ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วในวันที่คนยังไม่ค่อยรู้จักคอร์สเรียนออนไลน์ และยังไม่ค่อยมีใครอัดคลิปสอนตัดเย็บเสื้อผ้า ลูกสาว 2 คนที่คลุกคลีอยู่ในวงการการทำสื่อ เกิดนึกสนุกและอยากสร้างพื้นที่ให้แม่ได้แบ่งปันวิชา เพราะเสียดายที่จะปล่อยให้ความรู้ในการตัดเย็บของแม่ที่สั่งสมมากว่า 50 ปีในตอนนั้นจะอยู่แค่กับแม่และค่อย ๆ หายไป
นั่นจึงเป็นที่มาของการชวนแม่มาถ่ายคลิปสอนตัดเสื้อลงยูทูป และเป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘คุณแม่การณ์สรณ์ อภิชิต’ ได้เริ่มแบ่งปันความรู้และกลับมาเป็นครูสอนตัดเสื้ออีกครั้ง และเกิดช่องทางต่าง ๆ ในการถ่ายทอดความรู้และบันทึกผลงานของแม่มากมาย ทั้งการจัดเวิร์กช็อป การทำหนังสือ การทำเพจ และช่องติ๊กต็อกในปัจจุบัน ในชื่อว่า ‘ช่างแม่ สอนตัดเสื้อ’
มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ‘หนู’ ภัทรพร อภิชิต วัย 52 ปี และ ‘เล็ก’ ภัทรสิริ อภิชิต วัย 48 ปี ลูกสาวทั้งสองคนผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างพื้นที่ของแม่ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเติมพลังให้ทั้งคู่อีกครั้งในวันที่ความหมายบางอย่างในชีวิตการทำงานกำลังค่อย ๆ จางหายไป รวมทั้งเปลี่ยนมุมมองบางอย่างที่มีต่อความต่างระหว่างวัยให้กลายเป็นความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ต้นทางของ ‘ช่างแม่’
‘หนู’ ลูกสาวคนโตผู้ถูกแม่ชักชวนให้เรียนตัดเสื้ออยู่บ่อยครั้ง เพราะอยากให้ลูกตัดเย็บเสื้อใส่เองได้ แต่ด้วยภาระหน้าที่จากงานประจำที่มีอยู่ในตอนนั้น ทำให้ไม่ค่อยมีเวลามานั่งลงเรียนกับแม่ แต่พอเห็นว่าแม่อยากสอน ประกอบกับตัวเองก็ชอบเล่าเรื่องและนึกอยากทำอะไรสนุก ๆ เมื่อโอกาสเหมาะ ทุกอย่างเป็นใจ เลยลองถ่ายคลิปแม่ไปลงช่องยูทูป
“สิ่งที่เราเจอมาตลอดทั้งชีวิตก็คือความสวยความงามของเสื้อผ้าที่แม่ตัด ความประณีต แล้วก็ความรู้จริงของแม่ เรารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอยากจะถ่ายทอดและส่งต่อ มันมีคุณค่า เป็นสิ่งที่แม่สามารถที่จะเผยแพร่และส่งต่อให้คนอื่นได้ มันมีประโยชน์ ในฐานะที่เราเป็นคนทำสื่อ เราเห็นแม่เราซึ่งเป็นคนที่มีองค์ความรู้ มีความรัก และสนุกกับงานที่เขาทำ วันหนึ่งเราก็เลยคิดว่าชวนแม่มาเล่นสนุกกันดีกว่า
“เมื่อก่อนตอนที่เราทำงานประจำ มันมีช่วงที่เรามองข้ามไป เราทำเรื่องของคนมากมาย แต่เรื่องนี้เรากลับไม่ได้คิดถึง ยอมรับตรง ๆ เลยว่าครั้งแรกที่เราคิดว่า เอ๊ะ ! ทำไมเราไม่ทำหนังสือแม่นะ ตอนนั้นอาจเป็นช่วงที่เราเบิร์นเอาท์ แล้วมันเกิดความรู้สึกว่า หนังสือแม่นี่ไง ที่เราอยากทำ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายบางอย่างสำหรับเรา กลายเป็นว่าการทำหนังสือเพื่อบันทึกสิ่งที่แม่สอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมไฟให้เราอีกครั้ง
“เราเริ่มทำหนังสือตอนที่ออกจากงานประจำมาแล้ว จริง ๆ ความคิดที่จะทำหนังสือมาก่อนการทำยูทูป แต่การทำหนังสือมันก็ไม่ง่าย เพราะมันมีองค์ประกอบเยอะ แล้วเราก็คิดเยอะ ผ่านไปตั้งนานก็ยังไม่ได้เริ่มลงมือสักที จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่าอยากถ่ายวิดีโอแม่ ก็เลยให้แม่เย็บเสื้อตัวหนึ่งเป็นเสื้อแขนกุดสีขาว จากนั้นก็ลองเอาไปตัดต่อง่าย ๆ แล้วโพสต์ลงยูทูป อยู่ดี ๆ คำว่า ‘ช่างแม่สอนตัดเสื้อ’ มันก็ผุดขึ้นมาเอง เราไม่ได้คิด ไม่ได้วางคอนเซ็ปต์อะไรไว้ก่อน แต่ตอนที่ไปทำวิดีโอออกมาแล้วมันรู้สึกว่านี่คือช่างตัดเสื้อและนี่ก็คือแม่ของเรา ก็เลยกลายเป็นช่อง ‘ช่างแม่สอนตัดเสื้อ’
“พอปล่อยคลิปแรกออกไปในยูทูป ปรากฏว่ามันได้ผลตอบรับที่ดี หลังจากนั้นเราก็เลยถ่ายกันมาเรื่อย ๆ พอทำเสร็จ เราก็เปิดเพจ แล้วก็เริ่มมีการจัดเวิร์กช็อป จนในที่สุดก็ทำหนังสือ ‘ช่างแม่ สอนตัดเสื้อ’ ได้สำเร็จ
จากคลิปทำงานของแม่สู่คอร์สสอนตัดเสื้อ
จากวันที่ลูกสาวชวนเเม่มาถ่ายคลิปเล่น ๆ ก็กลายเป็นงานจริงจังของแม่ เพราะพอปล่อยคลิปออกไปก็เริ่มมีคนทักมาขอเรียนตัดเสื้อกับคุณแม่การณ์สรณ์
เล็กเล่าว่า “ตอนนั้นยังไม่มีใครเปิดสอนคอร์สสอนตัดเสื้อแบบที่เราเปิด ก่อนหน้านี้การเรียนตัดเสื้อมันจะต้องไปเรียนที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อ หรือไม่ก็ต้องเรียนเป็นคอร์สแบบยาว ๆ เรียนทุกแบบ ทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง แต่เรารู้สึกว่าคอร์สแบบนั้นมันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนในตอนนั้นก็เลยคิดว่า เราลองสอนตัดเสื้อแค่ตัวเดียวดูก่อนดีไหม ให้มันเรียนจบง่าย ๆ ภายใน 1-2 วัน เริ่มตั้งแต่เรียนทำแพทเทิร์น วัดตัว ตัดเสื้อ และเย็บ ให้คนที่สนใจมาลองเรียนรู้ได้ ยังไม่ต้องจริงจังมาก ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างใหม่ในเวลานั้น
“เราเปิดคลาสกันบ่อยมาก มีคนมาเรียนเยอะ แต่พอเราบอกว่าจะเปิดคอร์สออนไลน์ คนยังไม่เข้าใจเยอะมากว่าคอร์สออนไลน์คืออะไร เรียนอย่างไร ในขณะที่ทุกวันนี้คอร์สออนไลน์แพร่หลายมาก ๆ และคนเข้าใจกันหมดแล้ว
“การที่เราสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้กับแม่ เพราะเรารู้สึกว่าแม่เราพลังเยอะ แม่ต้องการที่ปล่อยของ ปล่อยพลัง นอกจากแม่เขาจะชอบตัดเสื้อและชอบสอนแล้ว เขาก็ยังเป็นคนที่ชอบแสดงออกมาตั้งแต่เด็ก ๆ เราก็แค่เป็นคนที่เห็นสิ่งนี้ และช่วยให้มันเกิดขึ้นเท่านั้นเอง”
เพราะงานและชีวิตเป็นเรื่องเดียวกันเลยแม่เลยไม่มีวันเกษียณ
เมื่อถามคุณแม่การณ์สรณ์ว่าอยากทำงานไปจนถึงเมื่อไร แม่บอกว่าแม่ไม่ได้คิดเรื่องนั้นคิดแค่ว่ตัวเองยังมีผ้าอยู่อีกหลายตู้ ไม่รู้จะทำได้หมดหรือเปล่า ลูกสาวอย่างหนูก็เลยเล่าถึงความรักในการทำงานของคุณแม่ให้ฟังว่า
“ความพิเศษอย่างหนึ่งของแม่คือการทำงานของแม่มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการใช้ชีวิตของเขา แม่เขาไม่ได้แยกหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกัน แต่มันเป็นเรื่องเดียวกันมาตลอดทั้งชีวิตของเขา แม่เกิดมาเพื่อที่จะทำสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสำหรับแม่มันก็เลยไม่มีคำว่าเกษียณเหมือนคนอื่น
“จริง ๆ ที่บอกว่าแม่เย็บเสื้อผ้าน้อยลงกว่าเดิม แต่มันก็ยังเยอะอยู่นะ การที่เราสองคนมาเปิดเพจ ทำหนังสือ หรือชวนแม่มาถ่ายคลิปอะไรพวกนี้ ก็ไม่ได้มองว่าทำเพื่อปูทางเกษียณอะไรให้กับเขา เราแค่คิดว่ามันสนุก มันน่าทำ และมันมีประโยชน์”
“จุดมุ่งหมายที่เราชวนแม่มาทำนั่นทำนี่ก็คืออยากให้เขาได้โฟกัสกับการตัดเสื้อ เพราะเราเข้าใจว่า ถ้าผู้สูงวัยว่างเกินไปหรือไม่มีเรื่องให้โฟกัส เขาก็อาจจะคิดมาก แต่พอคุณแม่เขาได้พูดเรื่องเสื้อ ได้ตัดเสื้อ ได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับผ้า และงานที่ตัวเองรัก เขาจะก็มีความสุขและโฟกัสอยู่กับสิ่งเหล่านี้” เล็กเล่าเสริม
เล็กเล่าต่อว่า “ด้วยความที่คุณแม่เป็นช่างตัดเสื้อมานานมาก เขาทำงานนี้เพื่อเป็นอาชีพในการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ถึงแม้ว่าคุณแม่จะรักและเคารพในงานของตัวเองอยู่แล้ว แต่พอถึงยุคหนึ่งก็ดูเหมือนว่างานที่คุณแม่ทำนั้นมีความสำคัญน้อยลง เพราะว่าทุกวันนี้เราสามารถที่จะซื้อหาเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้ในราคาที่ถูกมาก ๆ คนก็อาจจะมาตัดเสื้อผ้ากันน้อยลง ในขณะเดียวกันเราสองพี่น้องก็เป็นคนที่คลุกคลีและมีความรักในงานฝีมือทุกประเภทอยู่แล้ว เราเห็นงานของแม่ เราก็รู้สึกว่าคุณค่ามันไม่ได้ลดลงอย่างที่มันถูกให้ค่า ตรงกันข้ามมันกลับเป็นงานที่มีคุณค่ามากโดยเฉพาะในวันที่มันมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย
“งานฝีมือ งานที่ทำด้วยความละเอียดละออ หรือการที่คนคนหนึ่งตั้งใจทำบางสิ่งให้กับคนอีกคนอะไรแบบนี้ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และนับวันมันก็จะยิ่งมีคนทำน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการที่พวกเราลุกขึ้นมาทำสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เพจ ติ๊กต็อก หรือว่าหนังสือ เพราะว่าเราอยากจะยืนยันคุณค่านี้ เรากำลังพูดถึงคุณค่าของคนที่ทำงานฝีมือ ซึ่งแม่เราก็เป็นหนึ่งในนั้น”
เมื่อแม่ลูกต้องสวมหมวกอีกใบในฐานะเพื่อนร่วมงาน
หนูเล่าถึงความยากบางอย่างในการทำงานกับแม่ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความต่างระหว่างวัยแต่คือความใกล้ชิดกันที่อาจเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียในการทำงานว่า “การทำงานกับคนในครอบครัว มันจะมีโจทย์อะไรบางอย่าง เวลาทำงานกับคนอื่น บางครั้งเราจะมีจุดเกรงใจ แต่พอเป็นคนในครอบครัว เป็นคนที่กันเองมาก ๆ ใกล้กันมาก ๆ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
“ในการทำงานร่วมกัน เราต้องปรับตัวกันเยอะมาก ๆ เราต้องเรียนรู้หลายอย่าง เช่น เรื่องการแบ่งหน้าที่ ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเป็นเรื่องในครอบครัวเราก็จะไม่ได้แบ่ง ไม่ได้มีขอบเขต แต่พอเป็นการทำงานมันจำเป็นที่บางอย่างจะต้องมีคนตัดสินใจ บางเรื่องจะต้องมีคนรับผิดชอบ มันไม่ใช่ทุกอย่างจะสวยงามหรือราบรื่นไปหมด แต่สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่าเรามีจุดหมายร่วมกันหรือเปล่า ถ้าใช่ เราก็จะค่อย ๆ แก้ปัญหา ค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปด้วยกัน
“การทำงานร่วมกันมันไม่คำว่าถูกหรือผิดหรอก แต่การที่เราได้ลงมือทำอะไรบางอย่างร่วมกันด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่มันดีเสมอ ดีใจที่แม่เขาได้ส่งต่อและเผยแพร่พลังงานบางอย่างของแม่ออกไปด้วย
“สิ่งที่คนได้จากแม่อาจไม่ใช่แค่ความรู้เรื่องการตัดเสื้อ แต่มันมีเรื่องของการใช้ชีวิต มุมมอง ทัศนคติ รวมทั้งพลังงานดี ๆ ที่เขาได้กลับไปด้วย เราสังเกตว่าเวลาลูกเพจหรือคนเข้ามาทัก ‘สวัสดีคุณแม่ ไม่เจอตั้งนาน คิดถึงจัง’ อะไรแบบนี้ มันเป็นเหมือนความผูกพันระหว่างแม่กับเขาที่มันน่ารัก แล้วเราก็รู้สึกขอบคุณมาก ๆ”
“พอมาทำงานร่วมกันแล้วมันมีสถานะเพื่อนร่วมงานด้วย เราไม่รู้เลยว่าเราจะเจอกับอะไรบ้าง มันทำให้เราค่อย ๆ เรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน ทำให้เราได้เห็นว่า การที่เรามีช่วงวัยที่ต่างกัน มันอาจจะทำให้เราเข้าใจว่า เราแข็งแรงกว่าเขา รู้มากกว่าเขา เข้าใจเทคโนโลยีมากกว่าเขา แต่พอได้ทำงานกับแม่เราก็เห็นว่าในความสูงวัยนั้นเขาแข็งแรง และมีอะไรที่ลึกซึ่งมากกว่าที่เราคิด มันก็เลยทำให้เราเปลี่ยนมุมมองบางอย่างที่เรามีต่อผู้สูงวัยไปด้วย” เล็กเล่าเสริมในมุมของตัวเอง
พลังที่ได้จากแม่
เล็กพูดถึงความรู้สึกที่อยากบอกกับแม่และสิ่งที่แม่ทำว่า “งานของแม่เป็นงานที่มีคุณค่าอยู่แล้ว แต่การทำงานกับแม่ทำให้เราได้รับพลังจากเขาไปด้วย โดยเฉพาะตอนที่คุณพ่อเสีย จากที่เราเคยมีแพสชันในการทำงาน เราก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร แต่แม่เติมพลังให้เราอีกครั้ง เราได้เห็นว่าแม่เขาทำงานเยอะ ทำงานได้ดี และทำงานด้วยความเคารพในตัวงาน ทุกครั้งที่ทำงานกับแม่ เราก็จะได้สิ่งเหล่านี้กลับมาสอนตัวเองตลอด
“อยากขอบคุณแม่ที่ให้ความรู้ เป็นครู เป็นพลัง เป็นเพื่อน อดทนทำงานกับเรา เราพาเขาไปไหน ทำอะไรเขาก็พร้อมจะไปด้วย แม่ไม่ได้สร้างกำแพงกับเรา ทำให้ทุกวันที่มาทำงานด้วยกันมีแต่ความอบอุ่นใจที่เราได้มาอยู่ใกล้ชิด ได้ดูแลเขาแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับเรา”