‘แคคตัส’ รักแรกของ ‘ลุงโอ่ง’ ทิชงค์ คุปตรัตน์ กับกว่า 40 ปีที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“จะบอกว่าเหมือนรักแรกพบก็ได้นะ”

ทิชงค์ คุปตรัตน์ หรือ ลุงโอ่ง พูดถึงกระบองเพชรหรือ ‘แคคตัส’ พรรณไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขามาตั้งแต่ยังหนุ่มจนถึงปัจจุบันที่อายุ 63 ปีแล้ว

จากรักแรกพบเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ทุกวันนี้ลุงโอ่งมีแคคตัสมากกว่า 100,000 ต้นในสวนของตัวเองที่เชียงใหม่
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่กับต้นไม้ชนิดนี้ สิ่งที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่จำนวนเท่านั้น หากแต่การดูแลไม้ยืนต้นหนามแหลมนี้ยังเพิ่มความเข้าใจในชีวิตให้กับเจ้าของด้วย

รักแรกเมื่อแรกรัก

ลุงโอ่งไม่ได้เกิดและเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร ชีวิตของเขาไม่ได้ผูกพันกับพืชชนิดไหน ไม่ได้มีความรู้สึกเป็นพิเศษกับต้นไม้ชนิดใด ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ใบ หรือไม้ผล

“เราเกิดในครอบครัวข้าราชการ พ่อทำงานสหกรณ์ ส่วนแม่ตอนหลังออกมาขายขนม ไม่ได้ผูกพันอะไรกับต้นไม้เลย อย่างมากก็มีแค่ต้นไม้ที่พ่อเขาปลูกไว้ประดับบ้านบ้าง เป็นพวกไม้ดอกกับผักสวนครัวไม่กี่อย่าง ซึ่งเป็นธรรมดาของคนต่างจังหวัดทั่วไป ที่ไม่ได้ลงลึก เพาะเลี้ยงจริงจัง เราเลยไม่ใช่คนที่ผูกพัน หรือรักต้นไม้มาก”

หลังเรียนจบบัญชีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลุงโอ่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำงานในบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง ทั้งที่มีอายุแค่ 20 ต้นๆ และเพียงเริ่มงานได้เพียงไม่นาน แต่เขากลับรู้สึกว่าชีวิตทำงานช่างน่าเบื่อหน่าย จึงคิดหางานอดิเรกแก้เบื่อแก้เหงายามที่อยู่ในห้องพัก

“สมัยนั้นเช่าหอพักอยู่เดือนละ 800 บาท ระเบียงห้องพอมีที่ว่างอยู่ก็เลยคิดว่าน่าจะหาต้นไม้มาเลี้ยงไว้สักหน่อย
พอคิดอย่างนั้นเราก็ไปเดินดูต้นไม้ที่สวนจตุจักร สาเหตุที่นึกถึงต้นไม้เพราะคิดว่าน่าจะใช้เงินไม่เยอะ ถ้าจะให้ไปสะสมของเล่นหรืออะไรอย่างอื่นก็คงจะมีราคาแพง เลยคิดว่าต้นไม้นี่แหละ แค่รดน้ำ นั่งดูมันออกดอกออกผลที่ริมระเบียงก็คงจะสวยงามดี”

ชายหนุ่มเดินหาต้นไม้ในสวนจตุจักรด้วยความหวังว่า จะได้ต้นไม้สักต้นที่เลี้ยงง่าย วันนั้นเขาผ่านตาต้นไม้มากมายหลายชนิด แต่ต้นเดียวที่เขารู้สึกถูกชะตาก็คือ แคคตัส

“มันเหมือนรักแรกพบ เขาโดดเข้าตาเรามาเลย ความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนทั่วไปอาจไม่ค่อยชอบแคคตัสเพราะเป็นพืชที่มีหนามรอบตัว ดูน่ากลัว หรือมองว่ารูปลักษณ์ไม่สวยงาม แต่เรากลับรู้สึกว่ามันดูแข็งแกร่ง อดทน แล้วการมีหนามของมันก็เพื่อที่จะป้องกันตัวเอง

“พอเห็นแล้วก็รู้สึกว่า แคคตัสนี่เหมือนกับชีวิตของตัวเองเลย เราเองก็ต้องอดทนด้วยความที่มีพี่น้องหลายคน ฐานะก็ยากจน เวลาได้อะไรมาก็ต้องแบ่งกันกินแบ่งกันใช้อย่างกระเบียดกระเสียร แต่มันก็ทำให้เราเติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง ไม่ยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ”

แคคตัสที่เป็นรักแรกพบต้นแรกในชีวิตของลุงโอ่งราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระถางอยู่ที่ประมาณ 3 นิ้ว ความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดนี้ก็มีเพียงเรื่องที่คนขายบอกมาว่า พืชชนิดนี้ชอบแดดและไม่ต้องรดน้ำบ่อย

“เราก็ไม่รู้ว่าที่คนขายแนะนำมามันถูกต้องจริงไหม ที่ว่าอย่ารดน้ำให้บ่อยมากหรือชอบแดด ต้องให้น้ำให้แดดประมาณไหน ตอนนั้นยอมรับว่าไม่มีความรู้เลย”

หลังจากพาแคคตัสต้นแรกมาอยู่ที่ระเบียงห้องได้สักพัก ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อเจ้าพืชหนามแหลมเริ่มมีตุ่มตางอกออกมา

“เราดีใจมากเพราะคิดว่ามันออกดอก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันคือหน่อใหม่ที่แทงออกมา มารู้ทีหลังว่าถ้าเป็นดอกของพันธุ์ที่ซื้อมาต้นแรกนี้จะมีลักษณะคล้ายรูปดาว สีออกน้ำตาลแดง แต่ความไม่รู้ทำให้เราหลงคิดไปเองว่าตุ่มตาที่เห็นเป็นดอก ทั้งที่มันไม่ใช่เลย”

หนุ่มนักบัญชีผิดหวังไม่น้อยที่ไม่ได้เห็นดอกจริงๆ ของแคคตัส เขาเฝ้ารอดอกของเจ้ากระบองเพชรด้วยใจจดจ่อ

แต่จนแล้วจนรอด แคคตัสต้นแรกก็ยังคงไม่ออกดอกให้เห็นเสียที

เรื่องรักเท่าที่รู้

“สิ่งที่เรายังขาดในเวลานั้นเลยคือ ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเลี้ยงเขาได้ดี”

ในยุคสี่ทศวรรษก่อนที่ยังห่างไกลกับการหาข้อมูลได้ง่ายๆ ทางอินเตอร์เน็ต ลุงโอ่งพยายามแสวงหาความรู้ด้วยการ
ไปสวนจตุจักรทุกสัปดาห์เพื่อพูดคุยกับเจ้าของร้านขายแคคตัส บวกกับหาข้อมูลจากหนังสือ แต่แหล่งความรู้ที่ดีที่สุดนั้นได้มาจากประสบการณ์ในการลงมือเพาะเลี้ยงด้วยตัวเอง

“สมัยนั้นคนที่มีความรู้เรื่องแคคตัสน้อยมาก เนื่องจากเป็นพืชที่คนยังไม่ค่อยให้ความสนใจ เราก็เลยหาความรู้จากการหาหนังสืออ่านเอาเองด้วย โดยจะดูชื่อ ดูวิธีเลี้ยง และสายพันธุ์

“แต่สิ่งที่ทำให้เราได้รับความรู้มากที่สุดจริงๆ เลยอยู่ที่การเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง เพราะพอเวลาผ่านไปเราจะยิ่งมีประสบการณ์และความรู้เพิ่มขึ้น”

ลุงโอ่งบอกว่าสิ่งสำคัญในการดูแลแคคตัสให้ได้ดีมีอยู่ 3 ปัจจัยคือ ดิน น้ำ และ แดด หากแคคตัสแต่ละต้นได้รับ 3 สิ่งนี้ในปริมาณที่พอดีกับความต้องการก็จะออกดอกและเติบโตอย่างแข็งแรงตามลักษณะสายพันธุ์ของตัวเอง

“อย่างแรกเลยคือดินต้องโปร่ง เพื่อที่ว่าเวลารดน้ำแล้วน้ำต้องซึมพรวดเดียวลงไปที่รากเลย ไม่ใช่ขังอยู่บนหน้าดินและค่อยๆ ซึมลงไป เพราะแคคตัสเป็นพืชที่ต้องการความชื้นแต่ไม่แฉะ ตัวรากเองก็ต้องการอากาศ ถ้าใส่ดินแน่น น้ำและอากาศก็จะไม่ลงไปสู่ราก รากก็จะมีโอกาสเน่า

“ส่วนเรื่องน้ำ เวลาให้น้ำแต่ละครั้งให้รดน้ำทีเดียวให้ชุ่มไปเลย ต้องให้น้ำลงไปถึงราก บางคนเอาฟ็อกกี้ไปฉีดเฉพาะหน้าดิน นั่นเป็นวิธีที่ผิด เมื่อน้ำลงไปสู่ราก แคคตัสก็จะกักน้ำเอาไว้ใช้ในตัวเขาเอง เวลาที่ไม่มีน้ำ เขาก็จะดึงพลังงานตรงนี้มาใช้ ทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้าเป็นไม้ดอกบางชนิดที่สวยๆ ขาดน้ำแค่ 2 วันก็คอตกแล้ว แต่แคคตัสนี่ไม่มีน้ำ 5 – 6 เดือนเขาก็ยังอยู่ได้

สำหรับปัจจัยสุดท้ายอย่างเรื่องของแดดนั้น เรียกว่าต้องนับเป็นชั่วโมงกันเลยทีเดียว โดยมาตรฐานแล้วจะอยู่ที่ 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่จะเลี้ยงแคคตัสต้องดูส่วนผสมของดิน น้ำ และแดดให้เหมาะสมกับแต่ละต้น ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องสัมพันธ์กัน เช่น ถ้าบางต้นเราให้น้ำเยอะ เราก็ต้องให้แดดเยอะขึ้นตามไปด้วย หรือบางต้นเขาเป็นทรงกลมอ้วน แต่เราเลี้ยงแล้วออกมาเป็นทรงยืดยาวก็แสดงว่าแสงแดดไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มแดดให้เขา แล้วแคคตัสแต่ละต้นล้วนไม่เหมือนกัน บางต้นเก็บน้ำได้มาก บางต้นเก็บได้น้อย บางต้นหน้าดินแห้งเร็ว บางต้นแห้งช้า เพราะฉะนั้นคนที่อยากจะเลี้ยงจริงๆ ต้องใส่ใจรายละเอียดให้มาก

“แคคตัสก็เหมือนคนแต่ละแบบที่ต่างกัน ถ้าเราอยู่กับเขาด้วยความเข้าใจ แคคตัสจะไม่ได้ทำให้เข้าใจแค่เรื่องของเขา แต่จะทำให้เราเข้าใจชีวิตไปด้วย”

เรียนรู้จากความรัก

ปัจจุบันในวัย 63 ปี ลุงโอ่งมีสวนแคคตัสเป็นของตัวเองชื่อว่า ‘สวนอกอีแป้นแตก’ อยู่ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ภายในสวนนี้มีแคคตัสมากกว่า 100,000 ต้น

รายได้ทั้งหมดของลุงโอ่งในตอนนี้มาจากการเพาะเลี้ยงแคคตัสขาย ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ทำให้เจ้าของสวนอย่างคุณลุงร่ำรวยล้นฟ้า แต่ก็พอมีกินมีใช้ไม่ขัดสน

“เรากับแคคตัสต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราดีกับเขา เขาก็ดีกับเรา เราเลี้ยงดูเขา เขาก็เลี้ยงดูเรา”

ลุงโอ่งบอกว่าตลอดเวลาที่อยู่กับแคคตัสมาเป็นเวลากว่า 40 ปี แคคตัสไม่ใช่แค่เป็นเพื่อนแก้เหงาที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต หากแต่ยังเป็นเสมือนครูผู้สอนเขาหลายเรื่อง

“อย่างแรกเลยเขาสอนเราในเรื่องความอดทนและรู้จักที่จะรอคอย เนื่องจากแคคตัสเป็นพืชที่ใช้เวลานานกว่าจะออกดอก มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ใช้เวลาเป็นปี เราต้องใจเย็น อดทน และรู้ว่าทุกอย่างมีช่วงเวลาของมัน

“นอกจากนั้นเขายังสอนเราในเรื่องการตรงต่อเวลาด้วย เพราะแม้จะออกดอกช้าแต่เขาก็ออกดอกตรงเวลาทุกปี อย่างเวลาที่เฟซบุ๊กของเราขึ้นเตือนความทรงจำว่าปีที่แล้วต้นนี้ออกดอกเวลานี้ เวลาเดียวกันของปีนี้ต้นเดิมก็ออกดอกเหมือนเดิม มันหมายความว่าเขามีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ แล้วก็ตรงต่อเวลาอย่างมาก”

ไม่เพียงเรื่องของความอดทน ตรงต่อเวลา หรือรับผิดชอบต่อหน้าที่ แต่แคคตัสยังสอนในอีกสิ่งซึ่งสำคัญมากๆ
ทั้งต่อตัวลุงโอ่งและอาจรวมถึงผู้คนในสังคม

“เวลาที่เรานำแคคตัสแต่ละต้นมาเพาะเมล็ดลงไปในกระถางเดียวกัน ปลูกอยู่ติดกัน เชื่อไหมว่าทั้งๆ ที่เขามีหนามแหลมคมและเบียดอยู่ใกล้กันมาก แต่เขากลับไม่เคยทิ่มแทงกันและกันเลย ต่างฝ่ายต่างมีแต่จะเว้นที่ให้อีกต้นมีทางไปและมีพื้นที่เติบโตอยู่เสมอ

“เราว่าตรงนี้แคคตัสเขาสอนและสะท้อนในเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดีมากเลย”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ