หลังจากเรียนจบศิลปะไทย จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอล-วีรยุทธ ไมตรี ศิลปินหนุ่มวัย 33 ปี สะสมประสบการณ์ในการทำงานศิลปะทางภาคเหนือ ก่อนจะตัดสินใจกลับมาสร้างโบสถ์ในบ้านเกิดของตนเอง
“ตอนนี้ผมกำลังสร้างโบสถ์ หรือในภาษาอีสานเรียกว่าสิม ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับทำสังฆกรรมของพระสงฆ์และใช้บวช”
สิม คือคำเรียกของโบสถ์หรือพระอุโบสถในภาษาวัฒนธรรมไทย-ลาว ถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นในวัดวาอารามของภาคอีสาน
โครงการก่อสร้างสิมวัดวังไฮ บ้านวังไฮ ตำบลคำเตย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เข้าสู่ปีที่ 4 ปีของการก่อสร้างและอยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างคนสองเจเนอเรชัน คนรุ่นใหม่คิดและลงมือทำ คนรุ่นเก่าสนับสนุนให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น
อีกไม่กี่เดือน สิมหลังนี้น่าจะเสร็จสมบูรณ์ บอลบอกว่า ชีวิตที่อยู่กับงานที่เขารักนี้มา 4 ปี ทำให้ “ชีวิตมีครบทุกรส”
ความฝันร่วมของคนต่างวัย
“หลังจากเรียนจบคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกศิลปะไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมมีโอกาสไปทำงานศิลปะในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ก็ทำให้ได้เห็นว่าเขามีการเก็บรักษางานศิลปะล้านนาดีมาก ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม งานจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด งานปั้นตกแต่งวัด ทำให้เป็นโบราณสถานที่มีชีวิต แต่พอกลับมาดูวัดหลายแห่งในแถบลุ่มน้ำโขงบ้านเกิดของตัวเอง ก็พบว่าวัดหลายแห่งเก่าโทรมไร้การดูแล ผมก็เลยอยากจะสร้างสิมหรืออุโบสถนี้ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยร่วมกับคณะเจ้าภาพผู้มีศรัทธาที่มีเป้าหมายร่วมกัน การทำงานในครั้งนี้ยังมีเป้าหมายที่การสร้างบุคลากรทางศิลปะวัฒนธรรมของอีสานด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานปั้นงานวาด หรืองานแขนงอื่นๆ
“โครงการสร้างสิมฯ เกิดเป็นรูปเป็นร่างจากการที่ผมวาดรูปวัดวาอาราม แล้วโพสลงเฟซบุ๊กเป็นประจำ คุณป้ากิติมา ตงศิริ ท่านมีความสนใจศิลปะพื้นบ้านเหมือนกัน ท่านเห็นภาพที่ผมวาด ก็ถามผมว่า ‘วาดไปทำไม’ ผมก็ตอบแบบซื่อๆ ว่า ‘อยากสร้างครับ’ แกก็ถามเหตุผล ผมก็เล่าเป็นข้อๆ ว่า เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นการรื้อฟื้นแนวทางของศิลปะอีสาน รวบรวมบุคลากรใหม่ๆ โดยอาศัยความรู้ทางศิลปะที่เราร่ำเรียนมา”
บอลขอเอ่ยนาม กิติมา ตงศิริ คนต่างเจเนอเรชันที่มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาฝัน จนก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างคนต่างวัย คนหนุ่มสาวเป็นความคิดและออกแรง คนรุ่นลุงป้าตายายให้การสนับสนุน ชุมชนมีมติเห็นพ้องต้องกัน โครงการก่อสร้างสิมวัดหนองไฮ บ้านวังไฮ ตำบลคำเตย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จึงเริ่มขึ้นเมื่อปี 2562 ด้วยแนวทางการออกแบบที่มีแรงบันดาลใจจากศิลปะโบราณลุ่มแม่น้ำโขงผ่านการตีความของศิลปินรุ่นใหม่
แต่ความรับรู้ที่แตกต่างกันของคนต่างวัยก็ทำให้ในช่วงแรกของการทำงาน บอลต้องปรับจูนความคิดในการออกแบบสิมหลังนี้ร่วมกับชุมชน
“ถ้าพูดถึงสิมหรืออุโบสถ ความคุ้นเคยของชุมชนจะนึกถึงถาวรวัตถุที่นิยมสร้างในภาคกลาง อาคารหลังใหญ่ งานปั้นและงานเขียนวิจิตรอลังการ ลวดลายเยอะๆ เน้นสีทอง แต่สิ่งที่ผมทำ มันเป็นแค่ปูนทาสีขาว งานไม้แกะลวดลายเท่าที่จำเป็น ในสายตาชาวบ้านการตกแต่งแบบนี้มันเบาบางมาก ไม่วิจิตรเหมือนที่เห็นในวัดที่เขาคุ้นชิน
“ช่วงแรกผมพยายามอธิบายถึงสิ่งที่ผมจะทำกับสิมหลังนี้ และพาชาวบ้านไปเที่ยววัดเก่าๆ ในอีสาน และพยายามสะท้อนให้เห็นคุณค่าทางศิลปะพื้นบ้าน บางทีความสวยงามอาจไม่ใช่ความวิจิตร ความงามอาจจะเป็นรูปทรงซื่อๆ เรียบง่าย หรือลายแกะที่ไม่สมบูรณ์ บางครั้งถ้าเรามองดูดีๆ มันจรรโลงใจเหมือนกัน จรรโลงที่บางทีมันน่าขบขัน บางทีมันบริสุทธิ์ เขาก็ค่อยๆ ซึมซับ แรกๆ ผมพาพวกเขาตระเวนเที่ยววัด เพื่อพาพวกเขาไปมองเห็นในสิ่งที่ผมมองเห็น แต่สิ่งที่สะเทือนใจเหมือนกันคือพวกเราเห็นสภาพเสื่อมโทรมของวัดและสิมหลายๆ แห่ง”
จนในที่สุดคนรุ่นใหม่ก็สามารถปรับจูนความคิดกับคนรุ่นเก่า โครงการก่อสร้างสิมหลังนี้จึงเริ่มเดินหน้า
ฟอร์มทีมอเวนเจอร์สเพื่อสร้างสิม
“โครงการก่อสร้างสิมวัดหนองไฮ บ้านวังไฮ ตำบลคำเตย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562 ปัจจุบันงานอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์แล้วครับ ตอนนี้เหลือแค่งานแกะสลักไม้บางส่วนและเขียนรูปภายในสิมต่อให้เสร็จ ประมาณกลางปีนี้น่าจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ผมย้ายมาทำบานประตูและบานหน้าต่าง เพราะผมอยู่กับงานวาดผนังมาตลอด ก็อยากจะพักผ่อน บางทีเราเขียนรูปซ้ำๆ มันเหนื่อย ก็ย้ายมาปิดทองคำเปลวที่บานประตูกับหน้าต่าง” บอลเล่าถึงการพักผ่อน การพักผ่อนของเขาคือการย้ายจากงานหนึ่งมาทำอีกงานหนึ่ง
เป้าหมายหนึ่งของบอลในการทำโครงการก่อสร้างสิมหลังนี้คือสร้างบุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน บอลอายุ 33 แต่ทีมงานอายุน้อยกว่าเขาทั้งหมด
“พวกเขาอายุน้อยกว่าผมทั้งหมดเลย มีเพียงช่างแกะสลักไม้ที่อาวุโสกว่าผม เขาอายุประมาณ 40 กว่าปีครับ แต่ที่เหลือก็อายุไม่เกิน 30 พวกเขาเป็นศิลปินรุ่นใหม่ เป็นนักศึกษาศิลปะ รวมถึงคนทั่วไปที่ทราบข่าวว่า พวกเรากำลังทำอะไร พวกเขาสนใจก็เดินทางมาช่วยทำครับ”
สำหรับการสร้างสิมหลังนี้ บอลเริ่มจากการออกแบบลายเส้นต่างๆ ขึ้นมาจากการศึกษาข้อมูล โดยมีแนวความคิดและแรงบันดาลใจจากรูปแบบของสิมอีสานในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งศิลปกรรมในยุคนี้เรียกว่า ‘ยุคอีสานเก่าวัฒนธรรมลาว’ โดยภาพรวมมีลักษณะศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมลาวล้านช้าง จากนั้นส่งต่องานออกแบบให้รุ่นน้องที่เป็นสถาปนิก ซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่
“งานนี้เป็นงานแรกของเขาครับ เขาช่วยดูเรื่องโครงสร้างอาคารและความเป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรมจากแบบที่เราขีดเขียนไว้ในเบื้องต้น จากนั้นส่งต่อให้วิศวกรซึ่งเป็นเพื่อนของผมเหมือนกันครับ จากนั้นเราก็เริ่มพูดคุยเรื่องการก่อสร้างจริง โครงสร้างที่อาศัยระบบฐานราก เราใช้ช่างรับเหมาทั่วไปครับ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมตามแบบ”
ในส่วนของงานศิลปะ ถ้าฟังจากแนวทางของศิลปะที่เขาต้องการทำกับสิมหลังนี้แล้ว ก็ดูจะหาช่างเขียนรูป ช่างปั้น และช่างไม้ยากเสียหน่อย เพราะการขาดช่วงของการส่งต่อความรู้จึงทำให้ขาดช่าง
“มาถึงทีมช่างปั้นช่างเขียนและช่างไม้ ก็ต้องเสาะหาก็ต้องหากันเองละครับทีนี้ เริ่มงานไม้ ผมก็ไปเจอช่างคนนี้โดยบังเอิญ เขาเป็นช่างไม้ที่แกะพวกตุ๊กตาไม้ ผมก็เอาลวดลายที่ผมวาดไปให้ลองแกะ ปรากฏว่าเขาสามารถทำได้ เราก็ได้ช่างไม้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งใจ คือการสร้างบุคลากรทางศิลปวัฒนธรรมให้เกิดในชุมชนและสร้างอาชีพให้เขาด้วย
“ส่วนช่างปั้นก็จะเป็นรุ่นน้องที่เรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง เขากลับมาอยู่บ้านโดยที่ไม่ได้ทำงานศิลปะตามที่เรียนมา ผมจึงอยากจุดประกายไฟให้เขา ก็ชวนเขาร่วมทีม เราก็ได้ช่างปั้นอีกหนึ่งคน ส่วนช่างวาดก็คือผมเป็นคนวาดเองทั้งหมดครับ แต่มีน้องๆ ที่เข้ามาช่วยอยู่เรื่อยๆ เพราะบางทีผมก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าใครสนใจอยากมาช่วย ก็มีน้องๆ หลายคนที่มาช่วยและมาศึกษา มาเรียนรู้การทำสีด้วย”
สิมหลังนี้มีช่างเขียนรูป 1 คนคือบอล ช่างไม้ 1 คน และช่างปั้น 1 คน โดยมีลูกมือที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา
“ผมจะอยู่ที่วัดตลอด ผมทำเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดเป็นหลัก ส่วนใครอยากจะเข้ามาก็จะแวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ ครับ” บอล เล่า
ทำอดีตให้ร่วมสมัย
“สิมหลังนี้มีรูปแบบศิลปะดั้งเดิมแถบลุ่มแม่น้ำโขงครับ แถบจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร ผมได้แรงบันดาลใจมาจากสิมหลังอื่นๆ ในอีสานที่ยังคงหลงเหลือสภาพให้ศึกษาครับ ซึ่งปรากฏหลักฐานโบราณกว่า 200 ปี เป็นเค้าโครงหลักในการทำสิมหลังนี้ ส่วนการประดับและตกแต่งเราได้นำศิลปกรรมที่พบในแถบจังหวัดนครพนมมาเล่าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานปั้นหรืองานวาด หรือแม้กระทั่งเรื่องราวที่ถูกเขียนในงานจิตรกรรม ก็เป็นการเล่าเรื่องอุรังคนิทาน ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านที่บอกเล่าการสร้างพระธาตุพนม และการเกิดบ้านเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง
“โดยปกติแล้วงานจิตรกรรมอีสานจะไม่ปรากฏเรื่องเล่าอุรังคนิทานครับ แต่จะปรากฏอยู่ในหนังสือใบลานซึ่งไม่มีภาพ เราพยายามเล่าเรื่องที่มีอยู่แล้วให้ปรากฏเป็นภาษาภาพ ส่วนการตกแต่งภายนอกจะเป็นงานปั้น ก็มีการหยิบเอาศิลปกรรมดั้งเดิมขึ้นมาสร้างใหม่ เล่าใหม่ในบริบทใหม่ เช่น พญานาคบางตัวอาจจะอยู่ในโบราณวัตถุบางอย่าง ซึ่งเป็นพุทธศิลป์ที่เป็นวัตถุ เรานำมาปั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เป็นถาวรวัตถุ นำมาเล่าใหม่ในบริบทใหม่ให้กลับมามีชีวิตใหม่ในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่รูปแบบที่เรารับรู้หรือคุ้นชิน”
สิมหลังนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความทะเยอทะยานทางศิลปะ แต่ศิลปินผู้นี้เคารพประวัติศาสตร์และความทรงจำของบุพกาล เขาจึงศึกษาอดีตอย่างละเอียดเพื่อนำมาเล่าใหม่อย่างเทิดทูน โดยอ้างอิงการใช้สีที่เป็นที่นิยมในจิตรกรรมโบราณ ซึ่งใช้สีที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีการนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในงานจิตรกรรมภายในวัด บอลจึงเลือกใช้แนวทางนี้ เพราะเขาหวังว่า ในอนาคตมันอาจจะเป็นแนวทางให้วัดร่วมกับชุมชนรื้อฟื้นธรรมเนียมการเขียนรูปแบบโบราณ
“ภายในสิม จะเป็นงานเขียนจิตรกรรมสีฝุ่น โดยใช้สีดินจากธรรมชาติ สีจากดินจากหิน พวกเราทำขึ้นมาเองครับ โดยอาศัยข้อมูลจากงานวิจัย การใช้ดินการใช้ยางไม้ ดินสอพองมารองพื้น ซึ่งเป็นวิธีการเขียนภาพแบบโบราณ”
นอกจากสีฝุ่นที่เป็นระเบียบวิธีของช่างโบราณ การเลือกใช้สียังถูกเลือกใช้ด้วยเหตุผลทางปรัชญา
“เรามีปรัชญาในการใช้สีฝุ่นในการเขียนงานจิตรกรรม เราใช้ดินที่อยู่ในบ้านเกิดมาวาดถวายเป็นพุทธบูชา อีกนัยหนึ่ง ดินคือพระแม่ธรณี เป็นสักขีพยานในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรานำมาขีดเขียนไว้เพื่อให้พระแม่ธรณีเป็นพยานให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาบวชในสิมหลังนี้ เป็นการบูชาดินบ้านเกิดของตัวเองด้วยครับ” บอล เล่า
ความงามของความง่าย
ระหว่างการสร้างสิมหลังนี้ มีผู้คนมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่บอลทำ จึงมีคนติดต่อเข้ามาให้เขาสร้างสิมแบบนี้ในที่ต่างๆ แทนที่จะคว้าโอกาส บอลกลับบอกให้รอ รอดูในสิ่งที่เขากำลังทำให้แล้วเสร็จเสียก่อน
“ก่อนหน้านี้มีคนติดต่อมาเยอะ แต่ผมพยายามบอกเขาไปเสมอว่า อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่ผมทำ เพราะผมทำครั้งแรก รอให้ผมทำเสร็จก่อน ถ้าผมเรียนรู้สำเร็จแล้ว ผมจะทำแน่นอน แต่ตอนนี้ผมยังไม่รับเพราะยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมกำลังทำ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ถ้าทำสำเร็จแล้ว มันจะสรุปได้ทุกอย่าง ทั้งรูปแบบการตกแต่ง ปรัชญาของสิม รวมถึงค่าใช้จ่าย
“ผมพยายามรักษาสัจจะวัสดุ ให้วัสดุแสดงตัวออกมาเอง โดยไม่พยายามเอาสีทองไปฉาบทา รักษาความเรียบง่ายและอารมณ์บางอย่างที่เราไปซึมซับมาจากวัดโบราณ ประดับประดาแต่น้อยครับ เพื่อให้วัดคงไว้ซึ่งความสมถะ เพราะสุดท้ายแล้วสิมมีหน้าที่ใช้งานแค่นี้เองครับ เป็นสถานที่ให้คนเข้ามาบวช สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นแนวทางในการสร้างวัดที่ต้นทุนไม่สูงครับ แล้วอยากมีโบสถ์ ซึ่งนอกจากมีโบสถ์แล้ว ยังได้สะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยครับ” บอล บอก และเขายังคงทำงานต่อไป
ขอบคุณภาพจาก : วีรยุทธ ไมตรี