เมื่อพ่อแม่ยิ่ง ‘แก่’ ยิ่ง ‘ดื้อ’ ทำอย่างไรดี

“บอกห้ามกินของมันๆ ก็จะกิน”

“แต่พอ จะให้กินยาบอกเดี๋ยวก่อน”

“อยากให้นั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำงานเพราะกลัวจะหกล้ม ก็แอบลุกมากวาดบ้านแถมยังปีนขึ้นไปตัดต้นไม้อีก”

“พอเราห่วงอยากให้อยู่บ้านเพราะกลัวจะติดโควิดแต่ก็แอบหนีไปตลาดแถมหน้ากากก็ไม่ใส่”

ลูกคนไหนเคยเจอประสบการณ์แบบนี้บ้าง จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมความหวังดีของลูกกลับเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ยอมทำตาม ซ้ำร้ายกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม พอลูกทักท้วงบ่อยๆ เข้าก็เริ่มมีปากเสียง ไม่ก็นิ่งเงียบใส่กัน จนความสัมพันธ์ระหว่าง เรา และ บุพการีที่รักเริ่มห่างเหิน

จริงๆ แล้วพ่อแม่ยิ่งแก่ยิ่งดื้อจริงหรือไม่ หรือ ว่าลูกชอบบังคับและขาดความเข้าใจถึงความรู้สึกของพ่อแม่ในวัยเกษียณ มนุษย์ต่างวัย ร่วมพูดคุยกับ ศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์ อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและการดูแลผู้สูงวัยมาร่วมให้คำตอบและหาทางออกว่าจริงๆ แล้วใครกันแน่ที่ดื้อ “เรา” หรือ “พ่อแม่”

ยิ่ง ‘แก่’ ยิ่ง ‘ดื้อ’ จริงหรือ

“เป็นความจริงว่าพ่อแม่หลายคนยิ่งอายุมากขึ้นจะมีอาการดื้อตามมา เมื่อลูกหรือคนในครอบครัวที่มีอายุและประสบการณ์น้อยกว่าเข้ามาว่ากล่าว ตักเตือนหรือห้ามปราม หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจหรือไปขัดใจคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้สูงวัยในบ้านก็จะมีอารมณ์ฉุนเฉียว ไม่พอใจ บางครอบครัวพ่อแม่ถึงกลับทำในทางตรงกันข้ามไปอย่างสิ้นเชิง”

ความดื้อเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติที่พบได้ในมนุษย์ทั่วไป มีในทุกช่วงวัย แต่การแสดงออกชัดเจนที่สุด คือวัยเด็กและในวัยที่มี อายุ 60 ปี ขึ้นไป โดยทั้ง 2 วัยมีสาเหตุของความดื้อที่แตกต่างกัน ในวัยเด็กสาเหตุของความดื้อมาจากสมองกระตุ้นให้ร่างกายอยากออกสำรวจสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่ยังไม่เคยสัมผัส อยากรู้จักและอยากลองตื่นเต้นกับทุกสิ่งที่เข้ามา ส่วนในวัยใกล้สูงอายุนั้นกลับตาลปัตร เนื่องจากไม่ใช่วัยที่ต้องการสำรวจสิ่งต่างๆ อีกต่อไป แต่เป็นเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เคยชอบทำอย่างไร เวลาผ่านไปก็ยังทำเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

“ในเชิงการพัฒนาการของผู้สูงวัย เมื่อร่างกายและสภาพจิตใจเข้าสู่วัยสูงอายุสิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ การพูด หรือการแบ่งปันประสบการณ์ที่ตัวเองประสบมาในอดีต และเมื่อมีผู้รับฟังคล้อยตามหรือเชื่อฟัง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองมี ‘ คุณค่า ’ เป็นส่วนหนึ่งที่ยังสำคัญในครอบครัว สามารถทำอะไรต่างๆ ด้วยตนเองและเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ หากมีใครไปทักท้วง ก็เหมือนไปขัดขวางความรู้สึกเรื่องคุณค่าในตัวผู้สูงอายุเอง”

“ในอดีตเขาอาจเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายในบ้าน แต่เมื่ออายุมากขึ้นสวนทางกับสมรรถภาพทางร่างกายที่โรยลา ทำให้ลูกหรือผู้มีอายุน้อยกว่าในครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจแทน ทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าความเชื่อมั่นและคุณค่าในตัวเองกำลังถูกท้าทาย ความมั่นคงที่มีรากฐานจากประสบการณ์ที่สะสมมาตามอายุกำลังถูกสั่นคลอนด้วยคำพูดจากลูกหลาน”

ในต่างประเทศ มีการทำแบบสำรวจถามคนในวัยใกล้สูงอายุว่า ‘ คิดว่าตนเองดื้อหรือไม่ ’ ผลปรากฏว่า มีคำตอบที่บอกว่า ตนเองดื้อเพียงร้อยละ 60 แต่หากไปถามคนในครอบครัวที่อายุน้อยกว่า เช่น ลูกหลานหรือผู้ดูแลพบว่า ร้อยละ 77 บอกว่าดื้อ หมายความว่าในบางรายความดื้อและความรู้สึกดังกล่าวจะเข้ามาโดยไม่รู้ตัว

“ผู้ใหญ่บางคนอาจจะมีความดื้อน้อย เนื่องจากการเติบโตและประสบการณ์ส่วนตัวสอนให้เขาเป็นคนที่ใจเย็น มั่นคงรับฟังคำอธิบายเสมอ แม้ว่าบางทีอาจมีผิดใจบ้างแต่ท่านต้องการเพียงคำอธิบายเพื่อตัดสินใจ กลับกันในกรณีผู้ที่เติบโตมาแบบไม่มีความมั่นใจในเรื่องต่างๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีความเป็นผู้สูงวัยที่คิดมาก กลัวไม่มีคนรัก และหวาดระแวงน้อยใจโดยง่าย ลักษณะนิสัยแบบนี้จะดื้อมากเป็นพิเศษ”

อาจารย์อรัญญายังเสริมต่ออีกว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกเองส่งผลต่อความดื้อมากกว่าพันธุกรรม ครอบครัวเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทำให้ดื้อน้อยลงหรือมีส่วนทำให้ผู้สูงอายุยืนหยัดในความดื้อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่รู้ใจกันและมีการสื่อสารระหว่างกันน้อย ดังนั้นแล้วครอบครัวเป็นปัจจัยเล็กๆ แต่มีความสำคัญสูงสุดต่อสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในบ้าน

‘ดื้อ’ จน ‘ทะเลาะ’ กัน ควรรับมืออย่างไร

เมื่อผู้สูงวัยถูกมองว่า “ดื้อ” ในขณะที่ลูกหลานก็ถูกมองว่าชอบบังคับ ออกคำสั่ง และไม่เคารพยำเกรงเหมือนสมัยก่อน ‘ ความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างผู้สูงวัยกับลูกๆ หลานๆ ’ จึงเกิดขึ้น และบางครั้งก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้

สำหรับผู้สูงวัยการทะเลาะกับคนนอกครอบครัวอาจจะไม่สร้างปัญหา เพราะพวกเขาสามารถใช้ชีวิตออกห่างจากคู่กรณีได้ แต่เมื่อมีข้อขัดแย้งกับลูกหลานและคนในครอบครัวอันนี้เป็นสิ่งที่คนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากความขัดแย้งอาจส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของผู้สูงวัย อาจารย์อรัญญาจึงมีข้อแนะนำสำหรับการหาทางออกจากความขัดแย้ง ไว้ 3 วิธี

หนึ่ง “สงบศึก” อาจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอยออกจากสภาวะดังกล่าวก่อน หากผู้สูงอายุไม่ถอย ลูกหลานก็ต้องถอยออกมาตั้งหลักสักก้าวหนึ่ง ควรให้ความเคารพต่อท่าน เพราะอย่างน้อยท่านก็อาวุโสกว่าเรา เมื่อออกห่างกันแล้วก็มาคิดทบทวนว่าเหตุที่ทำให้ขัดแย้งกันคืออะไร การแก้ไขจะทำอย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปจึงเข้าไปปรับความเข้าใจระหว่างกัน

สองคือการเอ่ยคำว่า ‘ ขอโทษ ’ เมื่อเกิดการผิดใจระหว่างกัน อาจจะยังไม่จำเป็นต้องอธิบาย เพราะหากอธิบายในภาวะที่ต่างคนต่างมีอารมณ์ น้ำเสียงที่รุนแรงยิ่งก่อให้เกิดความบาดหมางระหว่างกันได้ เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวขอโทษก่อนก็จะช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายลงมา แล้วจึงค่อยหาทางปรับความเข้าใจกันร่วมกัน

สุดท้ายคือการ รู้ใจและรู้จังหวะการเข้าไปอธิบายกับผู้สูงอายุ วิธีการนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดแรงปะทะจากความขัดแย้งได้ เช่น แทนที่จะออกคำสั่ง เปลี่ยนเป็นการให้ชะลอหรือให้ทำสิ่งนั้นน้อยลงตามลำดับจนสุดท้ายผู้สูงวัยก็จะหยุดและเลิกไปโดยสิ้นเชิง การทำเช่นนี้สามารถลดความกดดันในตัวผู้สูงอายุและขณะเดียวกันก็ตอบสนองสิ่งที่ลูกหลานทักท้วงตักเตือน หรืออาจให้คนในบ้านที่ผู้สูงอายุสนิทสนมเป็นคนพูดคุยด้วยจะช่วยให้การอธิบายทำความเข้าใจระหว่างกันง่ายยิ่งขึ้น

“ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร อายุระหว่างพ่อแม่กับเรานั้นเท่าเดิมเสมอ อย่าไปบังคับฝืนใจให้ท่านเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะจะเกิดการทะเลาะกันแน่นอน ยิ่งจะทำให้เหนื่อยทั้งกายและปวดทั้งใจ ให้ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตท่านอย่างเนียนๆ วันหนึ่งที่พ่อแม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราบอก ท่านจะลงมือทำเอง วิธีการแบบนี้ไม่มีใครแพ้และไม่มีใครชนะ”

“ในเชิงจิตวิทยาทางออกของการทะเลาะกันภายในครอบครัว แก้ได้ด้วยการกำกับอารมณ์เป็นหลัก ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มต้นฝึกสำหรับคนทุกวัย”

“บางคนพอเจอเรื่องที่ทำให้ขัดแย้งกัน ก็มักเก็บเรื่องขุ่นมัวเอาไว้ในใจ บางครอบครัวถึงขนาดไม่มีใครหยิบปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาพูดอีก การเก็บความรู้สึกแบบนี้ไว้ ไม่ อาจจะหยุดการทะเลาะ และ ความไม่เข้าใจกันได้จริง ในทางกลับกัน กลับสร้างภูเขาไฟไว้ในอก ยิ่งเข้าไปสะสมในหัวใจมากขึ้น เมื่อมีเรื่องคล้ายเดิมเข้ามาสะกิดอาจจะระเบิด ทำให้อารมณ์ที่แสดงออกมารุนแรงมากกว่าเดิม หรือยิ่งเก็บยิ่งส่งผลแย่ต่อใจไปเรื่อยๆ เป็นการทำลายสุขภาพจิต แม้ว่าจะทำให้เกิดการไม่ปะทะแต่ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้”

ทางออกก็คือ การปรับอารมณ์และเปลี่ยนมุมมองทางความคิด เช่น เมื่อทะเลาะกับพ่อแม่ ลองขยับถอยออกมาจากสถานการณ์ตึงเครียดตรงหน้า แล้วจัดระเบียบอารมณ์เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ การทะเลาะกันก็มีข้อดีทำให้รู้ว่า การปฏิบัติและการกระทำแบบใดที่ผู้สูงวัยและเราต่างไม่ชอบ ในอนาคตจะได้ไม่เกิดขึ้นอีกและหาทางออกระหว่างกัน ดีกว่าฝืนกันไปจนเจ็บปวดใจทั้งคู่ นำมาสู่การทะเลาะกันมากกว่านี้ การปรับมุมมองเช่นนี้ทำให้อารมณ์ทางลบลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงกลับไปทำความเข้าใจระหว่างกัน อารมณ์เชิงบวกมักส่งผลดีกว่าลบเสมอในการสร้างความเข้าใจ

สุดท้ายคือ ลองนำหัวใจของเรามาสวมแว่นตาของผู้สูงวัย หรือ ‘ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ’ จะมองเห็นความต้องการและความรู้สึกที่ผู้สูงอายุแบกรับ รวมถึงความกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายรวมถึงจิตใจ และในบางครอบครัวที่มีลูก การปฏิบัติตัวของพ่อแม่ต่อปู่ย่า จะเป็นแบบอย่างและพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคตให้พวกเขา เรียกว่าเป็นมรดกตกทอดในทางปฏิบัติต่อพ่อแม่ ดังนั้นหากสามารถเข้าใจและคลี่คลายความบาดหมางได้ด้วยหัวใจก็จะเป็นอีกหนึ่งทางออก

อยากเป็นผู้สูงวัยที่ใจเปิดกว้าง ยอมรับฟัง ต้องทำอย่างไร

การจะเติบโตเป็นผู้สูงวัยที่มีนิสัย ‘ใจกว้างและรับฟัง’ คงไม่สามารถสร้างได้เพียงวันเดียว ต้องใช้เวลาบ่มเพาะตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยทำงานผ่านการประสบการณ์อีกนับครั้งไม่ถ้วน แต่การค่อยๆ ฝึกปรับเปลี่ยนไปทีละนิดอาจไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป

ขั้นแรกลองเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แม้ว่าบางเรื่องขัดกับสิ่งที่ประสบการณ์ในอดีตสอนมา เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปเสมอ สายน้ำไหลไปไม่เคยหยุดฉันใดก็ฉันนั้นกับเวลาที่เดินไม่เคยรอใคร ในอดีตเราอาจเคยเป็นผู้นำเทรนด์ แต่ปัจจุบันอาจล้าสมัยไปตามเวลา แต่ใช่ว่าเก่าแล้วจะเก๋าไม่ได้ ลองเปลี่ยนบานหน้าต่างความคิดเปิดรับมุมมองใหม่ๆ แล้วปรับเข้าหากันช้าๆ วันนึงอาจกลายเป็นผู้สูงวัยที่ทันสมัย เป็นตัวอย่างที่ดีให้ใครหลายคนอยากเลียนแบบเมื่อสูงวัยก็เป็นได้

“เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณ เราควรเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น พูดคุยกับลูกหลานหรือผู้ที่อายุน้อยกว่าอยู่เสมอเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ ไม่ยึดติดเกินไป”

อาจารย์ยังแนะนำถึงการลองค้นหางานอดิเรกที่สามารถทำได้ ไม่แน่ว่าอาจเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดโลกให้ได้ค้นพบกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้สัมผัส จนอาจ จับพลัดจับผลู กลายเป็นอาชีพหลังเกษียณ สามารถเลี้ยงชีพและยังมีเงินมอบให้ลูกหลาน

“เมื่อพ่อแม่ได้ออกมาทำกิจกรรม แล้วสามารถหาเงินอะไรเล็กๆ น้อยๆ มอบให้ลูกหลานได้ ผู้สูงวัยก็จะรู้สึกถึงการพึ่งตัวเองได้ เห็นคุณค่าในตัวเอง ความดื้อก็จะน้อยลง หรือแถบจะไม่มีเวลามาดื้อกับลูก”

สุดท้ายคือ การแชร์ประสบการณ์ลงบนโลกออนไลน์ หรือบอกเล่าให้ลูกๆ คนใกล้ตัวฟังอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยเป็นกาวใจในการเชื่อมความสัมพันธ์ ยังเป็นการแบ่งปันความรู้สึกและเป็นที่ปรึกษาให้กันและกันอยู่เสมอ โดยผู้สูงอายุรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ลูกหลานเรื่องปัญหาชีวิต ส่วนหลานๆ ก็ชี้แนะสิ่งใหม่ๆ ให้ท่านอยู่เสมอ นอกจากนี้การได้คุยกันอย่างสม่ำเสมอในครอบครัวเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างพ่อแม่ลูกและคนใกล้ชิด พร้อมกับการอธิบายสิ่งต่างๆ ที่อยากให้พ่อแม่ปรับเปลี่ยน และพ่อแม่เองจะรับฟังเหตุผลลูกหลาน เพื่อสร้างความเข้าใจและไม่แสดงอาการ ‘ดื้อ’ ไปพร้อมๆ กัน

Credits

Authors

  • อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี

    Authorนัก(หัด)เขียน รอนแรมจากเมืองปลายทะเลสู่การศึกษาริมยอดดอย และติดอยู่ในเมืองหลวง หลงใหลในหลากหลายสิ่ง ตั้งแต่รากเหง้ายันมนุษย์อวกาศ ยิ่งมีคาเฟอีนซ่าๆ พร้อมบทสนทนาดีๆ คงเป็นวันที่ดีอีกวันหนึ่งในชีวิต

  • สุกฤตา ณ เชียงใหม่

    Author & Drawรับบทเป็นกราฟิกสาววัยเบญจเพส เป็นคนชอบศิลปะ จับปากกา แต่พอโตขึ้นมาเพิ่งจะรู้ว่าชอบเธอ ฮิ้ววว :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ