‘ชรัณสุขศาสตร์’ ครั้งแรกของไทยกับการสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยในทุกมิติ

ในวันที่อัตราการเกิดของคนไทยลดลงเรื่อย ๆ แต่ค่าอายุขัยเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับความต้องการในการสร้างสมดุลประชากร หลายคนรับรู้ว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) แล้ว นั่นหมายความว่าเรามีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ มากไปกว่านั้นคือการก้าวเข้าสู่ ‘สังคมไร้บุตรหลาน’ ที่มีแนวโน้มว่าจำนวนครอบครัว SINK (Single Income No Kids) หรือ ครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงเลือกที่จะอยู่คนเดียวและไม่มีบุตรจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมพยายามสร้างนโยบาย หรือแนวทางต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งในมิติของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

‘มหาวิทยาลัยรังสิต’ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้จึงจัดตั้งหลักสูตร   ‘ชรัณสุขศาสตร์’ ขึ้น เพื่อสร้างอาชีพใหม่ที่ตอบโจทย์สภาวะสังคมสูงวัยที่มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุในอนาคตจะต้องใช้ชีวิตโดยลำพังมากขึ้น รวมทั้งขนาดของครอบครัวจะเล็กลงเรื่อย ๆ

มนุษย์ต่างวัย คุยกับ ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงความตั้งใจในการก่อตั้ง ‘ชรัณสุขศาสตร์’ ซึ่งเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่เปิดทำการเรียนการสอนในคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา เพื่อสร้างนักจัดการสุขภาวะผู้สูงอายุรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมในการรองรับการเติบโตของสังคมสูงวัยในอนาคต ซึ่งนักชรัณสุขศาสตร์จะเข้ามาช่วยในการดูแลสุขภาวะองค์รวมทั้ง 4 ด้าน ทั้งในมิติของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพ

โดยไม่ได้มองเพียงแค่เรื่องของการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลือง (กลุ่มติดบ้าน) ไม่ให้กลายเป็นสีแดง (กลุ่มติดเตียง) แต่จะเปลี่ยนผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลืองที่ยังคงแข็งแรงและเต็มไปด้วยศักยภาพให้กลายเป็นผู้สูงอายุกลุ่มสีเขียวที่สามารถกลับไปใช้ชีวิตอิสระได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่าอีกครั้ง

ทำไมต้องเป็น ‘ชรัณสุขศาสตร์’

“ชรัณสุขศาสตร์มาจากคำว่า ‘ชรัณ’ ที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ‘Gerontology’ ในภาษาอังกฤษ หรือ ‘พฤฒาวิทยา’ ซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษา เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ มารวมกับคำว่า ‘สุข’ ที่มาจากความสุข และ ‘ศาสตร์’ ซึ่งหมายถึงความรู้ โดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตอธิการบดีและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ให้ความหมายไว้ ชื่อนี้จึงแฝงไว้ด้วยปรัชญาว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุแข็งแรง มีความสุข มีชีวิตอิสระ สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ และไม่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงสังคม

“ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้ว เรามีผู้สูงอายุประมาณ 20 กว่าล้านคน ซึ่งกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ซึ่งพอถูกนิยามว่าเป็นผู้สูงอายุก็จะถูกสังคมหรือลูกหลานตั้งข้อจำกัดบางอย่างในชีวิตด้วยความเป็นห่วงว่าอย่าทำนั่นทำนี่ หรืออย่าไปไหนมาไหนคนเดียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ศักยภาพของผู้สูงอายุถดถอยลงเรื่อย ๆ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเขายังสามารถทำอะไรหลายอย่างได้”

เพราะสุขภาวะ 4 ด้าน คือรากฐานของคุณภาพชีวิตที่ดี

“เราออกแบบหลักสูตรใหม่ทั้งหมด สร้างวิชาต่าง ๆ ขึ้นจากแนวคิดพื้นฐานที่ว่ามนุษย์เราจะมีสุขภาวะที่ดีได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ สุขภาพที่ดี เศรษฐกิจและรายได้ที่ดี สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ดี และสุดท้ายคืออยู่ในสังคมที่เอื้อต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งนักศึกษาชรัณสุขศาสตร์จะต้องสามารถดูแลและจัดการได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ

“อย่างด้านสุขภาพ – นักศึกษาชรัณสุขศาสตร์จะต้องมีทักษะทางด้าน Caregiver ที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง มีความเข้าใจเรื่องโรคและภาวะต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ให้คำแนะนำในเรื่องของอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม และสามารถเป็น Personal Trainer ให้กับผู้สูงอายุได้

“ด้านเศรษฐกิจและรายได้ – นักศึกษาชรัณสุขศาสตร์จะต้องมีแนวคิดในเรื่องของการบริหารธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ สามารถเป็นเพื่อนคู่คิดของผู้สูงอายุในเรื่องของการวางแผนการออม การลงทุน สินเชื่อ รวมทั้งรู้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ

“ด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี – นักศึกษาชรัณสุขศาสตร์จะต้องมีความเข้าใจเรื่องปัจจัยกำหนดสุขภาพในผู้สูงอายุ ว่าสิ่งแวดล้อมแบบไหนจะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคของผู้สูงอายุ รวมถึงสามารถเข้าใจและเข้าถึง สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการออกแบบพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ เข้าใจข้อจำกัดต่าง ๆ ทางช่วงวัย แล้วนำมาออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น การปรับบันไดให้เหมาะสม ตำแหน่งการจัดวางของบนชั้น หรือความสูงของปลั๊กไฟ โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ เช่น มัณฑนากร หรือสถาปนิก

“ด้านสังคมหรือความสัมพันธ์ – นักศึกษาชรัณสุขศาสตร์จะเข้ามาช่วยผู้สูงอายุในเรื่องของการเรียนรู้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต การเขียน Living Will การดูแลแบบประคับประคองไปจนถึงการพาผู้สูงอายุเข้าสู่การเตรียมตัวในวาระสุดท้ายเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ ถึงแม้ว่าจะมีคนทำงานทางด้านนี้อยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการทำในช่วงที่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยแล้ว แต่เราจะเข้ามาช่วยผู้สูงอายุในการวางแผนหรือทำประเด็นนี้ให้ชัดขึ้นในวันที่ผู้สูงอายุยังแข็งแรงและไม่เจ็บป่วย”

ไม่ใช่แค่สุขภาพกาย-ใจ แต่ดูแลไปจนถึงการเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ 

“สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุทั่วไปคือเราไม่ได้ฝึกให้เด็กเรียนรู้เพื่อทำหน้าที่ Caregiver แต่เราสร้างนักจัดการสุขภาวะผู้สูงอายุที่ดูแลคุณภาพชีวิตครอบคลุมทั้ง 4 มิติ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เราต้องสร้างหลักสูตร 4 ปี เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง สามารถดูแลผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่าตั้งแต่ช่วงเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยเกษียณไปจนถึงการได้เตรียมตัวจากโลกนี้ไปอย่างไร้กังวล โดยยึดปณิธานสำคัญที่สุดคือการดูแลผู้อื่นด้วยหัวใจความเป็นความเป็นมนุษย์

“เรามีแผนที่จะตั้ง Ageing Wellness Center เพื่อเป็นคอมมูนิตี้ใหม่สำหรับผู้สูงอายุที่ยังแอคทีฟอยู่ และเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุสามารถมาพักผ่อนได้ ถ้าวันไหนอยากออกกำลังกายแต่ไม่รู้จะเริ่มแบบไหน อย่างไร หรือไม่รู้จะทานอาหารแบบไหนให้ดีต่อสุขภาพก็สามารถเข้ามาขอคำแนะนำจากนักชรัณสุขศาสตร์ที่นี่ได้

“เราหวังว่าเราจะสามารถผลิตคนคนหนึ่งที่สามารถทำหน้าที่เป็น Health Coach ให้กับผู้สูงอายุได้ ซึ่งในอนาคตตลาดแรงงานจะมีความต้องการคนที่มีทักษะแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

สร้างผู้ประกอบการที่มีหัวใจบริการสังคม

“เรากำลังทดลองทำโปรเจกต์อย่างหนึ่งซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่ได้ทำกับนักศึกษาชรัณศุขศาสตร์ แต่เริ่มทำกับนักศึกษากายบำบัดก่อน เป็นโปรเจกต์ในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อการขับเคลื่อนสุขภาวะในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยทำงานในลักษณะของธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise

“การสร้างธุรกิจแน่นอนว่าก็ต้องหวังผลกำไร แต่เราก็ไม่อยากสอนนักศึกษาให้ทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าเราจะทำธุรกิจแต่ธุรกิจของเราก็ต้องตอบโจทย์สังคม หรือสร้างประโยชน์บางอย่างได้ เราจึงนำแนวคิดการสร้างความรับผิดชอบสังคมสอดแทรกไปในการเป็นผู้ประกอบการด้วย

“สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเราคือการดูแลผู้อื่นด้วยหัวใจความเป็นความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นทุกวิชาเรียนที่เราสอนในหลักสูตรให้กับนักศึกษาจะต้องสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้ เพื่อปลูกฝังให้พวกเขามีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่เสมอ”

ทำไมต้องมีนักชรัณสุขศาสตร์

“ถึงแม้ว่าเราจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว เช่น มีหมอคอยดูแลเรื่องสุขภาพ มีนักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่น แต่เรายังขาดคนที่จะทำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ สามารถมารวมอยู่ในที่เดียวกันได้ หรือทำให้เกิดช่องทางการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น

“ในวันข้างหน้าถ้าเราอายุมากขึ้น แล้วอยากจะได้คำแนะนำเรื่องการแต่งตัว หรือถ้าเรามีปัญหาสุขภาพแต่อยากออกกำลังกายเราก็ไม่รู้จะไปที่ไหน หรือถ้ามีคนที่สามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้ก็อาจจะไม่สามารถดูแลสุขภาวะของผู้สุงอายุให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด ในเมื่ออาชีพเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ เราก็เลยต้องสร้างอาชีพใหม่ขึ้น

“จริง ๆ แล้วเราไม่ได้คิดอะไรใหม่ แต่เรารู้ว่าสังคมต้องการอะไรใหม่ ๆ หน้าที่เราคือการจัดสรร สร้างเงื่อนไข สร้างสภาพแวดล้อม เพื่อทำให้สิ่งที่สังคมต้องการสามารถเกิดขึ้นจริงได้ เราต้องยอมรับว่าในสังคมเรามีความคิดที่แตกต่าง หลากหลาย สิ่งสำคัญจึงเป็นการสร้างต้นแบบที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม มีงานวิจัยและตัวเลขต่าง ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้

“การสร้างหลักสูตรชรัณสุขศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาทำให้ภาพสังคมสูงวัยในแบบ Active Ageing ชัดเจนขึ้น ซึ่งทุกอย่างอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่เราก็ต้องไม่ย่อท้อ และพยายามกันต่อไป เพราะถ้าหากเราสามารถไปถึงจุดนั้นได้ นอกจากเราจะลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุแล้ว เมื่อผู้สูงอายุมีรายได้ นอกจากพวกเขาจะรับรู้ถึงคุณค่าและศักยภาพของตัวเอง เขาก็จะเกิดความภูมิใจ และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่ยังคงจ่ายภาษีเพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคม”

เส้นทางอนาคตของนักชรัณสุขศาสตร์

“นักศึกษาชรัณสุขศาสตร์สามารถทำงานได้หลายรูปแบบ อาทิ การทำงานในลักษณะ Health Coach ประจำ Ageing Wellness Center เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวที่คอยให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การแต่งตัว ฯลฯ ทำงานกับหน่วยงานในภาคเอกชน หรือเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ประจำอยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  หรืออาจจะเป็นผู้ประกอบการที่จัดตั้งธุรกิจบริการผู้สูงอายุของตัวเอง หรือเป็นนักสื่อสารสุขภาวะผู้สูงอายุก็ได้

“ความฝันที่เราอยากให้เป็นไปได้มากที่สุดคือการทำให้อาชีพนักชรัณสุขศาสตร์ได้รับการรับรองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สนับสนุนให้เกิดนักชรัณสุขศาสตร์ประจำกระทรวงฯ ถ้าหากมีผู้สูงอายุสนใจในการรับบริการจากนักชรัณสุขศาสตร์ก็สามารถสมัครสมาชิกเพื่อติดต่อเข้าไปขอคำแนะนำได้ อาจจะเป็นบริการรายครั้ง หรือในรูปแบบประจำเป็นรายเดือน

“เราหวังว่านักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบสาขาชรัณสุขศาสตร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีความพร้อมในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ครบทั้ง 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุยังสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและอิสระไปจนถึงวันสุดท้าย รวมทั้งมั่นใจว่าพวกเขายังคงมีศักยภาพและยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่เสมอ”

อาจเป็นเพราะชื่อหลักสูตรที่ฟังดูไม่คุ้นเคยสำหรับเด็ก ๆ และผู้ปกครอง ทำให้หลักสูตรเพิ่งจะเริ่มมีนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปีที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่เปิดทำการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2564 อ.ดร.สุทิศา ปลื้มปิติวิริยะเวช อาจารย์ประจำหลักสูตรชรัณสุขศาสตร์เล่าถึงความท้าทายในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรให้เราฟังว่า

“หลักสูตรเราเพิ่งเปิดใหม่ เราต้องอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจหลักสูตรมากกว่าสาขาวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วไป เพราะนักชรัณสุขศาสตร์เป็นอาชีพใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย

“นักศึกษาชรัณสุขศาสตร์จะเข้ามาเรียนรู้ทักษะการดูแลผู้สูงอายุผสมผสานกับองค์ความรู้อื่น ๆ เพื่อช่วยในการเตรียมพร้อมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เพราะยังอยู่ในช่วงที่มีสุขภาพแข็งแรง พบความเสื่อมของร่างกายไม่มาก และถ้าหากเกิดความเจ็บป่วยกับผู้สูงอายุ พวกเขาก็จะสามารถให้การดูแลในเบื้องต้นได้

“ความตั้งใจในการสร้างนักจัดการสุขภาวะผู้สูงอายุของเราไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็ก ๆ ดูแลผู้สูงอายุได้ในระดับบุคคล แต่เพื่อสร้างพวกเขาให้เป็นกำลังสำคัญในการคิดและออกแบบระบบรองรับสังคมสูงวัยในระดับพื้นที่หรือชุมชนของตัวเองได้ รวมทั้งเป็นคนที่สร้างสรรค์นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อการดูแลผู้สูงอายุในอนาคต”

การเข้ามาเรียนในหลักสูตรชรัณสุขศาสตร์อาจไม่ใช่การเรียนรู้เพียงเพื่อการประกอบอาชีพ หรือเรียนรู้เพื่อไปดูแลคนอื่น แต่องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่นักศึกษาชรัณฯ ทุกคนได้เรียนรู้ พวกเขาสามารถนำไปใช้ดูแลคนในครอบครัว และดูแลตัวเองในอนาคตได้

เสียงเล็ก ๆ จากเด็กชรัณฯ

“ก่อนเข้ามาเรียนที่นี่ก็ไม่ค่อยเข้าใจผู้สูงอายุ แต่การมาเรียนรู้เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจและมีความเห็นอกเห็นใจผู้สูงอายุ และมองเห็นศักยภาพบางอย่างของเขามากขึ้น ได้เห็นว่าพวกเขาแข็งแรง และสามารถดูแลตัวเองได้มากกว่าที่เราคิด ในอนาคตถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และส่วนตัวก็อยากทำเดย์แคร์ดูแลผู้สูงอายุรายวันเพื่อจัดกิจกรรมที่ให้กับผู้สูงอายุในชุมชน อยากให้มีบริการกายภาพบำบัด และบริการเฉพาะทางให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องของคลินิกตา”

ถึงแม้วันนี้ภาพในอนาคตของว่าที่นักชรัณสุขศาสตร์อาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้คือการมองเห็นโอกาสการเติบโตในสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคตอันใกล้ และความตั้งใจที่จะเข้ามาเรียนรู้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่เพื่อความสำเร็จในเส้นทางอนาคต แต่เพื่อขยายพื้นที่หัวใจของพวกเขาให้กว้างและขยับช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวให้ใกล้มากกว่าที่เคยเป็นมา

สามารถติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา, มหาวิทยาลัยรังสิต 

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ