“รู้ไหม ? ตอนแรกบิวไม่เข้าใจแม่ บิวเชื่อว่าหลายครอบครัวคงเป็นแบบนี้ แต่สุดท้ายเมื่อเราให้เวลาฟัง พูดคุยกัน และคอยสังเกตเขา เราจะเห็นว่าสิ่งที่แม่พยายามทำพยายามบอกคือ ความเป็นห่วง”
‘ธุรกิจของแม่ VS ความฝันของลูก’ คือจุดเริ่มต้นเรื่องราว ระหว่าง บิว-นิธิวดี กลิ่นเสียงดี ลูกสาววัย 28 ปี กับ แม่ต้อม-เพชรสิรินทร์ กลิ่นเสียงดี วัย 56 ปี บิวฝันอยากทำธุรกิจคาเฟ่เป็นของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ‘แม่ต้อม’ อยากให้ลูกสานต่อธุรกิจร้านวัสดุก่อสร้างที่ตนสร้างขึ้น ด้วยความแตกต่างด้านความคิด และมุมมองชีวิตของคนสองวัยที่ไม่ตรงกัน จนทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เกือบต้องห่างเหิน เพราะความไม่เข้าใจกัน แต่ด้วยการเปิดใจ รับฟัง ยอมรับในความแตกต่างทางความคิดของคนทั้งคู่ ทำให้ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวแห่งครอบครัวกลิ่นเสียงดีลงตัวเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้แม่และลูกได้มีโอกาสดูแลกันและกันอย่างอบอุ่น
จุดเริ่มต้นของธุรกิจของแม่และครอบครัว
แม่ต้อม-เพชรสิรินทร์ กลิ่นเสียงดี วัย 56 ปี เล่าย้อนถึงการเริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจร้านขายวัสดุก่อสร้างในช่วงแรกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
“ก่อนที่จะมาเปิดร้านวัสดุก่อสร้าง แม่เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจมาก่อน ทำงานตรงนั้นอยู่หลายสิบปีทีเดียว พอได้แต่งงานกับพ่อเขาที่เป็นผู้รับเหมา เราก็คิดกันว่าชีวิตครอบครัวน่าจะต้องลงหลักปักฐานแล้ว ไม่อยากเป็นลูกจ้างไปตลอด เลยมาหาที่ทางเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้าง เพราะเราสองคนมีพื้นฐานกันอยู่แล้ว
“แม่มองว่า งานก่อสร้างมันมีทางไปอยู่ตลอด ของไม่เน่าไม่เสีย ยังไงต้องขายได้ เพียงแค่ตอนเริ่มต้นมันยาก เราเริ่มเปิดร้านแบบทำกันอยู่ 2 คน พ่อกับแม่ ทุนเราก็มีไม่เยอะ อาศัยเครดิตที่เราเคยทำงานกับที่เก่าเอาของมาขายก่อน พอถึงกำหนดจ่ายเงินเขาก็ส่งบิลมาเก็บ ตอนเปิดแรกๆ เราสต็อกของเยอะเป็นธรรมดา เพราะเวลาลูกค้าเขาร้านจะได้เห็นว่าเรามีของเยอะหลากหลาย เวลาจ่ายเงินของก็ใจหายเหมือนกัน เพราะต้องจ่ายเงินเยอะ
“เราวางระบบงานอยู่หลายปี ทั้งเรื่องเครดิต บริหารเงิน เก็บเงิน การสต็อกของ การบริการลูกค้า จากที่เริ่มต้นมีรถส่งของ 2 คัน ก็เริ่มขยับเป็น 10 คัน เริ่มมีลูกจ้าง มีลูกค้าประจำ ขายทุกอย่างเกี่ยวกับงานก่อสร้าง ถามหาอะไรที่ร้านมีหมด”
ความคาดหวังของแม่ ที่อยากให้ลูกมาช่วยธุรกิจที่บ้าน
“พอแม่มาทำร้าน รู้เลยว่าการเป็นนายตัวเองนั้นเป็นสุขมาก เรามีเวลาเป็นของตัวเอง ทำงานเก็บเงิน ได้ใช้เงินไปเที่ยว ไปใช้ชีวิต แม่ตั้งใจทำร้านให้ดี วางระบบภายในให้เรียบร้อย เผื่อวันหนึ่งลูกๆ เรียนจบ จะได้ส่งต่อธุรกิจนี้ให้กับบิวและพี่เขา สองคนนี้โตจากในร้าน รู้อยู่แล้วว่าปูนกระสอบละเท่าไร น็อตเบอร์ไหนเป็นแบบไหน แต่พี่ชายบิวเขาไม่ชอบขายของ เลยรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยของพ่อไปเป็นคอยจัดการเรื่องสต๊อกของ หน้าร้านแม่ก็อาศัยบิวคอยรับลูกค้า ดูแลเรื่องบัญชี
“แต่บิวเขามีฝันว่าอยากเปิดร้านคาเฟ่มาตั้งแต่เด็กๆ เราก็บอกเขาตลอดว่า เริ่มทำธุรกิจมันยาก อยากทำธุรกิจของตัวเองน่ะดี แต่เราก็ไม่อยากให้ลูกต้องลำบากต้องมาเริ่มต้นทำธุรกิจเอง เป็นห่วง แต่ใจหนึ่งก็สนับสนุนอยากให้ลูกมั่นคง”
“ร้านกาแฟเป็นความฝันในวัยเด็กของบิว คงเหมือนกับคนอื่นๆ ที่ฝันอยากเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นครู แต่ฝันของบิวคืออยากเปิดร้านกาแฟ (หัวเราะ) จริงๆ นะ บิวอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ยิ่งเราชอบชงกาแฟ ทำน้ำชา น้ำผลไม้ การเปิดร้านกาแฟก็เลยเป็นความฝันที่เราจริงจังมาตลอด
“อย่างตอนมัธยมบิวก็เคยขอแม่เปิดร้านชานมไข่มุก ซื้อแฟรนไชส์เขามาทำเป็นร้านเล็กๆ แม่ก็สนับสนุน บิวก็ทำได้มีกำไรตั้งแต่ปีแรก แต่พอช่วงหลังๆ เรียนมหาวิทยาลัย บิวไม่ค่อยมีเวลา บวกกับช่วงนั้นร้านชานมไข่มุกกำลังบูม คนเปิดกันเยอะ เราเลยปิดไป
“หลังฝึกงาน เรียนจบ บิวมุ่งมั่นเลยนะ ที่จะเปิดคาเฟ่เป็นของตัวเองมากเลย คุยกับแม่จริงจัง แต่การคุยครั้งนี้ความรู้สึกมันเปลี่ยนไป เหมือนแม่ไม่มั่นใจในตัวบิว ทั้งที่เราก็มีประสบการณ์นั้นมาแล้ว เวลาคุยกัน แม่ไม่ได้ถึงกับห้ามไม่ให้ทำ แต่แม่จะชอบพูดว่า ทำคาเฟ่จริงจังมันไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน ทำเล่นๆ ไม่ได้ เดี๋ยวนี้คาเฟ่กาแฟมีเยอะมาก วางแผนอะไรไว้บ้างหรือเปล่า บางครั้งก็พูดขึ้นมาว่า บิวไปช่วยงานที่ร้านดีกว่าช่วงนี้ที่ร้านยุ่งๆ บิวก็เริ่มรู้แล้วว่า อ๋อ แม่อยากให้บิวกับพี่ช่วยกิจการของที่บ้าน พอคุยถามแม่ แม่ก็บอกว่าอยากให้ลูกๆ มาทำร้านต่อ บิวเข้าใจที่แม่บอกหมดนะ แต่เวลาคนเรามีฝัน ไฟมันลุกโชนอยากจะทำให้สำเร็จ
“ช่วงเรียนจบ เพื่อนๆ ทำงาน แต่บิวก็เหมือนยังติดอยู่ตรงนี้ (หัวเราะ) เหมือนบิวกำลังลำบากใจ ลังเลว่าจะไปทางไหนต่อ พอคุยกับแม่ก็จะวนมาตรงที่เราจะทำอะไรต่อทุกที บ่อยเข้าๆ ก็เริ่มหาทางแล้วว่าจะพอมีทางไหนที่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำด้วย แล้วทำให้แม่ไม่เสียใจด้วย”
ตัดสินใจจะมีชีวิตของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งความฝันของแม่
“ระหว่างนั้นบิวก็ช่วยงานแม่ และก็คิดหาที่ทางในละแวกนี้ เปิดคาเฟ่เล็กๆ จัดร้านสวยๆ ที่ไปมาระหว่างร้านของแม่กับคาเฟ่เราได้ ยังพอขับรถไปกลับไหวอยู่ ลองคำนวณต้นทุน คิดความคุ้มค่าอยู่หลายเดือนเลย ระหว่างนั้นแม่ก็ถามบิวอยู่ตลอดว่าตกลงยังไงลูก (หัวเราะ) แต่ไม่ได้กดดันนะ บิวเข้าใจว่าแม่แค่เป็นห่วงเรา
“เผอิญช่วงนั้น ถนนเส้นนี้วางแผนจะขยายเป็นสี่เลน ร้านต้องถอยร่นเข้ามาอีกประมาณหลายเมตร จากเดิมที่หน้าร้านจะมีลานกว้างให้รถจอดประมาณ 5 – 6 คัน พื้นที่ตรงนั้นก็ลดลง เหลือล็อกว่างเล็กๆ ขนาดเมตรกว่าๆ ก่อนถึงตัวร้าน บิวเห็นแล้วก็ได้ไอเดียเลยว่า นี่แหละ คาเฟ่ไซซ์มินิของบิว
“คาเฟ่จะเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือการได้ลงมือทำ บิวทำเองทั้งหมดตั้งแต่จัดร้าน เลือกวัสดุ โทนสี มุมแต่ละมุมโดยมีพ่อเป็นนายช่างให้ ทั้งโลโก้ เมนู หาวัตถุดิบไปจนถึงสูตรกาแฟของบิวเอง ได้ทำทั้งร้านกาแฟและช่วยงานของแม่กับพี่ไปด้วย มีงานทำแบบไม่ต้องไปไหนไกล ได้มีเวลาดูแลแม่ พาแม่ไปเที่ยว หลังปิดร้าน กลับบ้านก็ได้มีเวลากินข้าวด้วยกันทุกวัน บิวเห็นแม่มีความสุข บิวก็มีความสุขไปด้วย”
อยู่ใกล้ๆ และคอยดูแลกัน
“เราตัดสินใจถูก ที่ไม่ทำคาเฟ่ไกลจากร้าน จะได้มีเวลาดูแลแม่ เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน แม่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เพราะที่บ้านบิวชอบทานอาหารจำพวกส้มตำปูปลาร้า ต้มแซ่บ และอาหารรสชาติจัดจ้านกันมาก แถมยังกินดึก โรคกรดไหลย้อนจึงแวะมาหาอย่างไม่ต้องสงสัย พ่อบิวเคยเป็นหนักถึงขั้นนอนไม่ได้ แม่ก็เหมือนกัน พอไปตรวจสุขภาพประจำปีคุณหมอเลยแนะนำให้ปรับอาหารกันทั้งบ้านเลย เริ่มจาก ลดอาหารที่มีรสจัดก่อน แล้วค่อยๆ ขยับมาเลือกกินอาหารที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
“แต่ก่อนคนที่ดูแลเรื่องอาหารของทั้งบ้านคือแม่ แต่เดี๋ยวนี้เป็นบิว ทุกอาทิตย์บิวจะชวนแม่ไปห้าง เลือกซื้อของเข้าบ้าน ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ไปจนถึงอาหาร เลือกเนื้อสัตว์ที่สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน ซื้อผักออร์แกนิก ถ้าวันไหนมีเวลา ปิดร้านไว ก็จะชวนกันทำกับข้าว โดยให้แม่เป็นลูกมือบิวบ้าง สลับกันไปตามแต่เมนูที่อยากกินกัน
“แกงจืดเต้าหู้หมูสับกับสลัดอกไก่ไข่ต้มเป็นเมนูที่เราทำกันบ่อยๆ ในวันที่คิดเมนูอื่นไม่ออก เมื่อก่อนแม่ชอบทำแกงจืด แต่แกงจืดธรรมดาๆ ของแม่อร่อยมาก ทุกวันนี้บิวก็ยังทำสู้รสมือแม่ไม่ได้ (หัวเราะ) ตอนทำอาหาร เหมือนเราได้ใช้เวลาร่วมกัน เล่าเรื่องราวในแต่ละวัน ปรึกษากัน วันไหนได้ทำอาหารด้วยกัน กับข้าววันนั้นจะอร่อยขึ้นคูณสองเลย บิวตั้งใจทำทุกเมนูอย่างสุดฝีมือ ตั้งแต่เลือกวัตถุดิบ ปรุงรสชาติ เพราะรู้ว่าปลายทางของอาหารทุกจานที่บิวตั้งใจทำคือ แม่ พ่อ พี่ และพี่ ที่ได้ชิม บิวอยากให้คนที่เรารักได้กินอาหารดี ๆ
“บิวเชื่อว่าหลายครอบครัวคงเป็นแบบนี้ เราอาจจะคิดต่างกัน แต่สุดท้ายเมื่อเราให้เวลาฟังกัน คุยกัน และคอยสังเกตเขา เราจะเห็นว่าสิ่งที่แม่พยายามทำ พยายามบอกคือความเป็นห่วง”
ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันอย่างไร จะมีตัวตนและไลฟ์สไตล์ “แตกต่าง” กันในรูปแบบไหน แต่เรื่องอาหารวางใจในมาตรฐานเบทาโกร “Connect all the differences with Betagro quality”
เบทาโกรเข้าใจทุกความต่าง และพร้อมดูแลคุณด้วยมาตรฐานอาหาร BQM 24/7 ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัย ในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะต่างกันด้วยวัย ความฝัน ความชอบ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนเหมือนกัน คือต้องการอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย” “Connect all the differences with Betagro quality”