เมื่อพ่อแม่อายุมากขึ้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง ทำให้ร่างกายอาจขาดสารอาหารบางอย่าง หรือบางครั้งแม้จะกินไม่เยอะ แต่กินไม่ถูกเวลา ก็ทำให้น้ำหนักไม่ลด ส่งผลต่อค่าต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา หรือกระตุ้นให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่แล้วยิ่งมีอาการมากขึ้น
มนุษย์ต่างวัยชวนลูก ๆ และพ่อแม่ร่วมสำรวจไปพร้อมกันว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้การกินส่งผลต่อสุขภาพคืออะไร ลดน้ำหนักแบบไหนถึงไม่อันตรายต่อสุขภาพ แล้วจะกินแบบไหนเพื่อให้ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างยั่งยืน ข้อมูลดี ๆ จากรายการบุพการีที่เคารพ Season 3 EP. 26 ตอน แก่แล้ว อ้วนง่ายจริงไหม โดย หมอนัด – รศ. นพ.กรภัทร มยุระสาคร อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาบำบัด เจ้าของเพจหมอนัดโภชนาการ และช่องยูทูบ Dr. Nat Nutrition
รู้หรือไม่ ? สมองของเราก็มีนาฬิกาชีวิต หรือที่เรียกว่า Suprachiasmatic nucleus (กลุ่มเซลล์ที่มีหน้าที่ควบคุมระบบนาฬิกาชีวิตภายในร่างกาย) พูดง่าย ๆ ว่าเรามีนาฬิกาที่อยู่ในสมอง และมีนาฬิกาที่เชื่อมโยงกับสมองไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ระบบการย่อย และระบบการดูดซึม ฯลฯเราจึงควรกินให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
โรคประจำตัวที่ผู้สูงอายุมักจะเป็นนั้นส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือไม่ก็เบาหวาน ดังนั้น สิ่งสำคัญก่อนจะวางแผนเรื่องการกินและการออกกำลังกายให้เหมาะกับผู้สูงอายุก็คือ การให้ผู้สูงอายุเช็กระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตในตอนเช้าก่อนจะไปทำกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ
ถึงแม้จะมีงานวิจัยออกมาว่าช่วงเวลาในการออกกำลังกายที่ดีที่สุด คือ ช่วงเช้า แต่มันก็ไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน สำหรับผู้สูงอายุที่มีระดับน้ำตาลต่ำ ก่อนออกกำลังกายอาจจะต้องกินแป้งก่อนสักเล็กน้อย เช่น กล้วยสักลูก หรือขนมปังสักแผ่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระดับน้ำตาลต่ำจนเกิดอาการวูบ ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุบางคนจะมีระดับน้ำตาลสูงมาก เพราะระดับน้ำตาลไม่ลดลงตั้งแต่ช่วงกลางคืน ควรให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายแบบแอโรบิกในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อลดระดับน้ำตาลลงก่อนกินอาหารเช้า
โดยปกติผู้สูงอายุมักจะกินได้น้อยลงและมักจะเลือกกินแต่อาหารที่ชอบ ปัญหาหลักของผู้สูงอายุคือมักจะกินโปรตีนไม่เพียงพอ เพราะเนื้อสัตว์ อย่างไก่ กุ้ง หมึก หอย เคี้ยวค่อนข้างยาก หรือบางครั้งก็ได้รับคำแนะนำว่ากินเนื้อสัตว์เยอะไตจะพัง หรือกินไข่แดงมากคอเลสเตอรอลจะสูง ทำให้เริ่มจำกัดการกินอาหารบางอย่าง ผลที่ตามมาก็คือปกติร่างกายก็จะดูดซึมโปรตีนในแต่ละวันได้ไม่มากอยู่แล้ว ถ้าเลือกกินโปรตีนแค่บางช่วงหรือบางมื้อ ร่างกายก็จะยิ่งได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ดังนั้น ควรกระจายการกินโปรตีนให้ครบในทุกมื้ออาหาร
ส่วนช่วงระยะเวลาในการกินที่เหมาะสมกับระบบเผาผลาญของร่างกายนั้นจะอยู่ในช่วง 8-10 ชั่วโมง เหมือนเวลาที่เราเข้างาน เช่น บางคนตื่น 6 โมงเช้า ก็กิน 6 โมงแล้วไปจบที่ 4 โมงเย็น หรือเริ่มกินตอน 8 โมงเช้าแล้วไปจบที่ 6 โมงเย็น ดังนั้น คนที่ทำงานเป็นกะ กินนอนไม่เป็นเวลา นาฬิกาชีวิตก็จะรวน ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกินมากที่สุด คือ เริ่มกินตอนพระอาทิตย์ขึ้นและหยุดกินตอนพระอาทิตย์ตก เพราะช่วงหลังจากพระอาทิตย์ตกแล้วระบบการย่อยของเราจะทำงานได้น้อยลง
ส่วนการทำ Intermittent Fasting (IF) หรือการอดอาหารเป็นช่วง ๆ นั้น ผู้สูงอายุก็สามารถทำได้ เพราะจริง ๆ คนเราจะมีการอดอาหารบางช่วงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ต้องมองวัตถุประสงค์ในการทำให้ชัดเจนว่ามีความจำเป็นมากขนาดไหน เพราะถ้าหากอดอาหารมากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะตามมาได้
ถ้าวันไหนผู้สูงอายุไม่ได้รู้สึกหิวมาก ไม่อยากกินอาหารในช่วงเย็นแล้ว อาจจะเลือกกินมื้อเบา ๆ หรือดื่มน้ำเต้าหู้สักหน่อยแล้วก็เข้านอนได้ ไม่ควรทำ IF อย่างเข้มงวดจนเกินไป เช่น อดอาหารตลอดวัน หรือ 24 ชั่วโมง ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ทำประมาณอาทิตย์ละ 1-2 วัน กินบ้าง อดบ้าง ให้ชีวิตไม่เครียด มีความสุข เพราะสิ่งสำคัญจริง ๆ ไม่ใช่การอดอาหารให้ได้จำนวนหลาย ๆ ชั่วโมง หรือการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว แต่คือสุขภาพที่ดีในระยะยาวและยั่งยืนมากกว่า