เมื่อแม่ของเชฟขนมหวานเป็นเบาหวาน

เรื่องราวของเชฟเป – เปษิกา ธัญพิทยากุล และคุณแม่มาณี สาสะนะสุข เริ่มต้นเมื่อวันหนึ่ง คุณแม่วัย 70 ปีผู้แข็งแรงไม่มีที่ติ กลับตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน และขนมหวานของเธอก็คือสาเหตุ

ด้วยความรัก ความรู้สึกผิด และความปรารถนาให้คุณแม่อยู่ด้วยกันไปอีกยาวนาน เชฟเปเริ่มปฏิบัติการ ‘งดน้ำตาล’ ให้คุณแม่ เปลี่ยนวิถีกินแบบพลิกหน้าเป็นหลังมือในระยะเวลาอันสั้น ผลก็คือความทุกข์และน้ำตาของคุณแม่ผู้รักการกินยิ่งกว่าสิ่งใด

เรื่องราวต่อไปนี้คือเส้นทางการปรับเปลี่ยนวิธีดูแลคุณแม่ โดยใช้ทักษะการปรุงอาหารผสมผสานศาสตร์การกินแบบคีโตเจนิค   สร้างสรรค์เป็นเมนูที่สามารถนำสุขภาพและความสุขกลับคืนมาอีกครั้ง จนระดับน้ำตาลลดลงเกือบปกติในระยะเวลาเพียง 3 เดือน

ทุกวันนี้ เชฟเปเป็นเจ้าของร้านอาหารคีโตเจนิคเจ้าใหญ่ในจังหวัดนครปฐม ร้านที่เธอเปิดเพราะตั้งใจมอบอาหารมื้ออร่อยที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากเค้ก ขนมหวาน และอาหารสารพัดเมนูซึ่งจำหน่ายทางหน้าร้านแล้ว เชฟเปยังมีแบรนด์เครื่องปรุงและซอสคีโตเจนิกที่ส่งขายไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ชาวคีโตฯ ทุกคนน่าจะเคยได้เห็นผ่านตา

และนี่คือบทเรียนจากมื้ออาหารเคล้าน้ำตา ที่สอนให้รู้ถึงความสำคัญในการสร้างสมดุล ของการดูแลคนป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เพราะชีวิตไม่เคยขาดหวาน

ความชื่นชอบในขนมประเภทต่างๆ ทำให้เชฟเปเลือกเส้นทางนักทำขนมหวานมืออาชีพ และยังเป็นครูผู้เชี่ยวชาญด้านเบเกอรี ก่อนหน้านี้ งานหลักของเชฟเปคือ การตระเวนเดินสายไปทั่วประเทศเพื่อสอนการทำขนมหวานและเบเกอรีตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง โดยมีคุณแม่มาณีเป็นเสมือนผู้จัดการส่วนตัว คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบ ด้วยความที่คุณแม่มาณีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งคู่จึงใช้ชีวิตตัวติดกันและร่วมเดินทางไปไหนไปกันตลอด 7 วันต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม การประกอบอาชีพที่รักทำให้ชีวิตประจำวันของทั้งสองแม่ลูกต้องคลุกคลีอยู่กับความหวาน และแล้ววันหนึ่งความกลมเกลียวหอมหวานนี้ ก็ทำให้เกิดฟ้าผ่าลงกลางใจของเชฟเป

“เราพาคุณแม่ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ หกเดือนอยู่แล้ว และทุกครั้งคุณหมอจะกล่าวชมตลอดว่าแข็งแรง ค่าน้ำตาล ค่าความดัน เบาหวาน หัวใจ เป็นปกติดีตามมาตรฐาน จนกระทั่งสามปีก่อน เราพาคุณแม่ไปตรวจสุขภาพตามปกติ แต่ครั้งนี้ไม่แฮปปี้เหมือนทุกครั้ง เพราะคุณหมอแจ้งว่าคุณแม่เป็นน้ำตาลในเลือดสูง”

การได้ยินกับหูว่าคุณแม่เจ็บป่วยด้วยภาวะที่ดูจะลุกลามใหญ่โตได้ สร้างความตื่นตระหนกเป็นครั้งแรกในชีวิตของเชฟเป เพราะเธอเชื่อมั่นมาเสมอว่าคุณแม่จะอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่แข็งแรงไปอีกแสนนาน ที่ผ่านมา การทุ่มเทดูแลคุณแม่ให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นทั้งความสุขและความภูมิใจของเธอ

“ตอนนั้นเราช็อกมากจนถึงกับร้องไห้ออกมา เหมือนมีอะไรผ่าลงมากลางหัว ภายในเวลาแค่หกเดือนที่เราไม่ได้ไปเจอคุณหมอ ค่าน้ำตาลของคุณแม่สูงขึ้นจนเป็นเบาหวาน อาจเพราะรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ไหนว่าดูแลคุณแม่เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาทุกอย่างโอเคมาตลอด แล้วทำไมอยู่ๆ ถึงเป็นแบบนี้”

เมื่อมองลึกลงไปในเชิงสถิติ เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อยอดฮิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยพบว่าผู้สูงอายุที่เข้าโรงพยาบาลมีประวัติรักษาโรคเบาหวานถึง 19.90 เปอร์เซ็นต์ อธิบายให้เห็นภาพคือในผู้สูงอายุ 5 คน จะมีคนป่วยด้วยโรคเบาหวานไปแล้ว 2 คน ดังนั้นการร้องไห้เสียใจที่คุณแม่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน จึงอาจดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนรอบตัว

แต่สำหรับเชฟเปแล้ว ความเจ็บป่วยของแม่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้นสายปลายเหตุมาจากอาชีพของเธอเอง

ความหวังดีที่ต้องฝืนใจกัน

เบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การดูแลรักษาสุขภาพ และพฤติกรรมอื่นๆ ที่สะสมวันละเล็กละน้อยจนลุกลามเป็นความผิดปกติของร่างกาย ดังนั้นหนทางที่ยั่งยืนที่สุดในการควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามไปมากกว่าเดิม จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นคือการเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อผลการตรวจออกมาแบบนั้น คุณหมอก็สั่งห้ามทันทีว่าหลังจากนี้ไม่ให้ผู้ป่วยกินของหวาน ต้องงดน้ำตาล รวมถึงผลไม้ แม้แต่แป้งก็ต้องงด เพราะมันคือน้ำตาลรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

“ตอนที่คุณหมอถามว่า คุณแม่กินของหวานมากไปหรือเปล่า จำได้ว่ารู้สึกหูอื้อ สมองตื้อไปพักนึงเลย เพราะเวลาเราไปสอนนักเรียน สมมติในคลาสนั้นต้องสอนทำขนมเจ็ดชนิดให้นักเรียนสักร้อยคน เราต้องทำขนมทั้งหมดเจ็ดร้อยชิ้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียนทดลองชิมก่อน บ่อยครั้งที่คุณแม่จะมานั่งชิมด้วย ชิ้นนั้นก็อร่อย ชิ้นนี้ก็อร่อย วิถีชีวิตแบบนั้นทำให้คุณแม่ได้รับน้ำตาลและแป้งมากกว่าคนปกติ”

เชฟเปเล่าต่อว่า ปกติคุณแม่มาณีชอบกินขนมอยู่แล้ว เมื่ออาชีพของเธอต้องขลุกอยู่กับขนมทั้งวัน ทำให้คุณแม่แทบจะกินขนมแทนข้าว

“ผู้สูงวัยพออายุเยอะขึ้น ท่านจะรู้สึกไม่อยากเคี้ยว ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ เริ่มเบื่อและไม่อยากกินข้าว แต่กินขนมได้ เราก็ลำพองใจว่าไม่เป็นไร กินได้เลย เพราะที่ผ่านมาเวลาตรวจสุขภาพ ผลก็ออกมาแข็งแรงดีทุกครั้ง พอผลออกมาเป็นแบบนั้น มองย้อนกลับไป คุณแม่กินขนมเยอะเกินไปจริงๆ และเราก็อดโทษตัวเองไม่ได้ เพราะไม่ได้ห้ามปราม และอาชีพของเรานี่แหละที่ทำให้ท่านเป็นเบาหวาน ”

เมื่อประจักษ์ว่าความรักของเธอคือส่วนสำคัญที่ทำให้คุณแม่ป่วย เธอจึง ‘ลงโทษ’ ความรักนั้นด้วยวิธีหักดิบ โดยตัดความหวานออกจากอาหารของคุณแม่ทุกจาน โดยไม่ทันคิดว่าการตัดสินใจนั้นคือการตัดความหอมหวานออกจากชีวิตของท่านด้วยเช่นกัน

“ด้วยความกังวลและตื่นตระหนกว่าเบาหวานจะพรากคุณแม่ไปจากเรา ประโยคสั่งห้ามของคุณหมอเลยกลายเป็นคีย์เวิร์ดที่เรายึดติดว่าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้คุณแม่สุขภาพดีขึ้น เราคิดตื้นๆ ง่ายๆ ว่าต้องงดให้หมด ห้ามคุณแม่กินน้ำตาล แม้แต่น้ำจิ้มและซอสก็ไม่ได้เด็ดขาด ทันทีที่กลับมาถึงบ้านก็เคลียร์ของออกจากตู้เย็นจนหมด ห้ามกินอันนั้น ห้ามกินอันนี้ มีแต่คำว่าห้ามไปหมด

“ด้วยความที่คุณแม่เองก็คงตกใจเมื่อรู้ว่าตัวเองป่วย ท่านเลยทำตามที่เราสั่ง ช่วงแรกที่ยังคิดอะไรไม่ออก อาหารที่เราปรุงให้คุณแม่จะใช้แค่ซีอิ๊ว ทั้งที่ความจริงท่านชอบอาหารรสหวานอย่างไข่พะโล้ ไข่ลูกเขย ผัดฟักทอง หรือผัดไทย”

บทเรียนจากมื้ออาหารเคล้าน้ำตา

การบังคับในนามของความรักย่อมไม่สัมฤทธิ์ผล คือบทเรียนที่เชฟเปได้เรียนรู้ผ่านน้ำตาของแม่

“เราปฏิบัติตามคำสั่งคุณหมออย่างดีที่สุด เพราะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน งดคือห้ามเด็ดขาด ไม่ใช่แค่ลดให้น้อยลง แม้แม่จะยอมแต่โดยดีในสองสามสัปดาห์แรก แต่สุดท้ายแล้วความเคร่งครัดทำให้ชีวิตประจำวันของท่านไร้ซึ่งความสุขอย่างสิ้นเชิง

“คุณแม่มีความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งในขณะที่กำลังเตรียมอาหารเช้าให้ ก็บอกท่านว่าห้ามกินซอสมะเขือเทศนะเพราะมันมีน้ำตาลเยอะ ปรากฏว่าท่านวางอาหารทิ้งไว้อย่างนั้น เริ่มร้องไห้ แล้วบอกว่า ‘ถ้ากินอะไรไม่ได้เลย ก็ไว้กินตอนจุดธูป ตอนแม่ตายเลยก็แล้วกัน’ เราเจ็บมาก เพราะปกติเราไม่เคยทะเลาะกันเลย”

น้ำตาของแม่มาณีในวันนั้นทำให้เชฟเปรู้ทันทีว่าเธอต้องหาหนทางอื่น

เชฟเปเริ่มค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อมองหาความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะทำให้เธอ แม่ และโรคเบาหวานอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีใครต้องเสียน้ำตาอีก และเหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อเธอได้รู้จักกับ ‘น้ำตาลหญ้าหวาน’ น้ำตาลธรรมชาติที่ให้รสหวานแต่ไม่ส่งผลกับโรคเบาหวาน

เมื่อศึกษาจนมั่นใจแล้ว เชฟเปจึงทดลองใช้วิชาชีพที่สั่งสมมาทั้งชีวิต คิดค้นสูตรซอสมะเขือเทศ

เช้าวันต่อมา คุณแม่มาณีได้ลิ้มรสซอสมะเขือเทศสุดพิเศษจากฝีมือของลูกสาว นับเป็นมื้ออาหารแห่งความรื่นรมย์ครั้งแรก นับตั้งแต่กลับจากโรงพยาบาลพร้อมผลตรวจสุขภาพ ถึงขั้นเอ่ยปากว่า “ซอสมะเขือเทศขวดนี้อร่อยที่สุดในโลก”

จากซอสมะเขือเทศ ความรักที่มีให้คุณแม่ และความรักที่มีให้กับการทำอาหาร ขนมและเบเกอรีต่างๆ เมื่อจับทางไปต่อได้ เชฟเปจึงคิดค้นสูตรและทยอยเนรมิตอาหารสารพัดเมนูทั้งซอส น้ำจิ้ม น้ำพริก อาหารหลากหลายเมนู รวมถึง ขนมหวาน อย่างเช่น เค้ก เบอเกอรี และ เครื่องดื่มต่างๆ ที่สามารถปรุงรสโดยใช้ส่วนประกอบจากน้ำตาลหญ้าหวาน เพื่อเติมเต็มหัวใจของคุณแม่และลบล้างความรู้สึกผิดที่ผ่านมา

และแทบไม่น่าเชื่อว่าในเวลาเพียง 3 เดือน เมื่อถึงนัดตรวจเพื่อติดตามโรคอีกครั้ง รางวัลแห่งความทุ่มเทก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ค่าน้ำตาลของคุณแม่มาณีลดลงจนเกือบเท่าระดับปกติ จากที่เคยต้องกินยารักษาเยอะๆ ก็ลดลงเหลือเพียงโดสน้อยๆ เพื่อควบคุมอาการของโรคเท่านั้น

“เรามัวไปให้ความสำคัญกับการอยากให้ท่านอายุยืนยาว เมื่อหมอห้าม เราก็ทำตาม สิ่งที่เราตะบี้ตะบันดูแลคือสุขภาพทางร่างกาย ให้คุณแม่งดน้ำตาล เพื่อท่านจะได้หายจากเบาหวาน แต่เราลืมคำนึงถึงสภาพจิตใจของแม่ ว่าในแต่ละวันท่านมีความสุขหรือเปล่า

“การดูแลคนๆ หนึ่งนั้น เราต้องดูแลทั้งสองส่วน คือทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องดูแลทั้งคู่ให้สมดุล” เชฟเปสรุปบทเรียนล้ำค่าที่เธอได้เรียนรู้ในฐานะลูกสาว คนดูแลผู้ป่วย และเชฟ

กายและใจต้องได้รับการดูแลไปพร้อมกัน

“ผู้ป่วยแต่ละคนมีสภาพจิตใจไม่เหมือนกัน บางคนเข้มแข็ง พอรู้ว่าป่วยเป็นเบาหวาน เขาก็สามารถงดน้ำตาลเองได้เลยอย่างเด็ดขาด แต่สำหรับแม่ของเรา ความสุขประจำวันในวัยเกษียณของท่านคือการได้ลิ้มรสอาหารอร่อย เมื่อวันหนึ่งความสุขนั้นถูกพรากไปแม้จะด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับโรค สำหรับท่าน มันก็ยากที่จะต้องปรับตัว

“เราคุยกับคุณแม่ตลอดว่าช่วงแรกที่พยายามปรับเปลี่ยนวิถีการกิน มันยากสำหรับเราทั้งคู่แน่ๆ แต่ทุกสิ่งที่ทำลงไปเพราะอยากให้ท่านอยู่กับเราไปนานๆ และไม่ใช่อยู่แบบผู้ป่วย เราจะได้ไปเที่ยว ทำกิจกรรมตามปกติด้วยกันได้เหมือนเดิม ให้เขาเข้าใจว่าการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และลมหายใจของเขามันสำคัญกับเราขนาดไหน”

ความเข้าใจต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่างที่เราเรียกกันว่าเจ็บออดๆ แอดๆ ความเจ็บป่วยแบบนี้ไม่หนักหนาจนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ

“หน้าที่ของเราคือการศึกษาหาข้อมูล แล้วสื่อสารไปให้ท่านเข้าใจอย่างตรงจุด อย่างเราเองไม่ได้อธิบายศัพท์แสงยากๆ กับคุณแม่ ท่านอายุเจ็ดสิบปีแล้ว อาจไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องอินซูลิน น้ำตาลในเลือด หรือกระบวนการทำงานของหญ้าหวานได้รวดเร็ว เราแค่ขอให้คุณแม่เชื่อใจ”

ปัจจุบันคุณแม่มาณี อายุ 71 ปี และอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานอย่างแช่มชื่นมาแล้ว 3 ปี อาการไม่ทรุด หัวใจไม่โทรม เพราะมีเมนูอร่อยไร้น้ำตาลฝีมือเชฟเปให้ได้กินในทุกวัน การศึกษาอย่างลึกซึ้งทำให้เชฟเปได้รู้จักกับโลกของอาหารคีโตเจนิค (Ketogenic Diet) ซึ่งเป็นรูปแบบการกินที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือผู้ต้องการลดระดับไขมัน

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เชฟเปรู้ซึ้งถึงความยากลำบากในการปรับวิถีกิน เธอจึงไม่เพียงนำความรู้นั้นมาปรับใช้กับคุณแม่ แต่ยังขยายการแบ่งปันอาหารอร่อยที่ไม่ทำร้ายผู้ป่วยเบาหวานด้วยการเปิดร้าน ‘เชฟเป คีโต Chefpe Keto’ หลังอาการของคุณแม่มาณีกลับมาเป็นปกติ และจนถึงปัจจุบันเชฟเปส่งต่อความรื่นรมย์ของมื้ออาหารคีโตเจนิคแก่ผู้คนมาแล้วถึง 3 ปี

นอกจากนี้เธอยังทำเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ชื่อ แม่ฉันเป็นเบาหวาน บอกเล่าวิธีทำอาหารและขนม รวมถึงวิธีดูแลหัวใจผู้ป่วยสูงวัยโรคเบาหวานแบบไม่มีหวงสูตร จนกล่องข้อความของเพจกลายเป็น คอมมูนิตี้เล็กๆ ของคนหัวอกเดียวกัน นั่นคือบรรดาลูกๆ ที่กำลังทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัยโรคเบาหวานแบบเดียวกับที่เชฟเปทำ

“คนเป็นลูกและคนดูแลผู้ป่วยคือกุญแจสำคัญ เพราะเราคือผู้เลือกสรรอาหาร หาวัตถุดิบทดแทนต่างๆ ที่ยังทำให้อาหารรสชาติดีมาให้พวกท่านกิน เพราะการกินคือความสุขเล็กๆ ในชีวิตประจำวันไม่กี่อย่างของพวกท่าน เท่านี้ก็เป็นการแสดงความรักแล้ว ให้เขารับรู้ว่าเราพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ได้ทิ้งให้เขาเคว้งคว้างอยู่กับคุณหมอและโรคเพียงลำพัง

“ถามว่าเหนื่อยไหม มันก็เหนื่อยนะ แต่พอเราหาทางออกที่ลงตัวได้ ทุกอย่างมันดีขึ้นหมดเลย คุณแม่ไม่ต้องมาพูดเลยว่า ขอบคุณนะ รักลูกจัง แต่เขาจะบอกเราว่า อันนี้อร่อยที่สุดเลย แม่ชอบอันนี้มากเลย กินเกลี้ยงเลย แล้วเขาก็จะโพสต์รูปลงอวดเพื่อน บอกว่าลูกสาวทำอันนี้ให้กิน เหมือนพีอาร์อันดับหนึ่งของร้านเราเลย (หัวเราะ)”

ข้อมูลอ้างอิง

เปิด 10 สถิติโรคฮิตของผู้สูงวัย พบเบาหวานขึ้นแท่นอันดับหนึ่งที่มีคนป่วยมากที่สุด (เข้าถึงได้จาก https://thaitgri.org/?)

Credits

Authors

  • เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

    Authorนัก(อยาก)เขียนจากเชียงใหม่ ผู้ไม่สามารถขลุกอยู่กับอะไรได้นาน นอกจากอาหารและตัวหนังสือ

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ