“การกลับบ้านมาดูแลครอบครัวในวันที่ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ยอมรับว่ามันไม่ง่าย” คุยกับลูกสาวเจนวายที่ไม่เคยคิดจะกลับบ้าน

“การกลับบ้านมาดูแลครอบครัวในตอนที่เราเองก็เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ ยอมรับว่ามันไม่ง่ายเหมือนคนปกติทั่วไป เราต้องรักษาใจตัวเองควบคู่ไปด้วย แต่เรามีพ่อมีแม่คนเดียว มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินหน้าที่ลูกอย่างเราหรอก”

มนุษย์ต่างวัยพาไปรู้จักกับ “เปิ้ล – ชนัญชิดา ภูพันหงษ์” วัย 36 ปี มนุษย์เงินเดือนเจนฯวายที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากความกดดันในภาระหน้าที่การงาน และตัดสินใจกลับบ้านเพื่อมาดูแลพ่อที่กำลังล้มป่วย

แต่ในวันที่ภาวะซึมเศร้าของเธอกำลังค่อยๆ ดีขึ้น พ่อก็มาจากไปด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้แม่ใจสลาย และหมดพลังในการใช้ชีวิต ความสะเทือนใจจากการสูญเสียทำให้แม่ไม่เหมือนเดิม ซึมเศร้า และเหม่อลอย การดูแลรักษาใจแม่จึงกลายมาเป็นโจทย์ใหญ่ของเปิ้ล ไปพร้อมๆ กับการดูแลใจของตัวเอง

ซึมเศร้าจากงาน

“เราอยู่กรุงเทพฯ ร่วม 10 ปี พอเราเปลี่ยนงานใหม่ แล้วได้ตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นเพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับการเงิน ต้องละเอียด เจ้านายก็ค่อนข้างจะเข้มงวด ก็เลยมีความเครียด ทั้งที่เกิดจากความกดดันของเจ้านายและความกดดันที่เกิดจากตัวเองด้วย พอนานๆไป เราเริ่มไม่ไหว ทุกเช้าเราไม่อยากตื่นขึ้นมาเลย มันไม่มีความสุขกับการไปทำงาน เราก็เลยตัดสินใจไปปรึกษาจิตแพทย์ เลยรู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า

“เราใช้ยาช่วยก็รู้สึกว่าดีขึ้น แต่ระหว่างนั้นก็มีเรื่องกระทบใจแล้วจังหวะนั้นพ่อก็ป่วยหนัก เราก็มีความคิดที่อยากจะกลับบ้าน บวกกับความเครียดจากการทำงานที่สะสมมาเรื่อยๆ ตอนแรกคิดว่ามันดีขึ้น เราก็กลับไปทำงานอีกทั้งๆที่จริงแล้วเรายังไม่หายดี พอกลับไปมันก็กลับมาเครียดหนักกว่าเดิม ถ้ายังยื้อตัวเองให้ใช้ชีวิตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สักวันเราคงจะแย่ ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับบ้าน”

กลับบ้านมาพักใจ

“ด้วยความที่เราอยากจะพักสมอง เลยขอกลับมาดูแลพ่อ เพราะเราเห็นแล้วว่าแม่คนเดียวดูแลไม่ไหวหรอก เรื่องที่พ่อป่วยมันก็เครียดนะ แต่มันต่างกัน มันไม่เครียดเท่าเรื่องที่จะต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน เจอภาระงานอยู่ตรงหน้าแล้วต้องมีคนมาคอยชี้นิ้วสั่ง มันสบายใจขึ้นเพราะเราได้อยู่กับคนในครอบครัว

“ตอนเช้าแม่จะไปดูแลพ่อที่โรงพยาบาล กลางวันเราก็จะเป็นคนดูแลพ่อต่อ เช็ดตัว ป้อนข้าวทำนู่นทำนี่ แม่ก็จะไปพักที่บ้าน แล้วกลางคืนแม่ก็จะมาเฝ้าอีกที เราก็ดูแลกันไปแบบนี้จนอาการพ่อเริ่มอยู่ตัว เราก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น มีความสุข”

ความสุขไม่เสถียร

“พอหมอเห็นว่าอาการพ่อทรงตัวแล้ว ก็ย้ายพ่อให้มาอยู่วอร์ดเหมือนเดิม เราก็ดูแลพ่อเหมือนปกติทุกวัน แต่วันที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นก็มาถึง คำสุดท้ายที่เราได้คุยกับพ่อคือ ‘พ่อหิวไหม’ พ่อตอบ ‘อือ’ หลังจากนั้นพ่อก็อาการทรุดลง จนไม่รู้สึกตัวและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเกือบสองเดือน หลังจากนั้นพ่อก็เสียด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด

“ตอนนั้นทุกคนในครอบครัวทำตัวไม่ถูก น้ำตาไหลตลอดเวลา แต่คนที่เราเป็นห่วงที่สุดก็คือแม่ เพราะพ่อเป็นคู่ชีวิตของเขา ที่คิดว่าจะอยู่ด้วยกันไปจนแก่เฒ่า ตัวเราทำความเข้าใจเรื่องเกิดแก่เจ็บตายมาแล้ว เราเข้าใจได้ แต่สำหรับแม่ เขาก็เข้าใจแต่ทำใจได้ยาก”

เสียศูนย์ เมื่อสูญเสีย

“หลังจากที่พ่อเสีย แม่ก็อยู่ในภาวะสะเทือนใจ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ถามอย่างนึงตอบอีกอย่างนึง ลำดับขั้นตอนความสำคัญอะไรไม่ถูก เขามีอาการเหม่อลอย บางทีนั่งอยู่ข้างๆ เรียกก็ยังไม่ได้ยิน

“มีครั้งนึงตอนแม่กำลังขับรถ อยู่ๆแกก็นิ่งไป แล้วรถก็เลี้ยวไปอีกเลน เรารีบคว้าพวงมาลัยกลับมา คอยเรียกสติแม่ตลอด ช่วงนั้นก็ไม่ให้แม่ขับรถเลย จะไปไหนให้บอก เราจะขับให้เพราะมันอันตราย

“แม่มีอาการอย่างนั้นอยู่นาน เราเลยปรึกษาน้องสาว เพราะแม่มีอาการเหมือนเป็นอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น ความกังวลความเครียดเราก็เริ่มกลับมา เพราะการดูแลคนเป็นอัลไซเมอร์เป็นเรื่องยาก เราเลยต้องคอยอยู่ใกล้ชิดแม่ จิตใจเราตอนนั้นก็อ่อนแอนะ แต่ทำยังไงได้เราเป็นห่วงแม่มากกว่า เราจะทำให้แม่กลับมาเหมือนเดิม

“เราเรียนรู้เลยว่า วันสุดท้ายของชีวิตจริงๆ ไม่รู้จะเป็นวันไหน หลังจากนี้เราขอทำหน้าที่ลูกให้ดีที่สุด”

รอยยิ้มของแม่ เป็นยารักษาใจลูก

“เรามีที่ดินอยู่ที่นอกเมือง เราชวนแม่กลับไปทำสวน เพราะแม่ชอบทำสวนมาก แต่พอพ่อเสียแม่ก็หยุดไป เราก็บอกแม่ว่ามาอยู่บ้านสวนกันดีกว่า เปลี่ยนบรรยากาศให้แม่และเราด้วย เราก็เริ่มพาแม่ไปซื้อของ อยากได้เมล็ดพันธุ์อะไรก็พาไปซื้อ

เมื่อต้นไม้เริ่มออกผล ดอกไม้เริ่มผลิบาน แม่เริ่มกลับมามีรอยยิ้ม แววตาของแม่เริ่มเป็นประกายอีกครั้ง ทำให้คนเป็นลูกมีความสุขตามไปด้วย

“เราได้เห็นรอยยิ้มแม่ในวันนั้นนะ มันดีใจ เหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก (หัวเราะ) หลังจากนั้นแม่ก็ดูสดใสขึ้น เห็นแม่เก็บนู่นเก็บนี่ไปฝากเพื่อน ชวนเพื่อนมานั่งเล่นที่บ้าน ว่างๆ ก็เดินไปดูสวนดูต้นไม้

“หลังจากที่แม่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนแม่มีอาการเป็นอย่างนี้นะ เหมือนคนเป็นอัลไซเมอร์เลย ถ้าแม่เป็นอะไรไปอีกคน หนูกับน้องจะอยู่ยังไง พอบอกไปแบบนั้นแกก็พยายามอยู่กับปัจจุบัน มีสติและยิ้มเยอะขึ้น”

จากชีวิตพนักงานออฟฟิศ สู่การกลับมาจุดเริ่มต้นในวัยที่ควรมั่นคง

“เราไม่เคยคิดอยากจะกลับบ้านเลย เราเคยชินกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เราไม่กล้าที่จะกลับ เพราะในหัวเราตอนนั้นมีความคิดหลายอย่างมาก กลัวคนอื่นคิดว่าการลาออกครั้งนี้จะเอาโรคซึมเศร้ามาเป็นข้ออ้าง กลัวว่าจะเป็นที่นินทาของคนแถวบ้านว่าไปไม่รอด แต่มันไม่ไหวแล้วไง ถ้ายังใช้ชีวิตคิดแทนคนอื่นอยู่แบบนี้ ตัวเราเองนั่นแหละที่จะไม่เหลืออะไรเลย”

ชีวิตที่ไม่ได้เป็นพนักงานออฟฟิศในเมืองหลวงนั้นก็ไม่ได้แย่ หลังจากกลับมาอยู่บ้าน เปิ้ลไม่ได้เห็นว่าการลาออกจากงานในช่วงอายุนี้เป็นความล้มเหลว แต่ในมุมมองของเธอ การไม่ได้กลับมาทำหน้าที่ลูกให้เต็มที่ต่างหากที่เป็นความล้มเหลว

“การกลับบ้านมาดูแลครอบครัวในตอนที่เราเองก็เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ ยอมรับว่ามันไม่ง่ายเหมือนคนปกติทั่วไป เราต้องรักษาใจตัวเองควบคู่ไปด้วย แต่เรามีพ่อมีแม่คนเดียว มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินหน้าที่ลูกอย่างเราหรอก เห็นเขายิ้มได้ เราก็มีความสุข”

“การกลับมาอยู่บ้านทำให้รู้ว่าชีวิตไม่ได้โดดเดี่ยว เราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องมีความสำเร็จใหญ่โต แค่มีแม่ที่เป็นเหมือนยารักษาใจ มีบ้านให้อยู่ มีสัตว์เลี้ยงให้เล่น มีสวนที่ปลูกไว้กินและขาย ถ้าวันนั้นเราไม่ป่วย เราก็ยืนยันคำเดิมว่าจะกลับบ้านมาดูแลครอบครัวอยู่ดี”

Credits

Authors

  • ภาณุมาศ จำปาพงษ์

    Authorครีเอทีฟตัวน้อย ร้อยห้าสิบสี่เซน เป็นคนกรุงเก่าเข้ามาตามฝันในบางกอก รักสุขภาพดื่มน้ำวันละ 8 ชั่วโมง นอนวันละ 8 แก้ว อนาคตอยากเลี้ยงแมวแล้วให้เงินทำงาน

  • วิเชษฐพงษ์ เผ่ากล้า

    Cameramanเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยความอยากเป็นดีเจ แต่สุดท้ายมาค้นพบว่าโลกข้างนอกห้องจัดรายการมันช่างเย้ายวลและมันส์กว่าการใช้เสียงเป็นไหนๆ ผมหลงใหลการเขียนภาพด้วยแสงพอๆ กับการวาดรูปด้วยดินสอ และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งแอ็คชั่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ