ในวงการแบดมินตันไทยในเวลานี้คงไม่มีใครที่จะโชว์ผลงานได้ร้อนแรงไปกว่าคู่หู บาส-ปอป้อ หรือ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย
ทั้งคู่เพิ่งกวาดแชมป์แบดมินตันคู่ผสม 3 รายการรวดไล่ตั้งแต่แชมป์ Yonex Thailand Open แชมป์ Toyota Thailand Open ก่อนปิดท้ายที่แชมป์ HSBC BWP World Tour Finals 2020 ทั้งหมดถือเป็นรายการในระดับ World Tour Super 1,000 หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นรายการแบดมินตันในระดับโลก ซึ่งการพาเหรดกวาดแชมป์ดังกล่าวติดต่อกันถึง 3 รายการส่งผลให้ทั้งคู่ทะยานขึ้นไปเป็นคู่มือวางอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน
ว่ากันว่าบาส-ปอป้อคือนักตบลูกขนไก่ในประเภทคู่ผสมที่ดีที่สุดคู่หนึ่งตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ทั้งคู่ไล่ล่าความสำเร็จในโลกแบดมินตันด้วยกัน แน่นอนว่าสำหรับแฟนลูกขนไก่ชาวไทยย่อมต้องการที่จะให้ทั้งสองจับคู่อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ บางคนถึงขนาดอยากให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันไปจนถึงวันสุดท้ายของอาชีพนักตบลูกขนไก่ และแขวนแร็คเก็ตไปพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตามในอนาคตทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากในกลางปีนี้ปอป้อจะมีอายุครบ 29 ปีแล้ว เธอกำลังเริ่มเดินเข้าสู่ช่วงปลายของการเป็นนักแบดมินตันอาชีพ ขณะที่บาสเองเพิ่งจะอายุแค่เพียง 24 ปีเท่านั้น
นับตั้งแต่เทิร์นโปรคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวแบดมินตัน SCG Junior Championship เมื่อตอนอายุ 14 ถึงวันนี้ปอป้อผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการแบดมินตันมายาวนานเกินครึ่งชีวิต เธอยอมรับว่าแบดมินตันไม่ได้เป็นแค่กีฬาแต่ยังเป็นเรื่องของมุมมองและทัศนคติในแต่ละช่วงวัย
“ถึงวันนี้มันไม่ใช่แค่การตีลูกให้ข้ามเน็ตเหมือนตอนเป็นเด็ก ทุกอย่างในกีฬาแบดมินตันไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ความคิดทัศนคติ ความสนุก ความท้าทายจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของมัน ตอนเป็นเด็กเราคิดแบบหนึ่ง ตอนเป็นดาวรุ่งเราจะคิดอีกแบบหนึ่ง ตอนเป็นมืออาชีพก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือแม้แต่ตอนเลิกเล่นเราเชื่อว่ามันก็จะเป็นแบบที่ต่างกันออกไป
“แบดมินตันเป็นเรื่องของวัยและไม่มีอะไรเหมือนกันเลย”
นักตบลูกขนไก่หญิงวัยย่าง 29 กล่าวไว้เอาไว้เช่นนั้น ก่อนจะเริ่มเล่าถึงการแข่งขันครั้งแรกในชีวิต
แบดมินตันในวันที่เป็นเด็ก
ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เกิดในครอบครัวที่พ่อและแม่เป็นอดีตนักกีฬาแบดมินตันด้วยกันทั้งคู่ แม้ทั้งสองไม่ถึงขั้นมีธงไตรรงค์ปักอยู่บนหน้าอกเสื้อ แต่ดีกรีระดับเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยก็นับได้ว่าไม่ธรรมดา
ด้วยความที่เป็นอดีตนักตบลูกขนไก่ ทำให้ทั้งคู่สนับสนุนให้ลูกทั้งสามคนเล่นแบดมินตันเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบกับที่ในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีบ้านเกิดในเวลานั้น มีอดีตนักกีฬาทีมชาติมาเปิดสอนแบดมินตัน ทั้งคู่จึงส่งลูก ๆ ไปเรียน
ในบรรดาลูกทั้งสามคน ปอป้อลูกคนสุดท้องจะดูให้ความสนใจในกิจกรรมดังกล่าวมากกว่าพี่ชายทั้งสอง และหลังจากเรียนไปได้ไม่นานปอป้อก็ได้ลงแข่งขันเป็นครั้งแรกในชีวิต
“ไปเรียนครั้งแรกครูก็จะสอนในเรื่องเบสิคพื้นฐานต่าง ๆ ก่อน เช่น ท่าตี การจับไม้ ฯลฯ เวลาไปเรียนก็สนุกดี เรียนเสร็จก็ไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ ไม่ได้คิดอะไร ต่อมาก็เริ่มมีการส่งแข่ง ตอนนั้นคำว่าทีมชาตินี่ยังไม่ได้มีในหัว คิดแค่ว่าเมื่อเขาตีมาเราก็แค่ตีให้ข้ามเน็ตกลับไป”
ปอป้อลงแข่งแบดมินตันครั้งแรกในวัย 9 ขวบ โดยเดินทางไปแข่งไกลถึงจังหวัดตรัง แถมเจอคู่ต่อสู้ที่ตัวโตกว่าและผลการแข่งขันในครั้งแรกของเด็กหญิงปอป้อก็คือการแพ้แบบเกมศูนย์ โดยที่เธอไม่ได้แม้แต่แต้มเดียว วินาทีนั้นหากมีใครบอกว่าเด็กหญิงร่างผอมบางคนนี้จะโตมาเป็นนักแบดมินตันระดับโลก คนฟังคงหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง
“จำได้ว่าเราแพ้เกมศูนย์เลย ไม่ได้สักแต้ม แข่งเสร็จเราเดินคอตกออกมา แต่แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แม่ตั้งใจให้เรามาเอาประสบการณ์มากกว่า คือแบดมินตันในตอนเด็กมันไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ง่าย ๆ ว่าใครแรงเยอะกว่าตีไปลงถึงเส้นหลังได้ คนนั้นก็มีโอกาสชนะสูง ตัวเราเองในตอนนั้นก็ตีเอาสนุก ไม่ได้คิดอะไรมาก ความสนุกเกี่ยวกับแบดมินตันของเราก็คือตีแบดแล้วได้ไปเล่นกับเพื่อน ๆ แพ้ก็ไม่ได้ซีเรียส คิดแค่ว่าถึงเวลาเรียนแบดก็เรียน ถึงเวลาแข่งก็ไปแข่ง แต่พอแข่งบ่อยเข้า เราก็เริ่มมีประสบการณ์ ฝีมือก็เริ่มพัฒนาขึ้น”
แม้จะยังเป็นการตีเอาสนุกและไม่ได้มีเป้าหมายอะไรชัดเจน แต่ฝีมือของปอป้อกลับพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด โดยเธอผงาดคว้าแชมป์แบดมินตัน SCG Junior Championship รุ่น 15 ปี ในขณะที่มีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น การคว้าแชมป์แบดมินตันเยาวชนระดับประเทศในครั้งนี้เปิดโอกาสให้เธอเข้ามาอยู่ SCG Badminton Academy โครงการซึ่งปลุกปั้นนักแบดมินตันขึ้นไปประดับให้กับทีมชาติไทยในอนาคต
“หลังจากได้แชมป์ทาง SCG เขามาคุยกับแม่ว่าจะขอตัวเราไปอยู่ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากทาง SCG จะมีโครงการสนับสนุนและปลุกปั้นนักแบดมินตันตั้งแต่เยาวชนเข้าไปสู่ทีมชาติไทยในอนาคต ซึ่งทางแม่เองก็ตอบตกลง เราก็เลยต้องจากบ้านมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 14 ปี”
ปอป้อไม่เคยจากบ้านไปไหนมาก่อน การต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้เด็กสาวอย่างเธอต้องต่อสู้กับความคิดถึงบ้านอย่างสุดหัวใจ บ่อยครั้งหลังซ้อมแบดมินตันเสร็จ ปอป้อจะนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว อย่างไรก็ตามเธอไม่ได้มีความคิดว่าจะอยากกลับบ้าน สิ่งที่เธอทำในเวลานั้นก็คืออยู่กับความคิดถึง ลุกขึ้นปาดน้ำตา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกซ้อม
แน่นอนว่ามันแตกต่างจากตอนเป็นเด็กอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้น จากที่ตีแบดเล่นกับเพื่อน ๆ ไปวัน ๆ ทัศนคติของปอป้อก็เริ่มเปลี่ยนไป
เธอตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีธงไตรรงค์ติดอยู่บนหน้าอกเสื้อของตัวเอง
วัยรุ่น
“หลังจากเข้าสู่ SCG Badminton Academy ชีวิตและมุมมองในการเล่นแบดมินตันของเราก็เปลี่ยนไปแบบคนละเรื่อง ทุกอย่างจริงจังมากขึ้น เริ่มมีตารางฝึกซ้อมชัดเจนเป็นแบบแผน กิน นอนต้องเป็นเวลา
“ขณะที่เรื่องวิธีการเล่นก็ไม่ใช่แค่ตีให้ข้ามเน็ตหรือให้ถึงเส้นหลังอย่างเดียว เนื่องจากคู่แข่งของเราไม่ใช่เด็กอีกต่อไปวิธีการเล่นก็จะต้องละเอียดขึ้น ต้องควบคุมลูกให้ได้ รู้จักวางแผนว่าทำลูกนี้เพื่ออะไร ทำไปแล้วจะได้อะไร”
ด้วยความที่อยู่กับแบดมินตันแทบทุกวันจนการฝึกซ้อมแทบจะกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของชีวิต เป้าหมายในการเล่นแบดมินตันของปอป้อจึงไม่ใช่การไปวิ่งเล่นกับเพื่อนหลังซ้อมเสร็จ หากแต่การอยู่ที่การก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทย ไล่ล่าความสำเร็จให้แผ่นดินเกิด
“ความสนุกของเราไม่ใช่แค่ไปเรียนแล้วเจอเพื่อนแล้ว แต่เป็นการวางเป้าหมายแล้วท้าทายตัวเองด้วยการทำให้สำเร็จ ซึ่งเป้าหมายในขณะนั้นก็คือการติดทีมชาติไทย”
ชีวิตของปอป้อเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเด็กที่ลงแข่งแล้วแพ้เกมศูนย์ในตอน 9 ขวบ เธอใช้เวลาหลังจากนั้นแค่เพียง 6 ปี ก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทยในขณะที่มีอายุ 15 และรายการที่ลงแข่งเป็นครั้งแรกก็คืออูเบอร์ คัพ ซึ่งเป็นรายการที่ใหญ่ที่สุดในโลกในประเภททีมหญิง เรียกว่าหากชาติใดได้แชมป์รายการนี้เท่ากับว่าชาตินั้นมีทีมแบดมินตันหญิงที่เก่งที่สุดในโลก
“ตอนนั้นเราเป็นเด็กใหม่ในทีม ทีมหญิงไทยตอนนั้นก็จะมีพี่สลักจิต พลสนะ พี่สราลีย์ ทุ่งทองคำ ซึ่งดีกรีแต่ละคนนี่ระดับโลกทั้งนั้น จำได้ว่าโค้ชจัดให้เราตีประเภทหญิงคู่กับพี่ส้ม-สราลีย์ ทุ่งทองคำ”
ในเวลานั้นสราลีย์ ทุ่งทองคำ คือนักแบดมินตันหญิงที่ตีในประเภทคู่ได้ดีที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นหญิงคู่หรือคู่ผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทหลังที่เธอจับคู่กับสุดเขต ประภากมล ขึ้นไปเป็นคู่มือวางอันดับ 2 ของโลกมาแล้ว
“ตอนลงเล่นทีมชาติครั้งแรกนี่ตื่นเต้นมาก แล้วยิ่งต้องมาจับคู่กับพี่ส้มยิ่งตื่นเต้นกดดันมากขึ้นไปอีก เพราะพี่เขาเป็นถึงระดับโลก แล้วก็เป็นกัปตันทีมในชุดนั้นด้วย เรากลัวว่าเราจะเป็นภาระเขา กลัวทำทีมเสียแต้ม คือต่อให้เราฝึกซ้อมหรือมีฝีมือดียังไง แต่เราก็ยังเป็นวัยรุ่น เรายังมีความตื่นเต้น สภาพจิตใจยังไม่คงที่ แบกรับความกดดันได้ไม่ดีเท่ากับมืออาชีพ แต่โชคดีที่วันนั้นเราได้ตีคู่พี่ส้ม เขาเป็นรุ่นพี่ที่ดีมาก เมื่อลงสนามพี่ส้มไม่ได้กดดันอะไรเราเลย แต่จะคอยให้กำลังใจ เวลาเราตีเสียก็จะคอยสอน ว่าลูกแบบนี้ต้องแก้ยังไง ตีแบบไหน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก”
ปอป้อค่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเวทีลูกขนไก่ระดับนานาชาติ จากนักแบดมินตันดาวรุ่งกลายเป็นผู้เล่นมืออาชีพ ก่อนจะเปลี่ยนมาตีในประเภทคู่อย่างเต็มตัวเมื่ออายุ 22 แล้วจับคู่กับบาส-เดชาพลในอีกราว 1 ปีให้หลัง
“เราตีเดี่ยวมาตลอดแต่โค้ชเห็นว่าเราน่าจะมีศักยภาพในการตีคู่ได้ดีกว่า พอตีแล้วผลงานก็ออกมาดีกว่าจริง ๆ ก็เลยหันมาตีคู่เต็มตัว ตอนหลังโค้ชเขาอยากทำคู่ผสมก็เลยลองให้จับคู่กับบาสดู ซึ่งเราก็เคยเห็นและรู้จักน้องมาก่อนเนื่องจากอยู่ที่ SCG เหมือนกัน ตอนจับคู่กันแล้วลงแข่งครั้งแรกก็แพ้นะ แต่เรากลับมีความรู้สึกว่าตีคู่กับคนนี้แล้วสนุกดี เขาไว แล้วก็วิ่งช่วยเราได้ในหลาย ๆ ลูก คือตีในประเภทคู่ผสมจะไม่เหมือนกับหญิงคู่หรือชายคู่ อย่างหญิงคู่เกมจะช้า แต่ชายคู่เกมจะเร็วเพราะมีความแข็งแรง แต่คู่ผสมจะมีทั้งสองอย่าง ผู้หญิงจะต้องอยู่ด้านหน้าคอยตีค้ำเพื่อให้ผู้ชายซึ่งมีแรงมากกว่าทำแต้ม เราเองก็เคยตีคู่มากับหลายคนแต่กับบาสนี่เคมีเข้ากันที่สุดแล้ว
“เรามีทัศนคติเหมือนกัน มีมุมมองแบบเดียวกัน”
ทัศนคติที่ว่าคือความทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อไขว่คว้าความสำเร็จในระดับมืออาชีพ
มืออาชีพ
หากความสนุกและเป้าหมายในการเล่นแบดมินตันในวัยเด็กคือการตีแรง ๆ ให้ข้ามเน็ต รวมทั้งได้เจอกับเพื่อน ๆ ขณะที่ตอนเทิร์นโปรเป็นดาวรุ่งขึ้นมาในช่วงวัยรุ่นคือการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่การติดทีมชาติ ความสนุกและเป้าหมายของการเป็นนักตบลูกขนไก่ในระดับมืออาชีพ สิ่งเหล่านั้นคงไม่มีทางเป็นอย่างอื่นนอกเสียจากการเป็นแชมป์
“ตอนเป็นวัยรุ่นเราฝึกซ้อมและแข่งขันเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นไป แต่การไล่ล่าคว้าความสำเร็จจะไม่หนักหน่วงจริงจังเท่ากับตอนที่เราเป็นมืออาชีพ ทุกอย่างจะมีเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น มีการวางแผนระยะยาวเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ขณะที่เกมการเล่นจะมีการลงรายละเอียดเจาะลึกอย่างเข้มข้นว่าการแข่งขันแต่ละครั้งเรามีข้อบกพร่องตรงไหน จะต้องแก้ไขยังไง เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในเรื่องการเกมการเล่นจะต้องมีการศึกษาคู่แข่งว่าเขามีจุดอ่อน-จุดแข็งตรงไหน เพื่อออกแบบเกมออกมาว่าต้องเล่นอย่างไร
“ขณะที่ในเรื่องเป้าหมาย เราจะวางไว้ที่การเป็นแชมป์ในทุก ๆ รายการที่ลงเล่น ความสนุกในการเล่นในระดับอาชีพ มันไม่ใช่การติดทีมชาติแล้ว แต่เป็นการแก้เกมและทำอย่างไรที่จะให้ชนะและเป็นแชมป์ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ จริงอยู่ว่าในความเป็นจริง มันก็ไม่ได้สำเร็จไปเสียทุกครั้งหรอก แต่เราก็ต้องทำให้เต็มที่ ถ้าแพ้ก็กลับมาแก้ไขข้อผิดพลาดแล้วก็มองไปข้างหน้าในการแข่งขันครั้งต่อไป”
ก่อนหน้าที่จะกวาดแชมป์ 3 รายการที่ผ่านมาเป้าหมายของนักตบลูกขนไก่คู่ผสมอย่างบาสและปอป้อ ก็คือการได้สิทธิเข้าไปแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างต้องวางแผนกันเป็นปี
“แบดมินตันในระดับมืออาชีพ ในช่วงวัยที่เราโตเป็นผู้ใหญ่ มันไม่ใช่แค่เรื่องของเกมการเล่นในสนาม แต่มันขึ้นอยู่กับการวางแผนในระยะยาว อย่างการที่เราได้ไปโอลิมปิกที่โตเกียว มันไม่ใช่แค่การวางแผนในสนามนะ แต่ต้องถอยหลังไปเป็นปี ๆ ทีมงาน โค้ช สมาคม ผู้สนับสนุน ต้องวางเป้าหมายร่วมกันว่าจะไปโอลิมปิก ต้องทำยังไง อะไรคือปัจจัยหลัก อะไรคือปัจจัยรอง ถ้าแผนหลักทำไม่สำเร็จ แผนสำรองคืออะไร ช่วงไหนต้องทำร่างกาย ช่วงไหนต้องพักผ่อนให้มาก ในช่วงไหนต้องกินอะไร คือทุกอย่างมันจริงจังมาก คนละเรื่องกับตอนเป็นวัยรุ่นเลย”
จะเห็นได้ว่าชีวิตการเล่นแบดมินตันในแต่ละช่วงวัยของปอป้อ ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ทุกอย่างค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นตามช่วงอายุในแต่ละวัย ซึ่งในวัยย่าง 29 เธอได้สัมผัสทุกรสชาติที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตามยังคงมีอยู่ช่วงชีวิตหนึ่งที่นักตบลูกขนไก่ระดับโลกอย่างปอป้อยังไม่เคยได้สัมผัส แต่วันหนึ่งมันจะต้องมาถึงแน่ ๆ
มันคือช่วงเวลาหลังจากที่เธอรีไทร์จากอาชีพนักแบดมินตันที่เธอรัก
ในวันที่ไม่ได้เป็นนักแบดมินตัน
ปอป้อวางแผนชีวิตของตัวเองไว้คร่าว ๆ ว่าจะไปโอลิมปิกที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งในปี 2024 หลังจากนั้นก็จะประเมินสภาพร่างกายของตัวเอง
“หากสภาพร่างการยังไหว ก็คิดไว้ว่าอาจจะเล่นต่ออีกสัก 2-3 ปี จากนั้นค่อยเลิก”
แน่นอนว่าหลักจากเลิกเล่นมุมมองและบทบาทในกีฬาแบดมินตันของปอป้อคงเปลี่ยนไป จากผู้เล่นในระดับอาชีพ เธอจะผันตัวไป ทำธุรกิจเปิดสนามแบดมินตัน และ Academy ของตัวเอง เพื่อ ถ่ายทอดประสบการณ์ มุมมองและวิธีคิดให้กับเด็กและเยาวชน
“ถึงเวลานั้นเรา มองว่าเราอยากทำธุรกิจ อาจจะเปิดสนามแบดและทำ Academy ของตัวเอง สิ่งที่เราจะสอนเขาคงไม่ใช่แค่เรื่องเบสิคพื้นฐาน หรือเกมการเล่น แต่เราจะปลูกฝังเขาในเรื่องของทัศนคติ ระเบียบวินัย ให้เขารู้หน้าที่ของตัวเอง”
ในความคิดของนักกีฬาที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ปอป้อมองว่าปัญหาของเด็กไทยในการเล่นแบดมินตันทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องรูปร่างหรือขนาดร่างกาย หากแต่อยู่ในเรื่องของสภาพแวดล้อม และระเบียบวินัยมากกว่า
“การเล่นแบดมินตัน มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหรอก สรีระเราอาจจะเล็ก แต่เราก็มีความเร็ว ความว่องไว มาเป็นสิ่งทดแทน ซึ่งมันอยู่ที่ว่าเราจะใช้สิ่งที่เรามีอยู่ ได้เต็มประสิทธิภาพหรือเปล่า แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้ในอนาคตก็คือ ทัศนคติและระเบียบวินัย ยิ่งเด็กสมัยนี้ที่มีสิ่งเร้า มีกิเลสยั่วยุมากมายเต็มไปหมด ยิ่งเป็นเรื่องยาก เอาแค่การใช้โทรศัพท์มือถือ ให้ถูกที่ถูกเวลานี่ก็ไม่ง่ายแล้ว
“เพราะฉะนั้น หากอยากเติบโตขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่ดี เรื่องพวกนี้ ต้องได้รับการปลูกฝังอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเด็ก”
นี่คือคำพูดทิ้งท้ายของปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักตบลูกขนไก่ทีมชาติไทย ที่ไม่ว่าวันเวลาในแต่ละช่วงวัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิม
สิ่ง ๆ นั้นคือความรัก
ความรักที่มีต่อกีฬาที่มีชื่อว่าแบดมินตัน