คุยกับ บุษบา ต้นทอง อดีตครูสอนภาษาในค่ายผู้ลี้ภัย ผู้เชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาใหม่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย

“ผู้อพยพส่วนหนึ่งคือผู้ลี้ภัยทางการเมือง ภาษาอังกฤษสำหรับเขาคือการเอาชีวิตรอด ไม่ใช่การไปสอบ ทำให้เราเห็นชัดว่า ไม่ว่าจะเริ่มเรียนตอนไหน อายุเท่าไหร่ ทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้”

มนุษย์ต่างวัยชวนรู้จักกับ ผศ. ดร.บุษบา ต้นทอง หรือ “ครูบุส” วัย 64 ปี อดีตครูสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้อพยพในค่ายผู้ลี้ภัยมากว่า 10 ปี การใช้ชีวิตที่ค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้หญิงชาวเมืองอย่างเธอได้เห็นชีวิต การต่อสู้ การเปลี่ยนแปลงของสังคม และได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม

จากนิสิตรั้วจุฬาฯ สู่ ค่ายผู้ลี้ภัยทางการเมือง

หลังเรียนจบจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2524 ครูบุสก็เริ่มอาชีพแรกด้วยการสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในค่ายผู้ลี้ภัย จ.หนองคาย

“องค์กรที่เราสมัครไป ชื่อ Pragmatics เป็น Subcontract ของ UN สุดท้ายเราก็ได้รับการคัดเลือกให้ไปเป็นคุณครูสมใจ ที่แรกที่ได้ไปคือ Transit camp หรือแคมป์พำนักพักรอสำหรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองระหว่างรอประเทศที่ 3 เรียกตัว ใน จ.หนองคาย

“ตอนนั้นเราคิดแค่ว่า ถ้าได้ออกไปใช้ชีวิตไกลบ้าน มันน่าจะสนุกดี เพราะสมัยเรียนเราเป็นคนทำกิจกรรม ชอบไปออกค่ายสร้าง ไปแบกอิฐ ถือปูน สอนหนังสือ สร้างห้องสมุด การอยู่กับชุมชนมันเลยติดตัวเรามาตั้งแต่นั้น แต่พอไปใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นจริง ๆ แม้สังคมที่นั่นจะน่ารัก ดูแลเราเหมือนลูกหลาน แต่ความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบาก เรากับเพื่อนต้องรวมตัวกันเช่าบ้านนอกแคมป์ ตื่นเช้ามาก็พากันโหนรถสองแถวออกไปสอนหนังสือ (หัวเราะ) แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่างในชีวิตมากมาย”

10 ปี ในค่ายผู้ลี้ภัย ห้องเรียนขนาดใหญ่ของชีวิต

ครูบุสเล่าให้เราฟังว่าในค่ายผู้ลี้ภัยจะมีลักษณะเป็นกระท่อม มีพื้นเป็นดิน และมุงหลังคาด้วยใบจาก หน้าห้องมีกระดาน Flip chart แผ่นใหญ่ตั้งไว้สำหรับสอนหนังสือ ในแต่ละค่ายจะมีผู้อพยพอยู่ประมาณ 15 คน ส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี กินนอนอยู่ร่วมกันภายในนั้น แม้จะเป็นห้องเรียนเล็ก ๆ แต่กลับเป็นพื้นที่อันทรงพลังที่เปิดโลกกว้างใบใหม่ให้เธอเห็น

“ในยุคนั้น ผู้ลี้ภัยจะย้ายไปใน 3 ประเทศหลัก คือ ฝรั่งเศส อเมริกา และออสเตรเลีย ตอนนั้นยังมีคนลาวบางคนยังใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อยู่ แต่เราจะเน้นสอนภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผู้ลี้ภัยแต่ละคนจะถูกแบ่งระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษก่อน หลายคนเป็นคนเมือง หรืออยู่ในอาชีพที่มีความรู้สูงอยู่แล้ว เช่น หมอ ก็จะเน้นสอนการอ่านและเขียน แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้เริ่มต้น เราจะเน้นสอนการพูดหรือการใช้บทสนทนาเป็นหลัก

“ภาษาอังกฤษที่เราสอนคือภาษาเพื่อการเอาตัวรอด (Survival English) หรือบทสนทนาเพื่อให้เขาเอาไปใช้ในวันข้างหน้า ซึ่งทางองค์กร Pragmatics จะมีหลักสูตรวางไว้ให้หลายหมวดทั้งเพื่อการประกอบอาชีพหรือเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อย้ายประเทศไปแล้ว ต้องเจอกับสถานการณ์อะไรบ้างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี การแลกเงิน การตอบคำถามที่สนามบิน หรือการซื้อของ 

“สำหรับผู้ลี้ภัยแล้ว การเรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่การฝึกภาษา แต่มันคือความจำเป็น (Needs) และคือชีวิตจริง เขาจะตั้งใจมาก เรามองไปที่พวกเขาก็เห็นแต่ความพยายาม มันยิ่งทำให้เราทุ่มให้เขาเต็มที่ มีความรู้เท่าไหร่ก็ให้เขาหมดเลย เพราะเราคิดว่าต่อจากนี้ไป ภาษาคือต้นทุนที่ทำให้เขาได้มีชีวิตใหม่

“แต่ก่อน เราเห็นคำว่า ‘มนุษยธรรม’ แค่ในหนังสือ แต่ไม่เคยเข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร แต่พอได้มาทำงานตรงนี้ เราไม่เคยสนใจเลยว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้เขาเป็นใคร มาจากไหน หรือทำอะไรมาก่อน เราแค่คิดว่าเขาคือเพื่อนมนุษย์คนหนี่ง อะไรที่เราพอจะช่วยเหลือเพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เราก็จะทำ”

หลังจากทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยมาร่วมกว่า 10 ปี เมื่อค่ายปิดตัวลง ครูบุสเลือกกลับมาศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอก และยังคงสอนภาษาอังกฤษให้กับนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นการสอนภาษาอังกฤษเหมือนกัน แต่กลุ่มผู้เรียนที่ต่างกัน ย่อมทำให้เห็นว่าอุปสรรคของการเรียนภาษาไม่ใช่เรื่องอายุ แต่กลับเป็นเรื่องอื่น

“การสอนผู้อพยพกับเด็กมหาวิทยาลัยต่างกันมาก เพราะความจำเป็นในการใช้งานของเขาต่างกัน ผู้อพยพมีความต้องการในการใช้ภาษาอังกฤษมาก เพราะมันหมายถึงความอยู่รอด พอมีความตั้งใจสูงมาก เราสอนอะไรไป เขาจะรับและใช้เป็นได้ทันที 

“ในขณะที่หลักสูตรชั้นเรียนภาษาบ้านเราในตอนนั้นยังบังคับให้เด็กเรียนทุกคนเรียนเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจยังไม่ได้มีความจำเป็น (Needs) หรือต้องการจะเรียน (Wants) ด้วยซ้ำ หลักสูตรออกแบบมาให้ท่องแกรมมาร์ และทำแบบฝึกหัดเพื่อไปสอบ ไม่ได้เรียนเพื่อไปใช้ชีวิตรอด การเรียนรู้และฝึกฝนของเขาจึงไม่ได้อยู่ในชีวิตจริง แต่ทำทุกอย่างไปเพื่อวันเดียว คือ วันสอบ เราต้องเข้าใจว่า ภาษามันคือการสื่อสารอย่างมนุษย์ แต่ระบบการเรียนภาษาทำให้เราห่างไกลความเป็นมนุษย์มาก มันเลยทำให้การเรียนภาษาบ้านเราไม่สนุก 

“เด็กบางคนทำไม่ได้ คะแนนไม่ดี แต่ไม่ได้เป็นสิ่งสะท้อนความจริงเลยว่าเด็กคนนั้นโง่หรือไม่เก่งเท่าเพื่อน แต่อาจเป็นเพราะความสนใจเขาคือสิ่งอื่นต่างหาก เชื่อไหมว่า ถ้าเราเรียนภาษากันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการสอบวัดผล แต่เรียนด้วยความอยากจะใช้หรืออยากจะพูดภาษานั้นได้จริง ๆ เราจะเห็นศักยภาพในตัวคนแต่ละคนสูงมาก”

“ในโลกสมัยใหม่ เราคิดว่าภาษาเป็นเรื่องของความสนใจ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องบังคับ เด็กสมัยนี้มีความสนใจหลากหลายและเข้าถึงความรู้ได้เร็วและง่ายกว่าคนรุ่นเรามาก และโลกนี้มีภาษามากมาย ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ เด็ก ๆ อาจสนใจสิ่งเหล่านั้นมากกว่า และถ้าเขาได้ทำในสิ่งที่เขาสนใจ มันจะพาชีวิตเขาไปได้ไกลกว่านี้มาก”

การเรียนรู้สิ่งใหม่ทำได้ตลอดชีวิต เพราะอุปสรรคเดียวที่ขวางกั้นไม่ใช่อายุ แต่คือทัศนคติ  

จากประสบการณ์ของครูบุส ทำให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้ว อายุไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเรียนภาษาใหม่แต่อย่างใด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือทัศนคติ ความสนใจ และการนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงต่างหาก

“ประสบการณ์ทั้งในแคมป์และการสอนนักเรียนมันบอกเราว่า ผู้ใหญ่มีการเรียนรู้ไม่เท่าเด็กจริง แต่ไม่ใช่เรื่องของสมองหรือความจำไม่ดี แต่เป็นเรื่องทัศนคติต่างหาก เด็กจะเรียนภาษาไปตามธรรมชาติ ในขณะที่ผู้ใหญ่จะเรียนด้วยความคาดหวัง ซึ่งมีส่วนทำให้ปิดกั้นการเรียนรู้ แต่ก็มีข้อได้เปรียบเหมือนกัน คือความตั้งใจ และการเห็นเป้าหมายชัดเจน ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอต่อความสำเร็จแล้ว 

“หากมีใครมาถามว่า “ฉันอายุ 50 กว่าแล้ว จะเรียนภาษาใหม่ได้ไหม ?” นั่นเท่ากับว่าเป็นการด่วนตัดสินตัวเองไปแล้วว่าอายุเท่านั้น เท่านี้

ฉันจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ซึ่งมันไม่เกี่ยวเลย ฉะนั้น อย่าไปคิดเยอะ ต่อให้คุณอายุ 50-60 ปี แล้ว แต่ถ้าอยากทำอะไร เรียนอะไร ก็ลงมือทำเลย การเรียนภาษาไม่เคยทำให้ใครตาย (หัวเราะ)

“เราสอนหนังสือมา 40 ปี เชื่อเสมอว่าการเรียนรู้มันอยู่ที่การเปิดรับ และไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาหรือเรื่องอื่น ถ้ารัก ถ้าชอบ มันจะมีทางไปได้เอง ไม่ว่าคุณจะเรียนจบอะไรมา หรือจะเริ่มตอนช่วงวัยไหน และยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องการใช้มันจริง ๆ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทุกคนก็ทำได้จริง ๆ”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ