“หมอเชื่อว่าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ สังคมเราก็อยู่ได้” คุยกับ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช

“สำหรับมนุษย์เรา สิ่งสำคัญที่สุดคือความภาคภูมิใจในตัวเอง การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้ ไม่ต้องเป็นภาระใคร เราไม่อยากให้ใครมาแบกเราในทุกวัน … คุณค่าการกลับมายืนมาเดินได้นั้น คือคุณค่ามหาศาลสำหรับมนุษย์แต่ละคน

“คอนเซ็ปต์ของเราคือการคืนคุณค่าชีวิตของความเป็นมนุษย์ให้กับมนุษยชาติ เราใช้ความสามารถที่เรามีอยู่ในการนำสิ่งเหล่านี้คืนกลับมาให้เขา เพราะเขาสูญเสียไปชั่วคราว การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดขึ้น แต่หากเราคืนให้เขาได้ อันนี้คือหน้าที่ที่เราภาคภูมิใจ

“เราบริจาคเงินหนึ่งล้านบาทยังไม่เท่ากับที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เขากลับมาเดินได้ เพราะเรารู้สึกว่านี่คือผลงานจากการได้ร่ำเรียนมา เรานำวิชาความรู้ที่ครูบาอาจารย์สอนสั่งไปมอบต่อให้สังคม เรารู้สึกอย่างน้อย ๆ เราก็ได้ทำอะไรให้กับชีวิตนี้ จากคนที่ต้องคลาน ขาเหยียดไม่ออก เขาส่งภาพที่เขาปีนต้นไม้ได้มาให้ เขายิ้มอย่างมีความสุข นี่ก็คือคุณค่าที่เราได้รับจริง ๆ”

มนุษย์ต่างวัยชวนรู้จักกับ ‘มูลนิธิศัลย์ฯสร้างข้อ’ ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ศ.นพ. กีรติ เจริญชลวานิช และทีมบุคลากรทางการแพทย์ ที่ตั้งใจจะนำความรู้ความสามารถของตนเอง ออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องทุกข์ทรมาณจากโรคข้อและกระดูกในพื้นที่ห่างไกล โดยหวังเพียงว่าสิ่งที่ทำจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครสักคนให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเป็นผ่าตัดใหญ่เทียบเท่าการผ่าตัดสมอง ห้องผ่าตัดต้องสะอาด ปราศจากเชื้อ อุปกรณ์ต้องดีพร้อม การที่เราใส่ของแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายชิ้นใหญ่จะต้องวางระเบียบให้ดี เพราะว่าอยากให้อายุการใช้งานยืนยาว ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบปี ทุกอย่างต้องเป๊ะหมดเลยนะครับ

“ตัวข้อเข่าข้อกระดูกนี้ ส่วนใหญ่ต้องรับน้ำหนักทั้งตัว เป็นโครงสร้างหลัก น้ำหนักตัวต้องผ่านกระดูกสันหลัง เชิงกราน ข้อสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง ไปถึงเท้า การรองรับน้ำหนักจะต้องแข็งแรงแล้วก็คล่องตัว มีความเคลื่อนไหวที่ดี แต่ถ้ากระดูกข้อต่อเจ็บ ก็จะยืนเดินไม่ได้ และเสียคุณภาพชีวิตไปสิ้นเชิง

“กำแพงที่ใหญ่มากของการดูแลรักษาผ่าตัด คือค่าข้อเทียมมีราคาแพง ค่าใช้จ่ายแพง มีราคาหลายหมื่น ตั้งแต่สี่หมื่น ห้าหมื่น ไปจนถึงแสนก็มี

“ชื่อมูลนิธิศัลย์ฯสร้างข้อต่อชีวิต ‘ศัลย์ฯสร้าง’ คือการใช้คำว่า ‘ศัลยกรรม’ มาสร้างข้อต่อให้เป็นปกติ เมื่อข้อปกติก็เป็นชีวิตที่ดำเนินต่อได้อย่างยืนยาว แข็งแรง

“ทีมของเรานอกจากแพทย์ วิสัญญี พยาบาล นักกายภาพที่เดินทางไปด้วยกัน เป็นสะพานในการรับบริจาค ทุกศรัทธาที่บริจาคผ่านมูลนิธิเราก็จะไปมอบต่อให้แต่ละโรงพยาบาลด้วย นี่คือทีมเดียวกัน ใครมีกำลังทรัพย์ก็ช่วยทรัพย์ ใครมีกำลังกายก็ช่วยกาย ใครมีกำลังความคิดในการชี้แนะก็ช่วยส่งมาได้เลย เราน้อมรับ ใครมีกำลังใจก็ส่งกำลังใจ เราช่วยกันเพราะว่าแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ความสะดวก ศักยภาพก็ต่างกันไป แต่ทุกหัวใจถ้าส่งความปรารถนาดีต่อกัน นี่ก็คือทีมสร้างสรรค์งานที่จะสำเร็จด้วยกัน

“นอกเหนือจากการดูแลชีวิต คืนคุณค่ามนุษย์แล้ว เรายังไปถ่ายทอดสิ่งที่เรามีให้กับชุมชน ให้กับโรงพยาบาล ให้พี่น้องบุคลากร ไปช่วยให้เขาทำเป็น เช่น ครั้งที่สองเราไปโรงพยาบาลน่าน เขายังไม่เชื่อว่าเมื่อผ่าตัดแล้ววันรุ่งขึ้นคนไข้จะสามารถเดินได้เลย เราก็ไปทำให้เขาเห็น อีกหกเดือนต่อมา เขาก็ส่งจดหมายบอกว่าที่จังหวัดน่านทำได้แล้วนะ เขาเห็นความเป็นไปได้และพัฒนาจนเขาทำได้เอง นอกเหนือจากที่เรานำความสามารถไปช่วยดูแลผู้ป่วยและญาติ ให้คืนคุณค่าของตัวเองกลับมาแล้ว เรายังได้ถ่ายทอดสิ่งที่เราชำนาญให้กับวงการสาธารณสุขด้วย สิ่งเหล่านี้คือความชื่นใจ

“เราเชี่ยวชาญด้านนี้ เราเอาสิ่งเหล่านี้ไปให้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็จะเกิดคลื่นเล็ก ๆ ออกไป ไม่ใช่ว่าคลื่นนี้จะไปแก้ไขระบบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเป็นมูลนิธิเล็ก ๆ กลุ่มคนเล็ก ๆ เป็นอาสาสมัครที่ภาคภูมิในสิ่งที่เราทำ แล้วก็เชิญชวนให้ประชาชนได้ทำในสิ่งที่ตนเองเก่ง ถนัด เชี่ยวชาญ ทำเถอะครับ

“ทุกบริบททุกหน้าที่มีความหมายหมดนะครับ ไม่จำเป็นต้องช่วยชีวิตคนเหมือนหมอก็ได้ บุรุษไปรษณีย์ไปส่งถึงที่ถูกเวลา ก็มีความหมายแล้วนะครับ มนุษย์แต่ละคนนั้นมีบทบาทหน้าที่ที่จะรับผิดชอบด้วยความภาคภูมิในตนอยู่แล้ว ขอให้เราหมั่นสำรวจและให้คุณค่าในสิ่งที่เราทำเรื่อย ๆ ไม่ต้องรอเพียงสิ่งใหญ่ ๆ เพราะคุณค่าจากการกระทำเล็กน้อยนั้นทรงพลังมาก เมื่อเราให้คุณค่าสิ่งที่ทำ สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นพลังเติมกลับมาให้เราเดินต่อ ทำให้เราเชื่อมั่นในเส้นทางของเราว่าถูกต้องแล้ว

“หมอเชื่อว่าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ สังคมเราก็อยู่ได้”

ปัจจุบัน “มูลนิธิศัลย์ฯสร้างข้อต่อชีวิต” เดินทางตระเวนผ่าตัดเปลี่ยนข้อใหม่แก่พี่น้องชาวไทยในพื้นที่ห่างไกลมาถึง 10 ปีแล้ว บรรลุภารกิจไปทั้งหมด 21 ครั้ง ช่วยเหลือคนไข้ไปประมาณ 1,000 ชีวิต ด้วยข้อเทียมใหม่กว่า 1,000 ข้อ

ร่วมส่งกำลังใจและเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนเพื่อสร้างระลอกคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ที่ https://www.facebook.com/newjointforlife

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ