บางวันที่เหนื่อยจนแทบไม่อยากขยับตัวไปไหน หลายคนอาจคิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะนอนทั้งวันไปเลย
แต่เอาเข้าจริงแล้วการนอนหรือใช้ชีวิตอยู่บนเตียงทั้งวันไม่ใช่เรื่องที่สะดวกสบายแม้แต่น้อย โดยเฉพาะถ้าเราไปถามผู้ป่วย หรือ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว รวมถึงคนใกล้ตัวที่ต้องทำหน้าที่เป็นพยาบาลจำเป็น
เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้การดูแลแสนสำคัญนี้ดีกับชีวิตของทุกคน
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จากสถิติในปี พ.ศ. 2561 พบว่าในไทยมีผู้สูงอายุมากถึง 11 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสูงอายุที่นอนติดเตียงกว่า 1.6 แสนคน ภาพของผู้สูงอายุนอนป่วยติดเตียงที่ดูแลโดยผู้สูงอายุอีกคนจึงมีให้เห็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ ศึกษาเรื่องเครื่องช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุมาต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โครงการและผลงานต่างๆ ทำให้ธีรพงศ์ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยอยู่เสมอ เขามองเห็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึง นั่นก็คือความลำบากในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงจากเตียง
เตียง พื้นที่แนวราบที่ทารุณอย่างนึกไม่ถึง
ผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงแทบจะตลอดเวลาเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยอื่นๆ หลายเรื่อง ทั้งกล้ามเนื้อลีบ แผลกดทับ รวมถึงความเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกาย
ในทางทฤษฎี ผู้ป่วยติดเตียงจะต้องได้รับการกายภาพ บำบัด รวมถึงการเปลี่ยนอิริยาบถ ทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันความเจ็บป่วยเรื้อรังที่จะตามมา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การยกผู้ป่วยที่ไม่สามารถพยุงร่างกายตัวเองได้คือกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก และใช้ความแข็งแรงของร่างกายมหาศาล หากร่างกายคนดูแลแข็งแรงไม่พอก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และถ้าคนยกย้ายผู้ป่วยไม่มีทักษะ การยกผิดท่าบ่อยๆ ก็เป็นบ่อเกิดของความเจ็บป่วย จนท้ายที่สุดสุขภาพก็จะถดถอยลงทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
“เราจะเห็นว่า บางทีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุคนหนึ่งเข้าโรงพยาบาลสัก 1-2 สัปดาห์ พอเขากลับมาบ้าน เราจะรู้สึกว่าทำไมเขาดูแย่ลง เหตุผลมันอยู่ที่ว่า ถ้ามีผู้ป่วยไปแอดมิต ที่โรงพยาบาล บางทีผู้ป่วยจะไม่ได้ลงจากเตียงเลย ถ้าจะลงญาติต้องเป็นคนอุ้มเท่านั้น จะไม่มีเจ้าหน้าที่ที่อุ้มเขาลงจากเตียง เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่หรือพยาบาล
“นอกจากที่โรงพยาบาลแล้ว เรามีอีกปัญหาหนึ่งคือ ในบ้านเรา ถ้ามีปัญหาต้องการพาผู้ป่วยติดเตียงไปไหนก็ตามก็จะเรียกรถฉุกเฉินอย่างเดียว การเรียกรถฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยติดเตียงส่วนหนึ่งคือผู้ป่วยที่อาการคงที่ เขาแค่ไม่สามารถยกย้ายผู้ป่วยขึ้นไปบนรถยนต์ได้ ทำให้เขาต้องเรียกรถฉุกเฉิน
“บางบ้านไม่มีกำลังทรัพย์ ไม่สามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ เขาใช้วิธีรอให้ผู้ป่วยอาการหนักก่อน รอจนญาติคิดว่าไม่ไหวแล้วถึงค่อยพาไปโรงพยาบาล เพราะทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายเขาออกจากบ้านมันเป็นอะไรที่ยากลำบากมาก”
ธีรพงศ์เล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่เคยเห็น หน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นงานเต็มเวลา วันละ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ เพราะฉะนั้นหลายครอบครัวจึงเลือกว่าต้องมีคนอย่างน้อย 1 คนในบ้านที่เสียสละมาดูแลผู้ป่วยเต็มตัว ขาดรายได้ และไม่ได้ใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ซึ่งหากว่ากันตามตรง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่ลำบากและก่อให้เกิดความเครียดกับทุกฝ่าย
“คนที่เพิ่งเริ่มดูแลผู้ป่วย มัก จะรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมผู้ป่วยต้องมีอารมณ์รุนแรง โมโหง่าย ขี้น้อยใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ สาเหตุนี้มาจากเรื่องง่ายๆ เลยก็คือ เขารู้สึกว่าเขาไม่มีอิสระ เขาต้องอยู่บนเตียง ทำทุกอย่างบนเตียง ผู้ป่วยบางคนก็รู้สึกท้อแท้ในชีวิตว่าทำไมทุกคนต้องมาช่วยเขา มันก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมผู้ป่วยติดเตียงหลายคนถึงเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอารมณ์โมโหร้าย มันมีสาเหตุมาจากการที่เราไม่สามารถพาเขาออกมาจากเตียงได้”
จากรถเข็นปรับยืน สู่เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
การได้ใกล้ชิดและรับฟังเสียงของครอบครัวผู้ป่วย ทำให้คุณธีรพงศ์เริ่มทำโปรเจกต์สำคัญโปรเจกต์แรก นั่นก็คือรถเข็นปรับยืนหรือวีลแชร์ยืนได้ อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งตัว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ป่วยด้วยอาการทางระบบประสาทบางแบบ เช่น ผู้ที่ได้รับความเสียหายบริเวณกระดูก C7 ขึ้นไป หรือผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน สามารถยืนขึ้นได้ด้วยตัวเองอีกครั้งโดยใช้แรงแขนของตัวเอง
รถเข็นปรับยืนกลายเป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้โปรเจกต์นักศึกษาพัฒนาต่อยอดมาจนเป็น บริษัท ซีเมด เมดิคอล (CMED Medical) บริษัทสตาร์ตอัป อุปกรณ์ทางการแพทย์สัญชาติไทย และเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ทีมงานได้มองเห็นปัญหาที่กว้างขึ้นจากเดิม
“แม้วีลแชร์ของผมจะสามารถทำให้เขายืนได้ แต่เขาก็ยังไปใช้อุปกรณ์ของผมไม่ได้เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากเตียงลงมานั่งที่วีลแชร์ได้ กลายเป็นว่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย จะต้องรอลูกชาย หรือบางบ้านอาจจะเรียกคนข้างบ้าน จ้างวินมอเตอร์ไซค์ จ้างคนแถวบ้าน เพื่อมาอุ้มผู้ป่วยติดเตียงลงมานั่งวีลแชร์
“บางครอบครัว ลูกหลานหรือสามีภรรยาที่เป็นคนดูแลผู้ป่วย เขาจะต้องอุ้มผู้ป่วยมานั่งรถเข็นปรับยืนทุกเช้าทุกเย็น เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในบ้านมีสุขภาพดี คือเขายอมแลกกับหลังตัวเอง คนดูแลส่วนใหญ่รู้นะครับว่าถ้าเขายกแบบนี้ไป เขาจะปวดหลัง วันหนึ่งเขาจะป่วยแน่ๆ แต่ก็จะยอมทนกินยา เพราะอยากให้คนที่เขารักได้ยืนบ้าง ให้เขามีสุขภาพที่ดีขึ้น
“ผมเคยเห็นภาพคุณแม่อายุ 90 ป่วย นอนติดเตียง แล้วมีลูกอายุ 70 เป็นคนดูแล พอเคลื่อนย้ายไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องทำทุกอย่างบนเตียงหมดเลย อาบน้ำ กินข้าว เปลี่ยนผ้าอ้อม สิ่งที่ตามมาก็คือสภาพจิตใจของเขาจะแย่ลง พอใจไม่สู้ โอกาสที่อาการจะทรุดก็มีมากขึ้น ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ต่างประเทศ ตอนเช้า ผู้ดูแลก็จะใช้เครื่องยกออกจากเตียงพาเขามานั่ง ลูกหลานเข้ามาในบ้าน หรือเวลาใครมาหาเขา ภาพมันก็จะต่างกัน เพราะคนจะป่วยหรือไม่ป่วยก็ยังต้องมีสังคมของเขาอยู่ บางคนพอป่วยติดเตียงแล้วก็เหมือนถูกบังคับให้ต้องแยกออกจากสังคม เพราะลึกๆ แล้วเขาก็ไม่ได้อยากให้ใครมาเห็นสภาพเขาที่นอนอยู่บนเตียง
“ภาพคนนอนติดเตียงดูทีวี กับภาพคนนั่งโซฟาดูทีวีมันต่างกันมากนะครับ แล้วเขาก็จะมีกำลังใจในการสู้ชีวิตมากขึ้น แล้วคนดูแลที่เป็นคู่ชีวิต หรือเป็นลูกหลาน ก็จะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น อย่าลืมว่าปัจจุบัน บ้านเราเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ดูแลผู้สูงอายุก็มักจะเป็นผู้สูงอายุด้วยกันเอง เครื่องมือที่ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเลยมีความจำเป็นมาก”
วันหนึ่งในงานแสดงสินค้านานาชาติ ธีรพงศ์ได้รู้จักกับอุปกรณ์ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยครั้งแรก แล้วก็พบว่าสิ่งที่พอจะเข้าถึงได้ในท้องตลาดนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ปลอดภัยและไม่คุ้มค่า อุปกรณ์ยกย้ายทั้งชิ้นสามารถคลอนง่อนแง่นไปมาได้ ในขณะเดียวกันระบบแบตเตอรี่ ก็ไม่ได้มีการรับประกันที่ครอบคลุมอายุการใช้งาน แถมยังไม่มีศูนย์บริการใกล้หูใกล้ตาที่จะคอยช่วยดูแลให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น ถ้าซื้อมาใช้ก็คงจะเป็นการ ‘ซื้อมาทิ้ง’ มากกว่าใช้
CMED จึงขยายขอบเขตการศึกษาและการผลิต จากรถเข็นปรับยืน ไปสู่อุปกรณ์ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งได้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานระดับโลกในราคาเข้าถึงได้ในที่สุด
ไม่ใช่แค่ใช้ได้ แต่ต้องใช้แล้วดีจริง
ข้อดีของการที่วิศวกรผู้ออกแบบได้คลุกคลีกับผู้ใช้งานจริงอยู่เสมอก็คือ ตัวนวัตกรรมเองก็จะพัฒนาตามการใช้งานไปด้วย ตอนนี้ CMED Hoist รุ่นล่าสุดพัฒนาให้สามารถใช้กับการยกและเคลื่อน ย้ายผู้ป่วยเข้า-ออกรถยนต์ได้โดยเฉพาะอีกด้วย
CMED Hoist ออกแบบอย่างเต็มไปด้วยรายละเอียดเพื่อให้ตรงกับการใช้งานมากที่สุด เป็นต้นว่า ต้องยกผู้ป่วยจากพื้นที่ต่ำกว่าเตียงได้ เพราะผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงในบ้านเราส่วนใหญ่นิยมนอนบนฟูกซึ่งต่ำกว่าเตียงทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ต้องรับน้ำหนักได้สูง คือสูงสุดถึง 150 กิโลกรัม และต้องยกผู้ป่วยขึ้นจากพื้นได้สูงกว่า 75 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้ป่วยขึ้นลงเตียงและรถได้อย่างสะดวก โดยที่ผู้ดูแลไม่ต้องออกแรงยกด้วยตัวเอง ในขณะที่ตัวอุปกรณ์มีน้ำหนักเพียง 45 กิโลกรัม หรือเท่ากับคนตัวเล็กๆ 1 คนเท่านั้น
ที่สำคัญคือผ่านการทดสอบด้วยมาตรฐานกลาง IEC 60601-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับสากล และถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของเอเชียเลยก็ว่าได้ CMED Hoist เป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่คืนความสุขในชีวิตของทุกคน ผู้ป่วยที่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้สะดวกขึ้น ได้มีโอกาสทำกิจกรรมผ่อนคลายนอกเหนือจากบริเวณเตียงนอน และผู้ดูแลที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงและอาการเจ็บป่วย
แม้จะไม่ใช่การดูแลเรื่องสุขภาพจิตโดยตรง แต่ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่าการมีอุปกรณ์ช่วยยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยช่วยลดความตึงเครียดของการดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่บ้านพักคนชรา
ปัจจุบัน เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย CMED Hoist มีการจดสิทธิบัตรรวมถึงวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้วเรียบร้อย แต่เรากลับยังเห็นภาพการใช้เวรเปล ลูกหลาน หรือคนดูแลยกผู้ป่วยขึ้นลงจากเตียงจนเป็นภาพชินตา
“ที่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน แม้กระทั่งโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่งก็ไม่ได้มีการใช้เครื่องยกย้ายผู้ป่วย ในขณะที่โรงพยาบาลของฝั่งอเมริกา อังกฤษ รวมถึงหลายๆ ประเทศทั่วโลก จะมีข้อบังคับอยู่ข้อหนึ่งก็คือ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะต้องไม่ใช้คนในการเคลื่อนย้าย เพราะว่ามันมีโอกาสที่จะทำให้คนดูแลซึ่งเป็นคนปกติต้องเจ็บป่วยเรื้อรังโดยใช่เหตุ สิทธิของคนทำงานหรือกฎหมายแรงงานในต่างประเทศแรงมาก
“ในขณะที่บ้านเรา เจ้าหน้าที่ที่เป็นเวรเปลหรือทำงานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงเกือบทั้งหมดจะเป็นสัญญาจ้าง นั่นหมายความว่าการที่เขายกผู้ป่วยติดเตียงบ่อยๆ จนปวดหลัง ทำงานไม่ได้ มันไม่มีข้อผูกมัดอะไรเลยกับหน่วยงาน เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ หน่วยงานจึงไม่ได้จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือยกย้ายผู้ป่วยไว้ใช้ เพราะเขาสามารถเปิดรับคนได้เรื่อยๆ คนเก่าทำงานไม่ไหวก็เอาคนใหม่เข้ามา”
นวัตกรรมรถเข็นปรับยืนและเครื่องช่วยยกย้ายผู้ป่วยของ CMED ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐมาโดยเสมอ และเพื่อแก้ปัญหาที่คนไทยมองไม่เห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการยกย้ายผู้ป่วยโดยไม่มีเครื่องช่วย CMED Hoist จึงเข้าไปในหน่วยงานดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาลทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพ ฯ เชียงใหม่ ชลบุรี และจังหวัดอื่นๆ ในนามของโครงการบางแค 4.0 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุในบ้านพัก และสร้างภาพจำใหม่ให้ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วเครื่องช่วยยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีประโยชน์และมีความจำเป็นมากๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างบ้านเรา
ธีรพงศ์ยังทิ้งท้ายว่า สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ แค่มองเห็นเครื่องมือยกย้ายที่มีมาตรฐานและปลอดภัยเชื่อถือได้ ก็มักจะยกหูติดต่อเข้ามาสอบถามกับบริษัทแทบจะทันที จะเรียกว่าเป็นอุปกรณ์พลิกชีวิตก็คงไม่ผิดนัก
สิทธิที่ผู้ป่วยจะได้มีความสุขตามอัตภาพ
ความเจ็บป่วยทางกายนำพาไปสู่ความเจ็บป่วยทางใจได้เสมอ และใครๆ ก็คงต้องการมากกว่าแค่การลุกนั่งแน่ๆ CMED Hoist กำลังวางแผนจะพัฒนาเครื่องยกย้ายผู้ป่วยให้ครอบคลุมการใช้งานมากกว่าเดิม อย่างเช่นเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้น – ลงจากสระน้ำ นวัตกรรมที่คนไทยอาจมองว่าไม่จำเป็น แต่สำหรับดินแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพอย่างอเมริกากลับมีกฎเคร่งครัดให้ทุกสถานที่ที่มีสระว่ายน้ำ ต้องมีเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยคอยบริการไว้เสมอ
“ผู้สูงอายุก็คือคนที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน หากไปโรงแรม เขาก็ควรจะมีโอกาสได้ใช้สถานที่ของโรงแรมเช่นเดียวกับแขกคนอื่นๆ สิ่งที่อยากทำต่อไปมันก็จะเป็นการส่งเสริมสิทธิ์ในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนกลางได้ด้วย นักท่องเที่ยวสูงอายุผู้สูงอายุในประเทศเราก็จะได้รับผลประโยชน์ ได้มีชีวิตหลังเกษียณที่ดี
“ประเด็นที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เรากำลังพัฒนาให้ไทยเป็น medical hub หรือศูนย์กลางทางการแพทย์ แล้วก็เป็นหมุดหมายของ wellness tour หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นโรงแรมสำหรับผู้สูงอายุได้ มีอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงสระว่ายน้ำ ผมก็มองว่ามันสามารถสนับสนุนภาพนั้นได้ชัดขึ้น ”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องยกย้ายได้ที่
รถเข็นผู้ป่วย วีลแชร์ ปรับยืน CmedMedical
หมายเลขโทรศัพท์ 02 821 5990
อ้างอิง และขอบคุณภาพจาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?