“Business Solution in Aging Society” สะท้อนมุมมองธุรกิจตอบโจทย์สังคมสูงวัย ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่วันที่ยังไม่ป่วย จนถึงวันที่จากไปอย่างมีคุณภาพ

ในวันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย คุณคิดว่าจะมีสินค้าและบริการอะไรบ้างที่จะสามารถช่วยตอบโจทย์ชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในสังคมไทย

ในวันที่พ่อแม่อายุมากขึ้น และบ้านเก่าไม่ตอบโจทย์ชีวิต คุณต้องการอะไร

ในวันที่ผู้ใหญ่ในบ้านเจ็บป่วยหนัก เราสามารถเลือกการดูแลรักษาพยาบาลในแบบที่ท่านต้องการได้ไหม

คุณเคยคิดไหมว่า จะมีใครให้บริการรับจัดบ้านที่เต็มไปด้วยของสะสมที่ไม่จำเป็นจนบ้านไม่เป็นบ้าน

หรือคุณจะประหลาดใจไหม ถ้ามีบริการรับวางแผนความตาย ที่จะช่วยให้เราทบทวนความต้องการสุดท้ายและเขียนพินัยกรรมชีวิตเพื่อการจากไปอย่างมีคุณภาพ

มนุษย์ต่างวัยชวนติดตามเรื่องราวจากวงเสวนา “Business Solution in Aging Society” ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ห้อง Grand Hall ชั้น 3 True Digital Park (West) กับแขกรับเชิญจาก 4 ธุรกิจ ที่จะมาร่วมแชร์มุมมองทางธุรกิจที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงคนทุกวัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

คุณเจือ คุปติทัฬหิ สถาปนิกอาวุโส Living Experience Designer of SCG HOME Experience 

พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูน

คุณอิม อิมยาดา เรือนภู่ ผู้ก่อตั้ง ‘แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน‘ 

และคุณกอเตย – ปิญชาดา ผ่องนพคุณ Founder & Death Planner ‘BAOJAI FAMILY’ 

ดำเนินวงเสวนาโดย ผศ. ดร.เจษฎา ศาลาทอง 

“สังคมเราเริ่มมีผู้สูงวัยมากขึ้น SCG ต้องเรียนรู้มากขึ้นว่าผู้สูงวัยมีเรื่องอะไรบ้างที่จำเป็นจะต้องดูแล โดยต้องยืดช่วงที่ผู้สูงอายุยังช่วยเหลือตัวเองได้ให้ยาวที่สุด และลดช่วงเจ็บป่วยให้เหลือน้อยที่สุด ฟังเผิน ๆ อาจดูเหมือนเรื่องสุขภาพ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาปนิกอย่างพวกผมด้วย

“เราแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ประกอบด้วย กลุ่มสีเขียว ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลุ่มสีเหลือง ต้องมีคนช่วยบ้าง และกลุ่มสีเเดง เริ่มก้าวเข้าสู่ระยะสุดท้าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยคนกลุ่มนี้ เราต้องหาเครื่องมือเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเขาเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน

“จุดเริ่มต้นในการทำงานของเราคือการคิดจากความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุว่ามีจุดไหนที่ต้องดูแลบ้าง เมื่อผู้สูงอายุเคลื่อนจากสีเหลืองไปสีแดงจะเปลี่ยนเรื่องสายตา เรื่องการเข้านอน และเเรงที่ถดถอยลง การปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ในบ้านก็จะเริ่มจากลูกบิด เวลาเข้าสู่วัยสูงอายุ การจับกระชับจะน้อยลง อะไรที่ต้องจับก็ควรเปลี่ยนให้เป็นเเบบผลักหรือกดเท่านั้น เป็นสิ่งง่าย ๆ ที่เราควรเริ่มเปลี่ยน 

“ส่วนเรื่องราวบันได ไม่ใช่มีราวให้จับเเล้วจบ เพราะราวที่ใหญ่เกินไป จับแล้วไม่เหมาะสม กำได้ไม่กระชับ เวลาล้มมือก็จะหลุดไปเลย ราวที่ดีที่สุด ควรเป็นราวกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว ซึ่งเป็นระยะที่ผู้สูงอายุกำได้กระชับพอดี 

“ประตูที่เหมาะสมควรจะเป็นประตูเลื่อน และมือจับเป็นก้านให้จับ เพราะถ้าเป็นประตูเปิด ถ้าพลาดจะล้มไปข้างหน้าเลย เเต่ถ้าเป็นประตูเลื่อน เวลาล้มไปก็ยังสามารถพยุงตัวเองได้อยู่ 

“อีกประเด็นคือผู้สูงอายุตื่นง่าย นอนยาก ถ้าพ่อเเม่เคยนอนด้วยกันมาตลอด แต่ไม่อยากให้กระทบคุณภาพการนอน ก็ให้นอนด้วยกัน ในห้องเดียวกัน เเต่ตัดเตียงหรือเเยกเตียงออก           

“ถ้าเราเรียนรู้เรื่องข้อจำกัดของผู้สูงอายุตั้งเเต่ต้น เราเริ่มคิดเรื่องการปรับบ้านสำหรับผู้สูงอายุได้ตั้งเเต่มีบ้านหลังเเรกเลย เพราะถ้ามาแก้ทีหลัง เเก้ยาก อย่างเรื่องบันได จุดที่เหมาะสมที่สุด  คือลูกตั้งหรือส่วนฐานแนวตั้งของบันไดแต่ละขั้นควรมีความสูงอยู่ที่ 15 เซนติเมตร ส่วนลูกนอนหรือตรงที่เราเหยียบควรสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ทำให้เดินแล้วผ่อนแรงมาก 

“การปรับครั้งที่ 2 ควรจะทำเมื่อผู้สูงอายุเคลื่อนจากสีเขียวเข้าสู่สีเหลือง หรืออยู่ในสีเหลืองช่วงกลางก็ควรย้ายผู้สูงอายุลงมาอยู่ชั้นล่าง หรือใช้ลิฟต์ช่วยเคลื่อนผู้สูงอายุขึ้นชั้นสอง รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนพื้นเพื่อลดความลื่น จะทำให้เวลาล้ม ไม่เจ็บหนักและไม่เป็นแผล รวมทั้งเรื่องราวจับและลูกบิด

“อีกเรื่องที่ควรระวัง คือเรื่องการมองเห็น ผู้สูงอายุมักจะแยกความต่างของสีไม่ได้ ถ้าเราทำประตูสีครีม ผนังสีขาว ผู้สูงอายุจะแยกไม่ออก เราต้องทาสีให้ตัดกันชัดเจนไปเลย ถ้าผนังสีขาวก็ทาประตูสีเข้ม ๆ ไปเลย 

“การปรับบ้านนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละครอบครัว แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือคุณพ่อคุณเเม่รักเรา ไม่อยากให้เราเสียเงิน แต่เราก็อยากจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับท่าน ถ้าได้พูดคุยกัน เลือกอุปกรณ์ตามเหมาะสม ก็จะเป็นทางออกที่ดี เราไม่จำเป็นต้องใช้ของเเพง แค่ปรับตามความเหมาะสม ดูว่าเราควรจะปรับตรงไหนบ้าง เช่น ราวจับ หรือการลดแสงรบกวนเวลานอน ปรับตามทรัพยากรที่ตัวเองมี ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง หรือถ้าหากอยากได้คำแนะนำเพิ่มเติมก็สามารถไปปรึกษาหมอบ้านที่ SCG ได้

“ศาสตร์ต่าง ๆ ในสังคมเราทุกวันนี้มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ เราเป็นบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง แต่เราก็ไม่ได้ขายอย่างเดียว เราต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เราต้องหาทางเลือก หาสิ่งที่ตอบโจทย์ เราต้องพาร์ทเนอร์ส หาคนรู้จริง เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาผสมผสานและพัฒนา เพื่อตอบสนองต่อชีวิตของพวกเราที่เปลี่ยนแปลงไป ทำต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง”

“เราจบมาเป็นหมอ ICU แล้วเห็นว่ามีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่รักษาไม่หาย และต้องเสียชีวิตในโรงพยาบาล เราเห็นคนไข้ทรมานจนถึงช่วงเวลาสุดท้าย เราเลยไปเรียนต่อทางด้าน Palliative Care (การดูแลแบบประคับประคอง) แล้วอินมาก เราได้เห็นว่าศาสตร์นี้ดีมาก ๆ เพราะเป็นการดูแลที่ทุกคนได้หมด ทั้งตัวคนไข้ ครอบครัว ผู้ดูแล ได้ทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขที่เพิ่มขึ้นในเวลาช่วงท้าย

“พอดีที่บ้านทำธุรกิจโรงพยาบาลอยู่เเล้ว เราเลยอยากมาอุดช่องว่างตรงนี้ มาทำเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ป่วย ที่เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย โดยมีจุดมุ่งเน้น คือทำยังไงก็ได้ให้เวลาที่เขามีอยู่นั้นเป็นช่วงเวลาที่ดี ไม่เน้นยื้อให้นานที่สุด แต่เน้นให้เขามีความสุขที่สุด

“คนไข้ระยะท้ายไม่จำเป็นต้องใกล้เสียชีวิต ขอเเค่เป็นโรคเรื้อรัง ที่คุณภาพชีวิตเริ่มไม่ดี อย่างเช่น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีปัญหาเรื่องการกลืน การติดเชื้อต่าง ๆ ถ้าเราได้คุย ได้วางแผนการรักษากับเขาแต่แรก เราก็จะรักษาเขาอย่างเต็มที่ เเต่ไม่ล้ำเส้นสิ่งที่เขาต้องการ 

“กลุ่มต่อมาที่เราดูเเล คือผู้ดูเเล บางครั้งผู้ดูแลเหนื่อยมาก เวลาที่เราให้คนไข้หรือผู้สูงอายุมาพักกับเรา ผู้ดูแลก็สามารถกลับไปพักได้เลย 2 อาทิตย์ ส่วนคนไข้หรือผู้สูงอายุก็จะได้พักผ่อน เรามีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทำ ทั้งดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด มีการพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เขาได้เจอเพื่อน เจอสิ่งเเวดล้อมใหม่ ๆ  ทำให้เขารู้ว่าเขาไม่โดดเดี่ยว ความป่วย ความทุกข์ของเขายังมีคนให้เเชร์อยู่ เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนพบเจอได้ 

“อีกกลุ่มที่เราดูแล คือผู้ป่วยโรคมะเร็ง เราจะดูแลเรื่องเคมีบำบัด เรื่องการให้สารอาหาร ในกรณีที่รู้สึกเพลียมาก ไม่สามารถทานอาหารได้ ก็มาให้สารอาหารทางหลอดเลือด เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร รวมทั้งเรื่องการบรรเทาและควบคุมความเจ็บปวดของคนไข้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มโอพีดี หรือคนไข้นอก ซึ่งยังเเข็งเเรงดี แต่อาจจะมีอาการปวดแขนมาก หรืออาการเฉพาะจุดอื่น ๆ เราก็ปรับยาให้ พอเราปรับยา เขาอาการดีขึ้น ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนไข้และครอบครัว ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลกับคนไข้ แต่เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเขา ทุกคนในโรงพยาบาลได้รับการฝึกฝนทักษะ Deep Listening พร้อมที่จะเป็นผู้ฟัง ตั้งเเต่ยาม คนเข็นเตียง ไปจนถึงบุคลากรทางทางเเพทย์ เรารู้ดีว่าคนไข้ส่วนใหญ่ไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่าโรงพยาบาลไม่ได้เป็นที่ที่คนไข้ได้เป็นตัวเอง ไม่มีใครรับฟังความต้องการของเขา บางครั้งคุยกับคนไข้เป็นชั่วโมง หรือคุยกับคนไข้ 10 นาที คุยกับญาติอีก 50 นาที เพราะเรารู้ว่าทุกคนต้องการพื้นที่ตรงนี้ พอเราฟังเขาเป็น เราก็เข้าใจเขามากขึ้น รู้ว่าเขาต้องการอะไร เราก็สามารถให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้ ไม่ได้ให้ไปทุกอย่าง แต่ให้ในสิ่งเขาต้องการจริง ๆ ซึ่งทำให้การดูแลเเบบประคับประคองมีค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าการรักษาเเบบทั่วไปประมาณ 30-50% เพราะเราไม่ได้ให้การรักษาทุกอย่าง แต่เราให้เฉพาะสิ่งที่เขาต้องการ 

“ทุกวันนี้เราเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง เราไม่สามารถดูแลคนไข้ให้ทั่วถึงได้ เราพยายามจะขยายบริการต่าง ๆ ของเราออกไปเรื่อย ๆ ในอนาคตเราอยากให้คนไข้ทุกคนสามารถกลับไปรักษาต่อที่บ้าน เพราะเราเชื่อว่าบ้านคือที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคนไข้ โดยที่เราคอยให้คำปรึกษา จัดเตรียมยา และอำนวยความสะดวกในเรื่องการสร้างทักษะที่ถูกต้องให้ผู้ดูแลสามารถดูเเลต่อที่บ้านได้ ถ้ามีปัญหาอะไรก็สามารถมาปรึกษาเราได้ตลอด”

“ธุรกิจจัดระเบียบบ้านเป็นธุรกิจที่ช่วยคนที่ประสบปัญหาเรื่องบ้านรก ของเยอะ บ้านที่มีปัญหาเรื่องการซื้อ การจัดเก็บของ เราจะเข้าไปดูเเลจัดการ รื้อ ทำความสะอาด ให้เหมือนตอนเข้ามาอยู่วันแรก

“จริง ๆ อาชีพนี้มีอยู่เเล้วในต่างประเทศทั้งเกาหลี จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เเต่เมืองไทยยังไม่มี เเมวบินเป็นเจ้าเเรก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมา จากความรู้สึกว่าทุกคนก็มีปัญหาเรื่องนี้ และถ้ามีบริการนี้ขึ้นน่าจะตอบโจทย์หลายอย่าง ทั้งเรื่องของสังคมสูงวัย รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ด้วย 

“เวลาเราไปทำงาน อันดับแรก เราจะคำนวณว่าบ้านหลังนี้มีคนอยู่กี่คน ของในบ้านมีเท่าไหร่ มีอะไรบ้าง เเล้วรื้อออกหมดเลย นำมาคัดแยกประเภท พอแยกประเภทเสร็จก็จะนำมาคัดทีละชิ้น ๆ เเล้วเก็บบริจาค ทิ้ง โดยใช้หลัก 80-10-10 คือ เก็บของที่ใช้ในปัจจุบัน 80% ของที่เป็นความทรงจำในอดีต 10% และของที่ต้องใช้ในอนาคตอีก 10%

“ลูกค้าเรามีตั้งแต่วัยทำงาน ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะช่วงนี้จะมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 10% เรารับจัดตั้งเเต่ห้องเดี่ยวไปจนถึงบ้านหลังใหญ่ อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม ดูแลทั้งบ้านเทียบเท่ากับงานรีโนเวท 

“เคสที่หนักที่สุดที่เราเคยเจอ คือ เคสโรคสะสมของในวัยสูงอายุ เพราะเขาเเทบจะไม่ทิ้งอะไรเลย ถ้าบ้านหลังใหญ่ด้วย เรายิ่งจัดการได้ยาก เวลาไปจัดบ้าน เราจะอธิบายทีละขั้นตอน ให้เขาเข้าใจวิธีการทำงานของเราก่อน ถ้าพูดถึงกลุ่มลูกค้าสูงอายุ เมื่อก่อนลูกหลานจะเป็นคนจัดหา ติดต่อให้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นเทรนด์ ผู้สูงอายุเดี๋ยวนี้ อยากลด ละ เลิกสะสมของเเล้ว เขาอยากให้เราเข้าไปช่วยจัดบ้าน ล้างบ้าน สังคายนาบ้าน เขาเลยต้องการบริการนี้ 

“ผู้สูงอายุผ่านเรื่องราวมามากมายหลายสิบปี อะไรที่ผ่านมา ไม่เคยทิ้ง จนวันหนึ่งเริ่มหนัก เริ่มจัดการไม่ไหว หงุดหงิด สุขภาพจิตเสีย เขาก็เรียกใช้บริการเรา แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค คือ ความเสียดายที่ยังมีอยู่ เเล้วเสียดายแบบไม่รู้ว่าเสียดายยังไง ในระหว่างรื้อ ก็มีความยากตรงที่เขาตัดใจไม่ได้ เราก็ต้องคุย ต้องอธิบาย เพราะของทุกชิ้นที่เรารื้อผ่านมือทุกชิ้น ไม่ใช่น้อย ๆ แต่เป็นเเสนชิ้น ระหว่างที่เราทำ เราจะเจออารมณ์ของผู้สูงอายุ เราก็ต้องใจเย็น 

“เราเป็นนักจัดระเบียบบ้าน เราต้องเข้าใจเขามาก ๆ เพราะสิ่งที่เราทิ้ง เราไม่ได้ผ่านเรื่องราวความสวยงามระหว่างทางกับเขามา จะทิ้งอะไรต้องเข้าใจให้มาก ถ้าเขาได้เล่าออกมา เราจะรู้ว่าของบางอย่างเป็นความผูกพันของเขา

“ส่วนตัวเรามองว่าธุรกิจนี้มันยั่งยืนไปได้ตลอด เพราะบ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ทุกคนต้องอยู่บ้าน ทุกคนต้องมีบ้าน ต้องมีที่อยู่อาศัย เรื่องงานบ้านเป็นเรื่องที่เราหนีไม่พ้น ต่อให้โลกนี้จะมีวิวัฒนาการขนาดไหนก็ตาม”

“‘Baojai Family อยู่อย่างเบาใจ จากไปอย่างใจเบา’ เกิดขึ้นจากความเชื่อว่าเราเป็นเจ้าของชีวิตของเราเอง ตั้งเเต่การรับผิดชอบการมีชีวิตอยู่เพื่อให้อยู่ดี จนกระทั่งถึงความรับผิดชอบชีวิตไปสู่การตายดี

“ในวันที่คุณพ่อป่วย เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ต้องเข้าสู่การดูแลแบบ Palliative Care จุดหนึ่งที่ยากมากสำหรับครอบครัวเรา คือ การคุยเรื่องแพลนที่จะดูแลคุณพ่อ หรือจะจัดการอะไร ยังไงบ้างในวันที่คุณพ่อจากไป ยิ่งเป็นวันที่คุณพ่อต้องดริปยาระงับปวดแล้ว มันยิ่งยาก เพราะยิ่งเราใกล้ความตายมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีความสั่นไหวในการคุยเรื่องนี้มากเท่านั้น 

“เราก็เลยเห็นว่าการคุยเรื่องนี้เป็นเรื่องยากขนาดไหน บางคนมีสมุดเบาใจ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการวางแผนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนยังไง เพราะในวันที่เรายังแข็งแรงดี เราไม่รู้ว่าเราเขียนเเล้วจะเอาไปใช้ตอนไหน เพื่ออะไร จึงเป็นจุดที่ Death Planner อย่างเราจะเข้ามาช่วยทำให้เขารู้ว่าการเป็นเจ้าของชีวิต สามารถเตรียมตัวตายดีได้อย่างไร อะไร คือ คุณค่าในการมีชีวิตอยู่ เชื่อมโยงไปสู่คุณค่าในวันที่เราจะจากไป สิ่งนี้จะช่วยให้การเขียนสมุดเบาใจง่ายขึ้น เพราะเราได้ทบทวนว่าเราให้ความหมายของชีวิตแบบไหน

“อีกประเด็นคือหลายคนเขียนเสร็จ เเต่สื่อสารไม่ได้ เขียนเสร็จก็เก็บไว้ ไม่มีใครรู้ เราก็จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารให้คนในครอบครัวได้รับรู้เจตนาของเจ้าของชีวิตร่วมกัน เเละทำความเข้าใจว่าเขาต้องการอะไรในช่วงท้าย 

“สมุดเบาใจได้รับการรับรองตามกฎหมายตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ซึ่งระบุไว้ว่า ‘คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเเสดงเจตนาไม่รับการรักษาในช่วงวาระท้ายของชีวิต’ เราสามารถยื่นที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ เขาจะรู้ว่าเราทำ Advance Directives หรือ Living Will ไว้แล้วเพื่อแสดงเจตนาความต้องการในบั้นปลาย ซึ่งเเผนนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ทุกเดือน ทุกปี โดยจะยึดเล่มล่าสุดเป็นสำคัญ ที่สำคัญสมุดเล่มนี้จะช่วยให้เรามองเห็นว่าเราอยากทำอะไรในช่วงที่เหลืออยู่ของชีวิต รวมไปถึงการจัดร่างกายและงานศพด้วย 

“เราให้บริการ 3 รูปแบบ มีเเบบคู่ แบบเดี่ยว และเบาใจ ฟอร์ แฟมิลี ที่ทำให้สำหรับทั้งครอบครัว เราจะเข้าไปช่วยคลี่คลายเรื่องความสัมพันธ์ต่าง ๆ ไปจนถึงพูดคุยเรื่องความต้องการในช่วงท้ายของคนในครอบครัว 

“หลังโควิด-19 เทรนด์การคุยเรื่องความตายเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราเริ่มเห็นความไม่แน่นอนของชีวิตมากขึ้น กลุ่มลูกค้าคือคนที่สนใจเรื่องนี้อยู่เเล้ว แต่คุยเรื่องความตายกับคนที่บ้านได้ยาก ส่วนอีกกลุ่มคือคนที่กำลังจะเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ โดยเฉพาะคนสูงวัยที่อยู่เป็นโสด เเละอยากเตรียมตัวเรื่องนี้ เขาจะมองเราเป็นเพื่อน ฝากฝังบางอย่างไว้กับเราได้ และกลุ่มสุดท้าย คือผู้สูงวัยที่เป็น LGBTQ+ ด้วยนโยบายบางอย่างที่ยังไม่รองรับ การเตรียมตัวแบบนี้ จะช่วยทำให้เกิดรูปธรรมชัดเจนที่ทำให้เขาสื่อสารแทนกันได้ในวันที่อีกคนไม่สามารถสื่อสารได้

“คู่เเข่งเราคือกาลเวลา เพราะปัจจุบันคนเริ่มคุยเรื่องความตายกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี  ที่ทุกคนในครอบครัวจะสื่อสารเรื่องนี้กันได้ แต่เราคิดว่ายังมีอีกหลายเรื่องในมิติความตายที่เราต้องเตรียม อย่างการเตรียมพร้อมสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ซึ่งสังคมไทยยังต้องการสิ่งนี้”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ