บ้านกึ่งแกลเลอรีขนาด 17 ตรว. ที่บรรจุความหลงใหลของคนในครอบครัวบุญพรัด

มนุษย์ต่างวัยพาไปรู้จักกับครอบครัวบุญพรัด ที่ประกอบไปด้วย พ่อตุ๊ – จตุพล บุญพรัด (อายุ 60 ปี) แม่กริ๋ง-จินตนา บุญพรัด (อายุ 60 ปี) และลูกชาย คุณสิงห์ – ภูริ บุญพรัด ลูกชาย (อายุ 26 ปี) ซึ่งทั้ง 3 คน มีความสนใจแตกต่างกัน แต่ก็สามารถเปลี่ยนบ้านทาวน์เฮาส์หลังเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 17 ตรว. เป็นที่บรรจุสิ่งที่พวกเขารักได้อย่างลงตัว

พี่ตุ๊ – จตุพล บุญพรัด คือผู้หลงรักหนังสือ และอดีตเคยเป็นบรรณาธิการใหญ่ของสำนักพิมพ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เขาใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่กับหนังสือกว่า 2 หมื่นเล่มที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงาน โดยทุกวันพี่ตุ๊จะตื่นขึ้นมาหยิบหนังสือจากทั่วทุกมุมของบ้านมาเปิดอ่านอย่างน้อย 1 เล่ม เมื่อมีเวลาว่าง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักในชีวิตประจำวันนับตั้งแต่เกษียณเป็นต้นมา

ในขณะที่พี่กริ๋ง- จินตนา บุญพรัด ผู้เป็นภรรยามีงานอดิเรกคือการวาดภาพสีน้ำ เธอเปลี่ยนพื้นที่เล็กในครัวเป็นห้องวาดภาพและบอกกับตัวเองว่าจะวาดภาพให้ได้อย่างน้อยวันละหนึ่งภาพ และส่วนคุณสิงห์ ภูริ บุญพรัด ลูกชายคนเดียวของบ้านที่ชอบเลี้ยงปลาและขยายพันธุ์ไม้น้ำในพื้นที่ว่างของบ้าน ทำให้เมื่อเอางานอดิเรกของสมาชิกในครอบครัว 3 คนมารวมกัน บ้านหลังนี้จึงเต็มไปด้วยผลงานศิลปะของครอบครัว ที่แม้จะแตกต่างแต่เมื่อนำมาวางรวมกันแล้วดูสวยงาม อบอุ่น และมีเสน่ห์ จนไม่น่าเชื่อว่าทุกอย่างนี้จะสามารถอยู่รวมกันในบ้านทาวน์เฮาส์หลังเดียวกันได้

พ่อผู้หลงใหลหนังสือ

ตุ๊ -จตุพล บุญพรัด อยู่ในวงการหนังสือกว่า 40 ปี เป็นบรรณาธิการให้หนังสือชื่อดังมากมายกว่า 300 เล่ม โดยทั้งเป็นคนแก้ไขต้นฉบับ ออกแบบหน้าปก ไปจนถึงวาดภาพประกอบ แต่ด้วยความรู้ มุมมอง และประสบการณ์ด้านบรรณาธิการของพี่ตุ๊ ก็ได้ช่วยให้หนังสือหลากหลายเล่มโด่งดังขึ้นมา จนได้รางวัล “บรรณาธิการดีเด่น คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2560″ ซึ่งถือได้ว่าชีวิตของพี่ตุ๊นั้นอุทิศให้กับวงการหนังสือไทยอย่างไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนเกษียณ หรือหลังเกษียณแล้วก็ตาม

“จุดเริ่มต้นของผมก็เหมือนกับคนรักหนังสือหลายคน คือเป็นคนชอบอ่าน ชอบเขียนตั้งแต่เด็ก ก่อนเข้ากรุงเทพฯ ผมเป็นเด็กในจังหวัดพัทลุง ที่ครอบครัวก็ไม่ได้มีรายได้อะไรมาก แต่สมัยเรียนประถมฯ-มัธยมฯ ผมยืมหนังสือจากห้องสมุดบ่อย ซึ่งก็โชคดีที่โรงเรียนผมสนับสนุนเรื่องการอ่านให้แก่เด็ก ๆ มาก และตอนนั้นเป็นช่วงปี 2526 ที่ประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางอุดมการณ์พอดี ทำให้ผมมีความตื่นรู้ และอยากอ่านให้เยอะ เพราะสมัยนั้นมีแต่การอ่านนี่แหละที่ทำให้ตามสถานการณ์บ้านเมืองทัน ทำให้ผมได้เห็นโลก ได้รู้ประวัติศาสตร์ ได้เข้าใจวัฒนธรรมมากขึ้น”

“ช่วงที่มาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ ๆ ผมต้องอาศัยอยู่บ้านญาติ เลยยังไม่มีห้องของตัวเอง แต่หลังจากนั้นปีเดียวผมก็ย้ายออกมาอยู่ห้องเช่าคนเดียว ทำให้เริ่มสะสมหนังสือจริงจังตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ด้วยความที่ผมเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เลยมีเงินซื้อหนังสือเดือนละประมาณ 10 เล่ม และก็ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นหลังจากเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นเพื่อน ๆ ที่มาหาจะชอบพูดว่า ไอ้ตุ๊สะสมแต่หนังสือ คุยกับหนังสือมากกว่าคุยกับคนเสียอีก”

“พอเรียนจบเลยไปเป็นทั้งนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แล้วก็มาทำงานกับสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือขายเป็นหลัก ซึ่งเป็นช่วงที่ผมซื้อหนังสือมากที่สุด คือเดือนละ 30- 40 เล่ม เพราะมีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว ตอนนั้นยังไม่มีเวลาอ่านหรอก แต่พอผมทำงานจนใกล้เกษียณก็มีหนังสือในบ้านที่ยังไม่ได้เปิดอ่านมากกว่าหมื่นเล่มแล้ว”

“นับตั้งแต่มีหนังสือเล่มแรก จนถึงวันนี้ที่มีเป็นหมื่นเล่ม ช่วงเวลาหลังเกษียณคือช่วงที่ดีที่สุดที่ผมจะได้อ่านพวกมัน ซึ่งผมว่าเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ก่อนเกษียณผมไม่ได้มีเวลาอ่านหนังสือในบ้านมากนัก และรู้สึกว่าตัวเองคิดถูกที่ซื้อหนังสือมาเก็บไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะเหมือนรู้ว่าชีวิตหลังเกษียณของผมจะต้องการพวกมันอยู่ยิ่งกว่าช่วงเวลาไหน ๆ เพราะสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการอ่านหนังสือมานานคือ หนังสือทุกเล่มเปรียบเสมือนเพื่อนที่สามารถ อยู่กับเราได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์”

แต่ผมไม่ใช่เจ้าของบ้านเพียงคนเดียว และทุกคนในบ้านก็ควรมีพื้นที่ของตัวเอง อย่างภรรยาผมจะวาดรูปทุกวันอย่างน้อยหนึ่งรูป เขาก็ต้องมีพื้นที่ไว้สำหรับทำงานศิลปะ ส่วนลูกชายชอบเพาะพันธุ์ไม้น้ำกับเลี้ยงปลา เขาก็ต้องมีโซนไว้วางตู้ปลา เราเลยต้องแบ่งพื้นที่เพื่อไม่ให้ข้าวของเราไปล้ำพื้นที่อีกคน”

“ผมคือคนที่สะสมของเยอะที่สุดในบ้าน มันก็ไปเกะกะคนอื่นบ้าง ล้นตู้ออกมาบ้าง แต่ผมก็ยังไม่อยากเอาไปทิ้งหรือไปบริจาค เพราะทุกเล่มมันคือความสุขของผม ทำให้ต้องจำใจย้ายรถไปอยู่ข้างนอกถาวร เพื่อให้โรงรถที่ว่างอยู่กลายเป็นที่เก็บหนังสือแทน ซึ่งก็ดีเพราะโรงรถเก็บหนังสือได้เป็นพันเล่ม ในบ้านเลยมีพื้นที่ให้หายใจบ้าง ส่วนห้องครัวก็กลายเป็นพื้นที่ให้ภรรยาวาดรูปเป็นหลัก โดยผมจะไม่ให้หนังสือของผมไปเกะกะ และพื้นที่ว่างอื่น ๆ ก็ปล่อยให้ลูกชายเอาตู้ปลามาวาง”

“ถ้าเป็นบ้านอื่น หากมีคนในบ้านชอบสะสมของจนล้นต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้างแหละ แต่ผมโชคดีตรงที่ทั้งภรรยาและลูกชายมีความคิดแบบศิลปินสูง และพวกเขาก็เข้าใจว่าหนังสือทุกเล่มมันไม่ใช่แค่สิ่งของ แต่มันคือส่วนหนึ่งในชีวิตผม”

ลูกชายผู้หลงใหลการเลี้ยงปลาและไม้น้ำ

ปัจจุบัน สิงห์ – ภูริ บุญพรัด ในวัย 26 ปี รับราชการอยู่กับกองดุริยางค์ทหารเรือ เขาไม่ได้ชอบอ่านหนังสือเหมือนพ่อ หรือวาดรูปได้อย่างแม่ แต่ความสุขของเขาคือการเฝ้าดูต้นไม้น้ำเติบโตในตู้ ทำให้สิงห์ต้องอยู่ในบ้านที่ทุกคนเป็นศิลปินในแบบของตัวเอง ซึ่งทำให้เขาภูมิใจที่ได้อยู่ในบ้านหลังนี้มาก

“ก่อนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ผมอยู่กับญาติที่อ่างทองหลายปี ทำให้ผมคุ้นชินกับลำธาร สัตว์น้ำ ไม้น้ำมาตั้งแต่จำความได้ ผมเลยมีความสุขทุกครั้งที่เห็นพืชและสัตว์อยู่ใต้น้ำ ฝันว่าอยากอยู่ในบ้านที่มีแต่ตู้ปลาวางอยู่ทั่วทั้งบ้าน แต่เราก็ต้องแบ่งพื้นที่กับพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อที่เก็บหนังสือเต็มบ้านไปหมด ทำให้เวลาผมคิดหนักทุกครั้งเวลาจะซื้อของเข้าบ้าน เพราะแค่หนังสือของพ่อก็แน่นแล้ว

“เมื่อก่อนผมสงสัยนะว่าทำไมพ่อสะสมหนังสือมากขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่ได้อ่านมันทุกเล่ม จะเอาไปบริจาคบ้างก็ได้ เวลาเราล้างตู้ปลาน้ำมันก็กระเด็นไปโดนหนังสือ เพราะพ่อเอาวางเยอะไปหมด มีเถียงกัน แบ่งพื้นที่กันไม่ลงตัวบ้างในช่วงที่มาอยู่บ้านหลังนี้ใหม่ ๆ แต่พอตอนนี้ผมถึงเข้าใจ เพราะที่เขาเก็บสะสมหนังสือมาตั้งแต่ก่อนเกษียณ ก็เพื่ออยากใช้เวลาหลังเกษียณอยู่บ้านกับคนในครอบครัว”

“ทุกวันนี้เห็นพ่อตื่นมาอ่านหนังสือทุกวัน ทำงานบ้านเสร็จเมื่อไรก็อ่านแต่หนังสือตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน กลายเป็นผมเองที่อยู่บ้านน้อยกว่าใคร เลยรู้สึกว่ามีหนังสือเยอะ ๆ ให้เขาหยิบจับเวลาว่างก็ดีเหมือนกัน”

อย่างผมเป็นคนชอบจัดตู้ไม้น้ำ ยังต้องทำความเข้าใจเลยว่าพืชแต่ละชนิดมันต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน พ่อก็คงเหมือนกัน ต่อให้มีเงินใช้ กินอิ่มทุกมื้อ แต่ถ้าพ่อไม่ได้อยู่ท่ามกลางหนังสือเขาก็คงเหี่ยวเฉา ถึงผมจะไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ แต่ผมก็พอจะเข้าใจพ่อแล้ว และไม่ได้มองว่าเขาเอาแต่เก็บของจนทำบ้านรกเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะหนังสือคือแพชชั่นของพ่อ ถ้าหนังสือที่เก็บรักษามาอย่างดี ต้องหายไปบางส่วน ก็เหมือนชีวิตเขาบางส่วนหายไปด้วย”

เรื่องจัดพื้นที่ให้ลงตัว ผมว่าพ่อพยายามในส่วนนี้มากอยู่แล้ว เพราะหลังเกษียณเขาก็เอาเงินมาต่อเติมบ้าน ทำระเบียงให้ผมวางต้นไม้ ทำบ่อปลาให้ และยังทำห้องครัวให้แม่ใช้วาดภาพ ซึ่งผมมองว่าเป็นความหวังดีที่เขามีต่อคนในบ้าน เพราะพ่อก็รู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนเก็บของเยอะที่สุด เลยต้องเพิ่มพื้นที่ให้คนอื่นด้วย”

“เดี๋ยวนี้เวลาได้ไปบ้านหลังอื่น ผมจะรู้สึกว่ามันมีความคล้าย ๆ กัน แต่บ้านครอบครัวเรามีความยูนิกตั้งแต่หน้าบ้าน ชั้นล่าง จนถึงชั้นสอง บางคนอาจเข้ามาแล้วอึดอัด เพราะมีข้าวของล้อมรอบ แต่มันคืองานที่หล่อเลี้ยงจิตใจคนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพวาด แผ่นเสียง ตู้ปลา หรือของเก่าอื่น ๆ มันคือการบอกถึงตัวตนคนในบ้าน ซึ่งทำให้ผมภูมิใจมากที่บ้านเราสามารถแสดงเอกลักษณ์ของคนในครอบครัวชัดขนาดนี้

“พ่อบอกผมว่าถ้าวันหนึ่งเขาไม่อยู่แล้ว จะทำยังไงกับหนังสือที่เหลือก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงจะตอบว่าจะเอาไปบริจาคทั้งหมด แต่ตอนนี้ผมกลับคิดว่ากองหนังสือของพ่อเป็นส่วนหนึ่งของบ้านถาวร ไม่ต่างอะไรกับเสาหรือโครงสร้างหลักของบ้านแล้ว ยังไงก็ต้องมีหนังสือของพ่อ ภาพวาดของแม่ บ้านหลังนี้ถึงจะสมบูรณ์ ผมอาจจะบริจาคบางส่วน แต่เล่มที่พ่อชอบมาก ๆ ผมจะเก็บไว้แน่นอน เพราะมันทำให้ผมนึกถึงตอนที่เขายังอยู่”

แม่ผู้หลงใหลการวาดภาพ

กริ๋ง – จินตนา บุญพรัด อายุ 60 ปี จะวาดภาพทุกวันในห้องครัว ซึ่งสำหรับเธอทุกภาพคือการบันทึกความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปกับครอบครัว เหตุการณ์สำคัญในชีวิต ไปจนถึงรูปสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตหลังเกษียณของเธอมีความหมายทุกวัน

“เราเรียนจบศิลปะ แต่ทำงานประจำเป็นแม่บ้านมาตลอด สมัยนั้นเลยไม่ค่อยได้วาดรูปมากเท่าไร ช่วงตั้งท้องคือไม่ได้วาดเลย เพิ่งจะมาฟื้นฟูฝีมือตัวเองก็หลังจากที่เกษียณไปแล้ว เราอยู่บ้านเราก็เป็นแม่บ้านเหมือนเดิม เพราะเราไม่ถนัดงานที่ผู้ชายทำ ส่วนสิ่งที่ได้กลับคืนมาคือเรามีเวลาว่างวาดภาพทุกวัน ซึ่งถือเป็นชีวิตที่เราโหยหามานาน”

“เวลาอยู่บ้าน เราพยายามวาดรูปให้ได้วันละ 1 รูป ถ้าหากไม่ได้วาดนาน มือมันจะแข็ง ซึ่งเราชอบวาดภาพทริปครอบครัวที่ไปด้วยกัน เพราะในขณะที่มีชีวิตอยู่ เราอยากถ่ายทอดความทรงจำที่มีออกมาเป็นภาพวาดให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนในบ้านเก็บไว้เป็นที่ระลึก”

“สองพ่อลูกเขายกฝาผนังทั้งบ้านให้เราใช้แปะกรอบรูปได้ตามใจชอบ ถ้าภาพไหนเราหรือคนในครอบครัวมองว่าสวย เราก็จะเอาไปตกแต่งตามมุมต่าง ๆ เมื่อเอาไปวางใกล้กับกองหนังสือ หรือตู้ปลา ภาพวาดของเราจะช่วยเสริมเสน่ห์ มนต์ขลังให้กับบ้านได้มาก เหมือนเราอยู่ในแกลเลอรีส่วนตัวของครอบครัวที่ทุกคนมีส่วนในการตกแต่ง ซึ่งมันดีกว่าการใช้ข้าวของใช้แพง ๆ จากที่อื่น”

“มีบ้างที่เราก็รู้สึกว่าของมันเยอะ เพราะทั้งพ่อกับลูกชายก็ชอบซื้อของเข้าบ้านทั้งคู่ เราน่าจะซื้อน้อยที่สุดแล้ว แต่เราก็เห็นว่าทั้งสองคนเป็นคนมีระเบียบวินัยเรื่องดูแลข้าวของตัวเองมาก เราก็เลยไม่ได้ไปวุ่นวายอะไร เพราะการที่บ้านหลังหนึ่งมีพื้นที่ให้ทุกคนทำในสิ่งที่รักคือเรื่องที่ดีอยู่แล้ว”

“แม้เราจะไม่ได้เป็นศิลปินชื่อดัง แต่ตอนนี้ความสุขคือการได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักและชอบ เพราะชอบที่จะวาดภาพ ยิ่งถ้าวาดภาพใดออกมาแล้วตัวเองพอใจ ก็จะยิ่งมีความสุข และถึงวาดไม่ดีบ้างแต่ก็จะพยายามวาดให้เสร็จเป็นรูปๆ ไป และในชีวิตบั้นปลายเราก็เข้าใจว่า การเป็นศิลปินมันอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผลงานของเราเป็นที่รู้จักหรือไม่ แต่คือการรู้ว่าผลงานเรามีค่ากับใคร ซึ่งสำหรับเราหมายถึงคนในครอบครัว”

พี่ตุ๊เล่าว่า บ้านของเขามีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และทุกคนในครอบครัวต่างก็มีงานอดิเรกเป็นของตัวเอง ทำให้ต้องช่วยกันคิดว่าพื้นที่ทุกตารางนิ้วของบ้าน จะใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้แต่ห้องครัว ที่มีตู้กับข้าว เครื่องซักผ้า หรือตรงโต๊ะอาหารก็ต้องเป็นทั้งโต๊ะรับแขก และโต๊ะทำงานที่แม่ใช้วาดภาพ ซึ่งพอวาดเสร็จ ถ้ารูปใดพอเข้ากรอบแขวนผนังได้ ก็แขวนไว้ พอให้เห็นเป็นตัวอย่าง ส่วนลูกชายก็มีพื้นที่บนระเบียง กับหน้าบ้านไว้สำหรับจัดตู้ปลา และที่เหลือนอกจากนี้ก็จะเป็นพื้นที่วางหนังสือเก่า ๆ ของพ่อ ทำให้บ้านหลังนี้ไม่เหมือนบ้านที่ใช้อยู่เฉย ๆ แต่เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยแพสชันและชีวิตของทุกคนในครอบครัว

“ก่อนเกษียณ ชีวิตผมอยู่ในแสงสีเสียงตลอด ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัว แต่วันนี้ผมมีเวลาอยู่กับพวกเขามากขึ้น และได้เห็นมุมความศิลปินของพวกเขา ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้”

“การแบ่งพื้นที่ส่วนตัวกันคือเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกบ้าน แต่ผมมองว่าในบ้านที่ทุกคนมีความเป็นศิลปินกันหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่างคนต่างต้องการพื้นที่ส่วนตัวสูง ยิ่งถ้าสิ่งที่ทำไม่เหมือนกันเลยยิ่งใกล้ชิดกันยาก แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยบรรยากาศที่ดี ผมไม่ถนัดวาดภาพ แต่ก็ชอบดูภาพที่ภรรยาวาด ไม่ชอบเลี้ยงปลาแต่ก็ชอบดูลูกจัดตู้ปลา”

“ผมว่าครอบครัวเราเข้าใกล้คำว่ามีสตูดิโอศิลปะเป็นของตัวเอง ถึงบ้านหลังนี้จะไม่ได้มีอะไรที่ดูใหญ่โตในสายตาคนอื่น แต่ในมุมมองของคนในครอบครัวมันคือพื้นที่พิเศษที่ให้เราได้ทำในสิ่งที่รักโดยไม่ต้องไปไหนไกล เราตกแต่งบ้านหลังนี้ด้วยศิลปะของแต่ละคน”

“หนังสือหมื่นเล่มของผมมันให้อารมณ์เคร่งขรึม ซีเรียสจริงจังเหมือนพ่อ ส่วนภาพที่แม่วาดมันมีความโหยหาอดีต ช่วยให้คิดถึงวันเก่า ๆ ซึ่งมองแล้วอุ่นใจ และตู้ไม้น้ำของลูกก็ดูมีชีวิตชีวาตามวัยเขา ทำให้ทุกสิ่งมันช่วยส่งเสริมความงามของกันและกันในสายตาผม และความชอบของทุกคนคือส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านของเราน่าอยู่”

“นี่ไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่มันคือตัวตนของคนในครอบครัว และความฝันของผมคือผมอยากมีบ้านที่ใช้อยู่อาศัยได้ และขณะเดียวกันก็เป็นกึ่งแกลเลอรีเล็ก ๆ ให้เพื่อน ๆ ในวงการที่รักหนังสือ รักงานศิลปะเข้าได้เข้ามาชม” พี่ตุ๊กล่าว

Credits

Authors

  • นิติภัค วรนิติโกศล

    Authorปรกติไม่ชอบความวุ่นวาย เวลาว่างชอบอ่านหนังสือกับเล่นเกม ความฝันสูงสุดของชีวิตคือการเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ