เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร
หลายคนอาจจะเคยเห็นสารคดีการเดินทางด้วยรถบ้านไปทั่วอเมริกา เห็นรายการวาไรตี้พาเที่ยวและใช้ชีวิตในรถบ้านของเกาหลี แต่ในไทย รถบ้านเป็นเรื่องใหม่มาก และแทบนึกไม่ออกว่าจะเคยเห็นรถบ้านที่ใช้งานได้จริงที่ไหน จนกระทั่งเราได้เจอกับ ‘พี่ใหม่’ – สุทธิมา ไรเมอส์ เจ้าของรถบ้านที่ออกแบบเองทั้งคัน ขับไปใช้ชีวิตทั่วไทย ทำกิจการร้านอาหารในบรรยากาศพิเศษสุดกลางเมือง และทั้งหมดนี้ ในวัย 53 ปี
บ่ายวันสบายๆ เราลัดเลาะย่านลาดพร้าวไปโผล่ที่ถนนโชคชัย 4 ซอย 78 หลังป้าย The Camp 78 คือพื้นที่ขนาดบ้านเดี่ยว 1 หลัง ที่มีรถบ้านคันสีน้ำตาลจอดอยู่ เต็นท์โอกาวาหลังใหญ่ เก้าอี้ โต๊ะ และอุปกรณ์แคมปิงวางแซมไปกับต้นไม้นานาพันธุ์ พร้อมซุ้มสำหรับปรุงอาหาร เดินเข้าไปอีกสองสามก้าว เราได้ยินเสียงต้อนรับจาก พี่ใหม่ เจ้าของพื้นที่มหัศจรรย์ที่เพิ่งเดินออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์ทรงบ้านสีเหลืองสดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
วันนั้น (12 พฤศจิกายน 2564) เรานัดกันช่วงก่อนที่ลูกค้าจะเต็มร้านในตอนเย็น พี่ใหม่จึงมีเวลานั่งคุยด้วยยาวๆ แพสชันในการเดินทางด้วยรถบ้านคู่ใจ ทำธุรกิจที่ชอบ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง เธอทำสิ่งเหล่านี้อย่างไรในวัย 53 ปี
นักเดินทางสายโซโล
“ตั้งแต่เด็กเราไม่มีปัญหาเลยเวลาจะไปออกค่ายเนตรนารี ชอบมาก จัดปลากระป๋องมาม่า นั่งก่อไฟ แล้วมากินด้วยกัน ” พี่ใหม่เล่าชีวิตจากวัยเด็กถึงวัยทำงานที่พบว่าตัวเองรักการเดินทาง และได้ทำงานที่ต้องเดินทางอยู่บ่อยๆ ซึ่งตรงนี้กลายเป็นสาเหตุสำคัญให้เธอตัดสินใจทำรถบ้านด้วยตัวเองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
“เวลาเดินทางสัมภาระเยอะ น้ำหนักกระเป๋าเกินทุกครั้ง ต้องทิ้งของ รีโหลดใหม่ จ่ายค่าน้ำหนักกระเป๋า เป็นประสบการณ์ที่ช่ำชองมาก เราก็คิดว่าไม่ได้การละ อยากมีของให้ครบเวลาเดินทางไปไหน แล้วก็ต้องมีห้องน้ำด้วย” เธอจึงคิดว่ารถบ้านนี่แหละที่จะตอบโจทย์ในชีวิต “ระหว่างทางขับรถเหนื่อย ก็จอดรถที่ปลอดภัย เปิดแอร์นอนได้เลย” ไลฟ์สไตล์สบายๆ ของพี่ใหม่ก็ดูไปด้วยกันกับสิ่งที่เธอพูดมา
แม้จะตัดสินใจทำรถบ้านในตอนนั้นแล้ว เธอก็ยังเผยความลับในใจว่า “แรกๆ เราไม่กล้าเลย ไม่แน่ใจว่าจะไปคนเดียวได้ แต่พอชวนใครก็ไม่มีใครไป ก็เลยต้องไปเอง พอไปเองแล้วติดใจ ตอนนี้สบายแล้ว ที่ไหนก็ได้” กว่าจะมาเป็นนักเดินทางแบบโซโล พี่ใหม่ก็ผ่านกำแพงในใจของตัวเองมาพอสมควร และแม้จะไปคนเดียว แต่เธอก็ได้เพื่อนๆ ระหว่างทางเสมอ
รถบ้านสีน้ำตาล ห้องส่วนตัวเคลื่อนที่
พี่ใหม่ตั้งต้นที่ความต้องการของตัวเอง ถึงเธอจะชอบเดินทาง และแนวแคมป์ แต่ก็ไม่ใช่สายลุยนัก การทำรถบ้านจึงเน้นไปที่ความสะดวกและสบายเป็นหลัก โดยรถต้องเป็นทั้งห้องนอน มีห้องน้ำในตัว มีมุมทำงานเล็กๆ และที่สำคัญเลยต้องยืนได้ “ถ้าจะก้มๆ แล้วอยู่ในรถมันอยู่ไม่ได้ พี่ไม่ได้คิดแค่ว่ารถเอาไว้นอน แต่ต้องมีทุกอย่างที่พี่ต้องการ” จากนั้นเธอก็เริ่มลงมือวาดแบบเอง จัดวางสิ่งต่างๆ ภายในรถ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่นักออกแบบแต่เธอก็เขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากได้ลงบนกระดาษ แล้วยื่นให้ผู้เชี่ยวชาญที่ร้านรับทำตู้ทึบสำหรับส่งสินค้าลงมือ
การทำรถบ้านไม่ง่าย รถคันนี้ผ่านการปรับแต่งมาหลายครั้ง ทั้งรื้อระบบน้ำระบบไฟ กลายเป็นรถคู่ทุกข์คู่ยากที่กว่าจะเข้าที่ก็เริ่มผูกพันกันไปแล้ว หน้าตารถที่ไม่เหมือนกับรถจากโรงงานทำให้รถคันนี้เรียกมิตรสหายเข้ามาหามาคุยกับเจ้าของอยู่เสมอ เธอตัดสินใจลงมือด้วยตัวเองทั้งหมดเพราะคิดว่าตัวเองสู้ราคารถโรงงานไม่ไหว “ปรากฏว่าทำไปทำมาก็ราคาใกล้เคียงกันเลย แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือพี่ได้ใส่ศักยภาพการ DIY แบบที่พี่ชอบ ได้อย่างที่เราต้องการ ถ้ารถโรงงานมันมีครบแล้ว พี่ก็ไม่ต้องเรียนรู้อะไรอีก” เธอเล่าอย่างภูมิใจ
“พี่ไปจอดข้างทางมาเยอะมาก ไม่ว่าช่างจังหวัดไหนๆ พี่รู้จักหมดเลย เวลาไปจอดเสียที่ไหนก็โทรตาม” พี่ใหม่เล่าพลางนึกขำตัวเอง พร้อมแชร์ประสบการณ์การนอนอู่ซ่อมรถเพื่อรออะไหล่มาส่งด้วย
ชีวิตที่ตะลอนท่องเที่ยวไปตามสถานที่กางเต็นท์ไม่ได้ราบรื่นนักในช่วงแรก อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ยังไม่กว้างขวางนัก แม้จะเป็นตามรีสอร์ตที่ขอเอารถไปจอดนอนก็ตาม ผู้ประกอบการทั้งหลายยังทำตัวไม่ถูกเมื่อมีรถบ้านเคลื่อนที่มาขอเข้าพัก บ้างก็ไม่อนุญาตให้พัก หรือไม่ให้ใช้ไฟ บ้างก็ต้องเสียเงินเพื่อจองห้องเพิ่ม แต่ด้วยความที่ต่างคนต่างใหม่ เธอจึงเข้าใจสถานการณ์และมองว่าเป็นประสบการณ์ที่สามารถสนุกไปกับมันได้
มัลติจ๊อบส์ : ธุรกิจส่วนตัว รถบ้าน และร้านอาหาร
พี่ใหม่เล่าถึงชีวิตส่วนตัวก่อนที่จะมีรถบ้าน ร้านอาหาร และสิ่งที่หล่อหลอมเธอจนมีวันนี้ให้ฟัง “พี่จบพยาบาล แล้วเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลมาประมาณ 10 ปี พอมีลูกก็ลาออกมาเลี้ยงลูกปีสองปี แล้วก็กลับเข้าไปโรงพยาบาลใหม่ ในฐานะผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์” การคลุกคลีอยู่ในแวดวงจึงทำให้เธอได้อินไซต์เพื่อมาสร้างและต่อยอดเป็นธุรกิจเอาต์ซอร์สให้กับโรงพยาบาล นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็เข้าปีที่ 20 แล้ว
หลังจากนั่งคุยกันมาสักพัก เราสรุปได้ว่า เธอเป็นพยาบาลสาวที่ออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ควบคู่กับทำร้านอาหารไปด้วย พี่ใหม่ตอบกลับมาทันควัน “ใช่! นี่เป็นออฟฟิศ เราไม่จำเป็นต้องไปเช่าตึก ก็ใช้ร้านเป็นออฟฟิศไปเลย ได้ขายของและมีรายได้ด้วย” เพราะความตั้งใจแรกของเธอไม่คิดจะเปิดร้านอาหาร เพียงแต่ต้องการหาที่เช่าเพื่อเป็นออฟฟิศเท่านั้น
จากจุดเริ่มต้นที่จะหาสำนักงานสำหรับธุรกิจเครื่องมือแพทย์ เธอเบนเข็มกิจการเป็นร้านอาหารเพื่อสร้างรายได้อีกทาง โดยดึงความชอบส่วนตัวมาทำ แรกเริ่มเป็นร้านชาสไตล์ยุโรปที่เสิร์ฟพร้อมอาหารโฮมเมด เพราะเธอเป็นนักสะสมแก้วชาตัวยง ธุรกิจร้านอาหารดำเนินมาถึงขวบปีที่ 9 จนกระทั่งเจอพิษเศรษฐกิจจากโควิด- 19 จึงทำให้ไปต่อกับร้านอาหารแห่งนี้ไม่ไหว และต้องหาทำเลใหม่มาแทนร้านเดิม
ไม่รู้จะเรียกว่าจังหวะหรือโชคชะตา ที่พื้นที่ของร้านที่นั่งคุยกันอยู่ตรงนี้ พี่ใหม่ได้พบเมื่อเดินข้ามถนนจากบ้าน 4-5 ก้าวเท่านั้น เมื่อเห็นโอกาส เธอจึงรีบจัดการติดต่อเจ้าของที่รกร้างเพื่อขอเช่า และเริ่มรีโนเวตพื้นที่จากศูนย์จนกลายเป็นร้าน The Camp 78 เหมือนทุกวันนี้ “ โชคดีว่ามีเมนูกริลล์เยอะมากในร้านเดิม แล้วพี่ชำนาญ พี่ก็มั่นใจว่า เฮ้ย ! เปิดได้สิแคมป์ เอาบาร์บีคิวเรานี่แหละมาทำเป็นเซ็ตปิ้ง ” สายรถบ้านอย่างเธอจึงเนรมิตที่แห่งนี้ให้กลายเป็นร้านอาหารสไตล์แคมปิง บรรยากาศผ่อนคลาย เฟอร์นิเจอร์ในร้านบางส่วนก็ขนลงมาจากรถบ้านสีน้ำตาลให้ลูกค้าไว้ใช้ และเธอก็ไม่ลืมแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับเป็นที่พบปะของคนขับรถบ้านด้วย
“เราทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เราก็ผสมผสานไม่ให้สิ่งที่เรามีมันเปล่าประโยชน์ เอาความชอบออกมาให้เป็นงาน” ดูเหมือนสิ่งที่เธอทำจะไม่เข้ากัน แต่เธอก็ปรุงมันออกมาได้อย่างกลมกล่อมลงตัว
ซ้อมเกษียณ… ในวันที่ธุรกิจยังต้องไปต่อและให้ชีวิตไปตามฝัน
“คำว่าธุรกิจส่วนตัวมันไม่มีคำว่าเกษียณนะ พี่เรียกว่าวางมือมากกว่า แล้วก็สร้างคนรุ่นใหม่ๆ มาทำแทน” มุมมองแบบนี้ทำให้เธอเริ่มแพลนชีวิตหลังจากนี้แล้วว่าจะดูแลธุรกิจทั้งสองต่อไปอย่างไร
เจ้าของธุรกิจอย่างพี่ใหม่เริ่มฝึกให้น้องในทีมทำงานให้ได้เหมือนที่ตัวเองทำ และซ้อมมือในวันที่เธอไม่อยู่เสมอ เพราะเธอเองก็คงจะไม่ได้อยู่ดูแลธุรกิจไปตลอด “เหมือนเราก็ต้องซ้อมเกษียณ ซ้อมไม่อยู่ ไม่มีเราเขาก็ทำได้” และยังมีความฝันที่อยากจะทำให้สำเร็จด้วย
“บางคนเขารู้ว่าอยากทำอะไร แต่ไม่กล้า ยิ่งพออายุเยอะยิ่งไม่กล้าไปเรื่อยๆ ยิ่งโดนบล็อกเลย แล้วรอวันนู้นวันนี้ให้พร้อม มันไม่มีวันพร้อมหรอก มีแต่วันที่จะทำหรือไม่ทำ ถ้าเราเชื่อว่ามันทำได้ มันจะทำได้ ในชีวิตพี่โดนบล็อกทุกเรื่องแหละ ไม่มีอะไรใส่พานมาให้พี่เลย” เธอว่า
เพราะการที่พี่ใหม่มองว่าทุกอย่างต่างมีอะไรที่ต้องแก้ไข มากกว่าที่จะมองว่ามันเป็นแค่ปัญหา ก็ช่วยให้เธอค่อยๆ พัฒนาตัวเอง “กว่าจะผ่านมาแต่ละด่านได้ แต่ก็โดดเดี่ยวนะ เพราะทำเองหมดคนเดียว แต่มันก็ทำให้เราเก่ง” เธอยังเสริมอีกว่า “ คำว่าปัญหามันสั้นไป มันเป็นสถานการณ์ที่เราต้องจัดการ แล้วพอแก้ไปได้ทีละเรื่อง เราก็รู้สึกว่าเรามีศักยภาพในการแก้ปัญหา สนุกไปกับมัน ให้มองว่ามันเป็นการพัฒนาตัวเอง ”
“งานทุกงานลำบากหมดแหละ ดีที่เรายังเลือกงานที่เราชอบ แล้วเอาความลำบากมาอยู่ในสิ่งที่ชอบเราก็ยอมนะ”
‘รถบ้าน’ กับ ‘ป้าใหม่’
“ไม่เคยมีใครถามเลยว่าอยากได้อะไรในบั้นปลายชีวิต” แต่พี่ใหม่ก็ตอบแบบเรียบๆ ว่า “พี่อยากได้แค่ความสงบ ราบเรียบ ไม่พุ่งปรี๊ดหรือดาวน์เกินไป แค่แบบนิ่งๆ แล้วก็พี่อยากเป็นคนแก่ที่พูดน้อยๆ อยู่เป็นกำลังใจให้ลูกหลาน” แต่เธอก็ไม่ลืมความฝันที่จะยังขับรถบ้านไปเรื่อยๆ “บ้านสามีอยู่สวีเดน พี่ก็อยากมีรถบ้านที่ต่างประเทศบ้าง อยากไปเที่ยวเปิดโลก ถ้ามีช่องทางทำอะไรได้พี่ก็อยากทำ แต่ถ้าถึงวัยนั้น ลูกขับให้ได้แล้วเรานั่งไปก็น่าจะดีเลย” แม้จะเอ่ยแบบนี้ แต่เธอก็ไม่ได้คาดหวังให้ลูกมาดูแล เพราะเธอไปคนเดียวได้
กับสิ่งต่างๆ ที่เธอฝ่าฟันมาจนถึงวัยเลข 5 ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว และความฝัน เธอบอกว่า “รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ ถึงแม้ว่ามันดูไม่ค่อยลงตัวเท่าไร (หัวเราะ) แต่พี่ก็มีกะเพราให้เด็ด มีกล้วยที่ลงปลูกเองอะไรแบบนี้ มันเป็นอารมณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ แล้วยังอยู่ใกล้บ้าน ในกรุงเทพฯ อีก” เพราะ The Camp 78 ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แต่คือคอมฟอร์ตโซนที่เธอสามารถพักพิงและใช้ชีวิตอย่างที่ฝันได้
ด้วยความที่ทำงานวงการพยาบาลมาแทบครึ่งชีวิต พี่ใหม่จึงติดเรียกแทนตัวเองว่าพี่อยู่เสมอ ไม่ว่าอายุจะเท่าไรก็ตาม ซึ่งความจริงเธอบอกว่าชอบคำว่า ‘ ป้า ’ นะ เพราะมันอบอุ่นใจ “เราไม่ต้องการความสาว เราอยากให้คนเรียกป้า เพราะมันให้ความรู้สึกอบอุ่น” เธอยิ้มก่อนจะถามกลับว่า “หิวไหม ให้พี่เสิร์ฟอะไรไหม ชากับแซนด์วิชไหม” และชวนให้เราอยู่ชิมบาร์บีคิวฝีมือเธอด้วยกันตอนเย็น… ที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าพื้นที่นี้ช่างมหัศจรรย์ แต่ความจริงแล้ว น่าจะเป็นเจ้าของอย่าง ‘ป้าใหม่’ มากกว่าที่ทำให้ที่นี่มหัศจรรย์ขึ้นมา