พี่จุง-จุไรรัตน์ สินแสง อำพรางวัย 57 ปี ไว้ในเสื้อผ้าสีสันสดใส เคลื่อนไหวร่างกายไปตามเสียงเพลงของวงแบล็คพิงก์ อย่างกระฉับกระเฉง แข็งแรง ปราดเปรียวและคล่องแคล่ว แต่ละก้าวที่เท้าคู่เล็กๆ ของเธอขยับบอกกับผู้คนว่า มนุษย์มีศักยภาพในการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเสมอ
นักเต้นโคเวอร์ในโลก ติ๊กต็อก
พี่จุงรักการออกกำลังกาย และหลงใหลการเต้นทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเต้นโคเวอร์ เพลงเกาหลีจากศิลปินที่ชื่นชอบอย่างวงแบล็กพิงก์ ใช่แล้ว ‘แบล็กพิงก์’ ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ประดับโลกวงนี้แหละ ก็ทำไมจะไม่ได้หละ ทำไมคนวัย 57 ต้องชอบเพลงของวงสาวสาวสาวเท่านั้น ทำไมต้องให้ความคิดของคนอื่นมาตีกรอบชีวิตของตัวเอง
“ปีนี้อายุ 57 ปี แล้วค่ะ” พี่จุงเริ่มต้นแนะนำตัว และเล่าว่าเธอเริ่มเต้นรำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว “เป็นคนชอบเต้นอยู่แล้ว ช่วงแรกจะเต้นในฟิตเนส ซึ่งจะมีชั้นเรียนเต้น ด้วยความที่ชอบฟังเพลง ชอบเต้น ก็เลยสนุกกับการเต้น และการออกกำลังกาย”
แต่พอเต้นไปได้สักพัก ก็ยังไม่แล้วใจคนวัยเกือบ 40 เมื่อยี่สิบปีก่อน “อยากเต้นมากกว่านี้ค่ะ น้องๆ หลายคนแนะนำ Studio dance ที่ My Street Studio ซึ่งครูเป็นกันเอง และมีคนหลายวัยมาเรียนเต้น ทำให้เราไม่รู้สึกเขิน แถมยิ่งชอบเต้นมากกว่าเดิมอีก “ตอนที่เริ่มเต้นจริงๆ ถอยไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตอนอยู่ในฟิตเนสจะเต้นเบาๆ เต้นละติน ซุมบ้า แต่ช่วงหลังได้เริ่มต่อท่าเต้นกับครู เราชอบแบบนี้มากกว่า เพราะโลกการเต้นมีความหลากหลาย”
การเต้นเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายไปกับจังหวะดนตรี การเต้นเป็นการสื่อสารระหว่างความรู้สึกภายในของผู้เต้นกับท่วงทำนองของบทเพลง ด้วยลักษณะของกิจกรรมดังกล่าว การเต้นจึงถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น วัยที่มีพละกำลังในการเคลื่อนไหวร่างกาย ยังไม่นับว่าสังคมมักผลิตดนตรีออกมาป้อนให้คนวัยหนุ่มสาวมากว่าวัยที่ต้องจริงจังกับการหาเลี้ยงชีพ ทั้งที่เสียงดนตรีเป็นวิตามินทางอารมณ์ของมนุษย์ทุกวัย
ทำไมเราต้องทำตามสังคมกำหนด
พี่จุงบอกว่าหากข้างในตัวเราเรียกร้องเสียงเพลง และการเต้นรำ เราต้องก้าวออกจากความไม่มั่นใจ และจากความกลัว ก่อนจะก้าวไปบนจังหวะของการเต้น “เราไม่รู้หรอกว่าตัวเองอายุเท่าไหร่ตอนที่กำลังเต้น ตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองเด็กนะ ไม่รู้สึกว่าตัวเองอายุเท่าไหร่ เวลาเต้นก็เพลินไปกับกิจกรรม โอเค ตอนเริ่มเต้นก็แอบเขิน เพราะในกลุ่มที่เต้นมีแต่เด็กๆ เราเป็นป้าคนเดียวที่เข้าไปเต้นกับพวกเขา”
แรกๆ มีคนถามพี่จุงว่า มาส่งลูกหรือเปล่า มาสมัครเรียนเต้นให้ลูกหรือไม่ แต่เมื่อเห็นพลังที่ซ่อนไว้ในตัวของพี่จุงตอนเคลื่อนไหวไปกับเพลง จากคำถามก็เปลี่ยนมาเป็นคำชื่นชม
“แรกๆ น้องๆ ในชั้นเรียนเต้นจะงงว่า ป้าคนนี้มาส่งลูกเรียนเต้นหรือเปล่า ใครๆ ก็เรียกเราว่า ลิซ่ารุ่นแม่ ตอนไปสมัครเต้นเขาถามว่า คุณแม่มาสมัครให้ลูกเหรอคะ (หัวเราะ) แต่สำหรับเราคิดว่า ไม่ว่าวัยไหนก็ยังเต้นได้ เวลาเข้าชั้นเรียนเต้นจะไม่ค่อยรู้สึกอะไร เพราะทุกคนคือเพื่อนที่มาเรียนเต้นด้วยกัน เราจะเพ่งความสนใจไปที่ครูมากกว่า น้องๆ ส่วนใหญ่จะตกใจเรื่องอายุ เขาบอกว่าอายุเท่าแม่หนูเลย บางคนบอกแก่กว่าแม่หนูอีก” พี่จุงหัวเราะให้กับเรื่องราวของตัวเอง “เราสนุกกับการเต้น ก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไร เรามั่นใจในสิ่งที่เราทำ ทำแล้วเราชอบ มันออกมาจากข้างในของเราจริงๆ เราไม่ได้ทำตามใคร เป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ”
เมื่อได้เห็นใครสักคนรักในสิ่งที่ทำ จะไม่มีท่าทางเก้กังใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากความมุ่งมั่น ราวกับโลกทั้งใบมีเพียงเธอกับการเต้นรำ นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างพี่จุงกับการเต้น
เมื่อการเต้นเป็นพื้นที่ของคนต่างวัย
พี่จุงเริ่มเต้น และอัดคลิปลงติ๊กต็อกในช่วงที่โควิด- 19 ระบาด เพราะช่วงนั้นสังคมต้องเว้นระยะออกห่างจากกัน พี่จุงไม่สามารถเดินทางไปออกกำลังกายในฟิตเนส และเต้นที่สตูดิโอได้ “ช่วงโควิด เป็นช่วงที่เราไปฟิตเนสไม่ได้ ไปสตูดิโอไม่ได้ เราเริ่มเต้นข้างถนน เต้นหน้าบ้าน แล้วอัดคลิป เขาไม่ให้รวมกลุ่มกัน แต่ใจเราอยากเต้น เต้นหน้าบ้านนี่แหละ พอลงติ๊กต็อก เราก็สนุกตรงนี้ ช่วงนั้นครูสอนออนไลน์ด้วย เราก็ทำการบ้านส่งครู ก็ใช้วิธีลงในติ๊กต็อกด้วย”
คลิปที่คนรู้จักพี่จุงเยอะ เป็นเพลงของแบล็กพิงก์ ซึ่งมีท่าที่ต้องย่อลงแรงๆ “ตอนแรกก็ไม่กล้าย่อนะ พอเต้น 5 – 6 ครั้ง เราก็ย่อได้แล้ว พอย่อได้แรงๆ เราก็ประหลาดใจเหมือนกันว่า เราย่อได้ด้วยเหรอ ต่อมาก็เต้นเพลงดังๆ ที่คนรู้จัก อีกอย่างก็คือคนคงเห็นว่าเราอายุเยอะแล้ว แต่ยังเต้นเพลงของเด็กๆ ได้ เลยทำให้คนติดตามเยอะ” พี่จุงยิ้ม
เพลง ‘Shut Down’ ของแบล็กพิงก์เป็นคลิปเต้นที่แจ้งเกิดในติ๊กต็อกของพี่จุง ซึ่งมียอดคนดู 2.8 ล้านวิว และนอกจากเต้นโคเวอร์เพลงเกาหลีแล้ว พี่จุงยังเต้นสไตล์อื่นๆ ที่ชื่นชอบ เช่น สตรีทแดนซ์ และฮิปฮอป เป็นต้น
เมื่อถามพี่จุงในวัย 57 ว่า สไตล์การเต้นแบบไหนที่เธอชอบ คำตอบคือ ฮิปฮอป “ชอบเต้นฮิปฮอป เพราะได้ใช้กล้ามเนื้อ และรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งต้องแข็งแรงพอ นอกจากนี้ ก็ชอบเต้นสตรีท ซึ่งจะลื่นไหลแต่แข็งแรง และได้ใช้ทุกมัดกล้ามเนื้อ แล้วก็ชอบเต้นแนวเกาหลี ซึ่งเป็นของใหม่ พอเทรนด์เกาหลีเข้ามา เราเห็นเด็กๆ เต้นแล้วน่ารักดี ก็ลองไปเต้นกับเขาด้วย พอเต้นก็ชอบ เป็นอีกสไตล์หนึ่ง”
“การเต้นสตรีทต้องใช้อินเนอร์เยอะ ครูสอนว่าเพลงเขาเล่าเรื่องอะไร เราก็อินไปตามเพลง พออิน อินเนอร์จะออกมาตามนั้น เช่น เพลงบอกว่าเศร้า เราก็จะถ่ายทอดความเศร้าผ่านท่าเต้น หรือเพลงบอกให้เรามีพลัง เราก็จะใส่พลังเข้าไปในท่าเต้น มันไปตามอินเนอร์ของเพลง แล้วเราจะใส่ท่าทางของเราไป”
เมื่อการเต้นไม่ใช่พื้นที่ของเด็กๆ วัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่การเต้นเป็นพื้นที่ส่วนกลางของคนทุกวัยที่รักการเต้น การเต้นจึงทำให้พี่จุงเชื่อมต่อกับคนอีกรุ่นที่มีความแตกต่างจากคนรุ่นเธออย่างสิ้นเชิง
“เด็กหลายคนบอกเราว่า อยากให้แม่หนูมาเต้นบ้างจัง เราก็บอกว่าชวนแม่มาสิ แม่ของหนูมีเพื่อนแน่นอน น้องบางคนบอกว่า หนูจะกลับไปบอกแม่ว่า แม่ก็เต้นได้นะ เขาก็จะกลับไปบอกพ่อกับแม่ว่า ไม่ต้องอาย มีคนอายุเท่าแม่มาเต้นนะ”
เวลาที่เพลงเต้นเพลงไหนกำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียล ทุกเช้าพี่จุงจะตื่นมาแกะท่าเต้นเพลงที่กำลังดัง “เวลามีเพลงใหม่ในติ๊กต็อก เราจะเริ่มแกะเพลง แกะท่าเต้น เวลาที่ใช้ในการแกะเพลงคือตื่นเช้าขึ้นมา เราต้องรีบแกะเพลงก่อนจะเอาท์ รีบแกะท่าทีละสเต็ป มันก็ได้เอง” พี่จุงยิ้ม
การเต้นคือการทำลายข้อจำกัด
ในชั่วโมงทำงาน พี่จุงไม่ต่างจากมืออาชีพที่ทำงานอย่าจดจ่อจริงจัง และเคร่งเครียด เพื่อให้งานบรรลุผล แต่หลังเลิกงาน โลกอีกใบกำลังรอเธออยู่ นั่นคือโลกของการเต้น
“ชีวิตทำงาน เราจะอยู่ในที่ทำงาน เครียด นั่งหน้าจอ แต่หลังเลิกงาน มาที่สตูดิโอ มันพาเราไปยังโลกอีกใบเลย ยิ่งได้ยินเสียงเพลงนะ ไปเลย ไปอีกโลกเลย ชีวิตมันมีหลายมุม ชีวิตของเราไม่ได้มีมุมเดียว เสียงเพลงทำให้เราสนุก มีความสุขกับการได้ฟังเพลง ขยับร่างกายไปตามเพลง มีสเต็ป มีจังหวะ พอเราเต้นได้ ก็เหมือนได้ผ่านอุปสรรค ผ่านไปทีละระดับ จากง่ายไปยาก มันมีบันไดให้เราก้าวไปเรื่อยๆ”
การเต้นเป็นเหมือนการก้าวข้ามอุปสรรค ทีละท่า ทีละสเต็ป ทุกย่างก้าวคือการข้ามผ่านกำแพง กำแพงแรกสุดที่ต้องกล้าก้าวผ่านคือ ความกลัวของตัวเอง กลัวแก่ไปบ้างล่ะ กลัวคนอื่นมองว่าไม่รู้จักแก่บ้างล่ะ
“แต่มนุษย์ไม่มีขีดจำกัดค่ะ เวลาและอายุไม่ได้เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามถ้าคุณมีความฝัน และอยากทำมัน ทำเลยค่ะ และหากคุณไปเจอกับข้อจำกัดอะไรเข้า ก็อย่าคิดว่ามันจบแล้ว เพราะมันมีทางที่จะพาเราข้ามไปได้เสมอ”
“ถ้าใครอยากจะทำอะไร ไม่ต้องรอ หรือกลัวสายตาคนอื่น หรืออายคนรอบข้าง อยากให้ทุกคนก้าวออกมาจากตรงนั้น แล้วจะพบกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ นั่นคืออินเนอร์ของเราเอง พอเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เราจะพบว่ามันคือความสุขที่ยิ่งใหญ่ แต่คุณต้องก้าวออกมา แล้วคุณจะพบว่าก้าวของคุณไม่มีจุดสิ้นสุด แล้วเราจะไม่เสียดายเลย”
อีกด้านหนึ่งของการเต้นคือ การได้ออกกำลังกาย พี่จุงบอกว่าเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะได้ลงทุนกับสุขภาพของตัวเอง “นี่จะกลายเป็นต้นทุนของเราในอนาคต เป็นการลงทุนที่ดี ในอนาคตแทนที่เราจะใช้เงินไปหาหมอ เราก็เอาเงินมาลงทุนดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ อนาคตเราก็นำเงินตรงนั้นไปทำในสิ่งที่มีประโยชน์ และอยากทำ เราอยากจะบอกว่า มนุษย์ไม่มีคำว่าหมดหนทางนะ ถ้าเราตั้งใจหรืออยากจะทำอะไร บอกเลยว่าเราไปได้ไกลกว่านี้อีก ชีวิตยาวไกลมาก ไม่สายที่จะเริ่มต้นลงมือทำอะไรที่คุณอยากทำ”
เสียงเพลงดังขึ้น เท้าของพี่จุงเริ่มต้นขยับอีกครั้ง