ลมหายใจจังหวะแจ๊ซของครูกีตาร์วัยเก๋า ‘อิทธินันท์ อินทรนันท์’

“แจ๊ซคือการค้นหาตัวเอง เมื่อเราพบว่าเราเป็นคนแบบไหน เราก็จะมีความสุขกับการเล่นแจ๊ซ”

อิทธินันท์ อินทรนันท์ หรือ ‘ครูเต๊ะ’ วัย 66 ปี ครูกีตาร์แจ๊ซระดับแถวหน้าของเมืองไทย ค้นพบความสุขจากการเล่นดนดรีแจ๊ซแบบถอนตัวไม่ขึ้น จนพาตัวเองข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนถึงสถาบันดนตรีระดับโลกเพื่อหาความรู้ทางด้านแจ๊ซจนกระจ่าง

เขาตัดสินใจเปิดโรงเรียนดนตรีวรนันท์ โรงเรียนดนตรีที่เน้นสอนแนวแจ๊ซแห่งแรกของเชียงใหม่เมื่อ 20 ปีก่อน จนมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นนักดนตรีแจ๊ซตามผับทั่วเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก

เส้นทางดนตรีของเขาในช่วงต้นมีสีสันและสนุกสนานเหมือนละตินแจ๊ซ แต่บททดสอบชีวิตอีกหลายครั้งก็ชวนให้นึกถึงดนตรีแจ๊ซมู้ดเศร้า

เขาเคยผ่าตัดก้อนเนื้องอกในสมองทับเส้นประสาท ที่แม้การผ่าตัดจะลุล่วง แต่นิ้วมือไม่สามารถขยับเล่นกีตาร์ได้ดังเคย

เขาเคยผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจรั่วนาน 8 ชั่วโมง และมีผลพวงทำให้นิ้วมือด้านขวาชาไร้เรี่ยวแรง

เขาเคยนั่งกอดกีตาร์ตัวโปรดร้องไห้

แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ต่อบททดสอบใดๆ ครูเต๊ะใช้หัวใจที่ยังสู้กับนิ้วมือที่พร้อมนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่เจออุปสรรคเหล่านี้

ทุกวันนี้ หากใครมองเข้าไปในห้องสอนดนตรีจะพบกับคนสองวัยนั่งเล่นกีตาร์ด้วยกัน แววตาคนหนึ่งเปล่งประกายไปด้วยไฟฝันบนเส้นทางดนตรี ส่วนแววตาอีกคนหนึ่งเปี่ยมไปด้วยความสุขที่เห็นเงาของเห็นตัวเองซ่อนอยู่ในแววตาของคนที่เยาว์วัยกว่า

ถนนดนตรีภูธรสู่ถนนดนตรีของเมืองกรุง

เส้นทางดนตรีของมือกีตาร์แจ๊ซวัยเก๋าเริ่มต้นที่ดินแดนเหนือสุดของประเทศไทยอย่างเชียงราย แม้จะอยู่ห่างไกลเมืองกรุง แต่เขาโชคดีที่มีพ่อหลงรักการสีไวโอลิน เครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตจึงหนีไม่พ้นไวโอลินของพ่อ แต่ความยากของไวโอลินทำให้เด็กชายแปรใจไปรักกีตาร์แทน

“เริ่มหัดเล่นไวโอลินตอน ป.4 ป.5 แต่มันยากเกินไปสำหรับเรา พอดีตอนนั้นมีครูย้ายมาจากเชียงใหม่ ครูเล่นกีตาร์และร้องเพลงฝรั่งไปด้วย เห็นแล้วรู้สึกเท่มาก เลยอยากหัดเล่นกีตาร์บ้าง พอขึ้น มศ.1 สอบติดสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เลยเริ่มตั้งวงกับเพื่อนเล่นกันเอง”

เส้นทางดนตรีของเด็กหนุ่มจากเชียงรายเริ่มมีสีสันมากขึ้นในช่วงชั้น มศ.3 เมื่อฟ้าส่งเพื่อนใหม่จากกรุงเทพฯ ชื่อ ‘อิทธิ พลางกูร’ มาให้เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน และเพื่อนคนนี้มีพี่ชายชื่อ ‘อุกฤษฏ์ พลางกูร’ มือกีตาร์วงไดนามิค ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ดังมากในยุคนั้น

“ตอนนั้นคุณพ่อของอิทธิ คือคุณหมอโอกาส พลางกูร ย้ายมาทำงานที่ มช. ตอนเห็นอิทธิเล่นกีตาร์แล้วก็ร้องว้าวว่า คนกรุงเทพเล่นดนตรีเก่งแบบนี้เลย พออิทธิชวนไปตั้งวงด้วยกันก็เลยตามไปเล่นกับเขาด้วย”

หลังจบมัธยมปลาย เพื่อนรักแยกย้ายกันไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามทางเดินของแต่ละคน ครูเต๊ะสอบติดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส แม้วิชาที่ลงทะเบียนจะไม่ใช่ดนตรี แต่ดูเหมือนจะมีคนพบเขาขลุกอยู่กับการจับคอร์ดกีตาร์มากกว่าท่องภาษาต่างแดน

“ตอนเข้า มช. เริ่มเล่นกีตาร์ได้เยอะพอสมควร แต่ไม่ได้คิดจะเรียนสาขาดนตรี ตอนนั้นใช้หูแกะเพลงเล่นเอง ชีวิตวันๆ เอาแต่เล่นดนตรีจนเกือบจะเรียนไม่จบเหมือนกัน (หัวเราะ)”

แม้จะไม่ได้รับปริญญาทางดนตรี แต่เมื่อโชคชะตากำหนดมาให้เขาต้องก้าวเดินบนถนนสายนี้ โอกาสเป็นนักดนตรีอาชีพก็มาถึงตรงหน้าแบบไม่คาดฝัน

“ตอนเรียนจบเป็นช่วงที่พ่อได้รับเลือกเป็น ส.ส. พ่อเลยชวนไปอยู่กรุงเทพฯ เรายังไม่มีงานทำก็ตามพ่อไปโน่นมานี่ มีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างนั่งกินก๋วยเตี๋ยวใกล้โรงแรมมณเฑียร พี่ต้อม (อิราวัต บุนนาค) วงคาไลโดสโคป บังเอิญกินร้านเดียวกัน เขาบอกว่ามือกีตาร์ของวงกำลังจะลาออกเลยชวนมาเล่นด้วยกัน เพราะเขาเคยเห็นเราเล่นกีตาร์ตอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นได้ยินแล้วตกใจเลย เพราะเราเป็นมือกีตาร์จากภูธร เพิ่งอายุ 20 ต้นๆ แล้วเขาเป็นวงระดับประเทศ เป็นวงไอดอลในดวงใจเราด้วย เลยรู้สึกเหมือนฝัน ไม่อยากเชื่อตัวเอง”

ตลอด 1 ปีที่ได้ร่วมวงกับมือกีตาร์ขั้นเทพ ทำให้มือกีตาร์ภูธรเริ่มอยากพัฒนาฝีมือตัวเองให้เก่งขึ้น เขาเริ่มปักหมุดเส้นทางชีวิตสายดนตรีอาชีพอย่างจริงจัง และตระหนักได้ว่าความรักเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะนำพาเขาไปสู่ปลายทางที่ตั้งใจ จำเป็นต้องมีความรู้จากครูดนตรีชี้แนะแนวทางด้วยเช่นกัน

“เริ่มไปเรียนดนตรีครั้งแรกกับ อาจารย์ดนู ฮันตระกูล ที่โรงเรียนดนตรีศศิลิยะ หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจดนตรีแจ๊ซ เลยกู้เงินน้องสาวไปเรียนที่ Berklee College of Music สหรัฐอเมริกา”

ด้วยความที่เห็นพี่ชายหลงใหลในดนตรีอย่างจริงจัง น้องสาวจึงเป็นทั้งคนเสนอให้ไปเรียนที่นี่และพร้อมเป็นแรงสนับสนุนให้พี่ชายได้เดินตามความฝัน ครูเต๊ะวัยหนุ่มจึงได้เดินทางไปเรียนที่บอสตันด้วยเงินจากคุณยายส่วนหนึ่งและเงินจากน้องสาวอีกส่วน ที่แม้ว่าน้องสาวจะออกปากว่าไม่ต้องคืน แต่พี่ชายก็ทยอยผ่อนและคืนให้น้องจนครบในที่สุด

“ตอนไปเรียนต่อ เรายังไม่ได้คิดอะไรไกล ขอแค่ไปเรียนเพื่อความสุขก่อน เราไม่ได้ไปแบบลูกคนรวย เรียนเสร็จปุ๊บต้องขึ้นรถไฟไปทำงานทั้ง 5 วันเลย แล้วก็ไม่เคยได้ดูคนอื่นแสดงเลยด้วย เพราะต้องรีบเรียนให้จบภายใน 3 ปีครึ่ง”

หลังเรียนจบจากสถาบันดนตรีระดับโลก เขามีคำตอบที่แน่ชัดให้ตัวเองแล้วว่า เขาหลงรักดนตรีแจ๊ซจนหมดหัวใจ เพราะแจ๊ซทำให้เขารู้จักตัวเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจคนอื่นว่าทุกคนล้วนแตกต่างกัน แต่สามารถเล่นบทเพลงเดียวกันให้ไพเราะได้

ถนนสายแจ๊ซ

“เหตุผลที่ผมหลงรักแจ๊ซเพราะมีตัวเราเข้าไปอยู่ในดนตรีร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเล่นแจ๊ซเพื่อหาตัวเราให้เจอว่าเราเป็นอย่างนี้นี่เอง การเล่นดนตรีแจ๊ซจะแสดงนิสัยใจคอแต่ละคนออกมาเลย และไม่มีคำว่าเพอร์เฟกต์สำหรับคนเล่นแจ๊ซ เพราะเป็นไปตามภาวะอารมณ์ขณะนั้น คนฟังแจ๊ซจะคาดหวังความไม่เหมือนเดิม แจ๊ซจึงเป็นเหมือนนิทานไม่รู้จบ เป็นดนตรีที่ทำให้สนุกกับการสร้างภาษาใหม่ๆ ทุกครั้งที่เราเล่น”

เสน่ห์ของดนตรีแจ๊ซคือการอิมโพรไวเซชัน (improvisation) หรือการสร้างท่วงทำนองใหม่บนพื้นฐานของทางคอร์ดเดิมในเพลงนั้น คนฟังจะรู้สึกคุ้นเคยกับคอร์ดที่เคยได้ยิน แต่จะเพลิดเพลินกับเสียงตัวโน้ตที่ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ผ่านประสบการณ์การฝึกฝนของนักดนตรีแต่ละคนที่ใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงไป หากเจอวงบิ๊กแบนด์ที่มีเครื่องดนตรีหลายชิ้น ช่วงโซโลจะเป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นมากที่สุด ทั้งสำหรับคนเล่นและคนฟัง เพราะเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะสลับกันขึ้นมาเป็นตัวเอกบนเวที แจ๊ซจึงเป็นแนวทางดนตรีที่ปลดปล่อยความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสู่ความเท่าเทียมกัน ไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นไหนโดดเด่นกว่าใคร

หลังกลับมาเมืองไทย 2 ปี หนุ่มเชียงรายได้พบรักกับสาวเชียงใหม่ ‘เบล’ – นลี อินทรนันท์ ผู้ชื่นชอบการร้องเพลงและหลงรักดนตรีแจ๊ซเช่นเดียวกัน ทั้งคู่เริ่มต้นชีวิตครอบครัวบนเส้นทางสายดนตรีแจ๊ซด้วยการเปิดผับกลางเมืองเชียงใหม่

แต่เพราะขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ทางเดินสายนี้จึงไม่ได้นำความสุขจากการเล่นดนตรีมาให้เพียงอย่างเดียว แต่แถมหนี้สินที่พอกพูนมากขึ้นทุกเดือน เมื่อหนทางปลดหนี้เริ่มห่างไกลออกไป ทั้งคู่จึงยอมหยุดความฝันการเป็นเจ้าของผับแจ๊ซไว้เพียงแค่นั้น

“เราเพิ่งรู้ว่าเราเดินผิดทางตอนทำผับที่ใต้ห้างกาดสวนแก้ว สถานที่ใหญ่เกินไป มีโต๊ะ 20 โต๊ะ แล้วอยู่ในศูนย์การค้า หลังสองทุ่มก็เงียบแล้ว ปกติแล้ว อย่างผับแจ๊ซในอเมริกาจะอยู่ในซอกเล็กๆ มีคนยืนหน้าเวทีเล็กๆ ดูอบอุ่น หลังจากเปิดผับได้ประมาณ 2 ปี มีหนี้สินมากจนต้องย้ายกลับไปตั้งหลักอยู่บ้านที่เชียงรายก่อน”

ยามที่ถนนชีวิตวิ่งไปจนถึงทางตันอาจไม่ได้หมายความว่า เราล้มเหลว แต่อาจเป็นเพียงคำเตือนให้เราถอยหลังกลับมาตั้งต้นใหม่ที่ทางแยกเดิม เพื่อให้เราเปลี่ยนเส้นทางเดินสู่ถนนสายที่ยาวไกลกว่า

หลังบาดเจ็บจากหนี้สินจนต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้านเกิดได้ไม่ถึงปี ข่าวดีก็มาถึง เมื่อโรงเรียนนานาชาติเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดรับสมัครครูสอนดนตรี ทั้งคู่จึงรีบสมัครทันที

เหมือนฟ้าเปิดทางสว่างให้กับคู่รักดนตรีแจ๊ซที่มีหัวใจความเป็นครูได้ก้าวเดินบนเส้นทางใหม่ เพื่อสร้างความรักในเสียงดนตรีให้กับนักเรียนอีกมากมายหลายร้อยชีวิตนับจากวันนั้นเป็นต้นมา

“ความรู้สึกที่แตกต่างระหว่างการเล่นดนตรีกับการสอนดนตรี คือเล่นดนตรีในผับ มีคนกินเหล้ามานั่งฟัง แต่สอนดนตรี เราได้สร้างคน สอนเด็กบางคนที่พ่อแม่ไม่รู้จะให้เรียนอะไร เพราะเรียนอย่างอื่นไม่เก่งสักอย่าง แต่เรียนดนตรีเก่ง เขาก็ภูมิใจในตัวเอง”

การได้เป็นครูสอนดนตรีในโรงเรียนนานาชาติทำให้ครูเต๊ะเริ่มสนใจการวางหลักสูตรสอนดนตรีแจ๊ซให้กับคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง จนนำไปสู่การตัดสินใจตอกเสาเข็มลงบนผืนดินหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดโรงเรียนดนตรีวรนันท์เพื่อสร้างคนบนถนนสายดนตรีแจ๊ซนับแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนไปสอนที่นี่ 2 ปี ทำให้เราเห็นการวางหลักสูตรดนตรีในแบบโรงเรียนอินเตอร์ เห็นวิธีการสอนของฝรั่ง เห็นตำรับตำราต่างๆ จนอยากเปิดโรงเรียนสอนดนตรีเอง”

นับจากวันนั้น วงการดนตรีแจ๊ซในเมืองเชียงใหม่ก็เริ่มเบ่งบาน นักดนตรีแจ๊ซรุ่นใหม่ และผับแจ๊ซหลากหลายแนวดนตรีเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น

หากถามนักดนตรีเหล่านี้ว่าเรียนแจ๊ซมาจากที่ไหน เชื่อว่าคุณจะได้ยินชื่อโรงเรียนดนตรีวรนันท์เป็นหนึ่งในคำตอบอย่างแน่นอน

ถนนดนตรีที่มีบททดสอบ

ตลอดชีวิตครูกีตาร์แจ๊ซวัย 66 ปีท่านนี้ ต้องผ่านบททดสอบความรักในดนตรีมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงวัยต้น 30 ขณะที่เขาเพิ่งมีลูกอ่อนวัย 2 ขวบ และอยู่ในช่วงเริ่มลงทุนเปิดผับแจ๊ซทำเลใหม่

“ก่อนจะเปิดร้านไม่ถึงเดือน ผมต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองกะทันหันเพราะเส้นเลือดฝอยในสมองมีเลือดซึมออกมาจนกลายเป็นก้อนเลือดกดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดหัวโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังผ่าตัดเสร็จ ผมเล่นกีตาร์ไม่ได้ เพราะนิ้วไม่ขยับไปตามที่เราสั่ง ผมกอดกีตาร์ร้องไห้โฮเลย ประสาทมันช้า ดีเลย์ไปหมด ตอนกลางคืนเวลานอนขาซ้ายก็ชา”

ณ เวลานั้น ความรู้สึกของเขาเหมือนร่างที่ถูกโยนลงเหวที่ไม่รู้ว่าก้นเหวอยู่ลึกแค่ไหน เมื่อหันไปมองคู่ชีวิตที่คอยเคียงข้างให้กำลังใจและลูกชายวัยกำลังหัดเดิน เขาก็รู้ว่าน้ำตาไม่ได้ทำให้เขากลับมาเล่นกีตาร์ได้ มีเพียงสองมือของเขาเองที่ต้องหยิบกีตาร์มาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

“ตอนนั้นยังงงอยู่นะ แต่รู้อย่างเดียวว่าต้องสู้ต่อ เพราะลูกยังเล็ก เลยพยายามเล่นทุกวัน นิ้วที่แข็งก็ค่อยๆ กลับมา แรกๆ ฝืนมาก แต่บอกตัวเองว่าเราต้องสู้ เรานอนร้องไห้หมดหวังไม่ได้ โชคดีที่เป็นคนอดทน หยิบกีตาร์ขึ้นมาจับทุกวัน กล้ามเนื้อก็ค่อยๆ ขยับได้ดีขึ้น ผ่านไปประมาณ 10 วัน เราก็เริ่มกลับมาเล่นได้บ้าง แม้จะยังไม่ดีเหมือนก่อนผ่าตัด แต่ก็ทันเวลาเปิดร้านใหม่”

30 ปีต่อมา บททดสอบครั้งที่ 2 ก็แวะมาเยือนอีกครั้งในวัยเกษียณ คราวนี้โอกาสเป็นและตายสูสีกัน เพราะเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับหัวใจปริจนเขาหมดสติตั้งแต่ยังไม่ถึงโรงพยาบาล การผ่าตัดครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 8 ชั่วโมง

“ตลอดเวลาที่ผ่าตัด หมอต้องบล็อกหัวใจเอาไว้ไม่ให้เต้น ป้องกันเลือดไหลออกมาขณะผ่าตัด วินาทีที่ผมตื่นขึ้นมา หมอเข้ามาเคาะที่ขา เพราะหมอกลัวเป็นอัมพาต หลังผ่าตัดมีแผลเป็นที่กลางหน้าอกยาวเลย ช่วงแรกรู้สึกเหมือนเอาของหนักๆ มาแขวนไว้ที่คอ ตอนนั้นคิดว่าจะแบกกีตาร์ไม่ได้แล้ว”

ผลจากการผ่าตัดครั้งนี้ทำให้มือขวาของเขามีอาการชา คล้ายคนไม่มีแรง แต่ครูเต๊ะก็ยังคงหยิบกีตาร์มาฝึกซ้อมทุกวัน แม้นิ้วมือจะเคลื่อนไหวไม่สมบูรณ์ แต่หัวใจความเป็นครูดนตรียังคงสมบูรณ์เสมอ

“ตอนนี้เล่นกีตาร์มือซ้ายพอได้ แต่มือขวาลำบาก เพราะไม่มีแรงเท่ากับมือซ้าย ทุกวันนี้ก็ยังชาอยู่ เพราะหมอเอากล้ามเนื้อออกไปส่วนหนึ่ง ทำให้ร่างกายเสียสมดุล แต่เราก็ยังเล่นให้ลูกศิษย์ดูได้ ไม่ต้องเล่นโชว์ใคร แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

บททดสอบที่เกิดขึ้นในชีวิตครูกีตาร์แจ๊ซคนนี้ไม่เพียงทำให้เขารู้ว่าเขารักการเล่นกีตาร์มากมายเพียงใด หากยังทำให้รู้ว่าตัวเองโชคดีมากแค่ไหนที่มีคู่ชีวิตเป็นผู้หญิงคนนี้

“คู่ชีวิตมีส่วนสำคัญมาก เพราะลูกยังเล็กมาก ตัวผมก็ป่วยหนัก เพราะฉะนั้นเบลต้องดูแลทุกอย่าง ครั้งที่ผมผ่าตัด 8 ชั่วโมง เบลนั่งหลับคาหน้าห้องผ่าตัด เราจะเห็นจิตใจกันก็ในเวลาแบบนี้

“ทุกวันนี้อยู่ด้วยกันมา 30 ปี อาจมีบางช่วงที่ลิ้นกระทบกับฟันเป็นธรรมดา แต่ทุกครั้งที่ผมป่วย เขาก็ยังอยู่เคียงข้างเสมอ ผมโชคดีมากที่มีคู่ครองที่ดี”

หลังผ่านบททดสอบชีวิตเข้าสู่วัยชรา คำขอร้องจากภรรยาจึงเป็นสิ่งที่สามียอมปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ

“เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เบลขอให้นั่งสมาธิทุกวัน ผมก็นั่งก่อนนอนทุกวันเลย ประมาณ 20 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง นั่งสมาธิแล้วดีขึ้นเยอะ ทำให้เรามีสติ คิดเรื่องชีวิตนิ่งขึ้น ไม่ค่อยกลัวความตาย ก่อนนอนก็จะบอกตัวเองว่า ขอให้ตายอย่างมีความสุข บอกภรรยาไว้ว่า ถ้าตายปุ๊บ ให้เอานิ้วมาดันข้างแก้มขึ้นให้ดูยิ้มด้วยนะ (หัวเราะ) เราสามารถพูดถึงความตายอย่างมีความสุข เพราะถือว่าชาตินี้คุ้มค่ากับการเกิดมาแล้ว”

ถนนแห่งการปันสุขด้วยดนตรี

“สมัยเด็กพ่อเคยพาไปดูหมอกับพระ พระบอกว่าโตขึ้นเป็นครูแน่นอน จำได้ว่ากลับมาบ้านเสียใจมาก เพราะไม่รู้ว่าจะเป็นครูสอนวิชาอะไร จนตอนหลังถึงรู้ว่าเราต้องเป็นครูดนตรีนี่เอง”

หลังจากเปลี่ยนทางเดินสายผับสู่สายครูสอนดนตรี ครูเต๊ะก็ค้นพบความสุขเพิ่มขึ้น ทุกครั้งที่เห็นนักเรียนเล่นดนตรีดีขึ้น เขาก็ยิ่งมีแรงบันดาลใจในการเตรียมสอนบทเรียนที่ยากขึ้นไปอีก เพื่อให้ศิษย์ได้พัฒนาตัวเองให้เก่งกว่าเดิม

ด้วยรู้ว่าหนทางการเล่นดนตรีแจ๊ซต้องอาศัยความรู้ทฤษฎีเป็นพื้นฐาน และค่าเรียนดนตรีอาจสูงเกินกำลังของพ่อแม่ที่หาเช้ากินค่ำ ครูเต๊ะจึงจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งมาแบ่งปันความรู้ให้กับนักเรียนดนตรีที่มีแววและตั้งใจจริงแต่ยังขาดทุนทรัพย์ เพื่อส่งต่อความสุขให้กับนักเรียนที่ยังขาดโอกาสเท่าที่จะมีเวลาจัดสรรให้ได้

“การจะเล่นแจ๊ซได้จำเป็นต้องเรียนทฤษฎีดนตรีเป็นพื้นฐาน เพราะถ้าเรียนด้วยตัวเองแบบใช้หูอย่างเดียวจะยากและใช้เวลานาน ถ้าใครอยากเล่นแจ๊ซเป็น มี 3 สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ หนึ่ง ฟังให้เยอะ สอง ฝึกเองให้มาก เรียกว่า bedroom practice และสาม เล่นดนตรีกับคนอื่น เพราะจะได้เรียนรู้จากคนอื่นไปด้วย บางคนอาจเก่งกว่าหรืออ่อนกว่าเรา จังหวะดีกว่าเรา เวลาเล่นกับคนอื่น เราต้องไม่มีทิฐิ ไม่เกทับกัน เพราะเราต้องลงเรือลำเดียวกัน เล่นไม่ให้เพลงล่ม พาไปถึงฝั่งด้วยกัน

“การที่เรารอดชีวิตมาทำให้เรารู้คุณค่าของชีวิตมากขึ้น ทุกวันนี้แบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีแววซึ่งสอนฟรี กับกลุ่มที่สอนแบบเก็บเงิน เอาเงินจากทางหนึ่งมาจุนเจืออีกทาง คนที่สอนฟรีต้องมีศักยภาพพัฒนาได้ เช่น เด็กบางคนที่เคยอยู่สถานพินิจแต่มีความประพฤติดี ผมก็สอนให้ฟรี เพราะถ้าเขามีดนตรี เขาก็ต้องซ้อม ต้องมีวินัย ถ้าเรียนฟรีแล้วไม่ซ้อม ครูก็ไม่สอน เพราะมีคนอีกเป็นร้อยที่ไม่มีโอกาส เราไม่ได้อยากสะสมเงินทอง แต่อยากส่งต่อความรู้และความรักทางดนตรีให้คนรุ่นต่อไปเท่าที่จะทำได้

“ตราบใดที่เรายังสอนได้ เราก็จะสอนไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะไม่ไหว ทุกวันนี้ถ้าเป็นอะไรไป ไม่รู้สึกเสียดายว่าเรายังไม่ได้ทำนั่นทำนี่ เพราะเราได้ทำสิ่งที่อยากทำและแบ่งปันแล้ว เราอายุมากขึ้น ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ ทำให้ตัวเองมีความสุขในบั้นปลาย   ผมไม่ใช่คนธรรมะธัมโม แต่ผมมีความสุขที่ได้ทำบทเรียนใหม่ให้นักเรียน ถ่ายทอดความรู้ให้เขาเป็นนักดนตรีหรือครูที่ดีต่อไป”

ทุกวันนี้ ครูเต๊ะใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีความสุขเรียบง่ายที่สร้างได้จากสองมือตัวเอง มองเห็นชีวิตเคลื่อนไหวช้าลง แต่ความสุขมากขึ้น

“ปีนี้อายุ 66 มุมมองต่อการดูแลสุขภาพตัวเองก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยกินอาหารตามใจปาก ก็เริ่มหันมากินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งเริ่มออกกำลังกายทุกวันเพื่อไม่ให้ต้องล้มหมอนนอนเสื่อเป็นภาระกับลูกๆ

“ตอนหลังรู้สึกปลูกต้นไม้แล้วมีความสุข ปลูกแล้วเพลิน จิตเรารู้สึกสบาย ความกังวลก็หายไป ต้นไม้แต่ละต้นก็เหมือนมีลูกแต่ละคนนิสัยที่ไม่เหมือนกัน พอเห็นต้นไม้โตขึ้นก็ต้องขยายมาใส่กระถาง ใครมาบ้านก็จะให้ต้นไม้กับคนที่มาเยี่ยม การรดน้ำต้นไม้เช้าเย็น ดูแลต้นไม้ ทำให้เราไม่เป็นโรคซึมเศร้า มันอยู่ที่เราเลือกที่จะทำชีวิตให้เป็นแบบไหนมากกว่า”

ตลอดเวลาที่พูดคุยกับครูดนตรีแจ๊ซท่านนี้ มีหลายสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็น อย่างเช่นแววตาอ่อนโยนพร้อมรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุข รวมถึงความพร้อมเป็นผู้ให้ความรู้ทางดนตรีกับศิษย์ทุกคนอย่างหมดใจ

“ตอนหลังรู้สึกว่าการให้อภัย ความเข้าใจคน ทำให้เราเกิดความสุข ความสบายใจ เราเห็นว่าคนทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อที่เราไม่ชอบเมื่อคิดจากมาตรฐานของเรา เราต้องยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น อย่าไปมองจากแง่มุมของเราอย่างเดียว คนเราทุกคนต่างกัน แต่อย่าให้ความต่างของเขามากระทบจนเราเกิดอคติกับเขา เราต้องเคารพความต่างของเขา พอคิดได้แบบนี้ทำให้อีโก้เราลดลงมาก

“ทุกวันนี้ตื่นเช้ามา ผมจะขอบคุณที่ได้มีชีวิตอีกวัน”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ