‘โรงกระเบื้องดินเผาลุงอ้อม’ ธุรกิจกระเบื้องโบราณแห่งสุดท้ายในจังหวัดสงขลา

มนุษย์ต่างวัยเดินทางไปไกลถึงจังหวัดสงขลา เพื่อไปดูการทำกระเบื้องดินเผา ของโรงกระเบื้องดินเผาลุงอ้อม โรงกระเบื้องดินเผาแห่งสุดท้ายในจังหวัดสงขลา ที่ลูกหลานอย่าง คุณวารุณี ทิพโอสถ อายุ 57 ปี และคุณรวีพร ดำสุวรรณ อายุ 23 ปี ตั้งใจสานต่อและอนุรักษ์การทำกระเบื้องดินเผาแบบโบราณไว้ ด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานฝีมือล้วน ๆ ทุกขั้นตอน

คุณวารุณีเล่ากับเราว่า “เมื่อก่อนในสงขลามีโรงกระเบื้องดินเผาเยอะมาก ๆ แต่ด้วยการเข้ามาของกระเบื้องลอนสมัยใหม่ ที่มีความสะดวกกว่า ง่ายกว่าในการใช้งาน ทำให้กระเบื้องดินเผาได้รับความนิยมน้อยลงมาก จนในที่สุดก็เหลือเพียงเราเจ้าเดียวที่ยังทำอยู่”

การทำกระเบื้องดินเผา มีขั้นตอนกรรมวิธีที่เป็นความรู้ดั้งเดิมกว่า 100 ปี โดยทุกขั้นตอนจะเป็นงานฝีมือทั้งหมด ตั้งแต่การขุดดิน ที่ต้องนำดินเหนียวมาจากริมทะเลสาบสงขลาเท่านั้น หลังจากนั้นนำดินมานวด ใส่แท่นพิมพ์กระเบื้อง นำกระเบื้องไปตากแดด และเข้าเตาเผา ใช้เวลายาวนานเป็นเดือน กว่าจะได้กระเบื้องสำเร็จที่สามารถใช้งานได้ การทำกระเบื้องจึงเป็นงานที่หนักและเหนื่อย จนปัจจุบันแรงงานที่ทำก็เป็นผู้สูงวัยในพื้นที่ชุมชน จนกระทั่งทายาทรุ่นที่ 4 คุณรวีพร ดำสุวรรณ อายุ 23 ปี เข้ามารับช่วงต่อ

“ลูกค้าที่มาซื้อของเราส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ตั้งใจอนุรักษ์ของเก่าเอาไว้อยู่แล้ว เช่น วัด โบราณสถาน รีสอร์ตต่าง ๆ ถ้าไม่มีการอนุรักษ์ของเก่าแล้ว ธุรกิจร้อยกว่าปีนี้อาจจะต้องปิดลงก็ได้ ด้วยแรงงานที่มีน้อยลง ทรัพยากรดินที่มีวันหมด” ทายาทรุ่นใหม่จึงเข้ามาช่วยในเรื่องของการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น

“แต่สิ่งที่เราตั้งใจคืออยากสานต่อให้อยู่ได้นานที่สุด เพราะเราเชื่อว่ายังมีคนต้องการกระเบื้องดินเผาแบบนี้นี้อยู่”

Credits

Authors

  • สุดธิดา นุ้ยโดด

    Authorชีวิตมันสั้น อย่ากินอาหารไม่อร่อย

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

  • พนา นวภัทรเมธากุล

    Editorการตัดต่อคือการเลือกสิ่งที่สำคัญ และตัดออกสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ชีวิตก็เช่นเดียวกัน เราต้องเลือกสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และเลือกทิ้งในสิ่งที่ทำให้เราเศร้าหรือทำให้เราโกรธ

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ