ท่ามกลางเทรนด์เซิร์ฟสเกตที่กำลังมาแรงอยู่ในปัจจุบันนี้ ฉลอง ลอยสมุทร หรือที่ผู้คนบนหาดกะตะ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เรียกกันว่า ‘โกตุ๊ก’ น่าจะเป็นไม่กี่คนในประเทศนี้ที่เริ่มเล่นกีฬาดังกล่าวตั้งแต่เทรนด์นี้ยังไม่มา
“เราเริ่มเล่นตั้งแต่อายุ 48 ยืนไถเคลื่อนที่มันไปตามถนนคนเดียว ใครเห็นก็พากันมองด้วยสายตาแปลกๆ บางคนก็ว่าบ้า แก่แล้วไม่เจียมตัว เราก็ไม่ได้ตอบโต้ ไม่ได้สนใจ เพราะรู้ว่าเราทำอะไรและรู้ว่าเรามีความสุข ”
ปัจจุบันเหล่าวัยรุ่นผู้มีใจรักเซิร์ฟสเกตแห่งหาดกะตะได้ยกให้โกตุ๊กในวัย 53 ปีเป็น ‘หัวหน้าเผ่า’ เด็กๆ หลายคนถึงกับยึดเอาเขาเป็นไอดอลด้านนี้
อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงวันที่เป็นที่ยอมรับของใครหลายคน โกตุ๊กต้องต่อสู้กับสายตา เสียงหัวเราะ และคำหยามหยันมาไม่น้อย แต่ไม่ว่าจะเจอกับอะไร สิ่งหนึ่งที่โกตุ๊กคิดเสมอตั้งแต่เริ่มสนุกกับกีฬานี้ก็คือ
“เซิร์ฟสเกตกับชีวิตมันก็เหมือนกัน ก่อนที่เราจะเดินได้หรือทรงตัวเป็น ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยล้ม”
ยืนบนคลื่นก่อนยืนบนล้อ
โกตุ๊กเป็นคนอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยกำเนิด เติบโตและใช้ชีวิตอยู่กับชายหาดกะตะมาตั้งแต่จำความได้ ก่อนจะมาเปิดร้านกาแฟที่บ้านอย่างในปัจจุบัน เขาเคยเป็นมาแล้วทั้งช่างภาพ คนวาดรูป เจ้าของร้านอาหาร และอีกหลายอาชีพ
ตลอดชีวิตที่ผ่านมาโกตุ๊กใช้ชีวิตตามใจปรารถนา อะไรที่ทำแล้วมีความสุขหากไม่เดือดร้อนรบกวนใคร โกตุ๊กจะลงมือทำทันที เหมือนอย่างการที่เขาเล่นเซิร์ฟสเกตไปตามท้องถนนหาดกะตะ ไม่ว่าใครจะมองด้วยสายตาแบบไหน นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมวัยลุงก็ไม่สนใจ
“การได้เล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ผาดโผน ท้าทาย มันสนุกดีนะ มันตื่นเต้น คาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเจอกับอะไร”
โกตุ๊กถือเป็นคนแรกๆ บนหาดกะตะที่เล่นเซิร์ฟสเกตอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้เขาเคยเล่นมาแล้วทั้งสเกตธรรมดา สเกตบอร์ด รวมไปถึงเซิร์ฟบอร์ด
“เราเล่นสเกตมาตั้งแต่เด็กๆ จากนั้นก็มาลองเล่นสเกตบอร์ด ซึ่งอุปกรณ์มันจะดูเหมือนกับเซิร์ฟสเกต จะต่างกันก็ตรงตัวทรัค ของสเกตบอร์ดจะเลี้ยวไม่ได้ แต่เซิร์ฟสเกตจะเลี้ยวได้
“แต่ที่เราชอบมากๆ ก็คือกระดานโต้คลื่น เพราะเล่นแล้วรู้สึกว่าได้อยู่กับทะเล กับธรรมชาติ แล้วคลื่น 100 ลูก 100 วัน มันไม่เหมือนกัน บางวันเจอคลื่นสูง บางวันก็คลื่นลูกเล็กๆ บางวันลมแรง บางวันแดดจัด พอลงไปในทะเลแล้ว เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะได้เจอกับอะไร ความที่เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้นี่แหละที่เราว่ามันเป็นเสน่ห์”
หลังจากยืนแล่นตัวล้อไปบนเกลียวคลื่นอยู่นานหลายปี เพื่อนในวงการกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่รู้จักก็นำเข้าอุปกรณ์เซิร์ฟสเกตมาจำหน่าย โกตุ๊กเห็นว่าราคาพอซื้อได้ จึงซื้อมาลองหัดเล่นดู
“เราเล่นก่อนที่มันจะฮิตสัก 3 ปีได้ เซิร์ฟสเกตเพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักแพร่หลายเมื่อราว 2 ปีหลังนี่เอง ตอนลองหัดเล่นก็ไม่ถึงกับยากมาก เพราะมีพื้นฐานจากการเล่นกระดานโต้คลื่นอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนจากการยืนทรงตัวบนคลื่นมายืนทรงตัวบนแผ่น 4 ล้อแทน ส่วนการเคลื่อนไหวก็ใช้ไหล่โยกเอา”
ด้วยอายุอานามที่ไม่ใช่เด็กๆ เส้นผมก็เริ่มมีสีขาวขึ้นมาปะปนพอๆ กับสีดำ เวลาโกตุ๊กไถเซิร์ฟสเกตคู่ใจไปตามถนนริมชายหาดกะตะคนเดียว ผู้คนไม่น้อยมองเขาด้วยสายตาแปลกๆ ขณะที่บางคนก็ว่าเขาไม่เจียมสังขาร ขนาดถ่ายคลิปลงโซเชียลยังไม่วายมีคนมาคอมเมนต์ว่า ระวังจะไม่มีอะไหล่เปลี่ยน
ทุกเสียง ทุกสายตา ทุกการรับรู้ โกตุ๊กไม่ได้เก็บมานั่งเจ้าคิดเจ้าแค้นหรือตอบโต้อะไรกลับไป เขายังคงแล่นทะยานไปบนแผ่นบอร์ด 4 ล้ออยู่เช่นเดิม
“สิ่งเดียวที่เราสนใจไม่ใช่เสียงของคนอื่น แต่เป็นเสียงหัวใจของตัวเอง”
ไม่มีใครในโลกนี้ไม่เคยล้ม
“ยอมรับว่าในช่วงแรกที่เริ่มเล่นก็มีคนว่าเยอะ แต่เราไม่เคยสนใจ เราเล่นของเราไม่ได้เดือดร้อนใคร อุปกรณ์ทุกอย่างก็ใช้เงินตัวเองซื้อ ไม่ได้ไปปล้นใครเขามา ในเมื่อเราบอกตัวเองได้ว่า เราทำแล้วมีความสุข ก็ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องไปฟังเสียงของคนอื่น ”
เมื่อตอบตัวเองได้อย่างชัดเจน โกตุ๊กจึงยังคงทำในสิ่งที่รักต่อไป จากที่เคลื่อนที่ไปตามถนนในทางตรงเฉยๆ ก็เริ่มมีการไต่ขึ้นลงบนทางโค้งที่ไม่สูงมาก เพิ่มลูกเล่นและใส่เทคนิคให้มากขึ้นเล็กน้อย
โกตุ๊กบอกว่า เอาเข้าจริงการเล่นเซิร์ฟสเกตก็ไม่ได้ต่างอะไรจากความจริงในชีวิตของคนเรา นั่นคือไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยล้ม สำคัญว่าเมื่อล้มแล้วทำอย่างไรถึงจะล้มให้เป็น
“ทุกอย่างมีความจริงของมันอยู่ ถ้าคุณชกมวย คุณก็ต้องเจ็บตัว ถ้าคุณจะเล่นเซิร์ฟสเกต คุณก็ต้องกล้าล้ม ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย ไม่มีใครรอด เพียงแต่ว่าคุณจะทำอย่างไรให้ล้มเป็น เมื่อคุณเรียนรู้ ฝึกฝน รักที่จะอยู่กับมัน คุณก็จะรู้ว่าต้องเก็บคองอเข่าให้ดี ต้องย่อและเอาส่วนหนาในร่างกายลง ไม่ใช่ว่าเอาแขนยัน เพราะแขนอาจจะหักได้ถ้าล้มแบบนั้น
“เซิร์ฟสเกตไม่ต่างจากชีวิต ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยล้ม ไม่เคยผิดหวัง ไม่เคยพลั้งพลาด แต่จะทำอย่างไรให้ล้มแล้วเจ็บน้อยที่สุด และลุกขึ้นมาได้เร็ว ซึ่งมันก็อยู่ที่การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองของแต่ละคน”
ไม่ใช่แค่เรียนรู้แต่วิธีล้ม หากแต่โกตุ๊กยังยอมรับความเป็นจริงในชีวิตด้วยว่าตัวเองไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว การเล่นแบบผาดโผนหรือสุ่มเสี่ยงจึงไม่ใช่สไตล์การเล่นของเขา
“เราต้องดูองค์ประกอบ ดูอายุ เราจะไปเล่นผาดโผนแบบวัยรุ่นไม่ได้ เล่นให้พอสนุก ให้หัวใจมันกระชุ่มกระชวยก็พอ”
เพราะการเล่นเซิร์ฟสเกตของโกตุ๊กมีครบทั้งการรู้ตัวเองและความสุขในสิ่งที่ตัวเองเลือกทำ เมื่อเวลาผ่านไปความสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเขาคนเดียวอีกต่อไป
แต่ยังถ่ายทอดไปสู่เด็กๆ และวัยรุ่นอีกกว่า 300 ชีวิตทั่วภูเก็ต
หัวหน้าเผ่ารุ่นใหญ่ที่ใจไม่เคยแก่
ทุกวันนี้โกตุ๊กได้รับการสถาปนาจากเด็กวัยรุ่นในภูเก็ตให้เป็นหัวหน้าเผ่าเซิร์ฟสเกตประจำหาดกะตะ
“มันเริ่มมาจากเด็กๆ เขาเห็นแล้วเข้ามาหา บอกว่าขอลองเล่นหน่อยได้ไหมลุง เราก็บอกว่า มาเลย เดี๋ยวสอนให้ คราวนี้จาก 1 คน เป็น 2 คน จาก 2 คน เพิ่มเป็น 4-5 คน แล้วก็เริ่มเป็น 10 คน จนกลายเป็นหลักร้อย กลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราเคยเล่นคนเดียว วัยรุ่นเขาก็มาเล่นด้วย ด้วยความที่เราเล่นมาก่อน เขาก็เลยตั้งเราเป็นหัวหน้า แต่เขาไม่เรียกหัวหน้าทีมหรือหัวหน้าแก๊งนะ แต่เรียกว่าหัวหน้าเผ่าแทน”
โกตุ๊กอดหัวเราะชอบใจไม่ได้เมื่อนึกถึงฉายาที่เด็กๆ ตั้งให้ นอกจากจะรวบรวมบรรดาเด็กวัยรุ่นให้หันมาเล่นกีฬาเซิร์ฟสเกตแล้ว หัวหน้าเผ่ายังลงทุนสร้างลานเล่นเซิร์ฟเอาไว้ที่ร้านกาแฟซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้าน เพื่อให้เด็กๆ และบรรดาลูกค้าที่สนใจได้มาลองเล่น ฝึกซ้อม และลองท้าทายตัวเอง
“เราทำลานเอาไว้ที่บ้านเลย เพื่อให้เด็กๆ ในหาดกะตะได้มีสถานที่ทำกิจกรรม ให้เขาได้ฝึกซ้อมกัน หรือถ้าลูกค้าหรือใครอยากจะลองเล่น เราก็ยินดี โดยมากเด็กๆ วัยรุ่นจะนัดกันมาวันเสาร์ – อาทิตย์ ตอนนี้ร้านกาแฟหลายๆ ร้านในกะตะก็เริ่มทำลานเซิร์ฟสเกตกันมากขึ้น น่าจะมีสัก 10 กว่าร้านแล้ว ซึ่งเราว่าเป็นเรื่องดีนะ เด็กๆ เขาจะได้มีกิจกรรมสนุกๆ ทำ แทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไม่มีประโยชน์ กลายเป็นว่ามาเล่นเซิร์ฟสเกตได้ทั้งร่างกายแข็งแรง มีสังคม และได้เพื่อนฝูง”
เมื่อไม่นานมานี้โกตุ๊กจัดงานพบปะสังสรรค์กลุ่มคนเล่นเซิร์ฟสเกตที่ชายหาดกะตะ ปรากฏว่ามีเด็กๆ และวัยรุ่นในภูเก็ตมาร่วมงานประมาณ 300 คน โดยงานที่จัดขึ้นไม่ได้มีหน่วยงานราชการหรือเอกชนให้การสนับสนุน เป็นหัวหน้าเผ่าเองที่ควักเงินที่ได้จากการขายงานศิลปะและกาแฟมาเป็นทุนค่าอาหารและน้ำเล็กๆ น้อยๆ ภายในงาน
“เราไม่ได้จัดแข่งขันหรือหาผู้ชนะผู้แพ้อะไร แค่อยากให้คนที่เล่นเซิร์ฟสเกตได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด และเป็นเพื่อนกัน ปรากฏว่าวันงานมีคนมาร่วม 300 คน ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ บางคนเป็นเด็กไม่กี่ขวบ ถือบอร์ดมากับผู้ปกครองเลย แล้วเล่นเก่งด้วย เราเห็นแล้วยังทึ่ง เฟี้ยวมาก”
เพราะตำแหน่งหัวหน้าเผ่าเซิร์ฟสเกตทำให้ในแต่ละวันโกตุ๊กใช้เวลาอยู่กับบรรดาเด็กๆ และวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตัวเขาเองมองว่าการมีเพื่อนต่างวัยมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย
“เราสนุกนะเวลาอยู่กับพวกเด็กวัยรุ่น มันเหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง การพูดคุยกับเขาทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ได้รู้ว่าโลกในปัจจุบันมันเป็นยังไง ซึ่งเด็กๆ สมัยนี้เขาเก่งมาก สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเราได้แทบทุกเรื่องเลย
“การได้อยู่กับพวกเขาทำให้เราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแก่เลยแม้แต่วันเดียว”
มากกว่าแค่ความสนุก
ทุกวันนี้ยังมีบรรดาเด็กวัยรุ่นแวะเวียนมาหาโกตุ๊กอยู่ไม่ขาด ในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่มาให้เขาช่วยสอนพื้นฐานการเล่นเซิร์ฟสเกตให้ ซึ่งตัวเขาเองไม่ได้คิดค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่ชักชวนให้ไปเก็บขยะเพื่อแลกกับการเรียนรู้
“มีหลายคนที่มาให้เราสอน หรือบางคนอยากเล่นแต่ไม่มีอุปกรณ์เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาได้เล่นและได้ทำประโยชน์ด้วย ก็เลยให้ไปเก็บขยะ ซึ่งเราเองทำเรื่องนี้มาตลอดควบคู่ไปกับการเล่นเซิร์ฟสเกต”
โกตุ๊กจะให้เวลา 1 ชั่วโมงสำหรับเด็กๆ ที่อยากเรียนเซิร์ฟสเกตกับเขาในการเก็บขยะ โดยขยะที่เก็บได้นั้น โกตุ๊กจะนำกลับมาผลิตเป็นงานศิลปะและของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรอบรูป โต๊ะ เก้าอี้ หรือโมบายล์
การเล่นเซิร์ฟสเกตในปัจจุบันของโกตุ๊กจึงไปไกลกว่าการเล่นเพื่อความสุขและความสนุก แต่เป็นการเล่นที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย ซึ่งโกตุ๊กคิดไว้ว่าในอนาคตเขาอาจจะใช้ความเป็นหัวหน้าเผ่ารวบรวมเหล่าบรรดาวัยรุ่นมาเก็บขยะอย่างจริงจัง หรือทำสิ่งดีๆ มากกว่านี้ได้
“ในอนาคตเราจะไม่เล่นเซิร์ฟสเกตกันเฉยๆ แต่เราอยากจะให้ทุกคนได้ร่วมกันทำประโยชน์ให้ส่วนรวมด้วย ไม่ต้องทำเรื่องใหญ่ๆ หรอก แค่ทำในสิ่งที่พวกเราทำได้ก็พอ”
คงจะดีไม่น้อยหากสิ่งที่โกตุ๊กวาดหวังไว้จะกลายเป็นจริง