“เรา (ต่าง) เหมือนกัน” ครั้งที่ 8 Mission สำหรับคนต่างเจนฯ ก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งแห่งช่วงวัยด้วย “หัวใจ” ที่เปิดรับ

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราเอาคนจาก 4 เจเนอเรชันมาใช้เวลาด้วยกัน 2 วัน 1 คืน

“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” เวิร์กช็อปสุดพิเศษที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงครั้งที่ 8 นี้ได้รวมคนต่างเจนฯ ตั้งแต่วัยนักศึกษา, First Jobber, คู่สามี-ภรรยา, คู่แม่-ลูก, ผู้บริหารไปจนถึงคนวัยเกษียณมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยทำความเข้าใจถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่นโดยไม่นำความต่างระหว่างวัยมาเป็นตัวกำหนด

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้เรียนรู้ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนรอบข้างด้วย ‘การรับฟังโดยไม่ตัดสิน’ และได้ใช้เวลาในการทบทวน ทำความรู้จักกับตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเองอย่างเท่าทัน เมื่อเรากลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่ต้องเจอผู้คน เจอสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งในบ้าน หรือที่ทำงาน เราจะสามารถนำเครื่องมือที่ได้จากเวิร์กช็อปครั้งนี้ไปปรับใช้ในการสื่อสาร แสดงอารมณ์และคำพูดกับผู้อื่นออกไปได้อย่างเหมาะสม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทีมงานมนุษย์ต่างวัยขอขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านที่ได้มาใช้เวลาดี ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ แบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ร่วมกัน หวังว่าผู้เข้าร่วมทุกท่านจะได้ประโยชน์จากกิจกรรมนี้และสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ไร้เส้นแบ่งของวัยไปด้วยกัน

หากเพื่อน ๆ คนไหนสนใจและอยากมาสัมผัสกับบรรยากาศสนุก ๆ แบบนี้ สามารถติดตามข้อมูลการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปได้ทางเพจมนุษย์ต่างวัย ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่เตรียมไว้ให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน รอติดตามกันนะครับ

สุรพัศ สุขโชติ (มิว) อายุ 24 ปี

“มิวมาจากมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม เราจะทำงานเกี่ยวกับเรื่องเด็กและเยาวชน อย่างเวิร์กช็อปวันนี้ก็สามารถนำไปเชื่อมโยงกับงานที่มิวทำได้ อย่างเวลาเราลงชุมชนก็จะได้เจอกับคนหลายวัย ทั้งเด็ก เยาวชนและพี่เลี้ยง บางทีก็จะเกิดความไม่เข้าใจกันบางอย่าง ความคิด-ความเชื่อ บริบทบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน

“วันนี้รู้สึกดีที่ได้มาเห็นมุมมองความคิดของคนอื่นบ้างทำให้เราเห็นไอเดีย เห็นความเป็นไปได้บางอย่างที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องของการฟังด้วยใจและพยายามมองให้เห็นถึงความต้องการของคนที่เราทำงานด้วย รวมถึงตัวเราเอง เราเคยแต่ใช้เหตุและผลในการแก้ปัญหา แต่เราไม่เคยมองเห็นความรู้สึกที่มันเป็นแก่นในการประกอบสร้างตัวตนของคน ๆ หนึ่งขึ้นมา”

วสุ มาดิลกโกวิท (บุ๋ม) อายุ 46 ปี

“บางทีเราก็ไม่เข้าใจความคิดของคนแต่ละวัย ว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ อย่างเราเติบโตมาในค่านิยมเรื่องการทำงานแบบที่ไม่สามารถปฏิเสธงานได้ ทำงานหนัก เจ้านายใช้อะไรเราก็ทำ แต่พอวันหนึ่งเรามีเพื่อนร่วมงานที่เป็นรุ่นน้อง บางทีเราก็สงสัยว่าเวลาสั่งอะไรแล้วเขาปฏิเสธ เขามีคำถามเลยไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับเขายังไง

“ที่มาเวิร์กช็อปนี้ก็ต้องการจะมาหาคำตอบว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ พอเราไม่เข้าใจบางทีมันก็เกิดความขัดแย้งกัน พอได้มาวันนี้ก็ได้รู้ว่าเราควรมองที่จุดไหน เราควรทำความเข้าใจในจุดไหนของเขา ทำยังไงให้เราสามารถสื่อสารกับเขาได้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งเราจะเอาไปปรับใช้กับความสัมพันธ์อื่น ๆ ของเราต่อไปได้”

ธรรมชาติ เมธีดุลสถิตย์ (ต้นไม้) อายุ 23 ปี

“ส่วนตัวเป็นคนที่ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่แล้ว อยากรู้ว่าเป้าหมายหรือความเป็นตัวตนของเรามันเป็นยังไงกันแน่ แล้วก็อยากเข้าใจคนที่บ้านมากขึ้น

“ชอบกิจกรรมที่พาไปรู้จักกับความรู้สึกว่ามีความรู้สึกหลายแบบ บางครั้งเด็กวัยรุ่นจะไม่ค่อยได้ศึกษาตัวเองมากพอ หรือโฟกัสกับสิ่งรอบตัวมากเกินไป อย่างที่เราคิดว่าตัวเองกลัว มันอาจจะเป็นความรู้สึกแบบอื่นที่ใกล้เคียงกันก็ได้ ทำให้ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

“มองว่าเรื่องความต่างระหว่างเจนฯ มีอยู่จริง อายุที่ต่างกัน ประสบการณ์อาจต่างกัน แต่สุดท้ายเราก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน มีเรื่องที่คิดมาก มีเรื่องที่สนุกตามอารมณ์ที่มนุษย์จะมีได้ สุดท้ายเราก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน เพราะฉะนั้นทุกวัยก็สามารถสื่อสารและเข้าใจกันและกันได้”

สุดี นามลิ้มเหมนที (หมวย) อายุ 62 ปี 

“ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้มาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แม่เป็นแม่บ้านมาทั้งชีวิต วันนี้ได้มาเจอคนหลากหลายที่มีความคิดแตกต่างกันไป มันดีที่เราได้คุยกัน มีจุดที่เราจะลงตัวกันได้ สิ่งที่เราอึดอัดในใจบางทีเราบอกคนในครอบครัวเราไม่ได้ แต่วันนี้เราได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่มาร่วมกิจกรรม ได้ระบายมันออกมา รู้สึกว่าสบายใจมากขึ้น หลายคนเป็นผู้รับฟังที่ดีและให้กำลังใจกับคนที่กำลังท้อแท้”

รัญญา จิระกิตติดุลย์ (ดรีม) อายุ 30 ปี

“ด้วยความที่แม่กับเราอายุห่างกันมาก บางครั้งเวลาพูดคุยกันก็มีความหงุดหงิดใส่กัน เราก็ลองสมัครกันมาคิดว่าทั้งเราและแม่น่าจะกล้าพูดอะไรกันมากขึ้น วันนี้เราก็ได้คำแนะนำในมุมที่เราอาจจะคิดไม่ถึงจากคนที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกับคนที่บ้านเรา บางจุดที่เราไม่เคยนึกมาก่อน เพราะเราอยู่กันจนชินจนมองข้ามปัญหาเหล่านั้นไป วันนี้ก็ทำให้เราได้กลับมาฉุกคิดมากขึ้น คนข้างนอกกลายเป็นคนเตือนเรา เป็นกระจกสะท้อนให้เราได้เข้าใจสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับตัวเองมากขึ้น

“สำหรับตัวเราเองก็ได้เข้าใจความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นกับตัวเองกับคนในครอบครัว รวมไปถึงคนที่ทำงานด้วย บางคำแนะนำจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มีประสบการณ์ต่างจากเราก็ทำให้เราได้ฉุกคิดและลองเอาคำแนะนำนั้นไปใช้ดู หรืออย่างเครื่องมือที่ได้ในเวิร์กช็อปนี้ก็ช่วยให้เราได้ตกตะกอนความคิดกับตัวเองมาก ๆ ว่าปัญหามันคืออะไร เพื่อที่เราจะได้รู้สาเหตุและแก้ไขให้มันตรงจุดมากขึ้น”

ยุซมีรา ลาเต๊ะ (ยูมิ) อายุ 20 ปี

“หนูมาจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันนี้อยากมาเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับคนต่างวัย ตอนแรกหนูกังวลใจมาก หนูไม่เคยมาเข้ากิจกรรมแบบนี้เลย แต่พอได้สัมผัสกับคนต่างวัยจริง ๆ มันดีมาก ๆ เราได้เล่าความรู้สึกของตัวเองกับคนที่เราไม่รู้จัก มันดีกว่าเล่าให้กับคนที่เรารู้จักฟังอีก

“เราแค่รับฟังแบบไม่ตัดสิน ถ้าเขาอยากได้คำแนะนำ เราก็ให้คำแนะนำเขา ให้เขาได้มีกำลังใจออกไปใช้ชีวิต”

กฤษฎี ตั้งจิตถนอมสิน (หลิว) อายุ 61 ปี

“ก่อนมาเข้าร่วมกิจกรรมมีความคิดว่า เราจะเข้าใจคนที่ต่างวัยกันได้ยังไง ถ้าเรามีประสบการณ์ที่ตกผลึกไปแล้ว เราจะปรับตัวได้หรือเปล่า แต่พอหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็ทำให้เข้าใจว่ามันไม่เกี่ยวกับเจนฯ นะ มันเกี่ยวกับวิธีที่เราจะทำความเข้าใจความต้องการของเรา และเราจะสามารถรับรู้ อ่านความรู้สึก ตีความความต้องการนั้น ๆ ได้หรือไม่ แล้วถึงจะเลือกวิธีที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาได้ยังไง

“จริง ๆ เรื่องพวกนี้มันวนเวียนอยู่กับชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงาน หรือชีวิตครอบครัว แต่เราไม่รู้หลักการที่มันถูกต้อง เราเลยจะฟุ้ง จับจุดไม่ได้ โฟกัสได้ไม่ตรงจุด เราเลยแก้ปัญหาไม่ได้ หรือบางครั้งกลับกลายเป็นสร้างปัญหาขึ้นมาซะอีก

“ทักษะที่ผมไม่ค่อยมีคือการรับฟัง เคยเป็นแต่คนสั่ง เซนเซอร์ในการรับรู้เราน้อยมาก วันนี้เรารู้แล้วเราก็เปิดทุกสัมผัสให้มากขึ้น เมื่อก่อนไม่รู้ว่าเราไม่มีทักษะนี้และคิดว่ามันไม่จำเป็นด้วย แต่ตอนนี้เรารู้ว่าเราต้องฝึก แม้ว่าเราจะอายุเยอะแล้วก็ตาม”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ