Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

ปรากฏการณ์ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ผิดไหมถ้าคนรุ่นใหม่จะย้ายกลับมาอยู่กับพ่อแม่

เดือนมีนาคม 2563 Sheridan Block วัย 30 ปี เพิ่งสิ้นสุดการทำงานในฐานะครูอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้ลี้ภัยในเมืองมาร์เซย ประเทศฝรั่งเศส เป็นระยะเวลาหนึ่งปี เธอตัดสินใจบินกลับบ้านที่แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา เพื่ออาศัยกับปู่และย่า ซึ่งขณะนั้นปู่ของเธอกำลังพักฟื้นจากปัญหาสุขภาพพอดี

เดิมทีเธอวางแผนไว้ว่าจะใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือนช่วยดูแลพวกเขา ในขณะที่เธอก็จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้การศึกษาและค่าบัตรเครดิตบางส่วน ก่อนที่จะเดินทางกลับไปต่างประเทศอีกครั้ง

แต่วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ระยะเวลาของแผนการที่ตั้งใจไว้ยาวนานกว่าเดิม เธอจึงเลือกที่จะทำงานแลกกับการอยู่อาศัยบ้านปู่ย่าโดยไม่เสียค่าเช่า เช่น ช่วยขับรถส่งปู่ย่าไปยังที่นัดหมาย ทำธุระ ทำอาหาร และทำงานบ้านเป็นเวลาเกือบสองปี

“ฉันสามารถประหยัดเงินได้มากพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมด แถมยังมีเงินทุนสำหรับซื้อรถยนต์ และย้ายออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองอีกครั้ง” Block อธิบายถึงประโยชน์ทางการเงินและข้อดีของการได้กลับมาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว แม้ว่าเธอจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าวัยผู้ใหญ่ควรเป็นอย่างไร

‘บูมเมอแรงคิดส์’ คือใคร?

บูมเมอแรงคิดส์ (Boomerang Kids) เป็นศัพท์สแลงอเมริกัน หมายถึง ผู้ใหญ่หรือคนวัยหนุ่มสาวที่ย้ายกลับบ้านเพื่ออาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายหลังจากใช้ชีวิตอิสระมาระยะหนึ่งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าแรงต่ำ เงินออมต่ำ หนี้สูง การว่างงาน หรือวิกฤตการเงินโลก บางครั้งคำนี้ใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในยุคที่เรียกว่ารุ่นบูมเมอแรง (Boomerang Generation)

ข้อมูลรายเดือนของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย Pew Research Center ในปี 2559 พบว่า 15% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลอาศัยอยู่ในบ้านของพ่อแม่ และอีก 4 ปีต่อมา ตัวเลขของคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 52% โดยอิงจากการวิเคราะห์เดียวกันของศูนย์วิจัย Pew Research Center เมื่อกลางปี ​​2563 ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่สิ้นสุดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2483 ในขณะที่สหราชอาณาจักรมีสัดส่วนของคนโสดอายุ 20-34 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่เพิ่มขึ้นเป็น 55% ระหว่างปี 2551-2560 ตามผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย Loughborough

ข้อมูลข้างต้นสวนทางกับค่านิยมของวัฒนธรรมตะวันตกที่เชื่อว่า การย้ายออกจากบ้านถือเป็นก้าวสำคัญในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากจำนวนบูมเมอแรงคิดส์ในประเทศต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดคำถามว่า ค่านิยมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นอิสระของผู้ใหญ่ยุคนี้ควรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันแน่

สาเหตุที่ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ กำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของ Sheridan Block ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘บูมเมอแรงคิดส์’ หลังจาก Block ย้ายกลับไปอยู่กับปู่ย่า เธอสังเกตเห็นว่ายังมีคนวัยเดียวกันอีกหลายคนที่เป็น ‘บูมเมอแรงคิดส์’ เหมือนกับเธอ

“ฉันพบว่ามีเพื่อนมากมาย แม้แต่ผู้ชายคนที่ฉันไปเดตด้วยก็เพิ่งย้ายจากซานฟรานซิสโกกลับมาอยู่กับแม่ของเขาที่แจ็กสันวิลล์ เพราะนั่นเป็นความจริงในตอนนี้ที่คุณต้องทำเพื่อประหยัดเงิน” เธอกล่าว

“มีแนวโน้มที่คนหนุ่มสาวจะอยู่บ้านนานขึ้น เพราะทุกอย่างมีราคาแพงมาก” Joanne Hipplewith นักบำบัดโรคที่สถาบันครอบครัวบำบัดในลอนดอน กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้คนหนุ่มสาวต้องย้ายกลับบ้าน สาเหตุหลักคือค่าครองชีพที่สูงในเมืองใหญ่ รวมทั้งค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การย้ายกลับไปอยู่บ้านเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากครอบครัว ในระหว่างเตรียมตัวศึกษาต่อระดับปริญญาขั้นสูงหรือเริ่มต้นหางานทำ จึงกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น

อีกทั้งการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้เพิ่มปัจจัยสนับสนุนใหม่ เนื่องจากหลายคนที่วางแผนเดินทางไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำได้ เพราะวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกปิด รวมถึงบัณฑิตที่ต้องเลื่อนจบการศึกษา ทำให้หางานและได้งานทำล่าช้า จึงส่งผลให้ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ช้าตามไปด้วย

ช่วงเวลา ‘บูมเมอแรง’ สำหรับหลายคนเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่บางคนอาจคงอยู่เป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี จนกว่าจะสามารถชำระหนี้การศึกษา เก็บเงินดาวน์ หรือหางานที่มั่นคงได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน และหนี้สินไปพร้อมๆ กัน

‘บูมเมอแรงคิดส์’ กับนิยามใหม่ของความเป็นผู้ใหญ่

การกลับบ้านหลังจากอยู่ไกลบ้านหรือหลังจบมหาวิทยาลัย อาจทำให้คนหนุ่มสาวหลายคนรู้สึกกำลังถดถอยและสูญเสียอิสรภาพที่เพิ่งได้รับมา

“คุณเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย คุณมีเพื่อน คุณกำลังทำสิ่งที่คุณต้องการจะทำ แต่มันอาจจะถูกทำลายล้างเมื่อคุณกลับมาอยู่ภายใต้กฎของคนอื่น” Hipplewith กล่าว

ภาวะบูมเมอแรงบังคับให้คนในวัย 20-30 ปี ต้องเผชิญการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นอิสระ ซึ่งอาจมาพร้อมความวิตกกังวล นอกเหนือจากความรู้สึกว่าพวกเขาถดถอยเมื่อย้ายกลับบ้าน และอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ในชีวิต

Jenna S Abetz รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารที่ College of Charleston สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า คนในวัย 20-30 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะแต่งงานและมีบุตรล่าช้า ซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกล้าหลังมากยิ่งขึ้น

Block ในวัย 30 ปี เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้น เพราะเธอเคยคิดว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน มีบ้าน แต่งงาน มีครอบครัว พร้อมกับแผนการออมและเกษียณอายุที่มั่นคง “แต่โชคไม่ดีที่มันไม่ได้เกิดขึ้น” เธอกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์บูมเมอแรงก็มีประโยชน์อยู่บ้างเหมือนกัน หนุ่มสาวหลายคนได้ค้นพบความสามารถที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานที่มีความหมายมากกว่างานที่ทำเพื่อหาเงินใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 บางคนเลือกงานที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ำกว่า แม้ว่าสิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางสังคม เนื่องจากบูมเมอแรงคิดส์ที่ย้ายกลับไปอยู่บ้านมีโอกาสที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่มากขึ้น ในช่วงเวลาที่แต่ก่อนพวกเขามักจะใช้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่วัยเดียวกัน “เป็นช่วงเวลาพิเศษที่ไม่คาดคิดสำหรับการสนับสนุนซึ่งกันและกันและสร้างความใกล้ชิดกับครอบครัว บางครั้งพ่อแม่ก็อยากให้ลูกๆ กลับบ้านบ้าง” Abetz กล่าว

‘การย้ายกลับบ้าน’ คือความปกติใหม่อีกครั้ง

ทั้ง Abetz และ Hipplewith เชื่อว่าบูมเมอแรงคิดส์ไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่มาแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น โดยคาดการณ์ว่าผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวที่ย้ายกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่เนื่องจากค่าครองชีพสูงจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต “หลังจากย้ายออกไปเรียนในมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตอาจจะเป็นเส้นตรงน้อยลง มันอาจจะวกกลับไปกลับมา หลังเรียนจบแล้ว คุณอาจจะกลับไปอยู่บ้านเป็นเวลาหกเดือนหรือสองสามปีก็เป็นได้” Abetz กล่าว

ในขณะที่ Hipplewith หวังว่าเมื่อกระแสบูมเมอแรงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในวัฒนธรรมตะวันตก คนหนุ่มสาวจะรู้สึกกดดันน้อยลงในการปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคม ทั้งเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัย การย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ และหางานทำ โดย Hipplewith สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวมองว่า การกลับบ้านหรืออยู่บ้านควรเป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลรองรับ “เราอาจต้องเลิกเชื่อมโยงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยการย้ายออกจากบ้านพ่อแม่เพียงอย่างเดียว”

Block กล่าวว่า ปรากฏการณ์บูมเมอแรงเป็นเรื่องจริงสำหรับคนรุ่นเธอ และเชื่อว่าสิ่งนี้กำลังค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการรับรู้ของคนในสังคมและกรอบความคิดแบบเดิมทีละน้อย

“ฉันคิดว่าคนรุ่นฉันกำลังเรียนรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีเส้นทางชีวิตที่เหมือนกัน และความสำเร็จเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล วัยผู้ใหญ่สำหรับฉันคือการโตพอที่จะมีความรับผิดชอบและชำระค่าใช้จ่ายของตัวเอง ซึ่งจะต้องไม่หายไปแม้ว่าคุณจะย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่อีกครั้ง”

ความแตกต่างของ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ในไทยกับประเทศแถบตะวันตก

ในประเทศไทยก็มีปรากฏการณ์ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ เช่นกัน แต่จะมีความแตกต่างจากประเทศแถบตะวันตก เพราะคนไทยมีแนวโน้มย้ายกลับไปอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มากขึ้นภายหลังจากแต่งงานมีลูก

ข้อมูลการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนแบบนับซ้ำ (Socio-Economic Survey หรือ SES Panel) พบว่า สัดส่วนของครัวเรือนในประเทศไทย กลุ่มที่แต่งงานแล้วและมีลูกโดยอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีลูกเล็กวัย 0–5 ปี จะเพิ่มโอกาสการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ถึงร้อยละ 32–34 โดยมีสาเหตุจากความต้องการความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร และการแบ่งเบาภาระงานบ้าน

เนื่องจากในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ความช่วยเหลือจากภาครัฐด้านสถานรับเลี้ยงเด็กมีจำกัดและเวลาการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่นของคุณแม่วัยทำงาน ทำให้ภาระการดูแลเด็กและงานบ้านบางส่วนต้องตกอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่จะทำให้แม่มีเวลาทำงานและเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น

ข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของหลายประเทศในเอเชีย เช่น Nakamura and Ueda (1999) ที่พบว่า ในประเทศญี่ปุ่น ผู้หญิงมีลูกอ่อนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่จะมีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30

เช่นเดียวกันกับงานวิจัยของ Shen et al. (2016) ที่พบว่า ในประเทศจีน ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่มีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีจำนวนชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น 20–26 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ในประเทศแถบเอเชียหรือตะวันตก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะยืนยันได้ว่าคุณไม่ใช่เด็กไม่เอาไหนหรือผู้ใหญ่ไม่รู้จักโต คือ การพิสูจน์ตัวเองด้วยการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและหนี้สินต่างๆ โดยไม่เบียดเบียนหรือทิ้งภาระทั้งหมดให้กับพ่อแม่ฝ่ายเดียว เมื่อคุณย้ายกลับมาอยู่ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง
The adult ‘boomerang kids’ moving home to their parents https://www.bbc.com
Boomerang Children https://www.investopedia.com
ปรากฏการณ์ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ในไทย กับผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น https://www.salika.co
ภาพ : https://www.pexels.com

Credits

Author

  • รวีวรรณ ธีรธนาพงษ์

    Authorมนุษย์ INFJ อดีตเป็นเป็ด ปัจจุบันอยากเป็นนกอินทรี อนาคตอยากเป็นยูนิคอร์น ชอบเรียนรู้และมองหาโอกาสที่จะได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เชื่อว่าคนเราพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ไม่สิ้นสุด

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ