มนุษย์ต่างวัยชวนไปสำรวจเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้ชายจีนยุคใหม่ จากบทบาทของผู้ชายที่ต้องเป็นผู้นำ ทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว สู่การเป็น “คุณพ่อเต็มเวลา” บอกลางานประจำเพื่อมาดูแลบ้านและลูก ๆ ที่อาจกำลังทำให้อากงอาม่าขัดใจ แต่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความนิยมในหมู่คุณพ่อชาวจีนในปัจจุบัน
ด้วยสภาพเศรษฐกิจของจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ การผลิตที่มากล้น และการกีดกันทางการค้า ซึ่งเกิดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การจ้างงานไม่เติบโต งานดี ๆ กลายเป็นสิ่งหายาก และเมื่อมีงานทำแล้ว ก็จะต้องพยายามรักษางานให้ดีและยาวนานที่สุด
ที่ผ่านมา เราอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ลูกเต็มเวลา’ (full-time children) ในสังคมจีน ซึ่งหมายถึงคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่เลือกใช้ชีวิตในวัยทำงานอยู่กับบ้าน ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน ซักผ้า และทำงานบ้าน รวมถึงการดูแลพ่อแม่ พาไปหาหมอ หรือแม้กระทั่งขับรถให้ โดยมีค่าตอบแทนจากพ่อแม่ในฐานะนายจ้าง แทนที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน
คนหนุ่มสาวเหล่านี้ ประกอบด้วยกลุ่มที่ทำงานแล้วรู้สึกหมดไฟ กลุ่มที่เพิ่งเรียนจบ และกลุ่มที่หางานจนหมดแรง จึงตัดสินใจอย่างไม่เต็มใจนักที่จะเป็น ‘ลูกเต็มเวลา’ (Full-time Children) หรือ ‘ลูกที่ได้รับเงินเดือน’ (Paid Children)
อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจถดถอยในจีนไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่หางานใหม่เท่านั้น ยังส่งผลกระทบกับผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว รวมถึงการจัดการความสัมพันธ์และบทบาทในระดับครอบครัวด้วย จากสังคมจีนดั้งเดิมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และมักมีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัวที่รับผิดชอบดูแลสมาชิกในบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านและลูก ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ชายจำนวนหนึ่งเลือกที่จะออกจากงาน เพื่อมาทำหน้าที่ ‘พ่อเต็มเวลา’ (全职爸爸 Full-time Dad) หรือคุณพ่อที่อยู่บ้าน (Stay-at-Home Dad) เพื่อให้ภรรยาสามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ โดยพวกเขาจะคอยดูแลลูก ดูแลบ้าน และสร้างความสุขให้กับภรรยา
เฉินฮัวเลี่ยง หนึ่งในคุณพ่อชาวจีนที่ทั้งทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน และดูแลลูก ๆ ตลอดทั้งวัน ที่ผ่านมาหน้าที่ภายในบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในความรับผิดชอบของภรรยา ซึ่งทำให้สิ่งที่เฉินทำดูขัดแย้งกับประเพณีที่ยึดถือกันมาแบบหยั่งรากลึกในสังคมจีนที่ว่า ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ จนเกิดแรงบันดาลใจให้ผลิตเป็นรายการทีวีชื่อดัง
เฉินให้สัมภาษณ์จากวิลล่าในเขตชานเมืองเซี่ยงไฮ้กับ AFP ในขณะที่ลูกสาววัย 4 ขวบและลูกชายวัย 11 ขวบวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ เขาเลิกทำงานประจำเพื่อมาเป็น ‘คุณพ่อเต็มเวลา’ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
“พ่อของผมเป็นเพียงพ่อเท่านั้น ผมไม่เคยรู้สึกว่าเขาสามารถช่วยเหลือผมได้ นอกจากเรื่องการเงิน” เฉินกล่าว และเสริมว่า “ผมอยากเป็นเพื่อนกับลูก ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตกับผมได้”
สื่อของรัฐเคยรายงานผลการสำรวจทัศนคติของผู้ชายชาวจีนเกี่ยวกับบทบาทการเป็นพ่อบ้าน พบว่าเพียง 17% เท่านั้นที่แสดงความยินดีที่จะรับบทบาทนี้ อย่างไรก็ตาม การสำรวจในปี 2019 กลับพบว่าผู้ชายจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งมีแนวโน้มที่ยินดีจะเป็นพ่อบ้าน ในปี 2023 สื่อจีน The Paper ได้ทำการสำรวจผู้ชายหนุ่มที่แต่งงานแล้วเกือบ 2,000 คน ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ชายถึง 52.4% เห็นด้วยกับการเป็นพ่อที่ต้องอยู่บ้าน ซึ่งสูงกว่าผู้หญิงที่มีแนวโน้มเห็นด้วยเพียง 45.8% เท่านั้น
ในชีวิตจริง การแบ่งแยกบทบาทในครอบครัวจีนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเงียบ ๆ โดยคนเป็นแม่ ได้เริ่มทุ่มเทให้กับการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกัน ฝั่งพ่อก็มีบทบาทในการดูแลครอบครัวมากขึ้น นอกจากนี้ การแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างพ่อที่ทำงานนอกบ้านและแม่ที่ทำงานในบ้านก็เริ่มลดน้อยลง ในเวลาเดียวกัน การรับรู้สิทธิและสิทธิสตรีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการได้เข้าถึงการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น ยังส่งผลให้ครอบครัวในรูปแบบใหม่กลายเป็นเรื่องปกติ ที่พบว่าคุณแม่มักมีการงานที่มั่นคงกว่า
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ปู่ย่าตายายในปัจจุบันอยู่ในวัยที่ไม่สามารถช่วยเลี้ยงหลานได้อีกต่อไป
สำหรับคู่รัก การตัดสินใจที่จะสละเงินเดือนของผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า หรือมีงานที่ไม่มั่นคงมากนัก มาดูแลลูกด้วยตัวเองมักจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ทำให้ผู้คนยังมองว่าการเลือกเส้นทางนี้ “คุ้มค่า” ปาน ซิงจื้อ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาออนไลน์ กล่าวกับ AFP
เมื่อเฉินฮัวเลี่ยง ตัดสินใจที่จะอยู่บ้านเพื่อดูแลบ้านและลูก ๆ อย่างเต็มเวลา ทำให้เหมยลี่ ภรรยาของเขามีเวลาว่างมากขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมา เธอได้กลายเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีเกี่ยวกับคุณพ่อที่อยู่บ้าน และได้มีโอกาสสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้
“ในช่วงเริ่มต้นของการแต่งงาน ฉันเคยสงสัยว่าเขาจะสามารถช่วยเหลือฉันในฐานะคู่ชีวิตได้อย่างไร” เธอเล่า “เมื่อก่อน เขาทำงานหนักมาก ไม่เคยช่วยฉันดูแลลูก ๆ และไม่ค่อยใส่ใจฉัน แต่ตอนนี้เมื่อเขาต้องดูแลลูก ๆ และอยู่บ้าน ฉันพบว่าเขาช่วยเหลือฉันได้อย่างมาก”
“ฉันให้คะแนนเขา 9.5 จากคะแนนเต็ม 10” เธอเสริม
ผลงานของเหมาได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์จำนวน 36 ตอน ชื่อ “สามีและภรรยา” ซึ่งมุ่งเน้นที่บทบาทของคุณพ่อเต็มเวลา และได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับบทบาทของผู้ชายในครอบครัวจีน
เฉินกล่าวว่า “พ่อแม่ของผมรู้สึกกังวลเล็กน้อยที่ผมกลายเป็นคุณพ่อที่อยู่บ้าน” เขากล่าวต่อว่า “บางคน โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ได้คอมเมนต์ว่า ผมใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยภรรยา”
ซู่ เสี่ยวหลิน วัย 34 ปี จากเมืองเซียะเหมิน มณฑลทางตะวันออกของจีน ได้เลือกที่จะเป็นคุณพ่อที่อยู่บ้าน หลังจากที่บริษัทที่เขาทำงานเกิดล้มละลาย เขาต้องเผชิญกับสายตาที่ตั้งคำถามและเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะจากผู้สูงอายุในครอบครัวที่มองว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าแปลกประหลาด
“ในช่วงแรก พ่อแม่และปู่ย่าตายายของผมมักพูดเสมอว่า ผมควรไปทำงาน” ซู่เล่าให้ AFP ฟัง “บางครั้งเพื่อนบ้านที่สูงอายุถึงกับตำหนิอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจและกดดัน โดยเฉพาะเมื่อผมพาลูกชายวัย 2 ขวบเดินเล่นตามลำพัง ผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็มักจะล้อเลียน” เขาพูดเสริม “แต่คนอายุน้อยกว่า 35 ปีกลับไม่คิดแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว”
อาหมิง ชายจากหางโจว ให้สัมภาษณ์กับ The Paper เกี่ยวกับทัศนคติของเขาที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากที่เขาได้เป็นพ่อเต็มเวลา เมื่อก่อน เมื่อเขาได้ยินลูกของคนอื่นร้องไห้ เขามักจะรู้สึกหงุดหงิดและอยากออกจากสถานที่นั้นโดยเร็ว แต่ปัจจุบันเขามีลูกชายสองคนที่เขาดูแลตั้งแต่ยังเป็นทารก ซึ่งทำให้เขามีทักษะในการดูแลทารก เช่น การเปลี่ยนผ้าอ้อม เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ที่ภรรยาเก็บไว้ให้) และพาลูก ๆ ไปเดินเล่นตามภูเขา
เมื่อตัดสินใจจะเป็นพ่อที่อยู่กับบ้าน สิ่งที่น่าปวดหัวที่สุดสำหรับอาหมิง คือการต่อต้านจากพ่อแม่ของเขาเอง พวกเขามักพูดว่า “ลูกต้องไปทำงาน เราจะดูแลลูก ๆ แทนให้” อาหมิงเล่าเกี่ยวกับความพยายามของพ่อแม่ที่พยายามโน้มน้าวเขาให้กลับไปทำงานประจำ
“วันนี้ วิธีที่คนหนุ่มสาวหาเงินและทำมาหากินนั้นมีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น แต่ในมุมมองของผู้สูงอายุ การทำงานอย่างมีวินัยเท่านั้นจึงถือเป็นงานปกติ” เขากล่าว “การที่พ่อที่อยู่บ้านดูแลลูกแล้วยังสามารถทำงานได้ด้วยนั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจยากสำหรับพวกเขา” อาหมิงได้ส่งบันทึกรายได้ให้แม่ในช่วงที่เขาไม่ได้ทำงานประจำ ซึ่งทำให้พ่อแม่ของเขาหยุดโน้มน้าวให้เขากลับไปทำงานประจำในที่สุด
อาหมิงถือเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ใช่คุณพ่อเต็มเวลาในความหมายที่แท้จริง เพราะในขณะที่เขากำลังเลี้ยงดูลูก ๆ เขายังทำ “ธุรกิจ” ของตนเองที่บ้าน โดยจัดหาโสม ชา และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งทำให้เขามีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 หยวน
เขากล่าวว่า การได้อยู่บ้านเลี้ยงลูกทำให้เขาเริ่มเข้าใจความยากลำบากของผู้หญิงในการรักษาสมดุลระหว่างบทบาทในครอบครัวและสังคม “เนื่องจากภรรยาของผมมีอาชีพที่เธอรัก ผมจึงต้องสนับสนุนเธอ เพราะการหางานที่เราชอบไม่ใช่เรื่องง่าย” อาหมิงกล่าว “ผมปรับตัวและทำทุกอย่างได้ ผมไม่กลัวความยากลำบาก”
“อิฐในการปฏิวัติ สามารถเคลื่อนย้ายได้ทุกที่ที่ต้องการ” เป็นสำนวนของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่อาหมิงนำมาใช้เปรียบเทียบกับเส้นทางที่เขาเลือกสำหรับครอบครัวของเขา
ในมุมมองของอาหมิง รูปแบบครอบครัวที่ “ผู้ชายต้องดูแลโลกภายนอกและผู้หญิงดูแลบ้าน” นั้นถือเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างดั้งเดิมและอนุรักษ์นิยม
“แม้ว่าผู้ชายจะไม่สามารถตั้งครรภ์ ให้กำเนิด หรือให้นมบุตรได้ด้วยตนเอง แต่ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการดูแลครอบครัว พวกเขาก็สามารถทำได้เท่าเทียมกับผู้หญิง” เขาพูดต่อ “การตัดสินใจว่าใครจะดูแลลูก เป็นเพียงเรื่องของการแบ่งงานในครอบครัว และไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับเพศ” อาหมิงเชื่อว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และขอเพียงแค่ทุกคนในครอบครัวมีความสุขและอิ่มเอมใจก็เพียงพอแล้ว
ในปัจจุบัน คุณพ่อหนุ่มวัย 30 ต้น ๆ หลายคนที่เลือกเส้นทางนี้ ได้ใช้แพลตฟอร์ม Xiaohongshu ซึ่งเป็นเหมือน Instagram ยอดฮิตของจีน เป็นช่องทางในการโปรโมตไลฟ์สไตล์ของตนอย่างภาคภูมิใจ พร้อมสร้างความเข้าใจในสังคมเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขา
ชางเหวินเฮา คอนเทนต์ครีเอเตอร์วัย 37 ปี และหนึ่งในคุณพ่อเต็มเวลา กล่าวว่า เขาได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “คุณพ่อหลายคนเริ่มเห็นคุณค่าของการอยู่เป็นเพื่อนและช่วยเหลือเรื่องการศึกษาของลูก ๆ พร้อมทั้งฟังความต้องการของพวกเขา” เขาเสริมว่า “สิ่งนี้ยังจะต้องมีการพัฒนาต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งก็ยังคงต้องใช้เวลา
อ้างอิง:
- https://sg.news.yahoo.com/chinas-full-time-dads-challenge-022243735.html
- https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_25206559
- https://waymagazine.org/full-time-children-in-china/
ขอบคุณภาพจาก https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_25206559