ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตลาดคลอง 12 คือตลาดที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในจังหวัดปทุมธานี
ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดห้องแถวไม้ อีกทั้งยังมีส่วนที่เป็นตลาดน้ำ มีข้าวของมากมายสารพัดไม่ว่าจะเป็นของสด ของแห้ง อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงร้านทำฟัน วิกฉายหนังกลางแปลง ร้านขายเครื่องมือการเกษตร ร้านทอง ร้านถ่ายรูป ฯลฯ เรียกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้คนในยุคนั้นต้องการตลาดคลอง 12 มีครบจบในที่เดียว
เวลาหมุนผ่านมากว่า 1 ศตวรรษ จากตลาดที่เคยรุ่งเรืองคลาคล่ำไปด้วยผู้คน มาวันนี้ห้องแถวไม้แทบทุกห้อง ปิดตาย ไม่มีร้านรวงและความมีชีวิตชีวาดังเช่นเมื่อร้อยปีก่อน
ท่ามกลางห้องแถวไม้ทั้งหมดมีเพียง ‘เตียย่งหลี’ ร้านกาแฟเล็กๆ ร้านเดียวที่ยังเปิดให้บริการอยู่
นี่คือร้านค้าเพียงแห่งเดียวที่ยังมีลมหายใจอยู่ในตลาดคลอง 12 จนถึงปัจจุบัน
วันวาน
นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดให้มีการขุดคลองหกวาที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับและระบายน้ำจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง
ความยาวของ ‘คลองหกวา’ นี้แบ่งเป็น 16 ส่วน แต่ละส่วนก็จะเรียกเรียงตามลำดับกันไปตั้งแต่คลอง 1 ไปถึงคลอง 16 โดยในแต่ละคลองก็จะให้สิทธิผู้จับจองพื้นที่เป็นผู้ดูแลรักษาคลองในแต่ละสาย
พื้นที่บริเวณคลอง 12 ได้รับการจับจองโดยท่านขุนอนุสรณ์มหาศาล ซึ่งมีเชื้อสายจีนแซ่ตั้ง ใน พ.ศ 2448 ท่านขุนได้เริ่มสร้างบ้านไม้ให้เช่าโดยเริ่มจากจำนวน 10 ห้อง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีคนจีนอพยพมาอยู่กันมากขึ้นจึงสร้างห้องแถวไม้มากขึ้นอีกจนมีมากกว่า 150 ห้อง ซึ่งคนจีนที่อพยพมาส่วนใหญ่ล้วนแต่มีอาชีพค้าขาย จนในที่สุดก็กลายเป็นตลาดคลอง 12 หกวา หรือที่ผู้คนเรียกติดปากว่าตลาดคลอง 12 มาจนถึงปัจจุบัน
“สมัยก่อนที่จะเป็นห้องแถวไม้ ผู้คนจะค้าขายกันทางเรือ รวมถึงคุณปู่ของเราที่พายเรือขายกาแฟโบราณมาตั้งแต่ 100 กว่าปีก่อน ก่อนที่ต่อมาเมื่อมีการสร้างห้องแถวไม้ให้เช่า คุณปู่ก็ขึ้นมาเปิดร้านขายในห้องแถว ส่วนทางเรือก็ให้พ่อดูแลกิจการไปเรียกว่าขายทั้งทางเรือ ขายทั้งทางบก ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมื่อตลาดห้องแถวไม้ได้รับความนิยมการค้าขายทางเรือก็หมดไป จึงขึ้นมาขายอยู่ที่ร้านห้องแถวจนถึงปัจจุบัน”
อนันต์ชัย ตีระลาภสุวรรณ เจ้าของร้าน ‘เตียย่งหลี’ ร้านกาแฟโบราณแห่งตลาดคลอง 12 เล่าถึงเรื่องราวในสมัยก่อน ชายวัย 60 เป็นทายาทรุ่นที่ 3 สืบทอดกิจการมาจากคุณปู่และผู้เป็นพ่อ ปัจจุบันร้านกาแฟแห่งนี้ถือเป็นร้านในห้องแถวไม้ที่เหลืออยู่เพียงร้านเดียวในตลาดคลอง 12 แถมยังขายในราคาเพียงแก้วละ 10 บาทเท่านั้น
“ถ้าย้อนกลับไปในยุคก่อนต้องบอกว่าตลาดคลอง 12 นี่บูมมาก ได้รับความนิยมสูงสุดในปทุมธานี ที่นี่ไม่ได้มีแค่เนื้อสัตว์ ผลไม้ หรือข้าวสารอาหารแห้งขายเหมือนกับตลาดอื่นๆ แต่มีร้านทำฟัน ร้านทอง โรงหนัง เครื่องมือการเกษตร ร้านถ่ายรูป ฯลฯ ง่ายๆ ว่าต้องการอะไรตลาดคลอง 12 มีครบทุกอย่าง
“แล้วคนนี่เดินแน่นทั้งวัน เราเปิดตลาดตั้งแต่ตี 4 พอตี 5 คนก็เริ่มมาแล้ว ขายไปเรื่อยกว่าจะปิดตลาดอีกทีก็ 5 ทุ่มหลังจากนั้นก็จะปิดเครื่องปั่นไฟ พ่อค้าแม่ค้าก็จะปิดบ้านเข้านอน ด้วยความที่ตลาดปิดเครื่องปั่นไฟเราก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็จะอาศัยใช้ตะเกียงเจ้าพายุและจุดเทียนเอา แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อากาศก็ไม่ร้อน เย็นสบาย”
ลุงอนันต์ชัยรำลึกความหลังเมื่อสมัยยังเด็ก ก่อนบอกว่าวิถีชีวิตและสภาพของตลาดสมัยก่อนไม่เหมือนกับสมัยนี้ คนตลาดในยุคนั้นอยู่กันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใครอยากขายอะไรก็ขายไม่มีการเรียกเก็บค่าที่ค่าแผงแต่อย่างใด
“คนสมัยนั้นจะเอื้อเฟื้อกัน อย่างเราเปิดร้านนี่ ใครมีผลผลิตอะไรก็มาวางขายแบกะดินหน้าร้านได้เลย ไม่มีการเก็บค่าแผง ค่าเช่าหน้าร้านอะไรทั้งนั้น แล้วไม่ใช่แต่เฉพาะร้านเรา แต่ทุกร้านเป็นเหมือนกันหมด
“ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับคนขายอย่างคุณปู่หรือคุณพ่อก็มีความเป็นกันเอง คุณปู่ คุณพ่อจะรู้หมดว่าลูกค้าแต่ละคนชอบกินกาแฟรสชาติแบบไหน คนนี้ชอบรสแก่ คนนี้ออกหวาน จะชงได้ถูกใจทุกคนหมด โดยที่ลูกค้าแทบไม่ต้องสั่ง ทำให้ร้านเราขายดีมีลูกค้าประจำมากมาย”
หากอยากรู้ว่ากิจการของเตียย่งหลี ร้านกาแฟโบราณแห่งตลาดคลอง 12 เจริญรุ่งเรืองและขายดีขนาดไหน ก็เอาเป็นว่ากาแฟแก้วละแค่ 50 สตางค์ พ่อของลุงอนันต์ชัยสามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวและลูกๆ ทั้ง 7 คนให้เติบโตมาโดยไม่ต้องลำบาก
“ในยุคคุณปู่เราก็ไม่ทัน แต่คาดว่าน่าจะราคาแก้วละไม่กี่เฟื้อง แต่ตอนยุคสองยุคของคุณพ่อราคาอยู่ที่แก้วละ 50 สตางค์ ซึ่งเป็นช่วงที่กาแฟขายดีมาก ลูกค้าประจำก็มี คนมาเดินตลาดก็เยอะ ลูกค้าจากโรงสีข้าวใหญ่ 3 โรงก็มาซื้อ คนในสมัยนั้นเวลาทำงานทำการเสร็จ ไม่รู้จะไปไหน เขาก็จะแวะมาเดินตลาด”
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีช่วงเวลารุ่งโรจน์เป็นของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรอยู่บนช่วงเวลาดังกล่าวได้ตลอดไป ร้านกาแฟเล็กๆ อย่างเตียย่งหลีก็เช่นกัน หลังจากวันเวลาแห่งความสำเร็จผ่านเลยไป
ช่วงเวลาแห่งความซบเซาเทามืดก็เริ่มคืบคลานเข้ามา
ซบเซา
ลุงอนันต์ชัยใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นมาในตลาดคลอง 12 เขาเป็นลูกคนสุดท้อง มีพี่ชายพี่สาวรวมกันอีก 6 คน หลังคุณพ่อรับช่วงกิจการต่อจากคุณปู่ ไม้ผลัดต่อไปก็ได้รับการส่งต่อมาถึงลูกชายคนเล็ก
“พี่ๆ ผู้ชายเขาก็เรียนแล้วก็ทำงานกันหมด ส่วนพี่ๆ ผู้หญิงก็แต่งงานมีครอบครัว มีแต่เราที่ไม่ได้ไปไหน เรียนจบก็มาเป็นครูอยู่แถวบ้าน พอพักเที่ยงก็กลับมากินข้าวบ้านแล้วก็ช่วยชงกาแฟ ทำแบบนี้ทุกวันจนตอนหลังลาออกจากครูมาก็ทำงานที่ร้านเป็นหลัก ประกอบกับทำงานเป็นช่างไฟช่วยพี่ชายเป็นอาชีพเสริมไปด้วย คือพ่อก็ยังทำอยู่เพียงแต่ก็ค่อยๆ วางมือ จนกระทั่งตอนหลังเขาเป็นอัมพฤกษ์ เราก็เลยมาดูแลร้านเต็มตัว ถือเป็นรุ่นที่ 3 ของเตียย่งหลี”
อนันต์ชัยได้รับการถ่ายทอดวิชาทั้งหมดจากผู้เป็นพ่อไม่ว่าจะเป็นการชงกาแฟ การคั่วกาแฟ ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการสังเกตดูว่าเมล็ดกาแฟสุกได้ที่หรือยัง รวมทั้งให้หมั่นสังเกตว่าลูกค้าแต่ละคนชอบกินกาแฟรสชาติแบบใด
“ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ลูกค้าเก่าๆ เจ้าประจำที่กินมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อมั่นใจในตัวเรา แรกๆ เราชงเขาก็มีติมาว่ารสชาติแก่ไปบ้าง หวานไปบ้าง เราก็ต้องคอยสังเกต จดจำ และเรียนรู้ว่าแต่ละคนชอบกินรสชาติแบบไหน จากนั้นก็ปรับปรุง ซึ่งก็ใช้เวลาอยู่สักพักถึงจะปรับตัวและมัดใจลูกค้าเก่าเอาไว้ได้ ความจริงก็ไม่ใช่แค่เราหรอก แต่ลูกค้าเก่าทุกคนเขาก็เข้าใจและอดทนให้เวลาเราในการปรับตัวด้วยเหมือนกัน”
แม้จะได้รับการถ่ายทอดวิชาทุกอย่างมาจากพ่อ รวมทั้งยังมัดใจลูกค้าเก่าๆ เอาไว้ได้ หากแต่กิจการของเตียย่งหลีในยุคที่ 3 ของอนันต์ชัยกลับไม่ได้สำเร็จรุ่งเรืองเหมือนกับในสองยุคแรก ซึ่งเหตุผลหลักๆ ก็มาจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดคลอง 12 จากที่เคยมากมายไปด้วยผู้คนกลายสภาพเป็นตลาดที่เงียบเชียบราวกับป่าช้า
“ปี 2531 เริ่มมีการสร้างตึก มีการตัดถนนเส้นลำลูกกา พอถนนเริ่มเข้ามา ตลาดก็เริ่มซบเซา คนค้าขายเริ่มย้ายไปเช่าตึกกันหมด คนก็เริ่มไปเดินซื้อของข้างนอกไม่มาเดินตลาด ต่อมาโรงสีข้าวทั้ง 3 แห่งเลิกกิจการคนมาเดินก็น้อยไปอีก จนมาถึงปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตลาดก็ร้างเลยไม่มีคนเดิน ขณะเดียวกันพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่มีใครขายของ บางบ้านย้ายออกแล้วให้คนทำงานที่อื่นมาเช่าแทน บางคนก็ยังพักอาศัยแต่ไปขายของที่อื่น หรือไม่ก็เลิกกิจการไปเลยคงเหลือแต่ร้านเราร้านเดียว”
จากที่เคยมีคนเดินจนมืดฟ้ามัวดิน บ้านกว่า 150 หลังเปิดขายของเกือบ 24 ชั่วโมง ภาพอดีตอันรุ่งโรจน์ค่อยๆ เลือนหายไป บ้านไม้ทุกหลังแทบจะปิดตาย พ่อค้าแม่ขายย้ายออกไปจนแทบไม่เหลือ ผู้คนก็แทบไม่มีใครเดิน ดูเหมือนตลาดคลอง 12 จะเริ่มตายไปจากความรับรู้ของผู้คน
อย่างไรก็ตามท่ามกลางทุกอย่างที่หายไป ลุงอนันต์ชัยและเตียย่งหลีกลับเลือกที่จะดำเนินกิจการทุกอย่างเหมือนเดิมต่อไป
แม้จะเป็นร้านเดียวที่เหลืออยู่ในตลาดคลอง 12 ก็ตามที
ลมหายใจสุดท้ายในตลาดคลอง 12
แม้จะไม่ได้ขายดีแบบเทน้ำเทท่าดังเช่นในยุคคุณปู่ คุณพ่อ รวมทั้งเป็นร้านที่เปิดอยู่เพียงร้านเดียวในตลาดคลอง 12 หากแต่เตียย่งหลีร้านกาแฟร้อยปีแห่งนี้ก็ยังพออยู่ต่อไปได้
“มันก็ยังพออยู่ได้ แต่ถามว่ามีกำไรมากมายไหมก็ต้องบอกว่าน้อยลงกว่าเมื่อก่อนเยอะ ที่พออยู่ได้เพราะยังมีลูกค้าขาประจำที่กินทุกวัน แล้วก็ยังมีกลุ่มจักรยานที่ปั่นมาเที่ยวแถวนี้แล้วก็แวะที่ร้าน พอช่วงหลังก็จะมีกลุ่มตามรอยละครเพิ่มเข้ามาเนื่องจากที่ตลาดคลอง 12 นี้เป็นใช้เป็นฉากในการแสดงละครหลายเรื่อง ซึ่งมันก็ช่วยต่อชีวิตของเราออกไป
“อีกเหตุผลที่สำคัญเลยก็คือคุณพ่อเคยสั่งไว้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามอย่าปิด พ่อจะคิดถึงลูกค้าเก่าๆ ที่เป็นขาประจำ บอกว่าถ้าปิดแล้วเขาจะไปกินที่ไหน ลูกค้าบางคนตั้งใจจะมากินกาแฟที่ร้าน มาถึงแล้วเห็นร้านปิดเขาก็รู้สึกผิดหวัง เราก็เลยยังเปิดร้านมาตลอด คิดดูว่าแม้แต่ในวันที่พ่อเสียชีวิต ร้านเราก็ยังเปิด จะปิดบ้างก็ตอนทำพิธี
“ด้วยความที่ผูกพันและคิดถึงลูกค้า เราเองก็จะขายในราคาที่ไม่แพงมาก เครื่องดื่มเย็นก็แก้วละ 10 บาท ส่วนร้อนก็คิดแก้วละ 8 บาท ซึ่งก็เป็นราคาที่ขึ้นมาเรื่อยจากสมัยเราเป็นเด็ก แก้วละ 50 สตางค์ก็ปรับขึ้นมาเป็น 75 สตางค์ เป็น 1 บาท 2 บาท 3 บาท 4 บาท 5 บาท 6 บาท 8 บาทจนมาสุดที่ 10 บาทตอนนี้”
แม้ราคาจะแสนถูกแต่คุณภาพกาแฟของเตียย่งหลีไม่ได้ถูกตามราคา กว่าจะได้เงิน 10 บาทจากลูกค้า ลุงอนันต์ชัยต้องทำการโทรสั่งเมล็ดกาแฟดิบจากร้านดั้งเดิมที่เยาวราช จากนั้นต้องนำมาคั่วในเตาถ่านอยู่ร่วม 40 นาที เคาะเม็ดข้างในให้แตก เมื่อดูว่าเนื้อข้างในเป็นสีน้ำตาลไหม้ก็เป็นอันว่ากำลังได้ที่
หลังจากนั้นก็ทำตามสูตรโบราณของเตียย่งหลีด้วยการใส่เนยและน้ำตาลลงไปคั่วให้เข้ากันอีกราว 10 นาที แล้วสุ่มเอาเม็ดกาแฟที่อยู่ในกระทะขึ้นมาใส่ในน้ำ หากสีของน้ำเป็นสีน้ำตาลอมแดงถือว่าพอดี ให้นำขึ้นมาเทใส่ลัง ผึ่งให้แห้งก่อนนำเข้าเครื่องบด แล้วจึงค่อยนำมาขายยังหน้าร้าน แต่ถ้าหากน้ำออกมาเป็นสีเขียวก็ต้องทำการคั่วต่อเพราะกาแฟยังสุกไม่ได้ที่ แต่ถ้าน้ำเป็นสีดำ กาแฟเหล่านั้นก็เท่ากับเสียไม่ได้คุณภาพต้องทิ้งอย่างเดียว
“ถ้าของมันไม่ได้คุณภาพ เรายินดีทิ้งดีกว่าขายให้ลูกค้ากิน”
จากกระบวนการดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นกาแฟแก้วละ 10 บาทในร้านเตียย่งหลีนั้นไม่ง่ายเลย
เป็นกาแฟร้อยปีที่คุณภาพและราคาเดินสวนทางกันอย่างแท้จริง
อนาคตกับเครื่องหมายคำถาม
ถึงวันนี้ลุงอนันต์ชัยเองยังบอกไม่ได้ว่าตำนานของเตียย่งหลีจะยืนยาวต่อไปในรุ่นที่ 4 หรือทุกสิ่งทุกอย่างจะจบลงในรุ่นของเขา
“เรามีลูกชาย 2 คน และได้ถ่ายทอดวิชาให้เขาทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ตอนนี้เขาทำงานบริษัทอยู่ซึ่งรายได้ก็ไม่น้อย แล้วตัวเราเองก็ยังมีแรงยังเปิดร้านได้ ก็ให้ลูกชายเขาทำงานของเขาไปก่อน อีกอย่างด้วยสภาพตลาดที่ยังเป็นแบบนี้ ยังไม่มีคนเดิน เราก็ยังไม่อยากให้เขากลับมารับช่วงต่อจากเราสักเท่าไหร่
“แต่ถ้าวันหนึ่งตลาดดีขึ้น กลับมาคึกคัก หรือเขาไม่ได้ทำงานประจำแล้ว ถึงเวลานั้นค่อยกลับมาต่อยอดเราก็ไม่ว่ากัน มันแล้วแต่เขาเลยว่าสนใจหรือเลือกที่จะทำต่อจากเราหรือเปล่า
“นอกจากลูกชายแล้ว ก็มีหลานซึ่งเป็นลูกของพี่สาวที่เขามีความสนใจอยู่ เพียงแต่ก็ต้องมาใช้เวลาในการเรียนรู้เหมือนกับที่เราเคยรับไม้ต่อจากคุณพ่อ เขาต้องทำให้ลูกค้าเชื่อถือด้วยตัวเขาเอง ต้องทำให้เชื่อว่ากาแฟร้านนี้ถึงเปลี่ยนคนชงแต่คุณภาพไม่เปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ในวันสองวัน”
หากถามว่าเสียใจหรือไม่ที่วันหนึ่งธุรกิจของตระกูลที่สร้างกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อจะต้องจบลงและไม่ได้ไปต่อในรุ่นของตัวเอง
ลุงอนันต์ชัยเงียบไปสักครู่ก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง
“ถ้าทุกอย่างมันต้องจบที่รุ่นเราก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากเราเริ่มกันมาตั้งแต่ 100 ปีก่อน เราเองก็อยากให้เตียย่งหลียังอยู่ต่อไป แต่ก็คงไม่เสียใจเพราะเราเองก็ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว และไม่ว่าจะยังไง เราก็จะยังคงอยู่ที่นี่ อยู่ที่ตลาดคลอง 12 แห่งนี้
“ถ้าทุกอย่างจบลง เราก็แค่ปิดบ้าน ปิดร้าน และใช้ชีวิตอยู่ต่อไป”