“หนึ่งสัปดาห์ มีเจ็ดวัน พ่อวาดรูปไม่หยุดไปแล้ว 5 วัน แล้วรูปที่พ่อวาดตอนนี้ก็เต็มบ้านไปหมด หลายคนบอกว่างานของพ่อมันเจ๋งมาก แต่สำหรับเรามองยังไงก็ธรรมดา”
เมื่อการวาดรูปเป็นสิ่งเดียวที่พ่อหลงใหล เป็นอาชีพเดียวที่พ่อทำมาตลอด 30 ปี และเป็นมรดกที่ตั้งใจจะมอบให้ลูกๆ ในอนาคต แต่งานศิลปะที่พ่อตั้งใจวาดกลับไม่ใช่สิ่งที่ลูกสาวชื่นชอบ หรือชื่นชม แม้ว่าจะเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นศิลปินวาดรูป แม่เป็นผู้จัดการงานศิลปะของพ่อ และมีพี่ชายเดินตามรอยของพ่อเหมือนลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น แต่สำหรับ ‘ฝ้าย’ ลูกสาวคนเล็กของบ้าน ศิลปะกลับเป็นสิ่งที่เธอไม่ถนัด ไม่สนใจ และไม่ต้องการเป็นผู้รับมรดก
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ ‘ฝ้าย’ ศรุตา เลิศธรรมศิริ วัย 25 ปี ที่กำลังสนุกกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนในตำแหน่งกราฟิกดีไซน์เนอร์และการขายของออนไลน์ ยอมเปลี่ยนใจกลับมาทำหน้าที่ผู้จัดการงานศิลปะให้พ่อในวันที่การขายงานศิลปะในแบบเก่าๆ ของพ่อไปต่อไม่ได้ คือคำพูดของคนๆ หนึ่ง
“เพื่อนพ่อพูดกับเราว่า งานศิลปะพวกนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคนดูแลจัดการ ถ้าไม่มี มันก็จะถูกแช่ทิ้งไว้และก็ขายไม่ได้ สุดท้ายก็กลายเป็นขยะไร้ค่า ซึ่งตอนนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่า พ่อต้องการคนที่จะมาช่วยซัพพอร์ตในสิ่งที่เขาไม่ถนัด เพื่อให้งานศิลปะที่เขาทุ่มเทถูกมองเห็นมากขึ้น”
ฝ้ายตัดสินใจลาออกจากงาน และพางานศิลปะกว่าพันชิ้นของพ่อไปสู่โลกออนไลน์ ทั้งในเฟซบุ๊ก ติกตอก และ NFT การทำงานร่วมกันทำให้ฝ้ายได้เปิดใจ เรียนรู้ และค้นพบคุณค่าในงานของพ่อ รวมถึงค้นพบว่า ‘ศิลปะมีค่ากว่าเงิน’
มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับครอบครัวศิลปะ ที่เริ่มต้นเรื่องราวด้วยความไม่ชอบ สู่การเคารพความสุข และซัพพอร์ตความฝันของกันและกันระหว่างพ่อ-ลูก ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
กว่า 30 ปี บนเส้นทางสายศิลปะ ‘พ่อ’ พรชัย เลิศธรรมศิริ ปัจจุบัน วัย 58 ปี คือศิลปินวาดรูปอิสระผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยเทคนิคที่หลากหลายแต่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว แม้ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก แต่ผลงานของพ่อ ก็ได้รับการยอมรับไม่น้อยในวงการนี้
ในปีพ.ศ 2537 พ่อคือศิลปินคนแรกๆ ในเมืองไทยที่ใช้น้ำกาแฟมาวาดรูปแทนสีน้ำ ผลงานดังกล่าวทำให้พ่อแจ้งเกิดในนามศิลปินกาแฟ ได้รับการติดต่อให้นำผลงานไปจัดแสดงในต่างประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย
นอกจากวาดรูปด้วยกาแฟ พ่อยังคงสนุกกับการวาดรูปด้วยเทคนิคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีน้ำ สีอะคริลิก สีน้ำมัน ไปจนถึงการค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ จนเป็นที่รู้จักอีกครั้งในนามศิลปินวาดรูปด้วยฟ็อกกี้ ที่พ่นออกมาเป็นภาพวาดสวยงามมีเอกลักษณ์ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
“ผมชื่นชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก และตัดสินใจเดินทางสายนี้มาตลอด 30 ปี ในตอนที่ตัดสินใจว่าจะมาทางนี้แน่ๆ สมัยก่อนพ่อแม่ไม่มีใครเห็นด้วยหรอก พ่อแม่คิดอย่างเดียวว่าต้องรับราชการ เพราะคิดว่าอาชีพข้าราชการยังไงก็มั่นคงกว่าอาชีพศิลปิน แต่ในเมื่อเราเลือกแล้วก็แน่วแน่ในเส้นทางนี้มาตลอด และต้องอยู่กับมันให้ได้ หลังจากเรียนจบด้านศิลปะจึงเริ่มต้นประกอบอาชีพด้วยการเป็นศิลปินอิสระ
“แต่ช่วงแรกๆ ก็คิดเหมือนกันว่าเราทำงานศิลปะจะอยู่รอดได้ยังไง เพราะเราไม่ได้มีเงินเดือน ไม่ได้เป็นครูรับสอนศิลปะ แต่เราก็พยายามสร้างผลงานออกมาให้แตกต่าง หาเทคนิคใหม่ๆ มาทำงาน จนเริ่มมีคนรู้จัก และขายผลงานให้กับคนที่สนใจ ซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จนสามารถสร้างครอบครัว มีบ้าน มีรถ และเลี้ยงลูกชายกับลูกสาวมาได้อย่างไม่ลำบาก”
‘พ่อ’ พรชัย เลิศธรรมศิริ เล่า
จากอาชีพที่พ่อแม่มองว่าไม่มั่นคง พ่อพยายามพิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางสายนี้ด้วยฝีมือ และความขยันพัฒนาผลงาน จนผลงานกลายเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะมาโดยตลอด แต่นั่นไม่ใช่ด่านแรกที่พ่อต้องฝ่าฝัน เพราะด่านต่อมาคือ ‘ลูกสาว’ ที่ดูเหมือนจะไม่ชื่นชอบ และไม่เคยชื่นชมผลงานของพ่อเลยตั้งแต่เด็กจนโต
“ความสุขของผมคือการวาดรูป ถ้าวันไหนไม่ได้จับพู่กันจะรู้สึกเหมือนชีวิตขาดอะไรไป ทุกวันลูกก็เลยจะเห็นพ่อนั่งวาดรูป ถ้าไม่วาดรูปอยู่ที่บ้านก็จะเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อวาดรูป แล้วเราก็จะพาเขาไปด้วยทุกครั้งเพราะตอนนั้นเขายังเด็ก เรียกว่าเลี้ยงเขาด้วยศิลปะ
“แล้วเราก็สอนเขาให้วาดรูป ลูกชายจะชอบมาก แต่ลูกสาวไม่ชอบเลย เราก็มองมันเป็นเรื่องธรรมดานะ แต่ก็คิดมาตลอดว่า ถ้าวันหนึ่งโตขึ้นเขาจะเห็นคุณค่าของมันเอง หรืออย่างน้อยๆ ก็รู้สึกชอบมันบ้าง เพราะวันหนึ่งที่เราไม่อยู่แล้ว ผลงานที่เราวาดไว้มันคือมรดกที่จะตกทอดไปถึงเขา ถ้าเขาไม่เห็นค่า ต่อไปมันก็คือขยะที่ไร้ค่า”
“เราโตมากับพ่อที่เป็นศิลปินวาดรูป พี่ชายทำงานเกี่ยวกับศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ส่วนแม่ก็เป็นเหมือนผู้จัดการแกลลอรี ช่วยพ่อขายผลงาน แต่เราเข้าไม่ถึงงานศิลปะของที่บ้านเลยสักชิ้น เรามองว่าภาพของพ่อไม่ได้ว้าวอะไรขนาดนั้น ไม่ได้เจ๋งเหมือนที่คนอื่นมองว่ามันเจ๋ง มันธรรมดามากๆ ในสายตาเรา เรามองว่างานของพ่อแก่มากด้วยซ้ำ
“เราไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อถึงมีแพสชันในการตื่นขึ้นมาวาดรูปได้ทุกวัน เขาไม่เบื่อบ้างเหรอ เราเห็นเรายังรู้สึกเลยว่า พ่อเอาอีกแล้ว วาดรูปอีกแล้ว หยุดบ้างก็ได้ (หัวเราะ) เพราะบางภาพที่พ่อวาด เขาไม่ได้สนใจเลยว่าจะขายได้หรือไม่ได้ ขอแค่เขาได้จับพู่กันขึ้นมาวาดรูป จนรูปที่พ่อวาดมันเต็มบ้านไปหมด แทบไม่เหลือพื้นที่ให้เก็บอีกแล้ว
“ตอนเด็กๆ พ่อก็เคยสอนเราวาดรูปนะ เราก็คิดว่าเราน่าจะชอบ แต่พอเอาเข้าจริงๆ พี่ชายเขาไม่ต้องทำอะไรเลยเขาก็วาดรูปออกมาสวยแล้ว แต่เราสิพยายามเรียนรู้แทบตายก็วาดออกมาไม่ได้ แค่จับพู่กันวาดรูปยังจับไม่ถูก วาดคนเป็นก้าง วาดต้นไม้ยังไม่เป็นต้นไม้เลย แล้วเวลาที่พ่อกับพี่ชายคุยกัน เขาจะคุยกันสนุกมาก เราก็ฟังว่าเขาคุยอะไรกันแต่ก็ไม่เคยเข้าใจ และไม่เคยเข้าถึง มันเป็นสิ่งที่เราฝังใจมากๆ ว่าเราไม่เหมาะกับงานศิลปะ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราพยายามหนีมันมาตลอด”
ถึงแม้ว่าจะคลุกคลีกับศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แต่ฝ้ายกลับรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นลูกไม้หล่นไกลต้นเสมอมา ทำให้เธอพยายามหนีงานศิลปะของครอบครัวและหันไปวิ่งไล่ตามความฝันของตัวเอง โดยเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ฝ้ายเลือกที่จะเรียนด้านกราฟิกดีไซน์เนอร์ ทำงานกินเงินเดือนในบริษัท และเก็บเงินทำธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ตามที่ใฝ่ฝัน
“พอเรียนจบเราก็ไปทำงานตามสายงานที่เรียนมา คือเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ในองค์กร แต่เรามีความฝันว่าอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองก็เลยเลือกที่จะทุ่มเทให้กับการขายเสื้อผ้าออนไลน์ควบคู่ไปด้วย แล้วเราก็ไม่เคยคิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวในงานของพ่ออีกเลย ส่วนพี่ชายเขาก็ทำงานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง เหมือนต่างคนต่างก็ไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ”
‘ฝ้าย’ ศรุตา เลิศธรรมศิริ เล่า
ในขณะที่ฝ้ายกำลังไล่ตามความฝันของตัวเอง เวลาเดียวกันกลับไม่เคยรับรู้เลยว่า พ่อกำลังพยายามประคับประคองความฝันของเขาให้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ และต่อสู้กับวิกฤตอาชีพจากสถานการณ์โควิดที่พ่อต้องฝ่าฟัน
“ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปแสดงงานที่อเมริกา ผมเห็นศิลปินที่นั่นเขาเริ่มทำเว็บไซต์เพื่อขายผลงานบนออนไลน์ แล้วเขาทำบ้านเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ เราก็เริ่มมองเห็นว่าเขากำลังปรับตัวไปกับยุคสมัยที่มันมีเทคโนโลยีเข้ามา เราก็คิดว่าเราต้องปรับตัวตามเหมือนกัน จะขายงานผ่านคอนเนกชันแบบเดิมไม่ได้แล้ว และอนาคตการจัดแสดงงานในนิทรรศการก็อาจจะน้อยลง ผมจึงเริ่มเรียนรู้การทำเว็บไซต์ของตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเราไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยี
“ต่อมาก็ชวนเพื่อนทำยูทูบเพราะเราอยากให้คนรู้จักผลงานของเรามากขึ้น แต่ทำไปทำมาสุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะมันไม่ถนัดกันทั้งคู่ สุดท้ายก็ต้องพับเรื่องการทำออนไลน์ไป แต่ก็ยังพยายามคิดหาหนทางเพื่อให้สิ่งที่เราทำ ยังไปต่อได้
“มาถึงยุคโควิด ช่วงนั้นเรามีหน้าร้านสำหรับขายรูปที่จตุจักร ซึ่งกลุ่มลูกค้าเราเป็นชาวต่างชาติ แต่พอเจอโควิดต่างชาติเข้าประเทศไม่ได้ก็เริ่มได้รับผลกระทบ เราก็คิดว่าโควิดจะแค่หนึ่งปี แต่ผ่านไปสองปีก็แล้ว ผ่านไปสามปีก็แล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ยอมรับว่ามันลำบาก
“เพื่อนๆ ของเราหลายคนต้องหันหลังให้กับงานศิลปะ ไปทำงานอย่างอื่นเพราะไม่สามารถไปต่อได้ มันไม่มีคนซื้อ คอนเนกชันก็วนๆ อยู่แค่กลุ่มเดิมๆ ในเฟซบุ๊กมีเพื่อนอยู่ห้าพันคน เขาก็ไม่ได้อยากซื้องานเราทุกคน แล้วมันเห็นกันจนเซ็ง เหมือนแวดวงศิลปะเริ่มแคบลงเรื่อยๆ
“เราก็พยายามทำงานของเราไป และในใจก็หวังว่าอยากให้ลูกมาช่วยทำ แต่คุยกับฝ้ายแล้วเขาก็ยังไม่ยอมเข้ามาช่วย ตอนนั้นเราก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะไม่อยากไปบังคับอะไรเขา เราก็พยายามทำตามวิถีเดิมๆ ของเราไป คิดว่ายังไงก็ต้องมีหนทางถ้าเราไม่หยุดพยายาม”
พ่อเล่า
“ตอนนั้นเรายังสนุกกับการขายของออนไลน์ของเราอยู่ เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าพ่อกำลังเจอปัญหาอะไร แต่เขาพยายามมาถามเราว่าเว็บไซต์ทำยังไง ออนไลน์เขาทำกันยังไง จนกระทั่งเราเริ่มเห็นพ่อพยายามเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีด้วยตัวเอง
“พยายามที่จะทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อโชว์ผลงาน แล้วช่วงนั้นเราเริ่มเห็นว่าผลงานของพ่อมันถูกแช่ทิ้งไว้ในบ้าน แม่ไม่ได้ไปขายงานของพ่อที่ร้านเหมือนเดิม งานของพ่อเริ่มมีคนมาติดต่อซื้อน้อยลง แต่พ่อยังไม่หยุดวาดรูป เหมือนพยายามหาเทคนิคใหม่ๆ มาทำงานศิลปะ เราก็เริ่มรู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าพ่อกำลังมีปัญหา
“พอได้เจอเพื่อนของพ่อที่มาดูงานศิลปะที่บ้าน เพื่อนพ่อพูดกับเราว่า งานศิลปะพวกนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคนดูแลจัดการ เหมือนผู้จัดการแกลลอรี ถ้าไม่มีมันก็จะถูกแช่ทิ้งไว้และก็ขายไม่ได้ สุดท้ายก็กลายเป็นขยะไร้ค่า ซึ่งตอนนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่า พ่อต้องการคนที่จะมาช่วยซัพพอร์ตในสิ่งที่เขาไม่ถนัด เพื่อให้งานศิลปะที่เขาทุ่มเทมันถูกมองเห็นมากขึ้นในยุคที่ศิลปะมันไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยคอนเนกชัน หรือรอจัดแสดงงานอย่างเดียว
“เราเครียดมาก สุดท้ายหนียังไงก็หนีไม่พ้น เรารู้อยู่แล้วเต็มอกว่าในอนาคตผลงานพวกนี้ของพ่อ จะช้าจะเร็วเราก็ต้องเป็นคนดูแล สู้เราเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า เพราะเอาเข้าจริงๆ ต่อให้เราไม่ชอบมันแค่ไหน
“แต่เราก็คงไม่อยากเห็นสิ่งที่พ่อรักและทุ่มเทมาตลอดชีวิตกลายเป็นขยะที่ไม่มีใครต้องการ อย่างน้อยๆ ถ้าเรารู้อะไรเกี่ยวกับงานของพ่อบ้าง ในอนาคตถ้าเราไม่เก็บไว้เองเราก็ยังสามารถส่งต่อรูปของพ่อไปให้กับคนที่เขาเห็นค่าและอยากได้มันจริงๆ ได้ เราก็เลยตัดสินใจว่าจะกลับมาช่วยพ่อ”
ในที่สุดฝ้ายก็ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับมาทำงานร่วมกับพ่อ และเป็นผู้จัดการแกลลอรีที่เต็มไปด้วยรูปวาดนับพันที่พ่อวาด โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้คนรู้จักผลงานของพ่อมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เธอทำไม่ใช่เพื่อหวังกอบโกยเงินทอง หรือหวังให้พ่อมีชื่อเสียงโด่งดัง ฝ้ายบอกว่า เธอเพียงอยากให้พ่อได้ทำในสิ่งที่พ่อรักต่อไปโดยไม่ต้องกังวลว่าสิ่งที่ทำจะกลายเป็นขยะที่ไม่มีใครต้องการ และหวังว่าจะมีคนมองเห็นคุณค่าในงานของพ่อเพิ่มมากขึ้น
“หลังจากที่ตัดสินใจมาดูแลผลงานของพ่อ เราก็พยายามเปิดใจเรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานศิลปะ แม้จะยังเข้าไม่ถึง และไม่ชอบงานของพ่ออยู่ดีก็ตาม (หัวเราะ) เราเริ่มต้นด้วยการทำออนไลน์ คือเปิดเพจเฟซบุ๊ก ‘พ่อ วันนี้วาดรูปอะไรอะ’ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่งานของพ่อ และทำคอร์สเรียนศิลปะเปิดให้คนที่สนใจมาเรียนกับพ่อที่บ้าน
“จากนั้นก็ขยับมาทำติกตอก ซึ่งเกิดจากความบังเอิญที่เราแค่อยากจะถ่ายคลิปพ่อวาดรูปส่งให้เพื่อนดูว่า พ่อวาดรูปทุกวันไม่หยุดเลย แต่พอส่งไปให้เพื่อนดูเขาชอบกันมาก และบอกให้เราลองถ่ายคลิปพ่อลงติกตอก เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของช่องติกตอกชื่อเดียวกับเพจ ซึ่งปัจจุบันมีคนติดตามกว่าหนึ่งแสนคน
“นอกจากเฟซบุ๊กกับติกตอกที่เราทำ เราก็เลือกที่จะทำ NFT ( Non-Fungible Token) คือการเอาผลงานศิลปะของพ่อไปแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลและลงขายให้กับกลุ่มนักสะสมงานศิลปะ แทนการทำเว็บไซต์ เพราะเรามองว่ามันเป็นโอกาสที่คนจะเห็นผลงานของคุณพ่อกว้างขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเราก็หวังว่ามันจะไปได้ดี
“แต่ด้วยความที่เจนฯ ของเราค่อนข้างต่างกัน การกลับมาทำงานร่วมกันก็ต้องใช้เวลาปรับจูนกันพอสมควร เพราะบางครั้งพ่อจะไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารแล้วเราก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อสื่อกลับมาเหมือนกัน เช่น เราอยากให้พ่อวาดรูปต้นไม้ต้นหนึ่งในงานของพ่อ แต่พ่อไม่วาดเพราะเขารู้สึกว่าต้นไม้ที่เขาจะวาดมันไม่มีอยู่จริงในสถานที่ที่เขากำลังจะวาด แต่เราคิดว่าถ้ามีมันก็สวยดี แล้วเราก็เถียงกัน
“แต่ทุกอย่างมันก็มีเหตุผลของมัน พ่ออธิบายว่า เขาเคยวาดรูปกล้วยไม้เกาะอยู่บนเขาลูกหนึ่ง แต่มีคนมาเห็นงานแล้วพูดว่าพ่อไม่รู้จริง ทำงานศิลปะแต่ไม่ศึกษา เพราะกล้วยไม้ชนิดนั้นไม่มีทางเกิดในพื้นที่แบบที่พ่อกำลังวาด เราฟังยังจุกขนาดนี้แล้วพ่อจะรู้สึกยังไง ตอนนั้นเราถึงได้เข้าใจว่างานบางอย่างเราจะตามใจเรามากไม่ได้ บางทีเราแค่มองว่ามันเป็นเรื่องของจิตนาการ แต่สำหรับพ่อศิลปะมันมีอะไรมากกว่านั้น
“แต่พ่อก็ไม่ได้ปฏิเสธเราทุกเรื่อง อันไหนที่พ่อรู้สึกว่าเราเรียนรู้ไปด้วยกันได้เขาก็พยายามปรับตัว อย่างเรื่องสี เราอยากให้งานของพ่อทันสมัย ใช้โทนพาสเทล ช่วงแรกๆ พ่อไม่เข้าใจเพราะงานของพ่อเน้นแม่สี สีคล้ายกับธรรมชาติมากที่สุด แต่เราก็บอกว่าอยากให้พ่อลองปรับสไตล์ดู เพื่อให้เข้าถึงวัยรุ่นมากขึ้น ช่วงหลังๆ จานสีของพ่อเลยมีสีพาสเทลหวานๆ แบบที่เราชอบแซมอยู่ด้วย แล้วเราก็เห็นกันเลยว่ามีวัยรุ่นชอบงานของพ่อมากขึ้น และงานของพ่อมันเริ่มเข้าถึงคนอื่นๆ ง่ายขึ้นจริงๆ”
ฝ้ายเล่า
“จริงๆ ฝ้ายเขามีหัวด้านศิลปะอยู่ในตัวเขาอยู่แล้ว แต่เขาไม่รู้ตัว เพราะสิ่งที่เขาเรียนมาคือด้านกราฟิกดีไซน์ซึ่งมันก็คืองานศิลปะอย่างหนึ่งเพียงแค่ไม่ได้เขียนลงในกระดาษ แล้วพอเขาตัดสินใจกลับมาช่วยทำงานที่บ้านก็ยิ่งชัดเจนว่าเขามีหัวทางด้านนี้ เพียงแต่ยังไม่มีประสบการณ์เท่านั้น
“แต่เราก็รู้สึกดีใจมากๆ ที่เขากลับมามองเห็นคุณค่าในงานศิลปะที่เราทำ ช่วยส่งเสริมสิ่งที่คนรุ่นเราไม่ถนัดด้วยความรู้ที่เขามี ทำให้ผลงานของเรามีคนมองเห็นมากขึ้น แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องกลับมาทำ แต่ในเมื่อเขาตัดสินใจ เราก็ให้พื้นที่เขาเต็มที่ เพราะในอนาคตรูปที่เราวาดมันคือสมบัติที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองนั่นแหละ
“พอฝ้ายมาทำตรงนี้ตอนที่เรายังสามารถวาดรูปได้ มันเลยเป็นเหมือนแรงใจ และกำลังใจให้เราสามารถทำงานนี้ต่อไป แต่เราก็จะบอกลูกว่าเอาที่เขาทำแล้วมีความสุข ไม่ได้รู้สึกลำบากใจที่จะทำ ซึ่งฝ้ายเขาก็บอกว่าเขาอยากจะตั้งใจทำ ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ และเรียนรู้ไปด้วยกัน”
พ่อเล่า
“ถ้าฝ้ายไม่ตัดสินใจมาช่วยงานของครอบครัว เราก็ไม่รู้จะเป็นยังไง งานศิลปะมันก็อาจจะอยู่ในที่เดิมๆ แต่พอฝ้ายมาทำ เขาเปิดโอกาสให้เราหลายอย่าง อย่างเมื่อก่อนเราขายงานศิลปะให้กับชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ก็จริง แต่ว่าเราสื่อสารกับเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่เก่งด้านภาษากันเลย
“เวลาไปจัดแสดงงานต่างประเทศก็ต้องใช้ผู้ช่วย ทำให้งานศิลปะของเราไปได้ไม่ไกลมาก พลาดโอกาสดีๆ ไปหลายอย่างเพราะว่าสื่อสารภาษาไม่ได้ แต่พอฝ้ายเข้ามาเขาเป็นเหมือนความหวัง และเป็นโอกาสให้กับเรา”
แม่เล่าเสริม
“เรายอมรับว่าการได้กลับมาทำงานร่วมกับพ่อ ได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะของพ่อแบบจริงจัง ไม่ใช่แบบผิวเผินเหมือนที่ผ่านมา มันทำให้เรามองเห็นอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง และเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มองงานศิลปะของพ่อว่ามันธรรมดา
“โดยเฉพาะตั้งแต่ที่เราเริ่มทำติกตอกลงคลิปพ่อวาดรูปด้วยฟ็อกกี้ คือการแต้มสีลงบนกระดาษและฉีดฟ็อกกี้ให้เป็นลวดลายตามที่พ่อจินตนาการ ซึ่งเทคนิคนี้เป็นสิ่งที่พ่อทำประจำอยู่แล้ว แล้วเราก็เห็นบ่อยจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้รู้สึกว้าว หรือเป็นเทคนิคที่เจ๋งมากอะไร
“แต่ปรากฏว่าพอคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป คนดูคลิปของพ่อเยอะมาก และแต่ละคอมเมนต์ที่คนดูเขาเขียนมาคือ พ่อเราเจ๋งมาก งานของพ่อมันสวยมาก บางคนบอกว่าอยากกลับมาวาดรูปอีกครั้งเพราะพ่อ
“ทุกวันที่เราเข้าไปอ่านคอมเมนต์ มันเหมือนทุกคนย้ำว่าสิ่งที่พ่อทำเจ๋งยังไง ทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ไปกับพวกเขาว่าสิ่งที่พ่อเราทำมีคุณค่ามากจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อเคยบอกแล้วแต่เราไม่สนใจ แต่ตอนนี้เราเริ่มเชื่อแล้วว่าพ่อเราเจ๋งจริงๆ เพราะสิ่งที่พ่อทำยังไม่มีใครทำ
“จากที่เราเคยคิดว่าคนอะไรจะวาดรูปได้ทุกวัน แถมบางรูปขายไม่ได้ด้วยซ้ำแต่พ่อก็ยังเลือกที่จะวาดออกมา วันนี้เราเข้าใจแล้วว่าศิลปะมีค่ามากกว่าเงินทองด้วยซ้ำ เพราะคุณค่าของมันจริงๆ อยู่ที่จิตใจ บางทีมีคนติดต่อขอซื้อภาพมา พ่อให้ฟรีไปเลยก็มี เพราะเขารู้สึกว่าราคาไม่ได้สำคัญขนาดนั้น
“ถึงแม้ทุกวันนี้เรายังไม่ชอบผลงานของพ่อร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การเคารพความสุขของกันและกัน และช่วยสนับสนุนกันในสิ่งที่พอช่วยได้ ผลลัพธ์ของมันไม่มีอะไรแย่เลย มองย้อนกลับไปถ้าวันนั้นเราไม่ตัดสินใจกลับมาช่วยพ่อ เราจะเสียใจขนาดไหนถ้าพ่อต้องทิ้งสิ่งที่เขารักแล้วหันไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเขา”