ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัยบ้านไหน ถ้าลองสังเกตดูให้ดี ทุกคนจะมีเก้าอี้ตัวโปรดในบ้านกันทุกคนใช่ไหม อาจจะเป็นเก้าอี้ไม้สักโบราณฉลุลายอย่างละเอียดยิบของคุณแม่ หรือโซฟาหนังแท้เงาวับของคุณพ่อ ที่พวกท่านต้องล้มตัวลงนั่งทุกครั้งหลังทำกิจธุระต่าง ๆ ในบ้านเสร็จ และมักจะเป็นเก้าอี้ตัวเก่งตัวเดิมเสมอที่ใคร ๆ ก็ห้ามแย่งนั่ง เสมือนเป็นที่รู้กันดีว่านี่คือที่ประจำของใคร แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเก้าอี้ตัวโปรดในบ้านตัวนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ !
มนุษย์ต่างวัยขอพาทุกบ้านไปรู้จักกับ DEESAWAT (ดีสวัสดิ์) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัญชาติไทยอายุกว่า 50 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ เพื่อช่วยให้ได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างราบรื่น สะดวกสบาย และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนที่สุด
แม้ในช่วงแรก เฟอร์นิเจอร์ของดีสวัสดิ์จะเน้นทำตามแบบของลูกค้าเป็นหลักโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นแบรนด์มากนัก แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ ดีสวัสดิ์ เริ่มแสดงให้ตลาดโลกเห็นว่ามีจุดแข็งด้านดีไซน์ การออกแบบที่เท่าทันเทรนด์ทุกยุคทุกสมัยยิ่งทำให้สินค้าของดีสวัสดิ์โดดเด่น ทันสมัย ไม่ซ้ำใคร ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์รักษ์โลกและความยั่งยืน เทรนด์สี เทรนด์รูปแบบ เทรนด์สัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งเทรนด์ผู้สูงอายุ
มนุษย์ต่างวัยได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ หรือ คุณไมค์ วัย 56 ปี กรรมการผู้จัดการ, ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทอุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ และทายาทรุ่นที่ 2 ที่สืบต่อธุรกิจงานไม้จากคุณพ่อ ด้วยความเป็นคนขี้สงสัยและช่างสังเกต ประกอบกับบุคคลิกสนุกคิด สนุกทำของของคุณไมค์นี้เองที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์ของดีสวัสดิ์มีการออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และไม่ได้มีดีแค่ความสวยงาม แต่ยังคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดให้กับคนทุกกลุ่มได้ในสังคม
จากเก้าอี้ไร้แขนถึงวีลแชร์ไม้สัก
หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นผู้ประกอบการหลายรายพยายามตีโจทย์ว่าเทรนด์ผู้สูงอายุคืออะไรกันแน่ ควรผลิตสินค้าแบบใดเพื่อป้อนสู่ตลาดสังคมสูงวัย นั่นยิ่งทำให้เห็นชัดว่าตลาดผู้สูงอายุในบ้านเรากำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกที สินค้าจำนวนมากถูกผลิตขึ้นมาโดยมีจุดขายว่าทำมาเพื่อสำหรับ “ผู้สูงอายุ” อย่างจำเพาะเจาะจง แต่แบรนด์ดีสวัสดิ์กลับมองต่างออกไป
“แรกเริ่ม เราลองทำเก้าอี้ขึ้นมาตัวหนึ่ง ให้ชื่อว่า “เบรซ สตูล (Brace Stool)”ตอนนั้นยังไม่ได้เจาะจงว่าออกแบบให้เป็นเก้าอี้สำหรับคนแก่ แต่ให้เป็นเก้าอี้สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องหลังเป็นหลัก
“ผมได้แนวคิดจากประสบการณ์ตรงของตัวเองตอนไปงานแสดงสินค้า ผมปวดหลังจนต้องไปหาหมอ ตอนนั้นจะลุกจะนั่งมันยากไปหมด ต้องคิดตลอดว่า จะลุกท่าไหน จะนั่งยังไง ทำไมการจะลุกจะนั่งมันยากเย็นขนาดนี้ มันเต็มไปด้วยคำถาม มันทำให้ผมมาคิดว่าเก้าอี้แบบไหนจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้”
เบรซ สตูล จึงถูกออกแบบให้มีที่วางแขนเพียงข้างเดียว อีกข้างเปิดโล่งเพื่อให้ผู้นั่งสามารถลุกนั่งได้ง่าย และยังทำให้ผู้ต้องใช้รถเข็นสามารถขยับตัวขึ้นลงรถเข็นได้ง่ายกว่า จึงกลายเป็นเก้าอี้ทำอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ใช้รถเข็น และผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลัง
จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2557 เก้าอี้เบรซ สตูล ได้รับรางวัล WELLNESS AWARD ในเวที Design for Well Being Award ประเทศฮ่องกง นั่นยิ่งทำให้เราเห็นว่าตลาดนี้ยังต้องการผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้นโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเพื่อคนแก่หรือคนพิการเท่านั้น
“เบรซ สตูล เป็นเพียงแค่เก้าอี้ที่เอาแขนออกไปข้างหนึ่งเท่านั้น เราไม่ได้ออกแบบมันเพื่อให้เป็นเก้าอี้คนแก่ แต่เราตั้งใจให้มันเป็นเก้าอี้สำหรับทุกคนในบ้าน อาจเป็นเก้าอี้ที่วางไว้หน้าบ้านเพื่อใส่รองเท้า หรือเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ มันคือเก้าอี้ที่คนธรรมดาใช้ได้ เราอยากให้มองว่ามันเป็นเพียงแค่เก้าอี้ตัวหนึ่งแต่ไม่ใช่สำหรับคนใดคนหนึ่งเท่านั้น”
หลังจากออกแบบเก้าที่ใช้แก้ปัญหาอาการปวดหลังไปแล้ว แม้จะไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเก้าอี้สำหรับคนแก่หรือคนกลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่นั่นทำให้คุณไมค์ก็เริ่มเห็นความท้าทายใหม่ ๆ เขาคิดถึงคิดถึงประเด็นอื่น ๆ ที่กำลังเป็น pain point ในสังคม โดยเฉพาะผู้ป่วยและผู้พิการ
“ตอนแรกเรายังไม่รู้หรอกนะว่าจะทำอะไรดี แต่มีครั้งหนี่งในงานประกวดออกแบบที่ประเทศฝรั่งเศส มีตีมคือ “word” เรามาคิดว่าจะเอาอักษรภาษาอังกฤษอย่าง A, B, C.. มาใช้ มันก็คงไม่ใช่มั้ง เลยนึกถึงอักษรเบรลล์
“คำถามของเราคือ เขียนอะไรดี? จะให้เขียนคำว่า “ดีสวัสดิ์” ที่เป็นชื่อแบรนด์เหรอ? แล้วมันดีกับคนอื่นยังไง? หรือจะเขียนว่า “มารักษ์โลกกันเถอะ” แบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเขาอยู่ดี
“เทคนิคหนึ่งที่ผมใช้บ่อย ๆ คือ จะลองสมมุติตัวเองว่าเราเป็นเขา ถ้าเราเป็นคนตาบอดเราจะอยากได้อะไร เราสังเกตเห็นว่าเวลาคนตาบอดไปไหนมาไหนจะมีคนคอยลุกให้นั่ง คอยช่วยเหลือเสมอ เขาเป็นผู้รับมาโดยตลอดใช่ไหม ? ถ้าเขาอยากจะเป็นผู้ให้บ้างจะได้ไหมนะ ? การได้เป็นผู้ให้อาจทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นหรือปล่า ?
“เราเลยออกแบบม้านั่งตัวหนึ่ง เขียนที่พนักพิงเป็นภาษาอังกฤษว่า “If you sit alone, try to move a bit to aside and give some space for someone” หรือ “ถ้าคุณนั่งคนเดียว กระเถิบที่สักนิดให้คนข้าง ๆ ด้วย” สุดท้าย เราไม่มีคำตอบหรอกว่าคนที่นั่งม้านั่งตัวนี้จะมีความสุขหรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราเชื่อว่ามันจะทำให้เขา (ผู้พิการทางสายตา) รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะที่ผ่านมาเขาเป็นผู้รับมาตลอด แต่เก้าอี้ตัวนี้ทำให้เขามีโอกาสเป็นผู้ให้บ้าง แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดี”
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ม้านั่ง Communication Braille Bench ตัวนี้จะไม่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนั้น แต่มันทำให้คุณไมค์มีความสุขเหลือเกินที่ได้ทำมันออกมา
การสังเกตเห็นปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในสังคมก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ดีสวัสดิ์ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นมาด้วย เนื่องจากหลังโรงงานเฟอร์นิเจอร์ดีสวัสดิ์มีบ้านพักคนชรา คุณไมค์เล่าให้เราฟังว่าเริ่มสังเกตเห็นผู้สูงอายุหลายคนเดินถือแก้วน้ำมาซื้อกาแฟที่ร้านเดียวกัน จากความเป็นคนช่างสังเกต คุณไมค์เห็นถึงอากัปกิริยาต่าง ๆ ที่แปลกออกไปของผู้สูงวัยและกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน
“ผมสังเกตเห็นการถือของที่ผิดปกติไปของผู้สูงอายุ มันเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมสนใจโรคพาร์กินสัน ผมเริ่มหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พบว่าโรคนี้มันทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านประสาทสัมผัส การกดจุดที่ปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้าจะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
“ตอนนั้นผมลองทำเก้าอี้ออกมาตัวหนึ่ง ชื่อว่า “Loop Chair” มันเป็นเก้าอี้ธรรมดาที่ไม่มีอะไรเลยนะ แต่จะมีตุ่มทองเหลืองซ่อนอยู่ใต้ที่วางแขน เวลานั่งแล้วเอาแขนวาง นิ้วมือจะลงไปสัมผัสกับปุ่มนี้ทำให้ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้
“คุณเคยเห็นเก้าอี้จีนโบราณแล้วมีมังกรคาบแก้วในปากไหม คุณรู้ไหมเขาใส่ลูกแก้วนั้นไว้ทำไม ? มันเอาไว้ให้บริหารนิ้วมือไง เวลานั่งลง มือคุณจะกลิ้งลูกแก้วอยู่แบบนั้น การออกแบบสมัยก่อนเขาก็มี logic พวกนี้อยู่เหมือนกัน ผมไม่รู้หรอกว่าเก้าอี้นี้มันจะช่วยคนเป็นพาร์กินสันได้จริงหรือเปล่า แต่อย่างน้อยผมก็พยายามอยู่” คุณไมค์เล่าเสริมให้เราฟังถึงปรัชญาในการออกแบบที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ผ่านเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน
มีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ “วีลแชร์ไม้สัก” เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดอยากให้คนที่นั่งดูแข็งแรง สง่างาม และมีศักดิ์ศรี จะไปออกงานที่ไหนก็ดูดีได้เสมอโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องอยู่ร่วมกับลูกหลาน
“ส่วนมากเวลาเราพูดถึงคนแก่หรือคนพิการ ทุกคนจะนึกถึงวีลแชร์ ซึ่งมันเป็นของที่ดีอยู่แล้วก็จริง ทั้งพับเก็บง่าย ราคาไม่แพง มันแทบไม่มีข้อเสียอะไรใช่ไหม แต่เมื่อกลับมาดูจริง ๆ แล้ว วีลแชร์มันมีข้อเสียในเชิงความรู้สึก
“ถ้าลองถามดูว่ามีพ่อแม่คนไหนอยากนั่งวีลแชร์ไหม ? ผมเชื่อว่าไม่มีหรอก เป็นสิ่งที่ฝืนที่สุดในชีวิตเลย เพราะวีลแชร์เป็นเก้าอี้ที่ไม่ว่าใครนั่งแล้วจะดูป่วยทันที ที่นั่งที่เป็นผ้าโค้งจะทำให้คนนั่งไหล่ห่อลู่ลง เวลาผู้สูงอายุนั่งไปไหน ไม่ว่าจะงานแต่งงานลูกหลานหรืองานสำคัญอะไร มันจะทำให้เขาดูตัวเล็ก ถ่ายรูปกับครอบครัวก็ดูห่อเหี่ยว
“เราเลยออกออกแบบเก้าอี้มาตัวหนึ่ง สูงเท่าคนปกติ เวลานั่งแล้วกินข้าว คนนั่งจะสูงเท่าคนทั่วไปเลย แม้จะพับใส่หลังรถไม่ได้เหมือนวีลแชร์ทั่วไปก็จริง แต่จุดประสงค์เรามีไว้ให้เขาใช้สำหรับงานปาร์ตี้หรือช่วงเวลาสำคัญในครอบครัว การได้นั่งเก้าอี้นี้จะทำให้เขาไม่แปลกแยก รู้สึกเป็นคนป่วย หรือรู้สึกแตกต่างจากคนอื่น
“อุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุบางชนิด เช่น ไม้เท้า เราจะเห็นว่าสมัยนี้ทำด้วยอะลูมิเนียม น้ำหนักเบา คุณภาพดี ราคาไม่แพง หากไม่ได้ใช้งานแล้วจะทิ้งหรือบริจาคไปก็ไม่เสียหายอะไร ของแบบนี้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องการการพัฒนาต่อ แต่อย่างวีลแชร์ เราเห็นปัญหาเลยอยากพัฒนาต่อไป” คุณไมค์กล่าวเสริม
โต๊ะกระซิบรักและโต๊ะทะลายภูเขาน้ำแข็ง
ไม่เพียงแต่การแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการเท่านั้น แต่ดีสวัสดิ์ยังเล็งเห็นถึงปัญหาช่องว่างในการสื่อสารของคนในครอบครัวและความต้องการที่ไม่ตรงกันในแต่ละช่วงวัยด้วย
“สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือคนแต่ละเจเนอเรชันในสังคมมีปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างผมอายุ 56 ปี ผมมองว่ามือถือคือตัวปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่สำหรับเด็ก Gen Z เขากลับมองว่ามันคือส่วนหนี่งของร่างกาย
“ผมเคยถามเด็ก ๆ นะ ว่าอะไรคือ pain point ของคน Gen Z เขาบอกว่ามันคือการที่ไปกับเพื่อนแล้วไม่มีเรื่องคุย หรือการมี dead air ซึ่งสำหรับผมมันไม่ใช่ปัญหาเลย แต่กับพวกเขามันเป็นเรื่องใหญ่ นี่ทำให้เราเห็นว่าปัญหาของยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องเป็นผู้ใหญ่ที่รับฟัง ถ้า dead air คือปัญหาในยุคสมัยนี้ งั้นเราต้องมาแก้ปัญหานี้ด้วยกัน”
“ผมออกแบบโต๊ะตัวหนึ่ง เก้าอี้มีลำดับสูง-ต่ำต่างกันไปหมด หรือโต๊ะอีกตัวหนึ่งที่มีชุดเก้าอี้สีดำทั้งหมด แต่จะมีอยู่ตัวหนึ่งที่เป็นสีแดง
“สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนเข้ามานั่งคืออะไรรู้ไหม ? เขาจะคุยกันเองโดยธรรมชาติเลยว่าทำไมเก้าอี้เป็นแบบนี้ มันทำให้ทุกคนคุยในหัวข้อเดียวกัน กลายเป็นหัวข้อที่ทำให้เขาได้ break the ice กันโดยอัตโนมัติ เพราะผมเชื่อว่าการสื่อสารไม่ใช่การหาเรื่องมาเล่าใส่กัน แต่เป็นเรื่องการทำอะไรบางอย่างเพื่อทะลายกำแพงระหว่างกันมากกว่า
“เรามีเฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นหนึ่ง เป็นโต๊ะกินข้าวที่ทุกคนต้องวางมือถือลงไฟจึงสว่าง เมื่อไหร่ที่มีคนหยิบมือถือขึ้นมาใช้ไฟก็จะดับทันที เราอยากสื่อให้เห็นว่าเมื่อใดที่คุณใช้เวลากับมือถือมันส่งผลกระทบต่อคนอื่นรอบตัวคุณเหมือนกัน ในขณะที่ปัจจุบันนี้ เด็ก ๆ แทบจะปล่อยมือถือไม่ได้เลย
“ผมมีอีกไอเดียหนึ่งที่ตั้งใจจะทำคือ “โต๊ะกระซิบ (Whisper Table)” เพราะผมไปเจอ pain point ว่าบางครอบครัว พ่อแม่ลูกอยู่บ้านเดียวกันก็จริง แต่ต่างคนต่างกลับดึกจนไม่ค่อยมีเวลาคุยกัน ผมเลยคิดว่าควรมีโต๊ะตัวหนึ่งไว้สื่อสารกันในครอบครัวโดยให้มีตัวบันทึกเสียงอยู่ตรงกลางโต๊ะ ใครมาถึงบ้านก็ให้ฝากเสียงเอาไว้ให้สมาชิกคนอื่นฟัง
“แต่เอาเข้าจริงมันก็เหมือนฝาก voice mail box หรือไม่ก็คลิปเสียงที่ใช้มือถืออัดมา ไม่มีอะไรพิเศษเลยใช่ไหม ? ผมเลยคิดใหม่ว่า “การสื่อสารที่ดีที่สุดคือการสื่อสารที่เบาที่สุด” มันเหมือนกับผู้ชายมาบอกรักผู้หญิง ถ้าแค่เดินมาบอกว่าผมรักคุณเฉย ๆ มันก็ไม่ได้ซึ้งกินใจเหมือนเขาเดินมากระซิบข้างหูใช่ไหม ? ฉะนั้น ข้อความใดก็ตามที่ทำให้คนฟังต้องค่อย ๆ ฟังอย่างตั้งใจจึงจะเป็นข้อความที่มีพลังที่สุด เลยออกแบบโต๊ะที่หากใครจะฟังเสียงที่ถูกฝากไว้แล้ว จะต้องค่อย ๆ ก้มลงแล้วเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ แค่นี้ความรู้สึกมันก็ต่างกันแล้ว”
การออกแบบของดีสวัสดิ์ไม่เพียงแค่ออกแบบเพื่อแก้ปัญหาและความไม่สะดวกสบายของผู้คนในสังคมเท่านั้น แต่ยังเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละเจเนอเรชันที่แตกต่างกันไปจนนำมาสู่พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เฟอร์นิเจอร์ที่ดีต้องไม่ได้มีแค่ความสวยงาม
ดีสวัสดิ์ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์สวยงามทันสมัยหรือเป็นมิตรต่อโลกเท่านั้น แต่ดีสวัสดิ์เชื่อว่าเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นต้องมีความหมายมากไปกว่าคำว่าสวย ต้องมีประโยชน์ ตอบโจทย์ และแก้ปัญหาให้คนบางกลุ่มได้
“เราไม่อยากให้ดีสวัสดิ์เป็นแค่แบรนด์ที่มีเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวยงามหรือดีต่อโลกเท่านั้น แต่เราพยายามพัฒนาแนวทางของเราให้มากกว่าคำว่าสวย
“ปัจจุบันเรามี pinterest ใช่ไหม ? หรือคุณลองไปค้นหาดู มันมีของสวย ๆ งาม ๆ อยู่ในนั้นเต็มไปหมด และไม่ว่าคุณจะอยากทำอะไร ก็จะเห็นว่ามีคนทำไปหมดแล้วเสมอ ผมเชื่อว่าอย่าผลิตของที่สวยงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีประโยชน์หรือตอบโจทย์สิ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ดีกว่า” คุณไมค์กล่าว
อย่ามองผู้สูงอายุเป็นเผ่าพันธุ์พิเศษ
ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุมากจนเกือบจะแบ่งแยกไปหมดว่าใครคือผู้สูงอายุ ใครคือคนหนุ่มสาว ทั้งอาหารการกิน สินค้า หรือกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนถูกระบุไว้ชัดเจนว่าสำหรับผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดีสวัสดิ์เชื่อว่าผู้สูงอายุไม่ได้มีความต้องการอะไรที่พิเศษไปกว่าคนวัยอื่นเลยพวกเขาเพียงแค่ต้องการการปรับบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความสะดวกสบายและรองรับร่างกายที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง
“ถ้าคุณเดินเข้าไปในห้างฯ แล้วมีแผนกเสื้อผ้าผู้สูงอายุ คุณคิดว่าคนที่เป็นผู้สูงอายุจะอยากเดินเข้าไปซื้อเสื้อผ้าไหม? ผมว่าไม่มีใครอยากไปหรอก ไม่มีใครอยากเห็นตัวเองเป็นผู้สูงอายุ” คุณไมค์กล่าวนำ
เพราะทุกวันนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะผลิตสินค้าอะไรหรือจัดกิจกรรมแบบไหนก็จะมองผู้สูงอายุเป็นคนกลุ่มพิเศษเสมอ
“เราแค่ต้องทำให้สินค้าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเขา แต่ต้องไม่ใช่การเจาะจงถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นเสื้อผ้า คุณก็แค่ผลิตเสื้อผ้าผู้ใหญ่แบบปกตินั่นแหละ แต่แค่ให้มันหลวมสักนิดเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือใครก็สามารถใส่มันได้
“ซึ่งมันนำมาซึ่งวิธีคิดการออกแบบอื่นด้วย เช่น เราเห็นย่า-ยายยืนทำครัวนาน ๆ แล้วเมื่อยขา เราก็ไม่จำเป็นต้องทำครัวใหม่แก้ปัญหาให้คนในบ้านคนเดียว แต่มันต้องเป็นครัวที่ใช้ด้วยกันได้ทั้งบ้าน เราเลยลองออกแบบซิงค์ล้างจานขึ้น ถ้ายืนแล้วตัวจะเอียงไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อผ่อนน้ำหนักขาและมีที่ค้ำ แบบนี้มันใช้ได้กับทุกคนในครอบครัวไม่เฉพาะคนแก่ เพราะต่อให้เป็นคนหนุ่มสาว ถ้าต้องยืนทำครัวทั้งวันก็เมื่อยเหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่ามองคนแก่เป็นสปีชีส์ใหม่ เขายังเป็นคนสปีชีส์เดียวกับเรา เขาแค่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกกับเรื่องติดขัดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
“ด้วยความที่สังคมไทยยังมีความเป็นครอบครัวใหญ่ ปู่ย่าตายายลูกหลานยังคงอยู่บ้านเดียวกัน ไม่เหมือนต่างประเทศที่คนแก่นิยมไปอยู่บ้านพักคนชรา ความแตกต่างของวัฒนธรรมย่อมผลต่อการออกแบบ ฉะนั้น เฟอร์นิเจอร์ชุดหนึ่ง เราจะทำให้เก้าอี้ทุกตัวดูเหมือนกันหมด แต่จะมีตัวหนึ่งที่ไม่มีที่เท้าแขน ผู้สูงอายุจะได้ใช้สะดวก จะลุกจะนั่งก็ง่าย แต่ไม่มีใครรู้สึกแปลกแยก และจะเป็นใครนั่งก็ได้ ใช้ได้ทั้งครอบครัว”
เมื่อความต้องการของผู้สูงวัยคือการมีเป้าหมายสำหรับวันพรุ่งนี้
สำหรับตลาดผู้สูงอายุปัจจุบัน ผู้ผลิตมักออกแบบสินค้าเพื่อผู้สูงอายุอย่างจำเพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ หรือกิจกรรมต่าง ๆ แต่กลับไม่เคยมองว่าความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาคืออะไรกันแน่
“ผมคิดว่าสำหรับผู้สูงอายุแล้ว เขาจะอยู่ได้ต้องมีเป้าหมายในชีวิตหรือการทำให้วันนั้นเป็นวันพิเศษ บางทีอาจเป็นวันที่ลูกหลานบอกว่าจะมาเยี่ยม อาจเป็นแค่การอยู่เพื่อรอต้นไม้ออกดอก หรือแค่การรอดูปลาออกลูก
“ผมคิดว่าทั้งภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา คนแก่หลายคนกำลังมีชีวิตที่เรียบง่ายและขาดเป้าหมาย บางคนมีองค์ความรู้มากแต่ไม่รู้จะสื่อสารให้ใคร เราอาจมีช่องทางให้เขาถ่ายทอดออกไป เช่น อาจสร้าง co-working kitchen ให้คนแก่มาโชว์ฝีมือทำกับข้าว บ้านไหนทำอะไรเก่งให้หมุนเวียนกันมา ขายได้เท่าไหร่ มีกำไรหรือเปล่าคงไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะเขาได้มีเป้าหมายชีวิตแล้ว แถมยังเกิดชุมชนสร้างเพื่อนใหม่ให้เขารู้สึกอุ่นใจ แบบนี้ต่างหากคือการสร้างทางเลือกให้ผู้สูงอายุ ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาปลายเหตุ
“สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าคนเราจะอายุยืนหรือไม่นั้นไม่สำคัญเลย แต่ขึ้นกับว่าระหว่างทางนั้นใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ขนาดไหน ยังสนุก ตื่นเต้นไปกับชีวิตทุกวันได้หรือเปล่า? หรือตื่นนอนตอนเช้าแล้วยังมีเป้าหมายในชีวิตอยู่หรือไม่? ขอแค่คุณรู้ว่าวันนี้ต้องทำอะไร มันก็เป็นแรงขับที่มากพอให้คุณมีชีวิตอยู่ในวันต่อไปได้แล้ว” คุณไมค์กล่าวทิ้งท้าย