ปัญหาสุขภาพตาในแต่ละวัยที่ต้องรู้ไว้ไม่ให้เสี่ยง
มนุษย์ต่างวัยชวนเช็กปัญหาสุขภาพตายอดฮิตในคนต่าง Gen กับ พญ. บุษบา สาธรสุเมธี จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ตา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เมื่ออายุเปลี่ยนไป สมรรถภาพการมองเห็นย่อมเปลี่ยนแปลง
การดูแลสุขภาพดวงตาแต่เนิ่นๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด
เช็กลิสต์ปัญหาสายตาผิดปกติแบบไหนที่แต่ละวัยต้องระวัง
- Gen Alpha พ่อแม่ต้องสังเกต ‘ตาเข ตาเหล่ ตาขี้เกียจ’ ยิ่งรู้ช้ายิ่งรักษายาก
- โรคตาแห้ง ปัญหาใหญ่ของคนวัยทำงาน ไม่รุนแรง แต่ห้ามละเลย
- ยิ่งสูงวัย สุขภาพดวงตายิ่งเสื่อม ต้อกระจกก็เสี่ยง ต้อหินก็ต้องระวัง
อายุที่เปลี่ยนไป สมรรถภาพการมองเห็นย่อมเปลี่ยนแปลง
“โดยปกติแล้วในเด็กทั่วไป การมองเห็นไม่ว่าใกล้หรือไกลจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน เว้นแต่ว่าเด็กบางคนอาจมีปัญหาค่าสายตาที่ผิดปกติไป เช่น สายตาสั้น ยาว และเอียง แล้วแต่คนไป เมื่อเข้าสู่ผู้ใหญ่วัยกลางคน อาจเริ่มมีอาการมองเห็นระยะใกล้ไม่ชัด ในช่วงแรกสังเกตว่าต้องยื่นของออกไปให้ไกลจึงจะมองเห็นชัดขึ้น อาการดังกล่าวเกิดจากภาวะสายตายาว ซึ่งมักเริ่มเป็นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป และเมื่อเริ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็เริ่มมีอาการตามัวมองเห็นไม่ชัดจากโรคต้อกระจก เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นต้อหิน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยสูญเสียการมองเห็นได้
“สมรรถภาพการมองเห็นจะแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนแต่ละวัย โรคตาบางโรคไม่เป็นอันตรายเพียงแต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่บางโรคก็อาจอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละครั้งจึงมีความสำคัญมาก ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป เพราะหากตรวจพบและรักษาได้เร็ว จะช่วยลดโอกาสสูญเสียการมองเห็นได้ทันท่วงที”
“ปัญหาสายตาในเด็ก พ่อแม่จำเป็นต้องคอยสังเกต เพราะเมื่อตาเริ่มมีปัญหาเด็กอาจไม่รู้ถึงความผิดปกตินั้น ถ้าพ่อแม่ไม่สังเกตบ่อยๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีลูกก็อาจมีสายตาผิดปกติ เช่น ตาเข ตาเหล่ หรือตาขี้เกียจได้”
‘โรคตาขี้เกียจ’ อาการผิดปกติทางดวงตาของลูกที่พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต
“ปัญหาสายตาในเด็กมักพบในช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปี คือช่วงอนุบาล-ประถมศึกษา เด็กจะเริ่มมีความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น ยาว หรือเอียง ทำให้มองเห็นสิ่งของไม่ชัดเจน ภาพเริ่มมัว แน่นอนว่าลูกๆ จะไม่ได้บอกพ่อแม่ในทันที ยังคงใช้ตาตามปกติ โดย ใช้สายตาด้านที่ดีกว่าในการมอง จนทำให้เกิด ‘โรคตาขี้เกียจ’ ในตาข้างที่มองเห็นชัดน้อยกว่า ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาที่ผิดปกติมากกว่า หรือในตาข้างที่เขหรือเหล่บ่อยกว่า
“ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ขวบ เมื่อเป็นแล้วพ่อแม่จำเป็นต้องรีบพามาพบจักษุแพทย์ เพราะยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดี แต่หากรักษาช้าจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสายตาเด็กในระยะยาว โดยจักษุแพทย์จะรักษาด้วยการกระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่มีภาวะตาขี้เกียจมากขึ้น โดยการปิดตาหรือหยอดยาขยายรูม่านตาในตาข้างที่มองเห็นดีกว่า พร้อมกับแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจร่วมด้วย”
ตาเข ตาเหล่ สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้
“โรคตาเขจะส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก พ่อแม่สามารถช่วยระวังได้ด้วยการหมั่นสังเกต โดยการให้ลูกมองหน้าตรงแล้วดูว่าลูกตาดำอยู่ตรงกลางทั้ง 2 ด้านหรือไม่ ถ้าอยู่ตรงกลางก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าลูกมีการใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งจ้อง และตาอีกข้างเขเข้าหรือออกจากจมูกหรือลอยขึ้นบน ลงล่าง ควรรีบพาลูกไปพบจักษุแพทย์ทันที เพราะเมื่อตาเขแล้ว เด็กอาจจะใช้ตาข้างที่เขหรือเหล่น้อยกว่าตาข้างที่ปกติ เป็นผลทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจในตาข้างที่เขหรือเหล่ตามมาได้ อย่างไรก็ตามถ้าพามาพบจักษุแพทย์เร็ว อาการตาเขสามารถรักษาหายได้โดยการใส่แว่น หรือการผ่าตัดโดยจักษุแพทย์
“พ่อแม่จึงมีความสำคัญมากในการดูแลสุขภาพตาของเด็ก ตั้งแต่สังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูก เช่น อ่านหนังสือใกล้ผิดปกติหรือไม่ หรี่ตาหรือกะพริบตาบ่อยเมื่อเพ่งมองอะไรนานๆ ไหม ขมวดคิ้วเวลาอ่านหนังสือ หรือเอียงคอตะแคงหัวเพื่อให้เห็นชัดเจนหรือไม่ และช่วยปรับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตที่มากเกินไป เพราะเมื่อเด็กเพ่งหน้าจอนานๆ จะทำให้สายตาที่สั้นอยู่แล้วมีโอกาสที่จะสั้นขึ้นไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเด็กแน่นอน”
“โรคตาแห้งเป็นโรคฮิตของชาว Gen X และ Gen Y คนที่อยู่ในวัยนี้มีโอกาสเป็นกันทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นเหตุ ‘โรคตาแห้ง’ ที่วัยทำงานหนีไม้พ้น
“การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงตั้งแต่เช้าจดเย็นของคน Gen นี้ คือพฤติกรรมยอดฮิตที่ส่งผลต่อโรคตาแห้งโดยตรง สัญญาณเตือนที่เจอบ่อย คือเริ่มมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว และในบางครั้งอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือคน Gen นี้กลับมองข้ามสัญญาณเตือนและคิดว่าพักนิดๆ หน่อยๆ นั้นเพียงพอ ไม่พบแพทย์หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทันที ส่งผลให้อาการรุนแรงและส่งผลเสียต่อสมรรถภาพในการมองเห็นแย่ลง
“โรคตาแห้งเป็นภาวะที่ดวงตามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา ส่วนมากมักมีอาการแสบตา น้ำตาไหล ไม่สบายตา ตาสู้แสงไม่ได้ พร่ามัว ตาไม่โฟกัส หากมีอาการเหล่านี้แล้วยังไม่พักสายตา อาจทำให้เริ่มปวดกระบอกตา จากนั้นอาการปวดจะลามมาบริเวณขมับ ท้ายทอย และสะบัก ซึ่งอาการเหล่านี้จะกระทบต่อสุขภาพโดยรวมมาก
แค่ปรับพฤติกรรมเล็กๆ เปลี่ยนสุขภาพตาให้ดีได้
“ก่อนมาให้จักษุแพทย์รักษา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ จะทำให้หายจากโรคนี้ได้ เช่น พักสายตาโดยการกะพริบตา ก็ช่วยให้กล้ามเนื้อตาได้หยุดพัก เริ่มจากพักสายตาทุกๆ 30 นาที ถ้าทำไม่ได้ก็ขยับเวลาออกไปสัก 1 ชั่วโมง ตามที่สามารถปรับได้โดยไม่บังคับตัวเองเกินไป จากนั้นหลังทำงานเสร็จพยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนให้เต็มที่ จะช่วยให้กล้ามเนื้อตาได้คลายตัว
“การจัดพื้นที่ทำงานก็ช่วยถนอมสายตาได้ เช่น การจัดทิศทางแสงที่ส่องเข้ามาในห้อง ระวังไม่ให้สะท้อนเข้ามาที่ตา โดยอาจจัดแสงให้อยู่ด้านข้าง การตั้งค่าแสงหน้าจอให้สว่างเพียงพอที่จะรู้สึกสบายตา หรือการปรับระดับคอมพิวเตอร์ให้ตั้งอยู่ในระดับเดียวกับสายตาก็ช่วยถนอมสายตาได้มากขึ้น
“หากมีอาการแสบตา พักแล้วไม่หาย หยอดน้ำตาเทียมแล้วยังไม่ดีขึ้น สู้แสงไม่ได้อย่างต่อเนื่อง ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพราะอาจมีปัญหาอื่นๆ ที่ตา เช่น ตาอักเสบร่วมด้วยได้ จักษุแพทย์จะตรวจดูว่าระดับอาการตาแห้งเป็นมากน้อยอย่างไร รวมถึงตรวจหาปัญหาดวงตาอื่นๆ ร่วมด้วย พร้อมให้คำแนะนำเรื่องการรักษาภาวะตาแห้งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
“การมาพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลจะช่วยทำให้ได้รู้ว่าเรามีโรคทางสายตาร่วมด้วยหรือไม่”
“เมื่อเข้าสู่อายุ 50 ปีขึ้นไป โรคที่เกี่ยวกับตาจะกลายเป็นโรคที่อันตรายและห้ามละเลยเด็ดขาด ยิ่งรักษาช้าก็ยิ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นมากขึ้น”
ต้อกระจก โรคตาที่ทุกคนจะเสี่ยงเป็นเมื่ออายุมากขึ้น แค่มากหรือน้อยเท่านั้น
“โรคต้อกระจกก็เหมือนผมหงอกที่ทุกคนต้องมีเมื่อถึงวัย พออายุ 50 ปีขึ้นไป เลนส์ที่อยู่ข้างในตาใสๆ จะเริ่มเป็นฝ้าทีละนิด ทำให้การมองเห็นลดลง ซึ่งอาจเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิต คนที่ทำงานเจอแดดมากๆ โดยไม่ใส่แว่นกันแดดมีโอกาสที่จะเป็นต้อกระจกเร็วกว่าคนที่เจอแดดน้อย หรือคนที่มีประวัติใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ไม่ว่าในรูปแบบกิน หยอด หรือพ่นจมูก คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น
“ต้อกระจกจะทำให้เห็นภาพไม่คมชัด แสงแตก มีเงาซ้อน จับโฟกัสได้ไม่ดี โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ยังจำเป็นต้องขับรถ เวลากลางคืนจะมองไกลไม่ค่อยชัด ทำให้ความมั่นใจในการขับรถลดลง และอาจมีโอกาสเสี่ยงประสบอุบัติเหตุได้”
อายุเพิ่มขึ้น โอกาสเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับตามากขึ้น
“อีกโรคที่อันตรายมากคือต้อหิน ซึ่งเกิดจากภาวะความดันลูกตาสูง จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการอะไร จนกระทั่งขั้วประสาทตาถูกทำลายไปพอสมควรจึงเริ่มมีอาการตามัว นอกจากนี้ก็ยังมีภาวะต้อหินเฉียบพลัน ที่มีอาการตาแดง ปวดตา ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน ตามัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีอาการแบบนี้ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
“เนื่องจากตาของผู้สูงวัยจะค่อยๆ เสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น อาการที่พบได้ก็คือ รอยขาวเป็นวงรอบตาดำ อาการดังกล่าวไม่ใช่ต้อกระจก แต่เป็นการเสื่อมของกระจกตาส่วนริม ซึ่งไม่มีวิธีป้องกัน แต่จะไม่อันตรายมากเพราะเป็นการเสื่อมลงตามอายุ อีกอาการที่พบได้บ่อยคือ การมองเห็นเหมือนมีแมลงบินไปมาหรือเห็นเป็นเส้นดำหรือหยากไย่ลอยไปมา อาการดังกล่าวเกิดจากภาวะน้ำวุ้นในตาเสื่อม ส่วนใหญ่จะเป็นทุกคนแตกต่างกันไปตามอายุ พออายุเพิ่มขึ้น น้ำวุ้นในตาจะมีตะกอนเกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้วบางคนอาจมองเห็นเป็นแสงแฟลชที่หางตาแต่เป็นไม่กี่วินาทีก็จะหายไป
“ผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับตา ดังนั้นการตรวจสุขภาพตาจึงมีความจำเป็นมาก โดยแนะนำให้ตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โรคบางอย่างหากเป็นแล้วรู้เร็วอาจรักษาได้ผลดี แต่ถ้ามาเจอตอนท้ายเพราะไม่เคยตรวจสุขภาพตาเป็นระยะเวลานาน เช่น 5-6 ปี บางทีหากเกิดอาการรุนแรง การรักษาก็จะยิ่งยาก อาจไม่ได้ผลดีอย่างที่หวังไว้ และมีโอกาสที่จะสูญเสียการมองเห็นได้มากขึ้น”
เช็กลิสต์อาการผิดปกติทางสายตาที่ควรไปพบจักษุแพทย์
คนต่าง Gen มีปัญหาดวงตาต่างกัน ยิ่งตรวจพบเร็วก็ยิ่งเป็นผลดีในการรักษา มนุษย์ต่างวัยและโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ นำเช็กลิสต์อาการผิดปกติแบบไหนบ้างที่ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
วัยเด็ก : พฤติกรรมที่อาจเกิดจากความผิดปกติของสายตา อ่านหนังสือใกล้ผิดปกติ หรี่ตาหรือกะพริบตาบ่อยเมื่อเพ่งมอง ขมวดคิ้วเวลาอ่านหรือมองอะไรใกล้ๆ เอียงหรือตะแคงหัวเพื่อให้เห็นชัดเจน
วัยทำงาน : อาการแสบตา ตาแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ตามัวลง ตามองเห็นจุดหรือเส้นลอยไปมา มองเห็นเป็นแสงแฟลชหรือฟ้าแลบ
ผู้สูงวัย : ปวดตา ตาแดง ตามัว โดยเฉพาะถ้ามัวลงทันที ตามองเห็นภาพซ้อน ตามองเห็นจุดหรือเส้นดำลอยไปมา มองเห็นแสงแฟลชหรือฟ้าแลบ หากมีอาการดังกล่าวแนะนำให้รีบมาพบจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ตา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
นัดหมายจักษุแพทย์ โทร. 1474