Palliative Care วิชาสำคัญเพื่อการอยู่และตายดี

เราอาจไม่รู้ว่าช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตจะเดินทางมาถึงเมื่อไร แต่เรามีสิทธิ์ที่จะเตรียมพร้อมชีวิตของเราไว้ได้ว่าอยากให้มันเป็นแบบไหน ถ้าหากช่วงเวลาสุดท้ายเดินทางมาถึง

ถ้าหากวันหนึ่งเราเจ็บป่วย เป็นโรคร้าย ต้องเข้ารับการรักษา เราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าอยากได้รับการดูแลรักษาแบบไหน อย่างไร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงสุดท้ายจนกระทั่งลาจากชีวิตนี้ไปด้วยความรู้สึกที่ดีอย่างที่ คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ได้บอกไว้ว่า “ไม่ว่าจะมีเวลาเหลือแค่ไหน เราก็สามารถมีความสุข หรือใช้ชีวิตอย่างที่อยากเป็นได้”

มนุษย์ต่างวัยชวนรู้จักและทบทวนวิชาสำคัญในชีวิตที่เราทุกคนสามารถวางแผนและเตรียมพร้อมเพื่อตัวเองได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนา Old School ภาคทฤษฎี วิชา ‘Palliative Care ทางเลือกในการดูแลวาระท้ายที่ไม่ต้องยื้อชีวิต เจ้าของชีวิตมีสิทธิ์เลือกได้’ จากงาน Death Fest 2025 : Better Living, Better Leaving. อยู่อย่างมีความหมาย เผชิญความตายอย่างเป็นสุข ที่จัดขึ้น ณ IMPACT Exhibition Hall 6 เมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม 2568

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พญ. นิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูน (KOON Palliative Care Specialised Hospital), อ.นพ.นิยม บุญทัน แพทย์ประจำศูนย์การรุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ดำเนินรายการโดย รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์

เปิดโลก Palliative Care

การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ไม่ได้โฟกัสแค่การเยียวยา หรือรักษาโรค แต่มุ่งเน้นการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แต่ดูแลครอบคลุมไปถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับความสูญเสียให้กับครอบครัวของผู้ป่วยด้วย

พื้นฐานของ Palliative Care คือ วางแผนก่อนว่าโรคอยู่ขั้นไหน วิธีการรักษาจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้องเข้าใจตัวโรค เข้าใจจุดประสงค์ในการรักษา และระวังขั้นตอนการมูฟจากการรักษาหลักไปสู่การรักษาแบบ Palliative Care ที่เร็วเกินไป พอเข้าใจจุดประสงค์ที่ชัดเจนแล้วก็จะเริ่มการรักษาแบบ Palliative Care ควบคู่ไปกับการรักษาเฉพาะตัวโรค โดยเน้นที่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ไม่ให้ผู้ป่วยต้องทรมานเกินไป ถ้าเจ็บหรือปวด ก็ต้องได้รับการดูแล เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเหล่านั้นอย่างเหมาะสม และระวังไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบ

การดูแลเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีมีหลักสำคัญอยู่ 4 เรื่อง คือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ

หลังจากดูแลร่างกายดีแล้ว ก็ดูเรื่องจิตใจว่าผู้ป่วยมีความต้องการหรือความคาดหวังอย่างไรในชีวิต หลังจากนั้นก็ดูบริบทรอบข้างหรือสังคมของผู้ป่วยว่าครอบครัวเขาเป็นอย่างไร รวมทั้งดูแลเรื่องจิตวิญญาณว่าผู้ป่วยมีความเชื่อ หรือความยึดมั่นเรื่องไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้แต่ละคนให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแผน การตัดสินใจ หลักสำคัญมีอยู่ว่าทุกอย่างต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ใช่คิดในมุมของลูก ของญาติ แต่ต้องคิดทุกอย่างภายใต้หมวกของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยสามารถตัดสินใจได้ ก็ต้องให้เขามีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย และต้องให้ผู้ป่วยได้รู้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างถูกต้องและครบถ้วนก่อนการตัดสินใจ แต่ถ้าเขาตัดสินใจไม่ได้ คนที่จะต้องตัดสินใจ ก็ต้องคิดและมองในมุมของผู้ป่วย เพราะถ้าหากเราตัดสินใจในมุมของความเป็นลูก มันอาจจะมีกำแพงบางอย่าง เช่น บทบาท หน้าที่ ความเชื่อทางสังคม หรือความรู้สึกห่วงใยมากั้นไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้เข้าถึงการรักษาที่ทำให้เขาสบายกาย สบายใจ และได้ใช้ชีวิตช่วงท้ายอย่างสงบสุข

Palliative Care ดูแลได้ตั้งแต่เริ่มป่วย

เราอาจจะเคยคิดว่า Palliative Care กับการรักษาแบบปกติ คือทางเลือกซ้ายหรือขวา แต่มันไม่ใช่ทางเลือก มันเป็นสิ่งที่สามารถทำควบคู่กันได้ เราไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะรักษาโรคอย่างเดียวโดยไม่คิดถึงเรื่องความสุขหรือคุณภาพชีวิตเลย

สิ่งสำคัญคือการสื่อสาร เราต้องสื่อสารให้คนรอบตัว คนใกล้ชิดเรารับรู้ด้วยว่า เราต้องการอะไร ให้คุณค่ากับเรื่องใดบ้าง ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เราก็จะรู้แล้วว่าการรักษาแต่ละอย่างมันตอบโจทย์เราหรือไม่ มันใช่สำหรับเราหรือเปล่า ผู้ป่วยบางคนแม้เป็นโรคระยะลุกลาม แต่ถ้าสภาพร่างกายยังดีอยู่ก็สามารถทำการรักษาแบบปกติก่อนได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิเสธการรักษา แล้วเลือกที่จะดูแลแบบ Palliative Care อย่างเดียวไปเลย แต่ถ้าผู้ป่วยตัดสินใจเลือกแบบนั้น ก็อยากให้สื่อสารกันให้ดี และมาวางแผนการักษาร่วมกันกับแพทย์ดูก่อน

เราสามารถเข้าถึง Palliative Care ได้ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิต หรือแพทย์ประเมินแล้วว่าตัวโรคของเรามีแนวโน้มที่จะถดถอยหรือแย่ลงในอนาคต หรือวินิจฉัยว่ามีระยะเวลาอย่างจำกัด เช่น ถ้าเราเป็นโรคมะเร็ง เราก็สามารถที่จะรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัด ผ่าตัด หรือใช้รังสีรักษา ฉายแสง ควบคู่ไปกับการรักษาแบบ Palliative Care ได้

มีการศึกษาวิจัย พบว่า เวลาเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยหรือครอบครัวเรื่องการวางแผนล่วงหน้า หรือการเตรียมตัวเพื่อการตายดีมักจะทำให้พวกเขาเกิดความวิตกกังวลว่าทำไมอยู่ ๆ หมอหรือพยาบาลถึงมาชวนคุยเรื่องพวกนี้ เวลาของผู้ป่วยเหลือน้อยแล้วหรือเปล่า แต่ว่าหลังจากได้คุยเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวกลับรู้สึกเบาใจ รู้สึกสบายใจมากขึ้นว่ามีคนมองเห็นความสำคัญของเขา ช่วยเขาเตรียมตัว ทำให้เขารู้ว่ามีเวลามากน้อยแค่ไหน และจะใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างไร

สังคมแห่งการอยู่ดีและตายดีเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้าง

คนเรามีทางเลือกได้หลากหลาย เพียงแต่ว่าเราเข้าใจรึเปล่าว่าทางที่เราเลือกคืออะไร มันเติมเต็มหรือตอบคุณค่าในส่วนไหน เพราะฉะนั้นถ้าคนในครอบครัวคุยกันแล้วทำให้สิ่งที่พูดคุยกันมันถูกสื่อสารไปถึงแพทย์ที่ให้การดูแลได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคอง แต่เป็นแพทย์เจ้าของไข้ก็ได้ หรือเวลาไปโรงพยาบาลแล้วมีบุคลากรที่ช่วยแนะนำ หรือให้คำปรึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เขายังไม่เจ็บป่วยหนักมาก เช่น ตั้งแต่เริ่มไปคลินิกเบาหวาน คลินิกความดัน คลินิกโรคไต ได้ช่วยสื่อสารเรื่องนี้ให้ผู้ป่วยได้เข้าใจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เขารับรู้และได้เข้าถึงสิทธิ์พื้นฐานที่เขาควรจะได้รับก็จะทำให้ทุกคนเข้าใจและสามารถตัดสินใจที่จะวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

การที่เราจะช่วยให้ใครสักคนตายดีมันไม่ใช่หน้าที่ครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่มีส่วนในการช่วยเหลือ ดูแลกัน จริง ๆ แล้วก่อนที่จะมีการดูแลแบบประคับประคอง ผู้คนสมัยก่อนก็ดูแลกัน ช่วยเหลือกัน คนในชุมชนก็ไม่ทิ้งกัน แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มห่างกันมากขึ้น เราก็เริ่มไม่สนใจกันแล้ว เพราะเราต้องเอาตัวรอด เราก็เจ็บปวดกับชีวิตของเราเหมือนกัน เราก็เลยไม่อยากจะไปสนใจคนอื่นแล้วว่าเขากำลังทุกข์กับเรื่องอะไร มันเลยทำให้เราตัดขาดซึ่งกันและกัน ทำให้สิทธิ์ในการตายดีนั้นเป็นเหมือนเรื่องที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้รับหรือสามารถเข้าถึงมันได้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันคือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรจะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

การดูแลแบบประคับประคองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและครอบครัว หรือบางครั้งผู้ป่วยอาจจะต้องอยู่ตามลำพัง หรือบางครอบครัวผู้สูงอายุก็อยู่กันเอง โดยไม่มีผู้ดูแล ก็ต้องช่วยกันสื่อสารให้ทุกคนได้เข้าใจว่าต้องทำอย่างไรให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะท้ายได้โดยที่ไม่มีผู้ดูแล มีองค์กร หรือหน่วยงานใดบ้างที่สามารถให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำกับพวกเขาได้

เพื่อนบ้านประคับประคอง

สิ่งหนึ่งที่ทาง Peaceful Death ทำเพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการอยู่ดีและตายดี คือ โปรแกรมเพื่อนบ้านประคับประคอง โดยทำให้คนในชุมชนเขารู้จักเรื่องการดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่ยังไม่แก่ และไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยจนรักษาไม่ได้ ให้เขาได้รู้ว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง เมื่อเดินทางไปถึงจุดนั้น

จริง ๆ แล้วมันคือการดูแลขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร บางครั้งญาติก็ตกใจเพราะรู้สึกว่าเขาต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ผู้ป่วยอยากได้มากที่สุดก็คือการดูแลชีวิตประจำวันให้สุขสบาย ด้วยความรักและความใส่ใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการพยายามหาวิธีการรักษาใหม่ ๆ ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย หรือรอให้มีตัวยานำเข้าใหม่มารักษาผู้ป่วย

โปรแกรมเพื่อนบ้านประคับประคองจึงชวนให้คนในชุมชนได้มาเรียนรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตัว และการดูแลแบบประคับประคองเป็นสิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือ ดูแลกันได้ และการที่มีเพื่อนบ้านที่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะทำให้มีคนคอยแวะมาถามไถ่ มาดูแล เวลาที่ชุมชนมีผู้สูงอายุอยู่กันเองโดยไม่มีลูกหลาน หรือผู้ดูแล ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ศิลปะแห่งการดูแล

ในมุมของความเป็นเเพทย์จะต้องเข้าใจครอบครัวหรือญาติผู้ป่วยก่อนว่า การที่เขาอยากให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเยอะ ๆ อยากให้ช่วยผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด นั่นเป็นเพราะความรักที่เขามีต่อผู้ป่วย เราอาจจะลองเสนอทางเลือกให้เขาเข้าใจก่อนว่านอกจากการรักษาแบบปกติแล้วมันยังมีทางเลือกอะไรบ้าง เพื่อให้เขารู้ว่ามันมีทางเลือกอื่นในการดูแลอยู่ ถ้าเขาเข้าใจรูปแบบของ Palliative Care จริง ๆ ว่ามันไม่ยื้อ มันไม่เร่ง มันสุขสบายกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เขาก็จะเลือกทางนี้ ซึ่งทุกวันนี้วิทยาการทางกา่รแพทย์มันล้ำหน้าไปมาก ๆ ก็อยากให้บาลานซ์รูปแบบการรักษาอย่างเหมาะสม

ในมุมของครอบครัวหรือผู้ดูแล เราต้องเข้าใจว่าในกระบวนการรักษามันจะมีช่วงขึ้น ๆ ลง ๆ บางครั้งร่างกายของผู้ป่วยก็ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาหรือยาที่ได้รับ ถ้าเรารู้สึกเสียใจ รู้สึกเศร้า เราก็อนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ ร้องไห้ได้ หรือบางครั้งเวลาที่เราเป็นผู้ดูแลมันอาจเกิดความาขัดแย้งในใจว่า บางครั้งเราก็อยากใช้ชีวิต ทำสิ่งที่เราชอบ เราอยากทำ แต่เราก็ต้องลดการทำบางอย่างที่เราชอบลง พยายามทำให้การดูแลเป็นเรื่องที่เป็นศิลปะมากขึ้น ไม่ใช่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้ หรือเอาชนะเพียงอย่างเดียว บางครั้งถ้าหากเราเข้าใจธรรมชาติของตัวโรค มันก็จะช่วยทำให้เราสนุกกับกระบวนการที่เราดูแลกัน ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง

จริง ๆ แล้วทุกอย่างอาจต้องกลับมาเริ่มต้นที่การรู้เท่าทันความตาย เพราะถ้าเรารู้เรื่องนี้ เราก็จะเริ่มตระหนัก วางแผน แสวงหาความรู้ แล้วก็จะทำให้เราเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่นำไปสู่การอยู่ดีและตายดีได้ง่ายขึ้น

ถ้าหากการมีชีวิตอยู่เป็นความสวยงามอย่างหนึ่ง การจากลาก็สามารถเป็นศิลปะที่สวยงามได้เช่นเดียวกัน เหมือนกับแสงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้าในทุกวันเมื่อมันได้ทำหน้าที่มอบแสงสว่างและพลังงานให้กับทุกชีวิตอย่างสมบูรณ์ตลอดวันแล้ว สุดท้ายไม่ว่าเราจะเลือกแบบไหน อย่างไร ก็ขอให้เราเข้าใจ และมั่นใจว่าทางเลือกนั้นเป็นสิ่งที่เราได้เลือกมาอย่างดีและเหมาะกับชีวิตของเรามากที่สุดแล้ว

Palliative Care เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเราในช่วงท้ายของชีวิต ไม่ใช่การที่เรายอมจำนนให้กับความตาย แต่เป็นการที่จะปฏิเสธที่จะให้ความเจ็บปวดเป็นตัวกำหนดคุณค่า หรือความหมายในการใช้ชีวิตช่วงท้ายของเรา

ขอบคุณภาพจาก Death Fest

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ