‘นิเวศสุนทรีย์’ ศิลปะที่ช่วยให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น 

“นิเวศสุนทรีย์ทำให้เราได้ทั้งผลงานและวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ”

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ “ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร” หรือ “อาจารย์วิจิตร” วัย 60 ปี ผู้ร่ำเรียนศิลปะจนจบปริญญาเอก เพื่อทำงานศิลปะให้กับชุมชน และเรียกตัวเองว่านักนิเวศสุนทรีย์ การเรียนต่อทำให้อาจารย์พบว่าศิลปะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างประโยชน์และแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับสังคมได้อีกด้วย

ในวัย 50 ปลายของชีวิต อาจารย์ได้เจอพื้นที่ริมคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม และเริ่มต้นชีวิตบทใหม่อย่างเรียบง่ายตามวิถีไทยไปพร้อม ๆ กับการสร้างพื้นที่ชุมชนตามหลักนิเวศสุนทรีย์ในแบบที่อาจารย์ตั้งใจไว้ เป็นจุดเริ่มต้นของการชุบชีวิตศาลเจ้าร้างให้กลายเป็น ‘หอศิลป์ศาลเจ้า’ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศสุนทรีย์ที่จะเป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ นับเป็นรากฐานเล็ก ๆ ที่จะค่อย ๆ แตกกิ่งก้านสาขาในการทำให้นิเวศสุนทรีย์เป็นที่รู้จักและกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นความหวังและความตั้งใจสูงสุดของศิลปินรุ่นใหญ่ที่ใช้ชีวิตด้วยความเชื่อมั่นเสมอว่า ‘คุณค่าของศิลปะนั้นเป็นได้มากกว่าความสวยงาม’

“เมื่อระบบนิเวศมีปัญหา ปกติเราจะแก้ด้วยวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ แต่ในฐานะศิลปินผมพบว่าศิลปะหรือสุนทรียศาสตร์ก็สามารถแก้ปัญหาระบบนิเวศได้”

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร หรือ ‘อาจารย์วิจิตร’ วัย 60 ปี ศิลปินนักนิเวศสุนทรีย์และผู้จัดการสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี ผู้ร่ำเรียนศิลปะจนจบปริญญาเอกที่ไม่เลือกทำงานด้านวิชาการ แต่ผันตัวมาทำงานศิลปะให้กับชุมชน และเป็นผู้ค้นพบแนวคิด ‘นิเวศสุนทรีย์’ หรือการนำศิลปะมาช่วยแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนให้สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศที่อยู่โดยรอบเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

อาจารย์บอกว่าเราเคยใช้ชีวิตกันภายใต้แนวคิดนี้นานมากแล้ว เพียงแต่มันอาจไม่ได้ถูกให้คำจำกัดความ และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้สุนทรียะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยค่อย ๆ เลือนหายไป

ด้วยความตั้งใจที่จะเริ่มต้นสร้างนิเวศสุนทรีย์จากบ้านของตัวเอง อาจารย์จึงออกตามหาพื้นที่นั้นและได้ไปเจอพื้นที่ริมคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม กลายเป็นจุดเริ่มต้นสุนทรียะของชีวิตบทใหม่ด้วยการชุบชีวิตศาลเจ้าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างให้กลายเป็น “หอศิลป์ศาลเจ้า” เพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศสุนทรีย์ และเชื่อมศิลปะกับชุมชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

จุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปะเพื่อสังคม               

“ในยุคที่ผมจบใหม่ ๆ เป็นยุคที่คนนิยมทำงานอิสระ ช่วงนั้นคนเป็นครู เป็นอาจารย์กันน้อย ทุก ครั้งที่ผมกลับไปเรียนต่อก็มักจะถูกอาจารย์ถามว่ามาเรียนทำไม เพราะส่วนใหญ่คนจะเรียนต่อเพื่อไปทำตำแหน่งทางวิชาการหรือความก้าวหน้าทางอาชีพ แต่ผมไปเรียนเพราะผมอยากรู้

“ตอนเรียนปริญญาโทผมได้เจอเรื่องสาธารณศิลป์ ผมก็เลยคิดว่าถ้าไม่เข้าไปเรียนมันก็จะไม่มีสถาบันรองรับแนวคิดนี้ ผมก็เลยเข้าไปเรียนแล้วทำโปรเจกต์ปล่อยหิน ให้คนขอหินจากเราไปปล่อยในป่า (เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในการนำสิ่งของในธรรมชาติกลับคืนสู่ธรรมชาติ) ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นเรื่องที่ทันสมัย แปลกตามาก

“สิ่งที่ผมค้นพบมันมีเงื่อนไขว่าต้องเป็น Art for Public ไม่ใช่ Public Art ถ้าเป็น Public Art มันคือการนำงานศิลปะไปตกแต่งเฉย ๆ อย่างงานประติมากรรมที่ตั้งอยู่ในสวน แต่สาธารณศิลป์คือ Art for Public คือการนำศิลปะไปแก้ปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับสังคม อย่างเช่น การทำกระบวนการศิลปะเพื่อรณรงค์ป้องกันการสูญพันธุ์ของเต่าทะเล กระบวนการเขียนแขวนในโครงการประติมานุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ธรณีวิบัติ-สึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย หรือกระบวนการศิลปะเพื่อรณรงค์ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือ ฯลฯ โดยเงื่อนไขสำคัญของสาธารณศิลป์คือต้องมีการรวมตัวกันของผู้คน

“ผมกลับไปเรียนปริญญาเอกด้วยเหตุผลเดียวกับตอนปริญญาโทคืออยากจะทำให้แนวคิดใหม่ที่ผมค้นพบถูกยอมรับในสถาบันการศึกษา โชคดีที่ผมได้ไปทำประเด็นเกี่ยวกับการปัญหาในการปลูกข้าว ทำนา ตอนแรกที่เข้าไปทำ ทุกคนก็สงสัยว่าทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับนาได้ เช่น ความเชื่อว่าชาวนาต้องยากจน นาที่ดีต้องปลูกง่าย โตเร็ว โดยปกตินาข้าวมันจะไม่สวย มีปัญหาเรื่องศัตรูพืช วัชพืช  ผมเข้าไปทำกระบวนการโดยใช้หลักนิเวศสุนทรีย์ ทำเป็นนาแบบโบราณ รูปวงกลม พอเป็นนาวงกลม มันก็จะสูงขึ้น สามารถป้องกันแมลง ป้องกันนกไม่ให้ลงมากินได้ เป็นระบบที่ช่วยป้องกันตัวเอง สร้างทั้งความสวยงามและประโยชน์”

หอศิลป์ศาลเจ้า สุนทรียะที่สร้างขึ้นเพื่อชุมชน

“ตอนจบปริญญาเอกช่วงแรก ๆ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งรู้ว่าผมมีแนวคิดเกี่ยวกับนิเวศสุนทรีย์ เขาก็เลยพาผมไปดูพื้นที่ริมคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม ไปดูว่าพอจะทำอะไรได้บ้างไหม พอไปเดินดูผมก็รู้สึกว่าที่แปลงนี้มันสวย อาคารเก่าก็น่าใช้ ตรงนั้นมีศาลเจ้าเก่าอยู่ กำลังจะถูกรื้อทิ้ง ผมเลยคิดว่ามันน่าจะทำประโยชน์อะไรกับที่ตรงนี้ได้

“สืบเนื่องจากการทำงานสาธารณศิลป์ ทำให้ผมคิดว่าควรจะมีพื้นที่ที่สามารถควบคุมความเป็นสาธารณศิลป์เองได้ ก็เลยตั้งต้นจากบ้านตัวเองและพื้นที่รอบบริเวณบ้าน ตั้งใจจะทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศสุนทรีย์ ให้ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้ เลยเกิดเป็น ‘หอศิลป์ศาลเจ้า’ พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งตอนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จไปประมาณ 60% ส่วนตัวอาคารจะเหลือเฉพาะร้านกาแฟริมคลอง นอกจากนั้นก็เป็นการปลูกต้นไม้ ทำถนน ทำสวนเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามขึ้น

“ผมคิดว่าถ้าเปิดพื้นที่ตรงนี้เป็นสาธารณะแล้ว น่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ของคนในชุมชนมากขึ้น ผมตั้งใจว่าในช่วงทำการทดลองเปิดให้ใช้สถานที่จะชวนคนในชุมชนตั้งแต่ระดับนายอำเภอ นายก อบต.ไปจนถึงคุณป้าคุณลุงในชุมชนเข้ามาเรียนรู้เรื่องศิลปะ ลองทำงานศิลปะด้วยตัวเอง เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักงานศิลปะมากขึ้น ผมไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องชอบ แค่อยากให้เขาได้ลองเข้ามารู้จัก รวมทั้งสัมผัสมันด้วยตัวเองในฐานะที่เป็นคนในชุมชนที่มีหอศิลป์อยู่ในพื้นที่”

“ตอนนี้นิเวศมันซ้ำซากและเริ่มขาดสุนทรียะแล้ว ชุมชนยังขาดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ส่วนที่เก่าที่มีอยู่ก็ทรุดโทรม บ้านเรือนเก่า ศาลาริมน้ำถูกปล่อยทิ้ง ไม่มีการซ่อมบำรุง ผมอยากจะสร้างบางอย่างที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้น อาจจะเป็นงานประติมากรรมรูปคนขุดคลองตามจุดเด่นทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คใหม่ให้กับชุมชน

“ชาวบ้านในชุมชนเขามีความถนัดในด้านการบริการซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบมาก เวลามีงาน มีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หอศิลป์ฯ คนอื่นเขาก็แนะนำว่าให้สั่งอาหารกล่องมาต้อนรับ แต่ผมไม่เอา ผมให้ป้ายกหม้อมานั่งหุงข้าว ให้ใช้เตาถ่านไม่ใช้เตาแก๊ส ขอให้ใช้กระทงใบตองใส่ ป้าก็ต้องมานั่งเย็บกระทงอยู่ตรงนี้ ตอนแรกเขาก็ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมต้องทำให้มันยาก แต่พอทำไปเรื่อย ๆ  มีคนเข้าไปคุยด้วย เขาก็สนุก ยิ้มแย้ม บางครั้งผมก็ไม่ได้ให้เงินจำนวนมากมายอะไร แต่เขาก็มาช่วย เตรียมอาหาร เตรียมขนมมาให้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชาวบ้านเขารู้สึกอย่างไรเวลาที่มาทำงานกับผม แต่ผมสัมผัสได้ว่ามีบางอย่างที่ต่างจากคนอื่น

“วิธีการที่ผมเข้าไปทำงานกับชุมชนจะแตกต่างจากเวลาที่คนอื่นเข้าไปทำ ผมจะเริ่มด้วยใช้หลักสุนทรียสนทนา สุนทรียะเชิงสัมพันธ์ และหลักวัฒนธรรมชุมชน อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ปกติเวลามีคนเข้าไปทำงานในชุมชน ก็จะถือเอกสารเข้ามาสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ เข้ามาขอความร่วมมือ ขอให้รวมกลุ่มกันไปฟังบรรยาย ฯลฯ แต่สิ่งที่ผมทำคือเวลามีแขกมาในพื้นที่ เข้ามาเยี่ยมชม หรือมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมก็จะชวนป้าซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เข้ามาช่วยทอดกล้วยแขกให้ แล้วก็ชวนป้ากินกล้วยแขกที่ทอดด้วยกันพร้อมกับแขกของผมทำให้เกิดความกลมกลืน ให้เขาไม่รู้สึกว่าเราเป็นคนอื่น”

‘เก็บ ทิ้ง สร้าง’ หัวใจสำคัญของนิเวศสุนทรีย์

“แนวคิดนิเวศสุนทรีย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กับทุกสเกลของชีวิตตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ ทำให้เกิดผลงานและวิถีชีวิตที่มี่คุณภาพ สามารถปรับใช้ได้กับทุกศาสตร์ ทั้งสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักสำคัญคือการ ‘เก็บ ทิ้ง สร้าง’ เข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น ในสเกลเล็ก ๆ อย่างห้องหรือบ้านของตัวเองก็สามารถใช้หลักการนี้โดยการ

  • เก็บ – เลือกเก็บสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ สามารถต่อยอดทำอะไรเพิ่มเติมได้
  • ทิ้ง – เลือกทิ้งสิ่งที่คิดว่าเป็นขยะ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่งอกเงย  หรือเก็บไว้แล้วอาจทำให้เกิดอันตราย
  • สร้าง – ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก เราต้องสร้างสิ่งที่จะตอบโจทย์การใช้งานของคนที่อยู่ในพื้นที่ โดยใช้หลักสุนทรียะนำ บางบ้านไม่เข้าใจว่าบ้านตัวเองจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง ต้องมีระเบียงไหม มีสวนไหม หลายบ้านที่ลูกหลานพาพ่อแม่เข้ามาอยู่บ้านในเมือง ทำให้วิถีชีวิตพ่อแม่เปลี่ยนแปลงไปมาก พื้นที่ไม่มีลานบ้านให้เขานั่งเล่น ไม่มีครัวให้เขาได้ผัดอะไรร้อน ๆ กลิ่นแรง ๆ

“ถ้าย้อนเวลากลับไปประมาณ 100 ปีที่แล้ว เราจะไม่ต้องพูดเรื่องนี้กันเลย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราใช้ชีวิตกันด้วยความสุนทรียะที่สุดแล้ว ไม่มีของแปลกปลอม หรือวัตถุที่กำจัดได้ยาก มาทำลายระบบนิเวศ”

เพราะศิลปะเป็นได้มากกว่าความสวยงาม

“นิเวศสุนทรีย์ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป แต่เป็นเรื่องที่สนุกเพราะมันจะต้องถูกคิด ถูกปรับใหม่ในทุกครั้งที่นำไปใช้ สามารถปรับได้ตลอดเวลา เช่น ถ้านายอำเภอมาใช้แนวคิดนี้ เขาก็จะนำไปปรับใช้กับหลักรัฐศาสตร์ ทำให้เมืองน่าอยู่ได้ด้วยกระบวนรัฐศาสตร์ โดยไม่ต้องใช้แนวคิดทางสถาปนิกไปออกแบบเลย

“ผมอยากทำให้แนวคิดนี้มันชัดเจนขึ้น ถ้ามีคนสักกลุ่มลองนำไปปรับใช้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หรือถ้าให้ฝันไกลออกไปกว่านั้นผมก็อยากให้นำแนวคิดนี้ไปลองใช้ในการพัฒนาพื้นที่ระดับเมือง  เพราะแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ร่วมสมัยและเป็นหลักของไทย ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราก็จะเข้าใจปัญหามากกว่าคนอื่น สามารถดูแลส่วนรวมได้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในอนาคต”

อยากชวนให้ทุกคนลองเข้าไปสัมผัสความสุนทรียะ ไปลองเรียนรู้ด้วยตัวเองในพื้นที่จริงสักครั้ง ไม่แน่ว่าเราอาจจะมองศิลปะในมุมที่แตกต่างไปจากเดิม ใช้ชีวิตได้อย่างมีสุนทรียภาพมากขึ้น สามารถเลือกได้ว่าควรจะเก็บ จะทิ้ง และสร้างอะไรขึ้นมาในชีวิตบ้าง รวมทั้งสามารถสร้างระบบนิเวศที่อยู่รอบตัวเราให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศิลปะในแบบนิเวศสุนทรีย์ได้ที่ 

พิกัด หอศิลป์ศาลเจ้า ศาลายา 43 หมู่ 1 ตำบลศาลายา ถนนเลียบทางรถไฟ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 

โทร. 0894473947 FB : นิเวศสุนทรีย์ 

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ