เพราะผู้มีภาวะสมองเสื่อมในระยะแรก ๆ ยังสามารถดูแลตัวเอง และใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ไปซื้อของ ไปโรงพยาบาล ออกกำลังกาย ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันผู้มีภาวะสมองเสื่อมหลายคนก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีภาวะสมองเสื่อม เพราะกว่าอาการหรือรอยโรคจะปรากฏชัดเจน เวลาก็ล่วงเลยผ่านไปนานหลายปีแล้ว
เราจะทำอย่างไรให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตอนที่มีผู้ดูแลอยู่ในบ้านแต่รวมถึงตอนที่ต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านด้วย
มนุษย์ต่างวัยนำข้อมูลและความรู้ดี ๆ จากกิจกรรม “แม่…ยังอยู่ในนั้นไหม?” จากพาร์ทของเซสชันละครสั้นจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ที่ชวนทุกคนมาดูละคร แบ่งปันประสบการณ์ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดูแลและปฏิบัติต่อผู้ป่วยสมองเสื่อมร่วมกัน โดยมี ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ความรู้ และให้ตัวอย่าง แนวทางช่วยเหลือ สนับสนุน ผู้มีภาวะสมองเสื่อม ที่อาจจะอยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา หลังจบการแสดงในแต่ละพาร์ทอีกด้วย
เรื่องนี้ทุกคนสามารถช่วยกันได้ ด้วยการมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม ให้โลกนี้ใจดีต่อกัน แม้ในวันที่สมองไม่เป็นใจ
สถานการณ์ที่ 1 : เมื่อเจอผู้มีภาวะสมองเสื่อมหลงทางในห้างสรรพสินค้า
จากสถานการณ์จำลองนี้ หลานสาวได้พาป้าของเธอไปเดินเล่นและกินข้าวที่ห้างสรรพสินค้า พอกินข้าวเสร็จก็จะแวะถ่ายรูปกัน แต่ดันหาโทรศัพท์มือถือไม่เจอ หลานสาวก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะลืมมือถือไว้ในร้านอาหาร เธอเลยบอกให้ป้าของเธอยืนรออยู่ตรงนี้ อย่าไปไหน เธอจะกลับไปเอามือถือแล้วจะรีบกลับมา แล้วเธอก็เดินออกไปจากตรงนั้นเลย
ฝ่ายป้าที่เป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม ก็ยืนอยู่ตรงนั้นด้วยความรู้สึกสับสนสักพัก พอดีหันไปเจอพนักงานที่บูทขายสินค้าเลยเข้าไปถามหามือถือกับพนักงาน ทางพนักงานก็ชวนคุย เสนอขายสินค้า พร้อมทั้งปฎิเสธป้าไปว่าที่นี่ไม่มีมือถือ แต่คุณป้าก็ยังพูดถึงแต่มือถือไม่หยุด พนักงานเลยชวนคุยต่อว่าคุณป้ามากับใคร คุณป้าก็บอกว่ามากับหลานสาว แล้วจะเอามือถือ คุยกันไปกันมาก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้พนักงานไม่รู้ว่าควรจะช่วยเหลือคุณป้าอย่างไรต่อ
หากเราต้องเจอสถานการณ์ข้างต้น ถ้าเราเป็นพนักงานเราอาจจะชวนป้าคุย และพาป้าไปให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ช่วยประกาศตามหาญาติ หรือช่วยดูแลจนกว่าจะมีญาติมาติดต่อรับในบริเวณใกล้เคียงที่เจอคุณป้า ส่วนหลานสาวถ้าหากมีความจำเป็นต้องไปทำธุระ ไม่ควรทิ้งป้าไว้คนเดียว อาจจะฝากให้พนักงานขาย หรือเจ้าหน้าที่ในห้างสรรพสินค้าช่วยดูแลให้ที่จุดใดจุดหนึ่งสักครู่ อาจจะทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ด้วย แล้วรีบมารับกลับเมื่อเสร็จธุระ หรืออีกทางหนึ่งคือการพาคุณป้าไปตามหามือถือด้วยกันเลย
มีการเสนอแนะเรื่องการใส่ริสแบนด์ หรือสายรัดข้อมือให้กับผู้มีภาวะสมองเสื่อม หรือผู้สูงอายุ โดยใส่ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขา และเบอร์โทรสำหรับติตต่อญาติไว้ด้วย ที่สำคัญคือให้ใส่ติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เขารู้สึกคุ้นชินและไม่ถอดทิ้ง ทั้งนี้ การมีป้ายหรือริสแบนด์ติดตัวจะช่วยได้มาก ถ้าเราอยู่ในสังคมหรือชุมชนที่ผู้คนมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อกัน เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากคือการที่มิจฉาชีพจะได้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นไป อย่างริสแบนด์ที่ทางมูลนิธิกระจกเงาทำขึ้นจะมี QR Code ให้สแกนเพื่อแจ้งว่าบุคคลนี้ต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ โดยจะไม่มีการบรรจุข้อมูลส่วนตัวทั้งของผู้สวมใส่และของญาติไว้ในนั้น
สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะช่วยกันได้คือถ้าเราเห็นคนที่ดูมีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือ เราอย่าปล่อยผ่านไปและคิดว่าไม่เป็นไร เพื่อให้เราเข้าถึงตัวและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ก่อนที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัวผู้ป่วย
สถานการณ์ที่ 2 : ทํางานกับเพื่อนร่วมงานที่มีภาวะสมองเสื่อม
เพื่อนร่วมงานระดับซีเนียร์เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว กับคนรอบข้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งกับหัวหน้างาน วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานที่เป็นรุ่นน้องไปทักเรื่องการเปลี่ยนสไตล์การใส่รองเท้าก็โดนตำหนิรุนแรงจนกระทั่งหัวหน้าที่อยู่ตรงนั้นได้ยินจึงเข้าไปคุยด้วยถึงพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่มีต่อเพื่อนร่วมงานที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งมีการตัดสินใจบางอย่างที่ช้าลงกว่าที่เคยเป็นมาด้วย เพื่อนร่วมงานอีกคนก็เลยเสริมขึ้นมาว่าหากรุ่นพี่ที่ทำงานของเธอมีปัญหา ไม่สบายใจ หรือเข้าสู่วัยทองก็สามารถพูดคุยกับเธอได้ จนกระทั่งซีเนียร์คนนั้นค่อย ๆ ยอมเปิดใจเล่าความจริงออกมาเพื่ออธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเธอว่าเป็นเพราะโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับคนที่อายุมากและอายุน้อย ในกรณีที่เกิดกับคนอายุน้อย หมายถึงเกิดกับคนอายุน้อยกว่า 65 ปี ในส่วนของโรคสมองส่วนหน้าเสื่อมนั้น จะมีอาการแสดงชัดเจนในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม และการใช้ภาษา เพราะงานของสมองส่วนหน้าคือการประมวลเรื่องของเหตุผลรวมทั้งบริหารจัดการความรู้ที่เราร่ำเรียน หรือสะสมมาทั้งชีวิต เมื่อสมองส่วนนี้ทำงานพร่องไป ทำให้ควบคุมเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ที่ยังเก่งอยู่ไม่ได้ คราวนี้ บทจะปรี๊ด ก็ปรี๊ด ขึ้นมาเลยแบบนั้น โรคสมองส่วนหน้าเสื่อมอีกกลุ่มที่กระทบเรื่องภาษาก่อน ก็คือกรณีของ บรูซ วิลลิส นักแสดงฮอลลีวูด ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ช่วงแรก ๆ ยังสามารถแสดงได้ แต่ต้องเขียนบทพูดให้สั้นและจำได้ง่าย ๆ เพราะเขาจำได้น้อยลงแล้ว หรือในบางกรณีผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะสามารถพูดได้เป็นคำ ๆ แต่สื่อสารไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นภาวะสมองเสื่อมอีกแบบที่เราเจอ
จากสถานการณ์จำลอง เราจะเห็นว่าการที่เราจะทำให้ใครสักคนยอมเปิดใจพูดคุยกับเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในองค์กร ซึ่งจะมีความสนิท ใกล้ชิดไม่เท่าเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนในครอบครัว เราจึงควรทำให้บรรยากาศรอบข้างมีความปลอดภัย หรือทำให้เขาสบายใจที่จะเล่าเรื่องที่ไม่อยากพูดถึงออกมา อีกประเด็นคือเราไม่ควรไปตัดสินคนอื่นไปก่อนว่าเขามีปัญหา หรือเป็นอะไรแบบที่เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องบอกกับรุ่นพี่ที่ทำงานของเธอว่าพี่เป็นวัยทองหรือเปล่า เพราะแทนที่จะได้ช่วยเขาแก้ปัญหา อาจทำให้เขารู้สึกอึดอัดและไม่พอใจแทน
หากต้องทำงานร่วมกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม สิ่งที่องค์กรสามารถช่วยได้ คือปรับลดความซับซ้อน ความยากของงานที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมรับผิดชอบอยู่ เพื่อช่วยให้เขาไม่รู้สึกกดดันจนเกินไป และยังสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้ตามกำลังของตัวเองโดยที่ไม่รู้สึกแปลกแยก หรือเป็นภาระของผู้อื่น
สถานการณ์ที่ 3 : สังคมที่ไม่เอาเปรียบคนสมองเสื่อม
ป้าซึ่งมีอาการสมองเสื่อมไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แล้วบังเอิญเจอเพื่อนบ้านรุ่นหลานที่รู้จักกันเข้ามาทักทายแล้วชมว่าแต่งตัวสวย ฝ่ายป้าชอบใจก็เลยหยิบเงินยื่นใส่มือให้ เธอบอกไม่เอา คุณป้าก็ไม่รับคืน พอเธอเดินไปเจอเพื่อน เธอก็คุยกับเพื่อนของเธอว่าช่วงนี้คุณป้ามีพฤติกรรมแปลก ๆ เจอใครก็ชอบแจกเงินให้ พอเพื่อนเธอได้ยินแบบนั้น ก็รีบวิ่งไปตามหาคุณป้า แล้วไปชมคุณป้าแบบที่เพื่อนตัวเองทำ คุณป้าก็หยิบเงินให้ พอเห็นแบบนั้นก็ยิ่งได้ใจ ไปโกหกป้าว่าตัวเองเดือดร้อน มีปัญหา เพื่อให้คุณป้าให้เงินตัวเองเยอะ ๆ โชคดีที่เพื่อนบ้านอีกคนไปเห็นก่อนก็เลยห้ามไว้ได้ทัน ไม่อย่างนั้นคุณป้าอาจจะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก
ในกรณีแบบนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางคนแนะนำว่าไม่ควรให้ผู้ป่วยพกเงินติดตัวมาก ๆ ถ้าจะพกควรแลกเป็นแบงก์เล็ก ๆ ให้เขาติดตัวไว้ เช่น แบงก์ยี่สิบ แต่คุณหมอได้แนะนำในประเด็นนี้ว่าเราไม่ควรห้ามให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมพกเงิน แต่ควรให้เขาพกเงินในจำนวนที่เรารับได้ถ้าหากมันจะหายไป และถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารู้จัก เราควรบอกให้เขาเข้าใจว่าไม่ควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยแบบนั้น แต่ถ้าเป็นคนแปลกหน้า เราต้องหาบุคคลที่สามเข้าไปช่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น
สิ่งสำคัญคือเราไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆและคนในสังคมไม่ควรที่จะเอาเปรียบผู้มีภาวะสมองเสื่อมเพราะเขาไม่รู้ตัวว่าตัวเองทำอะไรลงไปเราซึ่งเป็นคนที่รู้และเข้าใจในภาวะนี้ก็ไม่ควรที่จะเพิ่มความเดือดร้อนให้กับเขามากขึ้นไปอีกเพื่อให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมยังสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมข้างนอกได้อย่างปลอดภัยและไม่ถูกเอาเปรียบจากคนในสังคม