เมื่อวินมอเตอร์ไซค์ แม่ค้าอาหารตามสั่ง และชาวบ้านธรรมดา ลุกขึ้นพาชุมชนฝ่าวิกฤตโควิด

ตรวจเชิงรุกวันเดียวพบผู้ติดเชื้อในชุมชนรวมเกือบ 50 คน เพราะสภาพโดยรวมเป็นชุมชนแออัดในสถานการณ์นี้พวกเรารู้แค่เพียงว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ดีกว่าอยู่เฉยและรอความตาย

มนุษย์ต่างวัยพาไปทำความรู้จักกับชุมชนพูนทรัพย์ ชุมชนย่านสายไหม ที่สามารถจัดการโควิดภายในชุมชนในวันที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้เตียงเต็ม ผู้ป่วยเสียชีวิตคาบ้าน เข้าไม่ถึงการรักษา จนทำให้ผู้นำชุมชน ชาวบ้านจิตอาสา และหน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกัน ผ่านการทำ Home Isolation และ Community Isolation เปลี่ยนอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวและจัดทีมดูแลเป็น 2 ทีม คือทีมอาหาร และทีมแคร์ที่คอยตรวจเช็กอาการผู้ป่วย โดยได้รับการสนับสนุนยาและคำแนะนำทางการรักษาจาก พริบตาคลินิก หรือสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ที่เข้ามาช่วยเป็นอีกหนึ่งกำลังในวิกฤตโควิด จากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านทำให้วันนี้ชุมชนพูนทรัพย์เหลือผู้ป่วยเพียง 6 คนเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการรักษา ผ่านการทำ Home Isolation และ Community Isolation


นิพนธ์ ผลวานิชย์ อายุ 55 ปี ประธานชุมชนพูนทรัพย์ ปัจจุบันประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า แต่ก็ต้องหยุดอาชีพไปชั่วคราวเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เล่าว่า ครั้งแรกเลยในชุมชนมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต 1 คน เป็นผู้สูงอายุ ตอนนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับโรคก็ยังน้อยเพราะเราคือชาวบ้านธรรมดา หาเช้ากินค่ำ พอมีคนตายเราตกใจมาก จากนั้นได้มีการตรวจเชิงรุกทั้งชุมชนผลปรกฎว่าในชุมชนมีคนติดเชื้อและตรวจพบจากการตรวจเชิงรุกเพียงแค่ 1 วัน ถึง 50 คน

จากคนที่กลัวอยู่แล้วก็กลัวไปกันใหญ่ ความคิดแรกที่มาในหัวเลยคือ เราต้องเอาคนที่ติดเชื้อไปอยู่โรงพยาบาลสนาม เอาไปอยู่กับหมอถึงจะปลอดภัยและที่สำคัญคือเอาคนติดเชื้อออกไปจากชุมชนให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นทุกคนก็จะติดตามกันไปหมด

แต่สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงมันสวนทางกันอยู่มาก เพราะในตอนนั้นเริ่มมีข่าวรอเตียง เตียงไม่พอรักษา บางคนป่วยตายคาบ้าน ซึ่งถ้าพวกเราหวังจะพึ่งส่วนกลางก็ไม่รู้จะเร็วหรือช้าเกินไปกับชีวิตชาวบ้านทุกคน ตอนนั้นเราก็เลยรวมกลุ่มกับจิตอาสาในชุมชน แบ่งทีมทำงานและมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กับ คลินิกพริบตา เข้ามาแนะแนวทางรวมถึงเปลี่ยนความคิดว่าการรักษาต้องพากันไปรอเตียงอย่างเดียว แต่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ในเคสผู้ป่วยที่ยังไม่หนัก เพื่อทำให้คนป่วยหนักจริงๆ ได้มีเตียงรักษา

จากชาวบ้านธรรมดาไม่รู้เรื่อง Home Isolation ไม่รู้แม้กระทั่งอะไรคือผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง สีแดง ก็ต้องมานั่งทำความเข้าใจกันใหม่ และเริ่มปฏิบัติการดูแลกันเองในชุมชน

“เริ่มแรกเราทำศูนย์พักคอย โดยใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนมาเป็นศูนย์พักคอย หรือเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดย่อมชั่วคราวเพื่อแยกผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ให้มาอยู่ร่วมกันที่นี่ ส่วนใครสามารถกักตัวที่บ้านได้ก็ให้กักตัวที่บ้าน โดยมีทีมทำงานแบ่งเป็น 2 ทีมคือ ทีมอาหารและทีมแคร์ (ติดตามอาการผู้ป่วย)”

สมบุญ คงคา อายุ 50 ปี ปัจจุบันทำอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ เล่าว่า หลังจากที่ผู้ป่วยมีชื่อเข้าระบบว่าจะรักษาตัวที่บ้าน ก็จะมีคุณหมอเป็นคนคอยมาโทรเช็กอาการเป็นระยะ โดยเริ่มแรกจะได้รับเป็นชุดแรกรับก็จะมีการแจกอุปกรณ์วัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงจ่ายยาในการรักษาให้ ซึ่งในส่วนนี้ทางพริบตาคลินิกก็เข้ามาช่วยดูแลพวกเราชาวชุมชนพูนทรัพย์

ในส่วนของป้าสมที่ทำในแต่ละวันคือ เราจะคอยโทรเช็กและบังคับให้ผู้ป่วยต้องวัดไข้ และวัดออกซิเจนทุกวัน เพื่อเป็นการเช็กอาการตลอดเวลา ที่เราต้องทำอย่างนั้นเพราะชาวบ้านบางคนพอเป็นแล้วไม่มีอาการอะไรก็ชะล่าใจ เรารู้ดีว่าคุณหมอดูแลตรงนี้ไม่ทั่วถึง เราเป็นคนในชุมชนเราจะรู้ว่าใครเป็นใคร การที่เรามาช่วยอำนวยความสะดวกตรงนี้ก็เท่ากับว่า เราช่วยให้ทีมแพทย์ทำงานง่ายขึ้น นอกจากนั้นพอมียามาจัดส่งเราก็จะนำไปให้กับผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านและกักตัวอยู่ที่ศูนย์ในชุมชน

“จริงๆ ถ้าถามว่าทำไมเราถึงมาทำจิตอาสา ไม่กลัวตายเหรอ คำตอบก็คือ เพราะทุกวันนี้มันแย่ไปหมด ขับวินบางวันได้แค่ 80 บาท ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างเราไม่ตายด้วยโรค เราก็ต้องอดตายแน่ๆ และอีกอย่างคือ เราเคยได้รับความช่วยเหลือจากการเวนคืนที่จนได้มาอยู่ในชุมชนนี้ เพราะฉะนั้นถ้าอะไรที่ช่วยได้ก็เต็มใจช่วยสุดความสามารถ”

“นอกจากทีมแคร์แล้ว ก็ยังมีทีมที่เป็นปากท้องหลักก็คือทีมอาหาร ซึ่งจะคอยทำอาหารเพื่อส่งให้ผู้ป่วยหรือบ้านที่อยู่ในระหว่างการกักตัว โดยจะกระจายกำลังเป็นทีมปรุงอาหาร ทีมหาวัตถุดิบ และทีมจัดส่ง ซึ่งทีมหาวัตถุดิบจะคอยหาข้อมูลตามเพจว่ามีใครบริจาคที่ไหนอย่างไรบ้าง เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือ หลังจากนั้นทีมทำอาหารก็จะนำอาหารมาปรุงโดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่แจกผู้ป่วยโควิดและญาติ กับส่วนที่ทำขายในราคาถูก เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายมาหมุนเพื่อซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารในมื้อต่อไปในแต่ละวันให้ผู้ป่วย พวกเราที่มาทำจิตอาสาคือแม่ค้าหาเช้ากินค่ำคนหนึ่งที่ขาดรายได้ แต่เราต้องทำเพราะถ้าไม่ทำเรารอแต่ความช่วยเหลือมันไม่มีทางที่จะทั่วถึง ลองคิดดูว่าถ้าเราไปกองกันอยู่ในโรงพยาบาล รอแต่อาหารแจก โดยที่เราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง จำนวนคนป่วยกับบุคลากรที่เขาทำตรงนี้ไม่มีทางเพียงพออย่างแน่นอน”

จารุณี ศิริพันธุ์ เธอเป็นผู้จัดการงานด้านลดการตรีตราและเลือกปฏิบัติ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เล่าว่า หลังจากที่คลินิกสามารถจับคู่กับชุมชนในการแก้ไขปัญหาโควิดได้

ทางพริบตาก็ลงมาให้ความรู้ก่อนเป็นอันดับแรกว่า “อย่ารังเกียจกัน” และเราสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ เพราะด้วยความที่ชาวบ้านเขาดูข่าวเขาจะเห็นแต่ภาพการตายการติดเชื้อ เขาก็จะไม่เข้าใจว่าการป่วยมีหลายระดับ

สิ่งที่แสดงออกมาคือการต่อต้านและรังเกียจ หน้าที่ของเราคือการสร้างความเข้าใจกัน และอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนั้นเรายังสนับสนุนเรื่องของการจัดการยาและอุปกรณ์ในการตรวจเช็กอาการสำหรับผู้ป่วยด้วย

“พอเราทำงานกับชาวบ้านเยอะขึ้นสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ คนที่ลงมาช่วยกันเป็นอาสาสมัคร ล้วนแต่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบโควิด พวกเขาขาดรายได้ เขาออกมาช่วยกันเพราะอย่างน้อยถ้ามันจบลงเร็วเท่าไร นั่นหมายความว่า พวกเขาจะกลับมาทำงานได้แบบเดิมอีกครั้ง ในวันนี้ชุมชนพูนทรัพย์สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ทางรอดในวิกฤตนี้ อาจไม่ใช่มาตราการณ์ล็อกดาวน์ แต่เกิดจากการสร้างความเข้าใจทำให้ Home Isolation และ Community Isolation เป็นจริง ทำให้เราพบว่า บางทีชุมชนอาจเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาโควิดในครั้งนี้”

วรรณา แก้วชาติ อายุ 45 เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าว่า ทางมูลนิธิจะเป็นหน่วยงานที่คอยสนับสนุนชาวบ้านในการทำ Home isolation และ Community Isolation เพราะเรารู้ดีว่าการที่ทุกคนไปอยู่ในโรงพยาบาลนั่นยิ่งทำให้การเข้าถึงการรักษาเป็นไปได้ช้าลงเพราะจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอในการรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

ดังนั้นสิ่งที่จะทำได้คือการให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่สำหรับผู้ป่วยหนักเท่านั้น เราลงเลยมาช่วยให้อาสาสมัครในชุมชน มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนว่า ถ้ามีคนป่วยในชุมชนพวกเขาจะจัดการได้อย่างไรบ้าง

“จากวันแรกที่ชาวบ้านมีความคิดเดียวคือการให้ผู้ป่วยไปอยู่กับหมอ ออกนอกพื้นที่ให้เร็วที่สุด วันนี้ความคิดทุกคนเปลี่ยนไปและเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันตั้งแต่จัดทีมขายอาหารหาเงินมาทำอาหารเพื่อส่งให้ผู้ป่วย คอยติดตามอาการกันเอง คอยสอดส่องดูแลกันเองในชุมชน จนวันนี้ผู้ป่วยในชุมชนหายเกือบหมด 100% ยิ่งตอกย้ำว่า Home Isolation และ Community Isolation คือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อจากนี้”

Credits

Authors

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ