ถ้าต้องมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี คุณนึกถึงภาพการมีชีวิตที่ดีและมีคุณภาพในวัยนั้นไว้อย่างไรบ้าง
ถ้ายังคิดไม่ออก มนุษย์ต่างวัยชวนคุณไปรู้จักกับโครงการฟูกูโอกะ 100 (Fukuoka 100) หรือ 100 โครงการ เพื่อผู้สูงวัยในเมืองฟูกูโอกะที่จะมีอายุเกิน 100 ปี ผ่าน “การประชุมเพื่อการสูงวัยอย่างมีพลังแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 20” (The 20th Active Aging
Conference in Asia Pacific) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “สู่การสูงวัยอย่างมีพลังระดับโลก ถอดบทเรียนจากเมืองฟูกูโอกะ” (Towards Global Active Aging: Lessons Learned From Fukuoka) ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุจากหลากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสนับสนุนการสูงวัยอย่างมีพลัง ตลอดจนถอดบทเรียนจากโครงการฟูกูโอกะ 100 ที่จะทำให้ผู้สูงอายุในเมืองฟูกูโอกะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มีคุณค่า และมีความสุข
ทีมงานมนุษย์ต่างวัยได้รับเชิญจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ให้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ และได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ทาเคโอะ โอกาวะ (Dr. Takeo Ogawa) ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยคิวชูและมหาวิทยาลัยยามากุจิ ซึ่งนอกจากจะดำรงตำแหน่งประธานในการจัดงานในครั้งนี้ ท่านยังเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฟูกูโอกะ 100 และประธานสภาฟูกูโอกะเพื่อการออกแบบสังคมผู้สูงวัยในเอเชีย (Fukuoka Council for Designing Society in Aging Asia) อีกด้วย
ดร.โอกาวะ เล่าให้เราฟังว่า โครงการฟูกูโอกะ 100 เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 ในวันที่ประเทศญี่ปุ่นยังพูดถึงการมีอายุขัยที่ 80 ปี และเมืองฟูกูโอกะได้เสนอตัวในการเป็นพื้นที่ทดลองในการออกแบบสังคมเพื่อการมีอายุร้อยปี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมืองฟูกูโอกะวันนี้ นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนเมืองในเชิงกายภาพที่ไม่ใช่แค่ให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ แต่ยังรวมไปถึงผู้ป่วยสมองเสื่อมที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต เรายังได้เห็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน ทั้งต่อเรื่องการใช้ชีวิตหลังเกษียณ การเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับผู้ป่วยสมองเสื่อม ไปจนถึงแนวคิดในการรวมเอาคนทุกวัยมาเป็นส่วนหนึ่งของการรับมือกับปรากฏการณ์สังคมอายุยืนของญี่ปุ่น
สิ่งที่ได้จากโครงการฟูกูโอกะ 100 ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายเดียวกัน
ทีมมนุษย์ต่างวัยขอขอบคุณ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ตลอดจน ดร. ทาเคโอะ โอกาวะ และทีมงาน สำหรับการสนับสนุนการเดินทางและการจัดทำเนื้อหา
ในฐานะที่เป็นทั้งประธานการจัด “การประชุมเพื่อการสูงวัยอย่างมีพลังแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 20” (The 20th Active Aging
Conference in Asia Pacific) และผู้ริเริ่มโครงการฟูกูโอกะ 100 ดร.ทาเคโอะ โอกาวะ (Dr.Takeo Ogawa) มองว่า สิ่งที่ทำให้โครงการฟูกูโอกะ 100 มีความโดดเด่นต่างจากโครงการอื่น คือการร่วมคิดร่วมทำและผนึกกำลังกัน 4 ฝ่าย จากทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ และภาคประชาชน ทำให้ได้มุมมองและไอเดียที่แตกต่างและหลากหลาย นำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ และเมื่อทางฝ่ายนักวิชาการนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ก็จะได้หลักฐานทางวิชาการมารองรับว่าไอเดียหรือความต้องการนั้นเป็นประโยชน์และสามารถนำไปขยายผลสำหรับสังคมวงกว้าง
ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จที่เห็นได้ชัดที่สุดจากการดำเนินงานในโครงการฟูกูโอกะ 100 ดร.โอกาวะ ได้ยกตัวอย่างเรื่องการสร้างองค์ความรู้สำหรับการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคม จากที่เคยมองผู้ป่วยสมองเสื่อมในเชิงลบ ให้มีความเข้าใจมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการออกแบบเมืองทั้งเมืองให้มีความเป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม เพื่อเอื้อให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมสามารถออกมาใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นโดยมีข้อจำกัดน้อยลง และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม โดยดร.โอกาวะเล่าว่า จากความรู้ความเข้าใจนี้ได้มีการต่อยอดไปถึงการสร้างงานให้กับผู้ป่วยสมองเสื่อม ด้วยการดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกับบริษัทเอกชน จนสำเร็จออกมาเป็นสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วยสมองเสื่อม
ตอนนี้โครงการฟูกูโอกะ 100 ได้ดำเนินงานในเฟสแรกจบลงแล้ว และกำลังจะเริ่มเฟสสอง ซึ่งหนึ่งในความแตกต่างระหว่างสองเฟสนี้คือ จากที่เคยมุ่งไปที่ผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายหลัก การทำงานในเฟสสองจะมีการดึงเอาคนทุกช่วงวัยเข้ามามีส่วนร่วม เช่น โครงการทัศนศึกษาศูนย์ฟูกูโอกะเมืองเป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม (Fukuoka Dementia Friendly Center) ของเด็กชั้นประถม หรือโครงการสอนเทคโนโลยีให้กับผู้สูงอายุโดยเด็กมัธยมปลาย เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็กถึงการอยู่ร่วมกันกับผู้สูงอายุในสังคม ขณะเดียวกันก็มองเห็นภาพตัวเองในอนาคตที่จะมีอายุยืนยาวร้อยปีด้วย เป็นการสนับสนุนให้ทุกช่วงวัยสามารถมีชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยมกับคนต่างวัยมากขึ้น
มนุษย์ต่างวัยได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานและเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ตามคำเชิญของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ที่ต้องการให้มีการถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติดีที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่น
โดยคุณโกศล สถิตธรรมจิตร กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเชิญสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ว่า เกิดจากความประทับใจที่ได้เห็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีของญี่ปุ่นในหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะในด้านการรับมือกับสังคมสูงวัย
“อัตราการตายของประชากรญี่ปุ่นมีมากกว่าอัตราการเกิดมานานมากแล้ว แปลว่าทุกปี เขาจะมีประชากรลดลง ของไทยเพิ่งจะเกิดขึ้นสัก 3 ปี เราเห็นปัญหานี้เป็นความท้าทายร่วมกัน ก็เลยมีคำถามว่า เขามีประชากรลดลง และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แล้วเขาบริหารจัดการอย่างไร พอเราได้ไปเรียนรู้ ก็คิดว่าเขาบริหารจัดการได้ดี น่าจะเป็นตัวอย่าง และก็น่าจะมีอะไรที่ฝ่ายไทยเราเรียนรู้ได้
“ผมคิดว่านี่เป็นทางลัด เพราะว่าเขาลองผิดลองถูกมาแล้ว และมีตัวอย่างที่ดีแล้ว ถ้าเราตามหลังเขา เราไม่มีความจำเป็นต้องไปลองผิดลองถูกใหม่ ผมคิดว่า Pian point ของเราก็คือ จะทำอย่างไรให้เรารับมือกับสังคมผู้สูงอายุได้ดีขึ้น”
คุณโกศลเล่าว่าสิ่งที่ประทับใจในโครงการฟูกูโอกะ 100 คือการที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และในอนาคตทางสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ก็ยังมองเห็นความเป็นไปได้ในการเชิญผู้เชี่ยวชาญให้นำองค์ความรู้จากโครงการนี้ไปใช้ในระดับท้องถิ่นของไทยต่อไป
คุณโคอิจิ ฟูจิโมโตะ ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการ เมืองฟูกูโอกะ (Mr. Koichi Fujimoto, Director of Fukuoka City Welfare Bureau) เล่าให้เราฟังว่า การที่คนในสังคมจะมีอายุขัยเพิ่มขึ้นจากที่เคย 80 ปี มาเป็น 100 ปีนั้น ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้คนในสังคมสามารถใช้ชีวิตอย่างแข็งแรงและยังมีงานทำ ซึ่งสำนักงานสวัสดิการเมืองฟูกูโอกะก็ทำหน้าที่เป็นหลักในการประสานความร่วมมือกับหลายฝ่าย
บนเวทีการประชุม คุณฟูจิโมโตะได้เล่าถึงการดำเนินงานของโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ เช่น โครงการสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ ที่ช่วยจับคู่ระหว่างบริษัทที่เปิดรับตำแหน่งงานต่าง ๆ กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน
โครงการค้นหาชีวิตหลังอายุ 60 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้ค้นพบโอกาสและงานอดิเรกใหม่ ๆ
โครงการป้องกันภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ ที่ใช้เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลจากการตรวจสุขภาพและการดูแลระยะยาว เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือโดยละเอียด มีการประสานงานระหว่างสถาบันทางการแพทย์ ร้านขายยา และรัฐบาลท้องถิ่น
โครงการเมืองเป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่มุ่งสร้างเมืองที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยความสบายใจ และในย่านที่คุ้นเคย โดยมีศูนย์ฟูกูโอกะเมืองเป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม (Fukuoka Dementia Friendly Center) เป็นหน่วยงานส่งเสริมความรู้และให้การสนับสนุนชุมชนในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
จะเห็นได้ว่าโครงการฟูกูโอกะ 100 ดำเนินงานครอบคลุมในหลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การออกแบบเมือง การจัดกิจกรรมทางสังคม ไปจนถึงการส่งเสริมอาชีพ โดยในปีนี้ ยังมีการเปิดศูนย์แลกเปลี่ยนและสนับสนุนผู้ดูแลจากประเทศในเอเชีย ซึ่งจะมีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ไม่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่กำลังต้องรับมือกับความท้าทายของสังคมสูงวัย
แม้โครงการฟูกูโอกะ 100 จะประสบความสำเร็จและมีส่วนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ รวมไปถึงผู้ป่วยสมองเสื่อม แต่ดร.ทาเคโอะ โอกาวะ ก็ยังมองว่ามีความท้าทายและมีการบ้านอีกหลายอย่างที่ต้องทำต่อไป จึงอยากให้เมืองฟูกูโอกะได้เป็นต้นแบบ ไม่ใช่แค่สำหรับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังอยากชักชวนให้นานาประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
ในการประชุมครั้งนี้ จึงมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ (The Center for International Collaboration of Innovation and Safety for Ageing: CICISA) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับสภาฟูกูโอกะเพื่อการออกแบบสังคมผู้สูงวัยในเอเชีย (Fukuoka Council for Designing Society in Aging Asia) ในการร่วมมือกันพัฒนาวิชาการและบุคลากรสำหรับรองรับสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ
ผศ.ดร.เกษร สำเภาทอง ประธานคณะกรรมการบริหาร CICISA บอกกับทีมมนุษย์ต่างวัยว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้และมีแนวทางปฏิบัติที่ดีมากด้านการดูแลระยะยาว การร่วมมือกันในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประเทศไทยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของสังคม ขณะเดียวกันประเทศไทยก็จะได้แบ่งปันภูมิปัญญาที่เรามีกับประเทศต่าง ๆ ส่วนประเทศญี่ปุ่นเองก็จะได้ประโยชน์จากการเปิดรับบุคลากรที่จะเข้ามาศึกษาและปฏิบัติงานในฐานะผู้ดูแล (Caregiver) ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่ CICISA เข้ามาควบคุมดูแลเรื่องคุณภาพของบุคลากรจึงถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น
ในการประชุมครั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) ได้ขึ้นกล่าวแนะนำพันธกิจของ ACAI ในฐานะขององค์กรระหว่างรัฐบาล ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายของสังคมสูงวัยในทุกมิติ ทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเปิดรับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้สูงอายุ ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนาแนวทางในการรับมือร่วมกัน
เมื่อทีมงานมนุษย์ต่างวัยได้ถามถึงความเป็นไปได้ในการนำองค์ความรู้จากการถอดบทเรียนการดำเนินโครงการฟูกูโอกะ 100 ครั้งนี้ไปใช้กับประเทศไทย นพ.สมศักดิ์มองว่าสิ่งที่โครงการฟูกูโอกะ 100 ทำมานั้น น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์มาก จึงมีความเป็นได้ในการนำองค์กรส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดมาเรียนรู้ อาจจะเป็นในรูปแบบของโครงการเมืองแฝดหรือ Twin City เพื่อแปลงความรู้ทางวิชาการที่โครงการฟูกูโอกะ 100 ได้ค้นพบ ไปใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม