‘ติดเตียง’ ภาวะจากการเจ็บป่วยที่หลายคนกำลังเผชิญ หรือคนใกล้ตัวกำลังประสบ การติดเตียงไม่เพียงยากกับตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคนใกล้ตัวด้วย
ผู้ป่วยติดเตียงคือผู้ที่ร่างกายเสื่อมโทรมจนต้องนอนบนเตียงตลอดเวลา อาจขยับตัวได้บ้างแต่ช่วยเหลือตัวเองในด้านอื่นไม่ได้ ซึ่งหากขาดการดูแลอย่างเหมาะสมก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมามากมาย ตั้งแต่เกิดแผลกดทับ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ แม้การติดเตียงจะเกิดขึ้นได้กับคนหลายวัย แต่การเป็นผู้ป่วยติดเตียงกับความสูงอายุมักมาด้วยกันเป็นแพ็กเกจคู่
และเมื่อไร้ความสามารถฟื้นฟูร่างกายด้วยตัวเอง ‘ผู้ดูแล’ หรือแคร์กิฟเวอร์ (Caregiver) จึงเข้ามาทำหน้าที่สำคัญ
ผู้ดูแลทำหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งจากความเจ็บป่วย อายุ และความทุพพลภาพ แต่การดูแลไม่เคยง่าย ต้องใช้ความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ จนหลายครั้งที่เกิดการ ‘พัง’ ทั้งกาย ใจ และชีวิตของผู้ดูแล
การดูแลคือการทำงานเป็นทีม
การดูแลที่ดีอาศัยการทำงานร่วมกันของผู้ดูแลในครอบครัว (Family Caregiver) และผู้ดูแลที่ได้รับการว่าจ้าง (Paid Caregiver) เพราะทั้งสองฝ่ายมีทักษะ ความรู้ และมุมมองที่อาจแตกต่างกันและสามารถนำมาผสานในการดูแลได้ โดย Family Caregiver มักเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความชอบและความต้องการของผู้ที่ได้รับการดูแล ขณะที่ Paid Caregiver จะผ่านการฝึกอบรม มีความรู้ และประสบการณ์เฉพาะด้านในการดูแล
“แบ่งเบาเวลา แต่หน้าที่ยังคงเดิม” คุณสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่ บอกอย่างนั้น ด้วยความที่ตัวเขาเองก็คอยดูแลภรรยาที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงจากเลือดคั่งในสมองจนนำไปสู่การเป็นอัมพาตครึ่งซีก และดูแลร่วมกับผู้ดูแลจากข้างนอกด้วย
น้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งจากความเจ็บป่วย อายุ และความทุพพลภาพ แต่การดูแลไม่เคยง่าย ต้องใช้ความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ จนหลายครั้งที่เกิดการ ‘พัง’ ทั้งกาย ใจ และชีวิตของผู้ดูแล
สว่าง แก้วกันทา
“งานหลักจะเป็นของแคร์กิฟเวอร์ อย่างการพยุง ลุกนั่ง ยืนฝึก โดยที่ผมจะเป็นคนคอยช่วย ในระหว่างที่เขาออกไปเตรียมอาหารเนื่องจากภรรยาจะต้องทานอาหารทางสายยางที่คอ หรือช่วงที่เขาพักทานข้าว ช่วงเวลานั้นผมก็จะเป็นคนคอยเฝ้าภรรยา ดูเรื่องเสมหะ เปลี่ยนผ้าอ้อม รวมถึงทำงานบ้าน สิ่งที่ผมทำได้ก็เป็นการดูแลที่ไม่ใช่ดูแลเพื่อรักษา แต่เป็นการพยายามดูแลให้เธอได้ใช้ชีวิตในแบบที่เคยใช้”
“แน่นอนว่าส่วนใหญ่ Paid Caregiver จะดูแลได้ละเอียดกว่าเพราะเขาผ่านการอบรมมา ซึ่งหากพูดกันตามจริงก็ยังไม่ได้เสถียร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและหลักสูตรที่เขาได้รับการฝึกอบรม”
“แต่การจะได้ Paid Caregiver ที่ดีและอยู่ดูแลได้นานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกนั่นแหละ เรียกได้ว่าอยู่ที่ดวงของแต่ละบ้านเลย” ผศ. พญ. สิรินทร ฉันท์สิริกาญจน์ นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมกล่าว
ผศ. พญ. สิรินทร ฉันท์สิริกาญจน์
“ในแง่คุณภาพมันสามารถฝึกกันได้ ใส่สายให้อาหารเป็นไหม ทำความสะอาดร่างกายป้องกันแผลกดทับเป็นไหม เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไม่ได้คือมันเป็นงานหนัก ละเอียด ใช้ความอดทนและความเข้าใจสูง ทัศนคติต่อผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และไม่ได้สอนกันได้เสมอไป”
และไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ดูแลที่จ้างมาที่ต้องมีทัศคติที่ดีมีความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น ฝั่งครอบครัวเองก็ต้องมองเห็นอีกฝ่ายเป็นเพื่อนมนุษย์เช่นกัน
“อยากเน้นว่าญาติคือเจ้าของของคนไข้ แม้จะว่าจ้างผู้ดูแลมาแต่อย่างไรเราก็ยังเป็นตัวหลักในการดูแล แน่นอนว่าตัวผู้ดูแลเองก็ต้องมีศีลธรรม เมตตาธรรมของตัวเองในการทำงานตรงนี้ แต่สำหรับเจ้าของไข้ที่รับคนอื่นเข้ามาอยู่อาศัย มาทำงานใต้ชายคาบ้าน ก็ต้องมีเมตตาต่อกันด้วย ไม่ใช่ว่าจะโยนทุกอย่างให้เขาหมดแล้วอ้างว่าจ่ายเงินไปแล้ว
“จับมือช่วยกันดูแลด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างดีที่สุด”
สารพัดเรื่องท้าทายของการดูแล
ไม่มีใครบอกว่าการดูแลเป็นเรื่องง่าย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เห็นภาพชัด ๆ ว่ามันยากตรงไหน โดยเฉพาะผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัว
ผู้ดูแลต้องใช้แรงกายมาก โดยเฉพาะยิ่งถ้าผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ต้องเจอกับความเครียดทางอารมณ์การเห็นคนที่เรารักช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยที่เครียด เศร้า หรือกังวล ผู้ดูแลต้องเจอ ปะทะกับอารมณ์เหล่านั้นอยู่ตลอด ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความรับผิดชอบอื่น ๆ ในชีวิตของตน งานการที่เคยต้องทำ สถานะการเงิน สังคมที่ตนเคยมี ไปจนถึงเวลาสำหรับหาความสุขของตัวเองที่ขาดหายไป
“เหนื่อยกายก็รักษาไป เหนื่อยใจก็ค่อนข้างหนัก” ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล หรือคุณก้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าว
ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล
คุณก้อยเองก็เป็นหนึ่งใน Family Caregiver ที่คอยดูแลคุณแม่ซึ่งป่วยจากโรคหลอดเลือดในสมองตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 และคุณแม่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงมาร่วมปีแล้ว และตัวเธอเองก็เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้การดูแลคุณแม่ยิ่งท้าทายมากขึ้นไปอีก
“จากที่เคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปตลาดเองได้ปกติ จู่ ๆ ในวัย 79 แม่ก็ตื่นมาแล้วเซ เอียงขวา เรารีบพาไปหาหมอและพบว่าเป็นสโตรก (Stroke) ทุกอย่างกะทันหันและตกใจกันหมด ช่วงแรกก็รักษาด้วยยาเพราะดีที่เราพาแม่ไปหาหมอเร็ว แม่ยังไม่ติดเตียงในตอนนั้นแต่ก็ไม่ค่อยได้เดินมากเท่าไหร่ จริง ๆ ตอนนั้นก็ดีนะ กินยาก็ดีขึ้น ใช้วอล์กเกอร์ก็จะเดินได้ ที่แย่คือสุขภาพจิตเขามากกว่า
“แม่เริ่มเครียด บางวันบอกไม่อยากอยู่แล้ว ซึ่งมันก็แผ่ความเครียดมาถึงเราด้วย ตอนนั้นเรายังไม่ได้จ้างใครมาช่วย กลางวันเราพาเขาไปเดย์แคร์แบบไปเช้าเย็นกลับ แม้จะได้ที่ไกลมากแต่ก็ยอมเพราะทำให้สุขภาพจิตแม่ดีขึ้น เดินได้มากขึ้น จนเข้าสู่ปี 62 แม่เป็นงูสวัด ก็ต้องแอดมิต 7 วัน พยาบาลทำให้ทุกอย่างจนพอออกมาก็เดินไม่ได้จนผ่านไปสองเดือน เขาเริ่มกลับมาเดินได้อีกครั้งถึงกลับไปเดย์แคร์ แต่แป๊บเดียวโควิด-19 ก็ระบาด ทุกที่ปิดหมดทำให้เราต้องดูแลเขาเต็มที่ แต่ด้วยความที่เราเป็นลูก บอกยังไงเขาก็ไม่เชื่อเราหรอก บอกให้ลุกเดินก็ปฏิเสธ ทำให้แม่เดินยากเพราะไม่มีกิจกรรมออกไปไหน กล้ามเนื้อยังได้แต่ใจเขาไม่สู้แล้ว”
หลังจากนั้นก็ผ่านช่วงที่คุณแม่ของคุณก้อยติดเชื้อในปอด และติดเชื้อในกระแสเลือดจนติดเตียงเรื่อยมา ปัจจุบันเธอได้จ้างผู้ดูแลมาช่วยแล้ว โดยที่เธอยังคงเป็นหัวเรือหลักในการดูแล
ทั้งการให้อาหารทางสาย เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ ดูแลระบบขับถ่าย ทุกอย่างที่จะให้ผู้ดูแลคนอื่นมาทำ เธอต้องหัดจนทำเป็นทุกอย่างก่อน ถึงจะให้คนอื่นมาทำได้
“ความยากอยู่ที่การพูดกับแม่มากกว่า” เธอกล่าว “มันอดไม่ได้ที่หลายครั้งจะทะเลาะกัน ช่วงแรก ๆ ยิ่งเข้ากันได้ยากพอสมควรเพราะมันกะทันหัน ทั้งเรื่องอารมณ์ของเราและแม่ เราเองอารมณ์ก็ไม่ค่อยสวยอยู่แล้ว เขาก็ดื้ออีก แต่พอยาว ๆ ไปก็เริ่มเข้าใจว่าเขาเปลี่ยนไม่ได้แล้ว เขาอยากทำอะไรก็ทำ อยากกินอะไรก็ให้กิน เราแค่คอยดูแลผลเลือดของเขาก็พอ เพราะอย่างไรนั่นเป็นความสุขเดียวที่เหลืออยู่ของแม่ในบั้นปลายชีวิต”
พิชยนันท์ วัฒนวิทูกูร
ขณะเดียวกัน การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ก็ต้องใช้แรงกายแรงใจไม่แพ้ อย่างกรณีของ พิชยนันท์ วัฒนวิทูกูร หรือคุณพิช ผู้ประสานงานสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
“ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าครอบครัวกำลังสู้อยู่กับอะไร แม่เป็นอะไร ตรวจในครั้งแรกก็พบว่ามีไขมันสูงและกล้ามเนื้อซีกซ้ายอ่อนแรง ได้รับการวินิจฉัยว่าอาจจะเป็นอัลไซเมอร์ แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนโรงพยาบาล หมอในโรงพยาบาลใหม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคทางสมอง หลังผ่านการรักษาภายใต้ความคิดที่ว่าแม่เป็นโรคซึมเศร้ามาสามปีแต่อาการกลับแย่ลง”
“แม่เริ่มเสียศูนย์ไปเรื่อย ๆ จากคิ้วที่เคยเขียนได้สวยก็กลับหนาเหมือนคิ้วตัวการ์ตูน”
คุณพิชและคุณพ่อจึงตัดสินใจเปลี่ยนโรงพยาบาลทำให้รู้แน่ชัดว่า สิ่งที่ทั้งครอบครัวกำลังเผชิญหน้าอยู่คือโรคอัลไซเมอร์จริง ๆ
“และนอกจากจะได้รู้ว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร การได้รู้จักและอบรมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมก็ทำให้ตระหนักชัดขึ้นว่านี่ไม่ใช่โรคที่ทานยาแล้วจะหาย และเป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้ว่า การดูแลไม่ได้จบแค่ผู้ป่วยแต่ครอบคลุมมาถึงญาติด้วย เพื่อที่จะได้อยู่กับคนไข้ได้มากขึ้น”
ครอบคลุมในที่นี้คือเข้าใจ ทั้งผู้ป่วยและตัวเอง – เธอกล่าว
“การอบรมทำให้เราหายปรี๊ดได้ง่ายขึ้น ก่อนหน้านั้นเรารู้สึกว่าแม่กำลังแกล้งกันอยู่หรือเปล่า แต่เราก็ฉุกคิดจากการอบรมว่า ถ้าไม่ป่วยคุณแม่จะทำแบบนี้ไหม ถ้าไม่ใช่เราต้องพยายามทำความเข้าใจท่าน จนถึงตอนนี้แม่ก็เข้าสู่ระยะท้ายของอัลไซเมอร์แล้วคือ สื่อสารไม่ได้ เดินเองไม่ได้ ทานอาหารยังได้บ้างแต่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอื่น ๆ ได้ ซึ่งเราก็ดูแลท่านมา 16 ปีแล้ว หนักอยู่แต่ก็ยังจะทำต่อไป”
เปิดประตูดูโลก ‘ผู้ดูแล’
ปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ตัวเลขของผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป ขึ้นไปแตะถึง 13,358,751 คน โดยคิดเป็นเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด และถึงแม้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะยังอาศัยอยู่กับคนอื่น ๆ ในบ้าน แต่ก็ยังมีกลุ่มที่อยู่กับคู่สมรสเพียงสองคน และกลุ่มที่อยู่ตามลำพังอีกด้วย นอกจากนี้ในผลการสำรวจภาวะสุขภาพร่างกายโดยรวม ปี 2564 ยังแตกผู้สูงอายุออกมาได้อีก 3 กลุ่มคือ กลุ่มติดบ้าน ติดสังคม และติดเตียง
ที่น่าสนใจคือตัวเลขของผู้สูงอายุุที่อยู่คนเดียวขยับจาก 3% มาถึง 12% ภายในระยะเวลาไม่ถึงสามทศวรรษ และในจำนวนนั้น มีเพียง 10.4% เท่านั้นที่มีผู้ดูแล
ซึ่งนั่นหมายถึง มีผู้สูงวัยกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน ที่ผ่านพ้นแต่ละวันด้วยตัวคนเดียว ส่วนจำนวนของผู้ดูแล… “มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ”
“เพราะมันไม่ใช่เรื่องปริมาณหรือคุณภาพ แต่เป็นเรื่องของสปิริต ใจที่เห็นใจคนที่อยู่ในความดูแลต่างหากที่ควรพูดถึงมากกว่าเรื่องของจำนวน” คุณหมอสิรินทร กล่าว
“เพราะการดูแลคนป่วยมันหนักมากนะ หนักกายยังพอว่า แต่ใจนี่สิเรื่องใหญ่
“หน้าที่ของผู้ดูแลจะมีนิยามประมาณ 3 ข้อ” อาจารย์สมทรง จุไรทัศนีย์ อาจารย์พยาบาลและเลขานุการสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม อธิบายให้ฟัง “หนึ่งคือดูแลอาการที่แย่ลงโดยดูว่าจะทำให้ดีขึ้นได้ไหม สองคือถ้าช่วยให้ดีขึ้นไม่ได้ก็ประคับประคองไป ซึ่งการดูแลในช่วงที่สองนี้จะเป็นช่วงที่ผู้ดูแลจะอยู่กับผู้ป่วยไปจนวันสุดท้าย
“ส่วนอย่างที่สามคือ หากไม่สามารถทำให้อาการดีขึ้นหรือคงที่ได้ แถมอาการผู้ป่วยก็แย่ลงไปอย่างช้า ๆ ผู้ดูแลคือคนที่จะอยู่ข้าง ๆ คอยช่วยให้เขายังได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันที่เขาแย่จริง ๆ ”
แม้ว่าประเภทของผู้ดูแลจะมีหลากหลายขึ้นอยู่กับระดับการดูแล โดยหลักแล้วจะแบ่งเป็นผู้ดูแลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ผู้ดูแลแบบเป็นทางการคือ Paid Caregiver ที่ได้รับค่าจ้างให้ดูแลในสถานที่ต่าง ๆ เช่น หน่วยงานที่จัดหาผู้ดูแลถึงที่บ้าน บ้านพักคนชรา และโรงพยาบาล อาจได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางในการดูแลสภาวะเฉพาะ เช่น โรคสมองเสื่อมหรือโรคพาร์กินสัน ขณะที่ผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการคือ Family Caregiver มักเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือกระทั่งเพื่อนที่ดูแลโดยไม่ได้ค่าตอบแทน โดยจะช่วยดูแลกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนข้าว เป็นต้น
ในประเทศไทยพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ดูแลเป็น Family Caregiver
ดังนั้น ถ้าหยิบตัวเลขมาดูร่วมกับหน้าที่ของผู้ดูแลตามที่อาจารย์สมทรงบอกไว้ ปัจจุบันมีลูก ๆ ของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่คอยทำหน้าที่เหล่านี้อยู่จำนวนไม่น้อย และถึงแม้จะว่าจ้างผู้ดูแลจากภายนอก Family Caregiver ที่รวมทั้งลูกและคู่สมรส ต่างก็ต้องเป็นคนตัดสินใจและดูแลร่วมกันอยู่ดี
ชาร์จแบตให้ผู้ดูแล
“สังคมไทยไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตใจเท่าไหร่” คุณพิชกล่าว “ตัวอย่างง่าย ๆ จากครอบครัวเราเองที่ให้เราออกจากงานมาดูแลก่อนที่เราจะไปเรียนต่อ ขณะที่เขาไม่อยากดูแลเพราะมีภาระงานที่ไม่อยากทิ้ง คุณพ่อให้เงินเดือนเราเลย 40,000 บาท แลกกับการดูแลคุณแม่อย่างเดียว แต่คนชอบทำงานแบบเราที่ทำงานมาตั้งแต่เรียนจบ ต่อให้เงินจะมากกว่านั้นก็ไม่สามารถเติมเต็มใจเราได้ เราจึงออกไปเรียนรู้วิธีดูแลจากข้างนอก และหาผู้ดูแลมาช่วย แทนที่จะเป็นเราทำทั้งหมดคนเดียว”
แต่เธอรู้ดี สิ่งที่เธอทำได้ใช่ว่า Family Caregiver ทุกคนจะสามารถทำได้เหมือนกัน ส่วนใหญ่ลูกต้องเป็นฝ่ายลาออกจากงานมาดูแลพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งก็ไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีเงินเก็บที่ใช้ได้อีกไปถึงเมื่อไหร่
ในความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเหนื่อยหนักเหล่านี้มักปูพรมไปสู่ภาวะความอ่อนล้าทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ หรือ Caregiver Stress Syndrome ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ดูแลละเลยสุขภาพร่างกายและอารมณ์ของตนเอง เพราะมุ่งความสนใจไปที่การดูแลผู้ป่วยที่อาจเป็นพ่อแม่หรือคนรักมากกว่าตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกายแย่ลง มีระดับฮอร์โมนความเครียดสูง พฤติกรรมการรับประทานอาหารแย่ลง ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
“คำถามหนึ่งที่เรามีคือ ถ้าแม่เสียตอนเราอายุ 50 ปี ในวัยนั้นเราทำมาหากินยังไง เป็นคนวัย 50 ปีที่ไร้หน้าที่การงาน ใครจะมาจ้างเรา สังคมไทยมักจะขอร้องแกมบังคับให้ลูกคนหนึ่งเสียสละ ให้เงินแล้วต้องอยู่กับคนไข้ 7 วัน 24 ชั่วโมง โดยไม่ได้ตระหนักว่าจะมีคนผลัดเปลี่ยนให้เขาได้พักไหมหรือมีใครมาดูแลสภาพจิตใจเขาบ้างหรือยัง”
สภาพจิตใจที่ห่อเหี่ยวนั้น ส่วนใหญ่นำไปสู่ปลายทางที่เป็นได้ทั้งความรุนแรงคือการทำร้ายคนไข้โดยไม่รู้ตัว ไม่มีเจตนา หรืออาจจะเบนไปในอีกทางคือนอนไม่หลับ เครียด เป็นโรคซึมเศร้าก็ได้
“ไม่ใช่แค่ภาวะซึมเศร้าที่รู้สึกว่าเบื่อหน่ายกับการดูแลเท่านั้น บางครั้งก็อาจเกิดความรู้สึกอยากให้ผู้ป่วยหรือตัวเองเสียชีวิตไปเลยก็มีเพราะปรับตัวไม่ได้ ผู้ดูแลที่เกิดความเครียดมากก็ควรมองหากลุ่มสนับสนุนหรือ Group Support ใกล้ตัว หรือพบนักจิตบำบัดเพื่อเยียวยาบ้าง หลายคนที่รู้ตัวก็พาตัวเองไปพบจิตแพทย์” อาจารย์สมทรง ซึ่งเป็นผู้ดูแล Group Support ของสมาคมฯ บอกอย่างนั้น
สมาพันธ์ผู้ดูแล (Family Caregiver Alliance: FCA) ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนที่รับหน้าที่ผู้ดูแลมักทุ่มเทเวลาจนเข้าสู่วงจรของการอดนอน นิสัยการกินแย่ลง ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่ได้พักผ่อนในยามป่วยไข้ และไม่ไปพบแพทย์อย่างไรก็ตาม แม้อาการเจ็บป่วยหรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยจะอยู่เหนือการควบคุม แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ดูแลสามารถทำได้คือการรับผิดชอบความเป็นอยู่และความต้องการของตัวเอง
โดย FCA ได้แนะนำแนวทางเป็นขั้นตอนที่จะทำให้ผู้ดูแลมองเห็น รับมือ และจัดการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องได้ โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้ผู้ดูแลได้ “พัก” อย่างที่ควรได้ อาจเป็นเสียงในหัว อาจเป็นความเชื่อ อาจเป็นความรับผิดชอบ อาจจดลงไปในกระดาษให้เห็นชัด ๆ จากนั้น ให้ลองทำตามนี้ทีละขั้นตอ
1. ลดความเครียด : อาจเป็นกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การทำสวน ทำสมาธิ หรืออาจจะแค่ออกไปนั่งจิบกาแฟกับเพื่อนก็ได้
2. ตั้งเป้าหมาย : กำหนดเป้าหมายในการดูแลตัวเองช่วง 3-6 เดือนต่อจากนี้ เช่น นัดหมายเพื่อตรวจร่างกาย หรือออกไปเดินเล่นสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที เป็นต้น เป้าหมายที่ชัดเจน ง่าย และระยะสั้นจะช่วยให้ทำตามได้ง่ายโดยไม่กดดันตัวเองมากเกินไป
3. บอกให้ชัด : สื่อสารอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา เช่น แทนที่จะบอกว่า “เธอทำให้ฉันโกรธ” ลองเปลี่ยนเป็นแค่ “ฉันกำลังโกรธ” เพราะการประชดประชัน หรืออ้อมค้อม ไม่ได้ช่วยให้คนอื่นรับรู้ความต้องการและความช่วยเหลือยิ่งไม่มาถึง แต่ก็ไม่ควรพูดทำร้ายจิตใจคนอื่นเช่นกัน
4. ร้องขอและยอมรับความช่วยเหลือ : การขอความช่วยเหลือไม่ใช่การสร้างภาระ หากมีใครสักคนที่ถามว่า “มีอะไรให้ช่วยไหม” ในวันที่คุณต้องการ สิ่งที่ควรทำมีแค่ยอมรับมัน อาจมาจากเพื่อนบ้านที่อาสาไปซื้อของให้ เพื่อนสนิทที่รับฝากส่งเอกสาร หรือญาติที่ทำกับข้าวมาให้ เพราะการขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการเป็นสัญญาณของความเข้มแข็งที่ต้องการดูแลตัวเอง
5. คุยกับแพทย์บ้าง : ในที่นี้คือแพทย์ที่ดูแลคนที่คุณกำลังดูแลอยู่ ไม่เพียงแต่สุขภาพของผู้ที่ได้รับการดูแลเท่านั้น แต่สุขภาพของตัวผู้ดูแลเองก็ควรได้รับการพูดถึงด้วยเหมือนกัน สื่อสารให้เข้าใจตรงกันเพื่อให้ทุกคนได้รับการดูแล รวมถึงตัวคุณเองด้วย
6. ออกกำลังกาย : อะไรก็เป็นการออกกำลังกายได้แม้กระทั่งการทำงานบ้าน หากิจกรรมที่คุณชอบและสนุกไปกับมันได้ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม อาจเริ่มด้วยการเดินสักวันละ 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพกายแล้ว การเดินยังช่วยลดความเครียดทางจิตใจอีกด้วย
ปัจจุบันมีสายด่วนสำหรับให้คำปรึกษาและให้กำลังใจผู้ดูแลผู้ป่วยเกิดขึ้นมากมาย เช่น สายด่วนของสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งจะมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป สามารถตรวจสอบหมายเลขสำหรับแต่ละวันได้ที่ http://www.azthai.org/
คำถามที่ว่า มีใครดูแลผู้ดูแลหรือยัง คำตอบอาจจะเป็น ‘เรา’ เราที่เป็นครอบครัว เป็นเพื่อน หรือกระทั่งเป็นผู้ดูแล ที่จะเริ่มให้เวลากับการเป็นฮีโร่ให้ตัวเราเอง
ขอบคุณภาพจาก
- ผศ. จิรภัทร กิตติวรากูล , มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
ที่มาของข้อมูล
- รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 (https://thaitgri.org/?p=40101)
- สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม (http://www.azthai.org/)
- Caregiver Stress Syndrome (https://caregiver.com/articles/caregiver-stress-syndrome/#:~:text=Studies%20show%20that%2030%20to,is%20had%20on%20them%20emotionally)
- What Are The Different Types of Caregivers? (https://www.homewatchcaregivers.com/blog/caregivers/what-are-the-different-types-of-caregivers-/)
- Common Caregiving Problems (https://www.apa.org/pi/about/publications/caregivers/practice-settings/common-problems)
- Physical and Mental Health Effects of Family Caregiving (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2791523/)
- Taking Care of YOU: Self-Care for Family Caregivers (https://www.caregiver.org/resource/taking-care-you-self-care-family-caregivers/)