความคาดหวังว่าต้องรักษาพ่อให้ดีขึ้นมันอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ส่วนงานแม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ไหวแต่ก็ทิ้งไปไม่ได้เพราะเราต้องรับผิดชอบ ตอนนั้นเราก็คิดเหมือนกันว่า เราทำได้ไม่ดีพอหรือเปล่า” แมวเล่าถึงประสบการณ์ที่เธอต้องเผชิญในขณะนั้น
“การรู้เท่าทันผู้พิพากษาในใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ” หมอภาควิชาจิตเวชศาสตร์ อธิบายถึงความหมายของผู้พิพากษาในหัวใจ
“การตัดสินตนเองเป็นเรื่องที่มีตามธรรมชาติ เพราะเราเรียนรู้การตัดสินตั้งแต่เด็ก ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี แต่เมื่อเราบังคับควบคุม หรือตีกรอบอะไรมากเกินไป แต่สิ่งนั้นไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง แล้วเราไปตัดสินว่าเราคือคนที่ผิดเสมอ เราอาจต้องเปลี่ยนความคิด ต้องถามตัวเองดูว่าการตัดสินตัวเองแบบนั้นมันยุติธรรมหรือไม่ เพราะการพิพากษาตัวเองอาจไปทำร้ายจิตใจตนเองให้เศร้าเสียใจมากยิ่งขึ้น
“ความเมตตาต่อตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ การฝึกรักตัวเอง เมตตาตัวเองบ้าง ถ้าทำทุกสิ่งอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปดังที่เราคาด เราต้องยอมรับและไม่ตำหนิตนเอง ต้องมีสติรู้เท่าทันจิตใจ รู้ทันผู้พิพากษาในใจของเรา และต้องรู้จักเมตตาตนเอง”
เช่นเดียวกับแมวที่เธอเห็นว่า “เราทำรายการทีวีเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามาค่อนชีวิต หลายรายการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้ผู้ชม ก็มาย้อนคิดว่าเราเองก็ควรนำสิ่งเหล่านี้ มาปรับใช้ในชีวิตเช่นกัน เหมือนอยู่บนเครื่องบิน นักบินประกาศว่าถ้าจะสวมออกซิเจน ให้สวมให้ตัวเองก่อนจึงจะสวมให้เด็ก เหมือนกันคือก่อนที่เราจะรักเมตตาใครได้ เราต้องเมตตาตัวเองก่อนเสมอ”
กัลยาณมิตร ที่ดี ช่วยเยียวยาใจ เยียวยาโรค
แมวเล่าว่านอกจากการรับประทานยาเพื่อรักษาอาการแล้ว อีกวิธีคือใช้เวลาอยู่กับคนรอบข้างให้มากขึ้น
“เราไม่ปิดบังว่าเราป่วย ส่วนหนึ่งเราดีขึ้นมาได้ เพราะได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะเวลาที่เราจมอยู่กับความทุกข์ ถ้าไม่มีคนมาเตือน มาบอก ใจอาจจะลอยไปตามกระแสความทุกข์ โชคดีของเราที่อยู่กับคนรอบข้าง ถ้าเราอยู่คนเดียวเราอาจคิดทำอะไรอย่างอื่นไปแล้ว ชั่วขณะที่ขาดสติเพียงนิดเดียวอาจพาชีวิตเราไปอีกทางหนึ่งได้
“เราตั้งใจจะ เขียนขอบคุณตัวเองกับสิ่งรอบๆ ตัวให้ได้อย่างน้อย 3 สิ่งต่อวัน ซึ่งเรารู้ว่าทำคนเดียวทุกวันไม่ได้แน่ เพราะเวลาทำคนเดียวบางทีพลังในการตั้งใจไม่พอ แต่เมื่อมีเพื่อนช่วยกันจะสำเร็จได้ง่ายขึ้น จึงชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันทำ ทุกคนร่วมแชร์คำขอบคุณให้กันและกัน จากเป้าหมายเริ่มต้น 21 วัน จนกลายเป็น 100 วัน เมื่อจบเราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใจชีวิตของเรา ว่าเราสามารถมองเห็นข้อดีของสิ่งต่างๆ รวมทั้งตัวเองได้มากขึ้น”
“เพื่อนอีกคนที่สำคัญก็คือตัวเราเอง ลองสังเกตุหัวใจของเรา เขาไม่เคยหยุดพักและอยู่เคียงข้างเราตลอดเวลา แล้วทำไมเราถึงไม่รักตัวเอง เมื่อเราเห็นคุณค่าของร่างกายและชีวิตตนเอง ก็จะนำไปสู่ความคิดอยากออกกำลังกาย ดูแลร่างกายของเราให้ดี ไม่คิดทำร้ายตัวเอง”
“เราเติมความสุขให้ตัวเองด้วยคำว่า ขอบคุณ เราขอบคุณลำไส้ที่ทำงานอย่างดีเสมอมา ขอบคุณฝนตกที่ทำให้เราได้มีโอกาสเห็นต้นไม้สวยๆ เราทำแบบนี้ทุกวัน จนวันหนึ่งเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เรารู้ว่าพลังของการขอบคุณยิ่งใหญ่จริงๆ“
หาความสุขจากความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวัน
หลังจากเผชิญกับโรคซึมเศร้าถึง 2 ครั้ง สุดท้าย “แมว” ก็เจอตัวช่วยสำคัญของชีวิตนั่นก็คือการปลูกแคสตัส ความรู้สึกของเธอเหมือนพบเจอความสุขที่หายไป การเฝ้าดูแลให้ความสำคัญกับต้นแคสตัสตั้งแต่เช้า-เย็น ตกดึกก็หาข้อมูลแคสตัสมาอ่าน คือความบ้าคลั่งที่ทำให้ชีวิตเธอมีความสุข ช่วยให้จิตใจที่กำลังสับสน เศร้าหายไป เพราะจิตใจโฟกัสไปที่การปลูกแคสตัส
“ทุกๆ เช้า ปลูกเปลี่ยนกระถาง ได้ทำอะไรใหม่ๆ พอเราเจอแคสตัส กลายเป็นว่าความสุขเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นงานอดิเรก พร้อมกับเยียวยาหัวใจให้คลายออกจากโรคซึมเศร้าอีกครั้ง”
คุณหมอดาวชมพูให้ความเห็นว่า การที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบ อย่างน้อยเป็นการตัดสวิทช์จากสิ่งที่ไม่ชอบออกไป ตัดความคิดเรื่องทุกข์ สามารถเติมพลังในแง่บวกมากขึ้น มีพลังมากขึ้นก็ส่งผลให้จิตมีพลังมากตามไปด้วย เมื่อจิตดีก็สามารถเห็นปัญหาต่างๆ ได้ชัดขึ้นและสามารถคลี่คลายได้ด้วยตนเองจากสิ่งที่ทำ
“หากผู้ป่วยอยากทำกิจกรรมอะไรลองให้เขาทำดู อย่าไปชี้นำ เปิดช่องทางให้เขาได้ตัดสินใจด้วยตนเอง”
นอกจากนี้การปลูกแคสตัสแล้วได้เห็นต้นแคสตัสเติบโตขึ้นก็เป็นเหมือนการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยในใจของเธอ ซึ่งความสุขเล็กๆ แม้จะเล็กน้อยแต่ก็มีพลังมากพอที่จะงอกงามในใจและพาเธอออกจากโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด