ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ ‘กินกับอี๋’ ร้านอาหารเล็กๆ ในอำเภอเมืองภูเก็ตได้รางวัลบิบ กูร์มองด์จากมิชลิน ไกด์
ร้านนี้เปิดเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ แต่เป็น 3 วันที่แม่ครัวของร้านแทบไม่มีเวลาพักจากหน้าเตา หน้ากระทะ ลูกค้าหลายรายเลือกโทรมาจองโต๊ะล่วงหน้า เพราะเป็นที่รู้กันว่าหากมาแบบวอล์กอินอาจต้องรอคิวนาน
แม่ครัวหลักประจำร้านมีอยู่ 2 คน คนหนึ่งอายุต้น 70 กับอีกคนอายุแค่ 20 ปลายๆ
“หน้าที่ในการทำอาหารหลักๆ จะเป็นเรากับอี๋ 2 คน เรามีเหตุผลอยู่ 2 อย่างในการเปิดร้านนี้และเลือกมาเป็นแม่ครัว หนึ่งเพราะไม่ต้องการให้ฝีมือทำอาหารของอี๋หายไป หากว่าวันหนึ่งอี๋ไม่อยู่แล้ว และสองเพื่อที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆ อี๋อีกครั้งเหมือนตอนเป็นเด็ก”
ทับทิม – ทิพย์สุดา ขันชัยจตุวิทย์ เจ้าของร้านกินกับอี๋บอกถึงแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอกลับมาเปิดร้านอาหารที่บ้านของตัวเอง จนร้านกลายเป็นที่รู้จัก ไม่เฉพาะแต่ในภูเก็ต
อย่างไรก็ตาม สำหรับทับทิมแล้ว ชื่อเสียงและรางวัลนั้นเป็นความภูมิใจที่ได้รับระหว่างทาง
เพราะจุดเริ่มต้นและเรื่องราวระหว่างเธอกับอี๋ต่างหากคือสิ่งสำคัญที่สุด
อี๋ที่ไม่ได้แค่แปลว่าป้า แต่แปลว่าทุกอย่างในชีวิต
“อี๋ หรือ อาหยีเป็นภาษาจีนฮากกา (จีนแคะ) แปลว่า พี่สาวหรือน้องสาวของแม่ ถ้าภาษาไทยก็คือ ป้า หรือ น้าก็ได้ อย่างบ้านเราต้องถือว่าอี๋เป็นป้า เพราะเขาคือพี่สาวคนโต ขณะที่แม่ของเราเป็นลูกคนสุดท้อง”
ทับทิมอธิบายความหมายของคำว่า ‘อี๋’ ให้คนที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนเข้าใจ
ด้วยความที่พ่อแม่ของทับทิมต้องทำงานนอกบ้านตั้งแต่เธอยังเด็ก หน้าที่ในการดูแลหนูน้อยจึงตกเป็นของอี๋แทน ดังนั้น หากจะบอกว่าเธอมีอี๋เป็นแม่คนที่ 2 ก็คงไม่ผิดนัก
“พ่อกับแม่ของเราต้องออกไปทำงานหาเงินตั้งแต่เรายังเล็ก แต่ถ้าจะเอาเราไปให้คนอื่นเลี้ยงก็รู้สึกไม่ไว้ใจเหมือนกับคนในครอบครัว ก็เลยตกลงกันว่าให้อี๋เลี้ยงดีกว่า พ่อแม่เลยจ้างอี๋แล้วให้เป็นเงินเดือน อี๋เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็กจนโต เรากับอี๋ถึงได้สนิทกันมาก อี๋เป็นคนที่รู้ใจเราทุกอย่าง รู้ว่าเราชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร อาหารแบบไหนที่เราชอบ
“สำหรับเราอี๋คือที่สุดในเรื่องอาหาร เราโตมาด้วยกับข้าวรสมือของอี๋ ไม่ว่าจะไปกินอาหารที่ภัตตาคาร หรือร้านนอกบ้านที่ไหน ก็ไม่มีใครทำแล้วถูกปากถูกใจเราเท่ากับอี๋เลย”
ไก่แป๊ะซะ กระดูกหมูเต้าเจี้ยว น้ำชุบหยำ เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของเมนูที่อี๋ทำได้อร่อยจนทับทิมติดใจในรสมือมาตั้งแต่เด็ก
แต่ความสำคัญของอี๋ยังมีมากกว่านั้น เพราะเมื่อใช้เวลาด้วยกันตลอด ยกเว้นเวลาที่ต้องไปโรงเรียน อี๋จึงเป็นส่วนหนึ่งในแทบทุกจังหวะชีวิตของหลานสาวที่มีวัยห่างกันกว่า 40 ปี
“เวลากิน เราก็กินกับอี๋ นอนก็นอนกับอี๋ ดูหนัง ฟังเพลง ทำทุกอย่างกับอี๋หมด เวลามีอะไร ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ เราก็คุยกับอี๋ เราผูกพันกับอี๋มาก เรียกว่าเป็นทุกอย่างในชีวิตเลย”
ช่วงเวลาที่ป้า – หลานคู่นี้ต้องห่างกันจริงจังเป็นครั้งแรกคือตอนที่ทับทิมต้องจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงราย ไม่แปลกที่เด็กสาวจะร้องไห้ในวันเดินทาง
“เราบอกอี๋ว่าให้ฝึกใช้โทรศัพท์มือถือนะ มีอะไรจะได้คุยกัน ช่วงแรกๆ ที่ไปอยู่ที่นั่น มีวันหนึ่งอี๋โทรมาถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง กินข้าวได้ไหม เราได้ยินแล้วร้องไห้เลย เพราะอี๋รู้ว่าเราเป็นคนกินอะไรแล้วต้องอร่อย ถ้ากับข้าวไม่ถูกปาก เราจะไม่กินเลย เขากลัวว่าเราจะไม่ยอมกินข้าวกินปลา
“ยิ่งเห็นว่าอี๋เป็นห่วง เราก็ยิ่งคิดถึงเขา คิดถึงตอนอี๋พาไปเที่ยว ตอนนั่งดูหนังด้วยกัน ตอนอี๋ทำกับข้าวให้กิน หรือแม้แต่ตอนเราทำผิดแล้วอี๋ตี เราก็ยังคิดถึง
“มันมีแต่ความคิดถึงเต็มไปหมด”
ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ทับทิมได้กลับบ้านที่ภูเก็ตเพียงปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์ หญิงสาววัย 29 จำได้ว่า ทุกครั้งที่รู้ว่าเธอกลับบ้าน อี๋จะหาซื้อวัตถุดิบเอาไว้แบบจัดเต็ม เพื่อเตรียมทำอาหารให้หลานรักได้กินจนหายคิดถึง
“เวลาเรากลับมาบ้าน คนแถวบ้านจะรู้กันเลย เพราะอี๋จะเตรียมอาหารไว้หลายเมนู พิเศษกว่าปกติ แล้วก็จะทำเผื่อเพื่อนบ้านด้วย แต่เราอยู่ได้แค่อาทิตย์เดียวก็ต้องกลับ ยิ่งพอเรียนจบแล้วรับราชการอยู่ที่เชียงรายก็ทำให้แทบไม่มีโอกาสได้กลับมาอยู่ใกล้กับอี๋อีก”
หน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงานดูเหมือนจะยิ่งทำให้ทับทิมต้องอยู่ห่างไกลจากคนที่เธอรักและผูกพันมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าเธอกับอี๋คงไม่มีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตด้วยกันอย่างใกล้ชิดเหมือนในอดีตอีก
“มึงจะขายใคร … กูจะคอยดู”
หลังจากทำงานไปได้สักพักใหญ่ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ทับทิมตัดสินใจลาออกและกลับบ้านเกิด
“ยายของเพื่อนที่ทำงานป่วยแล้วเสียชีวิต เขาอายุไล่เลี่ยกันกับอี๋เลย เราสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก คิดกลับกันว่าถ้าเป็นอี๋ เราจะทำอย่างไร เราจะไม่มีวันได้ใช้ชีวิตด้วยกันกับอี๋อีก ไม่มีใครรู้ใจ ไม่มีใครคอยทำอาหารอร่อยๆ ให้กิน และฝีมือในการทำอาหารของอี๋ก็คงจะสูญหายไปพร้อมกับตัวอี๋โดยที่ไม่มีใครสืบทอด
“แต่ถ้าเราได้เรียนรู้ ได้ฝึกทำอาหารกับอี๋ อย่างน้อยรสมือของอี๋ก็ยังอยู่กับเรา แล้วเราเองก็จะได้กลับไปใช้ชีวิตกับอี๋อีกครั้ง ไม่ต้องอยู่ห่างกันอีก”
หลังจากครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง ทับทิมมองว่าคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการกลับไปทำอาหารขายที่บ้านเกิด โดยมีอี๋เป็นคนถ่ายทอดวิชาในครัวให้ นั่นคือที่มาของร้านกินกับอี๋
เดิมทีทับทิมตั้งใจจะทำร้านแบบเดลิเวอรี เพราะมีเพื่อนที่ภูเก็ตทำงานออฟฟิศและที่สนามบินอยู่ไม่น้อย น่าจะมากพอเป็นฐานลูกค้าช่วงเริ่มต้นได้ และวางแผนไว้ว่าจะเปิดร้านแค่วันจันทร์ – พฤหัสบดี
“แต่ทำไปสักพัก แม่เขาดันไปบอกเพื่อนว่าเราจะเปิดร้านอาหารที่บ้านวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ด้วย พอคนเริ่มมากิน เราก็เลยต้องเลยตามเลย ทั้งๆ ที่เวลานั้นที่บ้านเพิ่งจะมีโต๊ะอาหารแค่โต๊ะเดียว แต่เราก็คิดว่าไหนๆ แล้วก็น่าจะลองดูสักตั้ง”
ทับทิมฝึกทำอาหารกับอี๋จนฝีมือเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลายเป็นว่าคนแรกที่คัดค้านความคิดในการเปิดร้านอาหารที่บ้านกลับเป็นอี๋ ครูในครัวของเธอเอง
“อี๋มองว่าการทำอาหารมันเหนื่อย คนทำต้องละเอียด และที่สำคัญต้องรับผิดชอบต่อคนกิน อี๋กลัวว่าเราจะไม่จริงจัง ทำไปนานๆ แล้วจะเบื่อ คงไปได้ไม่กี่น้ำ อีกอย่างหนึ่ง บ้านก็อยู่ในตรอก แล้วขายแค่สัปดาห์ละ 3 วันอีก ใครจะมากิน”
“มึงจะขายใคร แล้วขายแค่ 3 วัน มึงจะขายพ่อมึงกินเหรอ กูจะคอยดู ” คือคำพูดของอี๋ที่ทับทิมยังจำได้จนวันนี้
เพราะรู้จักนิสัยใจคอกันเป็นอย่างดี ทับทิมจึงรู้ว่าวิธีที่ดีที่สุดในการตอบโต้ความเห็นของอี๋ หากแต่ คือการลงมือทำให้เห็นจริง หลานสาวจึงพยายามเรียนรู้ทักษะการทำอาหารจากป้าให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งแบบครูพักลักจำแล้วแอบทำเอามาให้ลองกิน และแบบที่ขอให้อี๋สอนโดยตรงหน้าเตา หากจานไหนอี๋ให้ผ่านก็เพิ่มเข้าไปในเมนูที่ขายได้ทันที
“การที่เราจะบอกถึงสิ่งที่เราคิดหรือเชื่อกับคนรุ่นอี๋ สิ่งที่มีพลังที่สุดไม่ใช่การไปเถียงกับเขา แต่เป็นการลงมือทำให้เห็น เขาไม่มีทางยอมรับหรอกถ้าเราเอาแต่พูด แต่ถ้าเราลงมือทำให้เห็นว่า อย่างน้อยเราตั้งใจ เราเอาจริง แล้วเมื่อมันเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เขาก็จะค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของเขาเอง ”
แม้ปากจะด่า แต่เมื่อถึงเวลาเมื่อเปิดบ้านเป็นร้านขึ้นมาจริงๆ อี๋ก็ลงมาช่วยด้วยการเป็นแม่ครัวหลัก ซึ่งแต่ละเมนู ไม่ว่าจะเป็นปลาทอดเครื่อง น้ำชุบหยำ กระดูกหมูเต้าเจี้ยว หมูฮ้อง หมูอี๋ และอีกหลายเมนูล้วนถูกปากลูกค้า จนทำให้ร้านเล็กๆ อย่างกินกับอี๋กลายเป็นที่รู้จักภายในเวลาอันรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ลูกค้าหลายคนติดอกติดใจไม่ใช่แค่เพียงรสชาติของอาหารเท่านั้น หากแต่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของแม่ครัวอย่างอี๋ที่ปรากฏตัวในชุดวันพีชอย่างผ้าถุงกระโจมอกเท่านั้น
“ถ้าไม่แต่งชุดนี้มันทำอาหารไม่ได้ มันร้อน ไปดูเถอะ คนรุ่นอี๋เขาใส่ชุดแบบนี้อยู่บ้านกันหมดแหละ” อังคณา แซ่ขู้ หรือ อี๋ ในวัย 72 ปี บอกถึงเหตุผลง่ายๆ ในการนุ่งกระโจมอกเข้าครัว ซึ่งคอสตูมที่อี๋มองว่าเป็นเรื่องธรรมดานี้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมบรรยากาศของร้านให้อบอุ่นยิ่งขึ้นสำหรับลูกค้าบางคนด้วย
“บางคนกินแล้วร้องไห้เลย เขาบอกว่าเห็นแล้วคิดถึงแม่ เพราะแม่เขาก็ใส่ชุดแบบนี้ทำอาหารให้กิน แต่แม่เขาไม่อยู่แล้ว หรือบางคนก็บอกว่ามีความรู้สึกเหมือนนั่งกินข้าวอยู่บ้านเพื่อน เพราะมันเหมือนเวลาเขาไปบ้านเพื่อน แล้วแม่เพื่อนทำอาหารให้กิน ซึ่งแม่ครัวในร้านทั่วไปไม่ได้เป็นแบบนี้”
ทุกวันนี้หลังกินข้าวเสร็จ ลูกค้ามักจะมาขอถ่ายรูปกับอี๋ ทำให้อี๋เป็นเหมือนโลโก้ของร้านไปโดยปริยาย
กำไรที่ไม่ได้มาจากลูกค้า
ถ้าได้กินอาหารของที่นี่สักครั้งจะไม่แปลกใจว่า เพราะอะไรร้านอาหารหน้าตาธรรมดาอย่างกินกับอี๋ถึงได้รับการการันตี ด้วย บิบ กูร์ มองด์ จากมิชลิน ไกด์ ติดกัน 2 ปี คือในปี 2563 และ 2564
“มีลูกค้าคนหนึ่งเขามากินที่ร้านเป็นประจำจนเราคุ้นหน้า จนวันหนึ่งพี่เขามาขออีเมลกับรูปถ่ายเราเพื่อแนะนำลงในหนังสือว่าร้านเราได้รางวัลมิชลินไกด์ เราถึงได้รู้ว่าพี่เขาเป็นทีมงานของมิชลินที่มากินเพื่อสุ่มหาร้านอาหารที่เข้าเกณฑ์ในการให้รางวัล ซึ่งร้านของเราได้รับการพิจารณาให้ได้รางวัลนี้ถึง 2 ปีซ้อน”
สำหรับคนทำร้านอาหาร การที่ร้านของตัวเองได้รับรางวัลย่อมนำมาซึ่งความรู้สึกอิ่มเอมและภาคภูมิใจอย่างมาก
แต่สำหรับเจ้าของร้านอย่างทับทิมแล้ว รางวัลที่ได้มาไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขที่สุด เพราะยังมีบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกสุขใจมากกว่านั้น
สิ่งนั้นคือความสุขของอี๋และคนในครอบครัว
“ถามว่าการได้รางวัลทำให้เรามีความสุขไหม ถ้าบอกว่าไม่มีก็คงไม่ใช่ เพราะเราเองก็ภูมิใจที่มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ
“แต่การเปิดร้านอาหารของเรา สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่สุดมันไม่ใช่เรื่องนี้ มันคือการได้กลับมาอยู่บ้าน ได้ใช้ชีวิตกับอี๋ กับแม่ กับคนอื่นๆ ในครอบครัว เราได้เห็นอี๋ยิ้มดีใจเวลาที่ลูกค้ามาขอถ่ายรูปและขอบคุณที่ทำอาหารให้เขากิน
“สำหรับเรา รอยยิ้มของอี๋คือกำไรสูงสุดที่มีค่ามากกว่าตัวเงินและรางวัลใดๆ”