ในเส้นทางชีวิตของคนเราที่มีห้วงเวลาสั้น ยาวไม่เท่ากันนั้น เราต่างมี ‘ความตาย’ เป็นเหมือนมิตรแท้ที่รอเราอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนเส้นทางของชีวิต
ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ หลายคนอาจมีโอกาสได้เตรียมตัว เตรียมใจว่าอยากทำอะไรบ้าง เพื่อให้จากไปอย่างไร้กังวล แต่หลายคนก็ไม่มีโอกาสนั้น เพราะในบางครั้งความตายก็พุ่งเข้าใส่ชีวิตเราแบบไม่ทันได้ตั้งตัว
“ในขณะที่มีคนตายอยู่ตลอด เราเพิ่งกล้าที่จะเริ่มคุยเรื่องความตายกันแบบเปิดอก ยิ้มให้กัน ถามกันว่า เธอเตรียมตัวตายไว้อย่างไร ? ซึ่งมันกลายเป็นความเบิกบานที่จะเจอกับปรากฏการณ์ที่ยากที่สุดในชีวิตคนคนหนึ่ง”
มนุษย์ต่างวัยนำส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนา Old School ภาคทฤษฎี วิชา ‘สุดท้าย’ โดย พระเอกวีร์ มหาญาโณ (หลวงพี่อั๋น) จากงาน Death Fest 2025 : Better Living, Better Leaving. อยู่อย่างมีความหมาย เผชิญความตายอย่างเป็นสุข ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ IMPACT Exhibition Hall 6
ช่วงเวลาหลังความตายของหนึ่งชีวิต คนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนตายก็จะต้องจัดการเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เอกสาร พิธีกรรม และหลังจากเรื่องราวเหล่านี้ สิ่งที่จะต้องจัดการต่อคงเป็นเรื่องของความรู้สึกและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ไม่น้อย นั่นเป็นเรื่องของคนที่ยังอยู่
แล้วสำหรับคนที่ตายจากไป คุณเคยสงสัยบ้างหรือเปล่าว่า หลังจากนั้นเขาไปที่ไหน ทำอะไรต่อ หรือทุกอย่างจะสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อเราตายจากโลกนี้ไป
“ระหว่างเส้นทางจากการเกิดไปสู่การตาย หลายคนอาจจะเห็นและได้เตรียมตัวไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทดลองนอนในโลง การทำสมุดเบาใจ การบริจาคร่างกาย การศึกษาเรื่อง Palliative Care รวมถึงกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เป็นการเตรียมความพร้อมให้เราเดินทางไปถึงความตาย และทำให้เรารู้ว่าช่วงชีวิตนี้ที่ยังเหลืออยู่ เราจะใช้มันต่อไปอย่างไร เพื่อให้เราคุ้นเคยกับการเตรียมตัวในระยะท้าย
แล้วเส้นทางหลังจากความตายล่ะคืออะไร ?
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือแก่นสำคัญของมิติทางจิตใจที่คนทำงานเรื่องภาวะภายใน หรือหลายศาสนากำลังพยายามพูดถึงอยู่ เพื่อให้เรามีความเข้าใจว่าหลังจบจากตรงนี้แล้วมันจะเกิดอะไรต่อ
“สมมติว่าเส้นทางนี้มันคือการเรียนในมหาวิทยาลัย ถ้าเรามองว่าจุดสิ้นสุดของการเดินทางคือการเรียนจบ เราจะเรียนแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราเรียนโดยที่รู้ว่าชีวิตหลังจากนั้นมันจะดำเนินต่อไปอีกยาวไกลเท่าไรก็ไม่รู้ เราก็จะเรียนอีกแบบหนึ่ง
“การเตรียมเรื่องการจัดการต่าง ๆ ให้มันง่ายต่อชีวิต ง่ายต่อคนที่รักเรา ไม่ว่าจะเตรียมโลงศพ เตรียมรูปหน้างานศพ เตรียมวิธีการใช้ชีวิตในช่วงสุดท้าย เตรียมวิธีการบอกลา ในเส้นทางสู่ความตายนั้น เราได้เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว อยากขอให้พวกเราเพิ่มอีกเรื่องหนึ่ง คือ ศึกษาว่าหลังจากนี้มันจะเกิดอะไรต่อ ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาพุทธ นับถือศาสนาคริสต์ นับถือศาสนาอิสลาม หรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลยก็ได้ แต่เราต้องศึกษา เพื่อให้เราตอบตัวเองได้ว่า เมื่อเราเดินทางไปถึงจุดนั้นจริง ๆ แล้ว เราตั้งใจว่าจะทำอย่างไรต่อ
“ถ้าถามว่าวิชาสุดท้ายของชีวิตที่เราควรจะเรียนคืออะไร อาตมาก็อยากชวนว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เราได้ศึกษากระบวนการที่จะเกิดขึ้นหลังจากความตาย เพื่อให้ในช่วงเวลาที่วาระสุดท้ายใกล้มาถึง เรามีความมั่นใจ ไม่กังวล และไม่วอกแวกจากสิ่งที่เราเชื่อและตั้งใจไว้
“พุทธศาสนาบอกไว้ว่า ถ้าเราไม่สามารถจัดการตัวเองได้ เราก็จะเข้าสู่วงจรแห่งสังสารวัฏ ซึ่งคำสอนจะไม่ได้พาให้เราไปกังวลกับอนาคต แต่จะพาเราย้อนกลับมาสังเกตการทำงานของวงจรนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“หัวใจของศาสนาพุทธสอนให้เราออกจากระบบนี้ ออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราแทบจะไม่สามารถนึกถึงได้เลย เหมือนกับเราใส่แว่น VR (Virtual Reality) มาตั้งแต่เกิด โดยที่ไม่เคยถอดเลย เราก็จะนึกว่าทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นในจอนี้เป็นเรื่องจริง ถ้ามีผีลอยมา เราก็จะกลัวจริง ถ้ามีคนที่เรารักมาก ๆ ปรากฏขึ้นในนั้น เราก็จะรักเขาจริง ๆ ถ้าเขาตาย เราก็จะเสียใจจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วมันเป็นแค่ภาพในจอ แต่เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จริง มันก็เลยจริงสำหรับเรา
“พอคนในจอนั้นตาย หนังเรื่องเดิมเปลี่ยน หนังเรื่องใหม่เล่น เราก็จะเข้าใจไปว่าพอมีเรื่องหนึ่งดับ อีกเรื่องหนึ่งก็จะเกิด เข้าใจว่าหนังทุกเรื่องเป็นเรื่องจริง การเปลี่ยนแปลงของหนังแต่ละเรื่องที่ปรากฏขึ้นบนจอมันก็เป็นเรื่องจริง การเวียนว่ายในสังสารวัฏก็เป็นคล้าย ๆ แบบนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจริง ๆ แต่มันไม่จริง
“เราจะฝึกอย่างไรก็ได้ให้สามารถถอดแว่นนี้ออกมาได้ แล้วเห็นว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เรากังวลมาตลอดชีวิต สิ่งที่เราเจอมาตลอดชีวิตมันเป็นมายา
“การจะเห็นวงจรที่มันทำงานอยู่ในปัจจุบันได้นั้น สิ่งที่เราจะต้องฝึกคือ ฝึกให้เรามีความตั้งมั่นที่จะสังเกต ฝึกจิตใจเราไม่ให้วอกแวก หรือเรียกว่า ฝึกสมถะ ฝึกสมาธิ แล้วก็เอาความตั้งมั่นนั้นมาสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจ เราจะเริ่มเห็นว่าสิ่งที่เรานึกว่ามันเป็นจริง มันเป็นแค่กระบวนการทำงานของบางอย่างเท่านั้น มันจะเริ่มเปิดเผยความจริงให้เราเห็นจนกระทั่งเราไม่ต้องกังวลว่าเราจะต้องไปเวียนว่ายกับอะไรอีก ในเมืองไทยก็มีครูบาอาจารย์ไม่น้อยที่จะพาให้เราเข้าใจและฝึกเรื่องนี้ได้
“ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในจอมันเป็นความจริงทั้งหมด เมื่อไรก็ตามที่หนังผีเล่น เราก็จะเป็นจะตาย และเมื่อไรก็ตามที่หนังรักเล่น เราก็จะอินกับมันจนกระทั่งเรายอมตายเพื่อความรักได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้มันก็ยังอยู่ในแว่นเดิม แว่นที่เราคิดว่าเป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกให้ตัวเองสามารถถอดความเชื่อนี้ได้ เราถึงจะค้นพบความจริงว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ได้เป็นอะไรเลย หนังจะเล่นไปกี่เรื่อง เราก็ไม่เป็นอะไร
“เราจะเป็นเหมือนคนที่มองดูเรื่องราวเหล่านั้น แต่ไม่ได้ไปอยู่ในนั้น เราแค่มองเห็นทุกอย่างที่มันเป็น ซึ่งมันมีกระบวนการที่เราจะฝึก เพื่อให้เราสามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ และกระบวนการนี้คุ้มค่าที่เราจะใช้ช่วงเวลาชีวิตที่เรามีอยู่ในตอนนี้ในการศึกษาสิ่งที่จะช่วยให้เราออกจากวงจรไม่รู้จบนี้ได้
“ในศาสนาอื่นอาตมาก็เชื่อว่ามีคำสอนเรื่องนี้ คำสอนที่จะบอกว่า หลังจากที่เราตายแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร แล้วก่อนตายเราต้องเตรียมตัวอย่างไร เช่น เตรียมตัวไปหาพระเจ้า เตรียมตัวกลับสู่ธรรมชาติเดิมแท้ของเรา อะไรก็ตามที่เราเชื่อ อยากให้เราใช้เวลาทั้งชีวิตในการศึกษาสิ่งนั้นให้เต็มที่ด้วย แล้วมันจะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยทั้งในการใช้ชีวิตตอนนี้ และหลังจากที่เราตายจากโลกนี้ไป
“คำสอนเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่และเปิดกว้างที่จะให้เราไปศึกษาได้เสมอ ขอแค่เราขวนขวายที่จะเรียนรู้ วิชาสุดท้ายของชีวิตคือวิชาหนึ่ง ส่วนวิชาสุดท้ายของสังสารวัฏนี้ก็เป็นอีกวิชาหนึ่ง อยากให้งานวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้กันอย่างจริงจัง และขอให้เราลงลึกกับการเข้าใจตัวเองมากขึ้นจนกระทั่งวันสุดท้ายเราพร้อมที่จะจากไปอย่างงดงาม”
ขอบคุณภาพจาก Death Fest